ในน้ำมีปลา ในนามีอะไร ?...


ทุกวันนี้ ผมไม่อาจบอกได้ว่า ในน้ำยังมีปลาในนายังมีข้าวอีกหรือเปล่า...แต่กระนั้นผมก็ยังหลงรักในวาทกรรมที่ท่องจำมาจากอดีตอย่างไม่รู้เบื่อ ความทรงจำในสิ่งเหล่านี้ยังแจ่มชัดและมีชีวิตเสมอ

จำความได้แม่นยำเลยว่า  เมื่อครั้งยังเด็กนั้น  การท่องจำตำราถือเป็นภารกิจหลักของการเรียนหนังสือเลยที่เดียว  จนบางทีก็ไม่รู้หรอกว่า  วิธีการเช่นนั้น  กำลังปลุกปั้นให้ตัวเองกลายสภาพเป็นเจ้านกขุนทองไปทีละนิดๆ ...


ถึงกระนั้น  ก็ไม่อาจปฏิเสธได้หรอกว่า  นั่นคือสีสันของการเรียนรู้ในวัยเช่นนั้น  และกระบวนวิธีดังกล่าว  ก็หาใช่เปล่าเปลืองซึ่งปัญญาเลยสักนิด 
ดังจะเห็นได้จากมีหลายวาทกรรมเหลือเกินที่ผมจำขึ้นใจและส่งผลต่อการดำเนินชีวิตเรื่อยมาจนบัดนี้  ไม่ว่าจะเป็น  “ป.ปลา นั้นหายาก, มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง, อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน  และในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เป็นต้น

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”  นั้น  ถือได้ว่าผมรักและหลงรักแบบโงหัวไม่ขึ้นเลยทีเดียวแหละ  ด้วยความที่ผมเป็นเด็กบ้านนอกคอกนา  เกิดและโตอยู่ตามวิถีทุ่ง  ชีวิตจึงว่ายวนอยู่กับทุ่งนาป่าโคกอย่างไม่รู้เบื่อ  ถึงแม้วันนี้จะไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปฝังตัวอยู่กับบ้านเกิดเท่าใดนัก  แต่ก็สัมผัสได้ตลอดเวลาว่า เสียงของหัวใจยังร่ำหาความมีชีวิตของท้องทุ่งเสมอมา 

 

ย้อนความทรงจำไปสู่วัยเด็ก- 
ท้องทุ่งเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ยิ่งนัก
เป็นเหมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา 
มีฤดูกาลที่ชวนรื่นรมย์และสู้ทนเป็นที่สุด 
บางคราก็เป็นสนามเด็กเล่นที่เต็มไปด้วยพื้นที่อันไพศาลรองรับให้จินตนาการของเราได้กรีดกรายและโบยบินไปอย่างเสรี...

 

ในอดีตนั้น  เมื่อห้วงฤดูแห่งการปักดำย่างเยือนมาถึง  บ่ายคล้อยเมื่อเลิกเรียนแล้ว  ผมมักตรงดิ่งลงทุ่งนาเสมอ  บนเถียงนาจะมีอาหารการกินแบบเรียบง่ายตามวิถีทุ่งให้กินอย่างเอร็ดอร่อย 
หลักๆ ก็ไม่พ้นประเภทส้มตำ  หมกปลาซิว  แกงหน่อไม้  ปลาย่าง  นั่นแหละ  ส่วนพืชผักนั้น  สารภาพเลยว่าตอนยังเป็นเด็กแทบไม่ใส่ใจลิ้มรสกับมันสักเท่าไหร่...

ซึ่งอาหารการกินที่ว่านั้น  ก็ล้วนแล้วแต่สนับสนุนวาทกรรมที่ว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว”  
แทบทั้งสิ้น

 

 

 

ตราบจนบัดนี้  ผมก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าผมหลงรักฤดูกาลใดในท้องทุ่งมากที่สุด  เพราะไม่ว่าจะเป็นท่วงทำนองของสายฝน  หรือเสียงครวญจากลมหนาว  หรือแม้แต่เสียงโหยไห้จากลมร้อน
ก็ล้วนมีเสน่ห์ในตัวของมันเอง 

ในความเป็นจริงของชีวิต  เราคงไม่อาจเลือกที่จะรักเพียงฤดูกาลใดฤดูกาลหนึ่งได้เป็นพิเศษ  แต่เราคงต้องรักที่จะอยู่อย่างมีความสุข และรักที่จะเข้าใจกับปรากฏการณ์ของฤดูกาลนั้นๆ มากกว่าการเอาชนะคะคานความเป็นธรรมชาติที่เราไม่อาจเอาชนะได้เลย  - แม้เพียงคิดก็ถือว่า
ผิดมหันต์..

 %e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b8%97%e0%b8%b8%e0%b9%88%e0%b8%87%20004-1

 

ผมมีความทรงจำที่แจ่มชัดเสมอกับมหกรรมแห่งท้องทุ่ง 
ในทุกฤดูกาลจะมีห้วงทำนองที่ต่างกัน 
และห้วงทำนองที่ว่านั้นก็คือสีสันของชีวิตนั่นแหละ 
ยกตัวอย่างเช่น  หน้าฝนเราก็มักเห็นท้องทุ่งเจิ่งนองไปด้วยน้ำฝน 
กบเขียดอึ่งอ่างแข่งขันตะเบ็งเสียงร้องเพลงอย่างไม่รู้เหนื่อย 
ต้นข้าวสีเขียวระบัดใบทั่วทุ่งกว้าง 
ในแปลงนามีแมงดานา หรือแม้แต่งูเงี้ยวเขี้ยวขอให้ชวนตื่นเต้น 
เฉกเช่นกับมีปลา ให้เราได้วางเบ็ดอย่างแสนสนุก ...

 

ครั้นถึงฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยวผลผลิต  ผมชอบน้ำค้างในรุ่งสางที่โรยตัวห่มคลุมท้องทุ่ง
เป็นที่สุด  ผมชอบสีเหลืองเรืองรองของรวงข้าว   เพราะมันคล้ายกับการย้ำบอกว่านั่นคือความฝัน
อันเรืองรองของชาวนาผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ 

ผมชอบบรรยากาศของการลงแขกเกี่ยวข้าวที่มักจะมีเสียงหยอกเอินกันอย่างคึกคักในแปลงข้าว  บางทีก็มีเสียงเพลงจากวิทยุทรานซีสเตอร์มาบรรเลงอยู่บนคันนาชวนให้หายเหนื่อย  ผ่านไปสักห้วงนิดๆ  ก็คิดถึงคืนเดือนหงายที่ผู้คนลงนานวดข้าวและนอนนากันอย่างอบอุ่น...มีต้มไก่ร้อนๆ
ให้ซดคลายหนาว  มีไก่อบฟางเป็นกับแกล้มในยามดึก  สุดท้ายก็ปิดฤดูกาลด้วยการขนย้ายข้าวเปลือกขึ้นสู่ยุ้งฉางอย่างสามัคคี

 

เฉกเช่นกับห้วงฤดูแล้งนั้น  ถึงแม้จะเป็นห้วงเวลาอันแสนสั้นก็เถอะ  แต่มันก็เต็มไปด้วยพลังแห่งชีวิตเป็นยิ่งนัก  เพราะมันคือการปิดภาคเรียนใหญ่ที่ช่วยให้ชีวิตในวัยเด็กได้ท่องเล่นอย่างไม่ต้องพะว้าพะวงกับการบ้านและการเคี่ยวเข็ญของครูประจำชั้น...

 

และหน้าแล้งที่ว่านี้  ผมก็หลงรักการเดินเท้าขึ้นสู่ป่าโคกท้ายหมู่บ้านมากเป็นพิเศษ  เพราะผม
และเพื่อนๆ มีกิจกรรมหลายอย่างให้เราได้ผจญภัยและแสดงศักยภาพของตัวเอง  ทั้งในระบบหมู่
และเฉพาะตน  ไม่ว่าจะเป็นการจับกิ้งก่า  ยิงนก  หรือแม้แต่การหลบลมร้อนไปนอนกลางวันบนเถียงนาตามชายทุ่ง  และการขุดเจาะบ่อน้ำเล็กๆ  เพื่อประทังความกระหายอันเกิดจากลมแล้งอันแสนร้อนของฤดูกาล...

 

 

ทั้งหลายทั้งปวงนั้น  คือภาพชีวิต หรือฉากชีวิตที่ผมคุ้นเคยและยังมองเห็นอย่างแจ่มชัด ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน  หากแต่วันนี้ หลายอย่างพลิกผันเปลี่ยนไปจนแทบไม่เหลือร่องรอยเหล่านั้นให้พบสัมผัสอีกต่อไป

 

วันนี้  หากทอดเท้าลงสู่ท้องทุ่ง  เราคงไม่กล้าพอที่จะบอกว่าในทุกท้องทุ่งยังคงมีมนต์ขลังดัง
วาทกรรม  “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” อีกแล้ว ... เพราะความอุดมสมบูรณ์ของท้องทุ่งผิดแผกไปจากอดีตอย่างมากมาย  หรือแม้แต่การจะพบพานกับมิตรภาพการลงแขกที่ปราศจากค่าแรงนั้น 
ก็หาได้ยากยิ่งด้วยเหมือนกัน  ทุกอย่างเปลี่ยนรูปไปสู่การแลกเปลี่ยนด้วยเงินตราแล้วทั้งนั้น...

 

ทุกวันนี้  หากท้องทุ่งใด  ยังคงกระหึ่มก้องด้วยเสียงกบเขียดหรืออึ่งอ่าง  นั่นย่อมแสดงว่า ผืนดินแห่งทุ่งนานั้น ยังคงไม่ถูกรุกทำลายด้วยสารเคมีและยากำจัดวัชพืชหรือแมลงสักเท่าไหร่  จึงยังพอให้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้น เหลือรอดมาเป็นมโหรีแห่งท้องทุ่งได้บ้าง...ซึ่งนั่นก็รวมถึงนก-หนู-ปู-ปลา-หอยก็เช่นกัน  ก็ยังคงพอเหลือให้เราได้จับมาเป็นอาหารการกินตามวิถีดั้งเดิมได้บ้าง

 

ทุกวันนี้  การลงแขกเกี่ยวข้าวถูกเบียดหายออกไปจากท้องทุ่งจนสิ้นแล้ว  มีก็แต่รถเกี่ยวข้าวเท่านั้นที่คำรามเสียงราวสัตว์ตัวใหญ่ที่ย่างเหยียบบนแปลงนาอย่างไม่รู้เหนื่อย  โดยการทำหน้าที่จัดการกับกระบวนการทุกอย่างให้เสร็จสรรพ  รวดเร็ว  และสะดวกสบาย...
 

 

ครับ,  ทุกวันนี้  ผมไม่อาจบอกได้ว่า  ในน้ำยังมีปลาในนายังมีข้าวอีกหรือเปล่า...แต่กระนั้นผมก็ยังหลงรักในวาทกรรมที่ท่องจำมาจากอดีตอย่างไม่รู้เบื่อ  ความทรงจำในสิ่งเหล่านี้ยังแจ่มชัดและมีชีวิตเสมอ  (ขณะที่กระดูกสันหลังของชาติกลับเริ่มผุกร่อนโทรมทรุดลงอย่างน่าเห็นใจ)
 

แต่ที่แน่ๆ..หากมุดหัวพาตัวเข้าไปในครัวเรือนใดครัวเรือนหนึ่ง  ไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหน  เราต่างก็ย่อมพบสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นต่ำเสมอ  ไม่ว่าจะเป็น  ทีวี ตู้เย็น เตารีด และเตาแก๊ช.. (รวมถึงเครื่องเล่นวีดีโอ-คาราโอเกะ)

 

คำตอบเช่นนี้  มันง่ายต่อการหาคำตอบจากคำถามที่ว่า “ในน้ำมีปลา..ในนามีอะไร”  เป็นไหนๆ (ใช่ไหมครับ)


 

หมายเลขบันทึก: 301907เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2009 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (47)

ตามมาดูบรรยากาศแบบชาวนา ครับ

เห็นแล้วคิดถึงบ้านครับพี่

 

ในนาก็มีข้าวซิคะ..

นี่หล่ะชีวิตที่เป็นอยู่ สัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่คุ้นเคยค่ะ

ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แน่นอนค่ะ

แม้ว่าในยุคนี้นาจะเหลือน้อยลงเต็มที

เพราะกลายเป็นบ้านจัดสรรไปหมด

กินข้าวในนาได้ แต่อย่ากินปลานานะคะ..มันบาป ..อิอิอิ (ปานาติปาตา เวรมณี...)

  • ผมไม่อาจบอกได้ว่า  ในน้ำยังมีปลาในนายังมีข้าวอีกหรือเปล่า
  • แถวพื้นราบ..น้ำพอมี..ข้าวพอหา...แต่ปลานี่ซีครับ..ไม่แน่ใจเอาเสียเลย
  • ขอบพระคุณครับ

สวัสดีค่ะ

อ่านเรื่องราวที่จรรโลงใจ
ดูภาพถ่ายที่ได้ความรู้สึก
นี่คือ สไตล์ที่ชื่นชอบใน...ข้อคิดและเขียนแม้ไม่อาจทำได้ก็ขอชื่นชมอย่างจริงใจ

..ในน้ำไม่มีปลา..มีนาเอาไว้เซ็งลี้...เขาว่าทำนาสิบชาติ..ยังไม่ได้เงินเท่าขายนา....๕๕๕๖.....ค่ะคุณแผ่นดิน..นารอบๆกรุงเทพไงคะ...อิอิ

สวัสดีครับ ครูโย่ง หัวหน้า~ natadee

บรรยากาศท้องทุ่ง...ก็มีสีสันต่างจากในเมือง..มีเสน่ห์กันคนละอย่าง แต่ที่แตกต่างกันชัดๆ เลยก็คือ "อากาศ" ที่โล่งสบาย ครับ..

 

สวัสดีครับ...สีตะวัน

ปีก่อนโน้น  แม่จับปลาในนามาให้..ผมขังไว้หลายคืน ไม่กล้าทุบหัวทำเป็นอาหาร เลยถือโอกาสคืนฝนตกจับลงไปปล่อยในคลองของมหาวิทยาลัยแทน...

พอเช้ามา  เจอคนงานก่อสร้างกำลังทอแหบริเวณนั้นพอดี..ไม่รู้ปลาตัวนั้น รอดชีวิตหรือเปล่าก็ไม่รู้..

ขอบคุณครับ

ไม่แน่ใจว่ามีปลาหรือไม่เพราะเหตุการณ์เปลี่ยนไปไม่เหมือนอดีตที่มีน้ำใสใจจริงค่ะ

การใช้ชีวิตแบบที่เรียบง่ายตามแบบธรรมชาติดั่งเดิมที่ให้พลังกำเนิดชีวิตที่มีตัวตนที่แท้จริง ชวนให้สะกิดห้วงใต้สำนึกอันมืดมิดภายใต้จิตใจ ให้ได้รับความรู้ เมื่อครายังในวัยเเยาว์ ชวนให้นึกถึงอ้อมกอดที่มอบอุ่นไออุ่น มีพ่อแม่พี่น้อง และทุกๆคน มีประเพณีวัฒนธรรมคอยเป็นตัวเชื่อมหล่อหลอมให้จิตใจกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งอันหนึ่งอันเดียวกัน...ทั้งจิตและทั้งใจ

ขอบคุณครับ

คิดฮอดสมัยเป็นเด็กน้อย ไปไล่ตบตั๊กแตน กับจับจีหรีด

ซะม่วนคักแท้ ว่าแมนสิเฒ่าบ่เป็น

เด็กน้อยเดียวนี่เล่นแต่เกม

สวัสดีค่ะ

อ่านบันทึกนี้ทำให้ย้อนไปถึงเมื่อเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ได้ทำงานครั้งแรกที่จังหวัดอุบลราชธานี  งาน กศน.ส่วนใหญ่จะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชน ครูอาสาสมัคร กศน.และครูสอนวิชาชีพจะต้องออกไปสอนในชุมชนและพักอาศัยในชุมชนด้วย พี่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมครูเหล่านั้น และได้ค้างคืนในชุมชนด้วย บางหมู่บ้านก็ยังไม่ม่ไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านยังมีวิถีชีวิตเรียบง่าย หาผัก หาปลาในหนองน้ำ ในนาข้าว หลังเกี่ยวข้าวแล้วพวกเรารวมทั้งครู กศน. จะพากันกินข้าวป่าในท้องทุ่งนาของชาวบ้าน  นั่งคุยล้อมวง พวกเราจะทานได้ทุกอย่างที่ชาวบ้านทานค่ะ มีปลาเผา เห็ด ปลาต้มใส่ฝักติ้วมีรสเปรี้ยว ๆ ดีค่ะ (ถ้าจำชื่อไม่ผิดน่ะ (ผักติ้ว)  และใส่ไข่มดแดง รสชาดดีค่ะ   เป็นวิถีชีวิตที่ไม่อาจลืมได้ค่ะ ยามค่ำคืนหากชาวบ้านมีปัญหาก็จะมาพูดคุยกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน หรือพวกเราเรียกกันว่า ศาลเตี้ยค่ะ  เมื่อทานข้าวเย็นแล้วก็จะนั่งคุยกันหน้านอกชานบ้านค่ะ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเรื่องของการทำนา พรุ่งนี้บ้านใครเกี่ยวข้าว ก็จะไปลงแขกช่วยกันค่ะ จะช่วยกันขนข้าวจนเสร็จเรียบร้อยค่ะ สอนหนังสือให้กับผู้ไม่รู้หนังสือในยามกลางคืน พวกจะใช้ตะเกียงเจ้าพายุ (น่าจะใช่น่ะ ตะเกียงจะสว่างไสวมาก)  และหลังเกี่ยวข้าวแล้ว บริเวณทุ่งนาจะมีดอกไม้สีเหลือง สีม่วงขึ้นเต็มทุ่งนา เป็นธรรมชาติที่ย้อนกลับไปดูไม่ได้อีกแล้วค่ะ

ขอบคุณบันทึกดี ๆ ให้ได้ทบทวนถึงธรรมชาติและสิ่งดี ๆ  ที่ผ่านมาค่ะ

เห็นภาพแล้ว...คิดถึงทุ่งนาที่บ้าน   คิดถึงบ้านจังค่ะ

สวัสดีครับ คุณสามสัก

ตอนนี้ในทุ่งนานั้น มีข้าวแน่นอนทีเดียวครับ เพียงแต่วัฒนธรรมการลงนาปักดำนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะวิถีวัฒนธรรมของการลงแรงแบบลงแขกนั้น คงแทบไม่เหลือให้สัมผัสแล้วกระมังครับ  ล่าสุดการปลูกข้าว ก็มีทั้งการปักดำ, การหว่าน และการโยนกล้า  ซึ่งวิธีหลังนี้ เห็นว่าได้ผลผลิตที่ดีพอสมควร..

กรณีสัตว์น้ำเล็กๆ น้อยๆ นั้น  ต้องยอมรับว่า มีผลกระทบโดยตรงกับการที่มีสารพิษต่างๆ ตกค้างอยู่ในท้องนา  ขนาดปูยังหาจับได้ยากแล้ว  ส่วนอึ่งอ่างนั้น ต้องบอกตามตรงว่าแถวบ้านผมแทบไม่ส่งเสียงร้องให้ได้ยินเลยก็ว่าได้.. เช่นเดียวกับปลา ก็มีให้จับน้อยลงอย่างน่าใจหาย...

มันคือภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องทำความเข้าใจและทำใจไปพร้อมๆ กัน...

คิดแล้วก็อดที่จะคิดถึงชีวิตในวัยเด็กไม่ได้...ลงน้ำมีปลา...ลงนามีข้าว...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.phayorm แซ่เฮ

จริงๆ แล้วก็ไม่ได้เยี่ยมเยียนกันและกันนานมากเลยเหมือนกันนะครับ
บันทึกนี้ เกิดจากแรงขับเคลื่อนภายในตัวตนของผมเอง หลังจากกลับไปร่วมงานศพของญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง  มันทำให้ผมมีเวลามองอะไรๆ ยาวนานกว่าทุกครั้ง  บันทึกนี้อาจไม่เน้นเรื่องสาระความคิดอะไรมาก เพียงแต่ต้องการสื่อสารความรู้สึก-ห้วงนึกคิดแบบรำพึงรำพันเป็นที่ตั้งเท่านั้นเอง

ดีใจ, ที่มีคนอ่านแล้วรู้สึกชอบกับบรรยากาศที่นำเสนอ..และดีใจที่บันทึกนี้ชวนให้ผู้อ่านได้กลับไปถามถึงความทรงจำของตัวเองที่มีต่อท้องทุ่ง หรือไม่ก็บ้านเกิดของแต่ละคน

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ ยายธี

เห็นด้วยเป็นที่สุดเลยครับกับคำๆ นี้ ทำนาสิบชาติ..ยังไม่ได้เงินเท่าขายนา.(โดยเฉพาะแถวๆ กรุงเทพ) ..เป็นคำเปรียบเปรยที่แสนเศร้ายิ่งนัก..

แต่ที่เจ็บหนักก็คือ ขายไปแล้วยังต้องมาเช่าที่นาตัวเองเพื่อทำนาต่อไป...(นี่ก็มีให้เห็นมากไม่ใช่น้อย) ..เป็นความจริงที่เจ็บแสนเจ็บจริงๆ นะครับ

สำหรับครอบครัวผมนั้น  คุยกันชัดเจนในเครือญาติ  เราจะไม่ยอมขายผืนนาอันเป็นมรดกของปู่ย่าตาทวดเป็นเด็ดขาด  ถ้าจำต้องขายก็ให้ขายให้กับพี่น้องร่วมท้องเดียวกันนี่แหละ...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ..rinda

ตอนนี้ ผู้คนแถวหมู่บ้านไม่ได้ฝากท้องไว้กับปลาในท้องนาอีกแล้วครับ  เพราะแต่ละคนซื้อปลาตลาดมากินกันซะส่วนใหญ่ หรือไม่ก็ขุดสระเล็กๆ เลี้ยงปลากันเอง...แต่บางทีปลาที่เลี้ยงนั้น ก็ยังเน้นขายในตลาดสดแถวๆ บ้านมากกว่าการเลี้ยงไว้บริโภคเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง...

ผมชื่นชมแนวคิดเลี้ยงปลาไว้เอง  ส่วนหนึ่งก็จับมาบริโภคในครัวเรือน มีเหลือก็ไปจำหน่ายบ้างตามโอกาสอันสมควร  ในยามที่เพื่อนบ้านจัดงาน ไม่ว่าจะเป็นงานบุญหรืองานโศกเศร้าอันใด แทนที่จะเอาเงินไปช่วยเหลือก็จับปลาที่เลี้ยงไว้นั่นแหละไปให้เพื่อนบ้าน เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอีกทางหนึ่ง..

ซึ่งนับได้ว่าเป็นสายธารแห่งมิตรภาพที่งดงามและควรค่าต่อการยกย่องเป็นที่สุดเลยทีเดียว

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์ แผ่นดินหลายคนบ่นห่วงว่าในน้ำไม่ปลา ในนาไม่มีข้าว แต่ผมว่าขอเพียงมีดิน แล้วช่วยกันพลิกทุ่ง คืนทุน สร้างไท สิ่งที่หายจะกลับมาครับท่าน

อ่านแล้วคิดถึงคุณแม่ที่ "บ้านนาบ้านเรา" คะ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • เรื่องและภาพดีมากเลยอาจารย์
  • แต่ตัวหนังสือเล็กไปนิด
  • สว.ทั้งหลายต้องใช้แว่นกันเป็นแถว

ขอเจริญพร

สวัสดีครับ อ.แผ่นดิน

ผมเป็นคนกรุงอยู่เมืองกรุง

เมืองที่ใครๆหลายๆคนอยากมาสัมผัส

เมืองที่ใครๆบอกว่าเจริญ(ด้วยวัตถุ)

แต่ผมรู้สึกอิจฉาวิถีชีวิตแบบชนบทเหลือเกิน

ผมมีพ่อและแม่เป็นชาวนามาก่อน

ได้ยินท่านเล่าเรื่องราว การทำไร่ทำนาให้ฟังบ่อยๆ

ยิ่งอ่านบันทึกนี้แล้วยิ่งเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น

ขอบคุณครับสำหรับเรื่องราวดีๆแบบนี้ รักษาสุขภาพนะครับ  

สวัสดีค่ะ อ.แผ่นดิน

ชอบทุกบันทึกที่ได้เขียนมาค่ะ ในปัจจุบันวิถีชีวิตชาวนาอย่างนี้หาดูได้ยากจริงๆค่ะ

สวัสดีค่ะ ธรรมชาติคือห้องเรียนอันยิ่งใหญ่ค่ะ เรียนเท่าไหร่ก็ไม่หมดและไม่เบื่อค่ะ

เขาว่ากันว่า ทุ่งนา นั้นมีกลิ่นหอม....

เคยโพสต์ เรื่องอยากชวนชาวโกทูโนว์ ไปโกทูนา แต่ยังไม่สำเร็จเลยค่ะ

คิดถึงและเป็นกำลังใจให้อาจารย์เสมอนะคะ

  • ชีวิตวัยเด็ก มีประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้มาบ้าง ได้มาอ่าน นึกถึง..ชอบหลายๆประโยคที่อาจารย์บรรยาย เห็นภาพ คิดถึงคืนเดือนหงายที่ผู้คนลงนานวดข้าวและนอนนากันอย่างอบอุ่น..มีต้มไก่ร้อนๆให้ซดคลายหนาว  มีไก่อบฟางเป็นกับแกล้มในยามดึก สุดท้ายก็ปิดฤดูกาลด้วยการขนย้ายข้าวเปลือกขึ้นสู่ยุ้งฉางอย่างสามัคคี
  • ชอบภาพนี้มากๆ..ขอบคุณสาระดีๆ และภาพประกอบสวยๆครับ

บรรยากาศและวิถีชีวิตที่เรียบง่ายเป็นธรรมชาติไม่ดิ้นรนแก่งแย่งแบบนี้คงไม่เห็นได้ง่ายๆในสังคมปัจจุบัน ดูแล้วทำให้จิตใจสบาย ขอบคุณที่มีภาพนี้ให้พวกเราได้ถวิลหาอดีต

ท้องทุ่งแห่งชีวิต

ลิขิตโดยธรรมชาติและมนุษย์

.

ภาพสวย อักษรเคลื่อนไหว ตามอารม ครับ

พี่แผ่นดินถ่ายภาพออกมาชัดสุด ๆ เลยค่ะ สวยมาก ๆ

สวัสดีค่ะ ในน้ำมีลาในนานั้นมีรวงข้าว แผ่นดินของเราช่างแสนอุดมสมบูรณ์

มารำลึกวัยเด็กค่ะ ตอนเป็นเด็กประถม เลิกจากโรงเรียน ไม่ได้เรียนพิเศษ แต่วางกระเป๋าหนังสือแล้ว ลุยดำนาต่อ....จนมืดค่ำ....พอหัวค่ำก็ออกหาปลา....

มีความสุขทุกครั้งที่ได้นึกถึง...ภาพทุ่งนาข้าวเขียวขจี...

 

 

สวัสดีค่ะ พี่พนัส..

  • ชีวิตของแป๋มจะขลุกอยู่กับผู้เฒ่าผู้แก่คนชรามากกว่าคนวัยเดียวกัน
  • ท่านเหล่านี้จะมีความสุขหากได้เล่าเรื่องราวในอดีตของท่านแป๋มชอบฟัง..เข้ากัน..
  • ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประทับจิตติดตรึงใจเด็กในค่าย(ทหาร)อย่างแป๋ม
  • ทำให้แป๋มมองเห็นว่าบรรยากาศที่พี่กล่าวจะสมบูรณ์อย่างยิ่ง 
  • หากมีบทเพลง "อีสานบ้านเฮา"ของคุณดาว บ้านดอน มาประกอบกัน
  • หอมกลิ่นผักกะแยง.. ยามฟ้าแลงค่ำลงมา.. แอ้บๆ..เขียดในนา....(เพราะมากค่ะ)

เดี๋ยวนี้นะครับ

ในนานอกจากจะมีข้าวแล้วยังอุดมไปด้วยสารเคมีจำนวนมาก

ทั้งปุ๋ย และยาฆ่าแมลงชนิดต่าง ๆ

จนทำให้ ในน้ำแทาบจะไม่มีปลาเหลือหรอแล้วครับ

ปลาหลายชนิดสูญพันธ์ไปจากท้องทุ่งแล้ว

...

วันนี้ผมได้รับหนังสือ "เรียนนอกฤดู" จากคุณเอก

เสียดายที่เจ้าของมิได้เซ็นชื่อให้

ผมขอบคุณคุณเอกไปแล้ว

แต่ยังมิได้ขอบคุณคนเขียน

ขอบคุณครับ

สวัสดีคะ

เมื่อตอนเด็กๆ จำได้ว่าชอบไปยืนดูทุ่งนาที่หลังบ้านค่ะ ดูแล้วสบายตามากเลยค่ะ

แต่โตขึ้นมา ไม่มีทุ่งนากลายเป็นบ้านจัดสรรไปเสียแล้วค่ะ...น่าเสียดายมากเลยค่ะ

ไม่มีลมเย็นชายทุ่งอีกเหมือนเคย..สงสัยว่าอีกหน่อยแก่มา ต้องย้ายตัวเองไปอยู่บนดอยสูง หนีเมืองที่วุ่นวายอากาศร้อนๆ แบบนี้น่ะค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ในน้ำมีปลา ในนา ... มี น่าจะยังพอมีกบ หลงเหลือบ้างนะคะ อิ อิ

คิดถึงป่นกบ อบข้าวนึ่ง ค่ะ ... บ้านนอกเรามี ตู้เย็น ธรรมชาติอันอุดม

มีตู้เพลง มีเถียงนาให้ไต่ เล่นยิมฯ มีกบให้จับ มีดวงดาวให้นับ มี ...

... ย่างเข้าปลายฝนต้นหนาว  หนุ่มน้อยทั้งสองคงใกล้จะปิดเทอมอีกแล้ว คิดถึงค่ะ

"ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ทำมาหากิน แผ่นดินของเรา ปลูกเรือนสร้างเหย้าอยู่ร่วมกันไป....เราอยู่เป็นสุข สนุกสนาน เราตั้งถิ่นฐาน ไว้จนยิ่งใหญ่ เมืองไทยเรานี้ แสนดีกระไร เรารักเมืองไทยยิ่งชีพเราเอย"

ชอบบรรยากาศท้องทุ้งนาค่ะ...รู้สึกได้กลิ่นหอมของฟางแห้ง...หลังฤดูเก็บเกี่ยว...ส่วนใกล้ ๆ บ้านไหนที่มีวัว...ก็จะก่อกองฟางสู้งสูงไว้ให้วัวกิน...(อันเป็นต้นเหตุให้ไอ้ขวัญกับอีเรียมนัดพบกัน ฮาๆๆ)...ตอนนี้บรรยากาศเช่นนี้หายากยิ่งแล้ว...เมื่อความเจริญเข้ามาเบียดบัง

--------

ขอบพระคุณมากค่ะ...สำหรับการฉายภาพบรรยากาศดี ๆ

สวัสดีค่ะ

  • เข้ามาหาคำตอบค่ำ "ในน้ำมีปลา ในนามีอะไร"
  • ขอบพระคุณ บรรยากาศทุ่งนา ให้ความสดชื่นค่ะ
  • คิดถึงกลิ่นไอของท้องทุ่ง จังเลยค่ะ

สวัสดีครับ bannonlaim

ภาพชีวิตวัยเด็กในชนบทตราตรึงและแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำของผมเรื่อยมา  โดยเฉพาะวิถีวัฒนธรรมของการพึ่งพิงกันและกัน  พอถึงหน้าปักดำ มีการแบ่งปันต้นกล้าให้เพื่อนบ้าน บางทีมีการยืมควายไปลากไถ มีการขุดลอกถ่ายโยงน้ำเข้าแปลงนาให้กันและกัน  ปักดำเสร็จจากแปลงนาตัวเองแล้วก็จะไปช่วยเพื่อนบ้าน หรือญาติพี่น้องทำนากันอย่างอบอุ่น  สิ่งเหล่านี้เป็นความงามและความเรียบง่ายของชีวิตที่พบเจออย่างหลากล้น  ทุกวันนี้  ที่พบเห็นทั่วไปมักจะเป็นการจ้างงานรายวันไปแล้วแทบทั้งสิ้น

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ...วิไล วิไล บุรีรัตน์

เด็กๆ สมัยก่อนวิ่งเล่นกันตามคันหา  ใช้คันนาเป็นที่กำบังสาดกระสุนเล่นกันอย่างสนุก และบางทีก็ใช้เป็นที่เล่นซ่อนหา  แต่ทุกวันนี้ก็จริงเหมือนที่บอกแหละครับ  ...เด็กๆ หันเหไปเล่นเกมในอินเตอร์กันเกือบหมดแล้ว

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่สุนันทา

ทุกวันนี้บรรยากาศของการไกล่เกลี่ยคดีความในหมู่บ้านยังคงมีระบบผู้อาวุโส หรือผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านเข้ามามีบทบาทเหมือนเช่นเคย  ขึ้นอยู่กับว่าหมู่บ้านใดจะยังรักษาวิถีวัฒนธรรมได้เข้มข้นมากน้อยเท่านั้นเอง  แต่ที่น่าเสียดายก็คือ วิถีของเยาวชนกับการพัฒนาบ้านเกิดนั้น  ดูเลือนหายไปไม่ใช่น้อย  ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะไหลหลากไปทำงานในเมืองใหญ่ๆ หรือไม่ก็มีวัฒนธรรมใหม่ด้วยการขี่รถเครื่องตระเวนเที่ยวตามหมู่บ้านต่างๆ ยิ่งหมู่บ้านใดมีมหรสพ ยิ่งมักรวมกลุ่มกันไปเที่ยว  มีการดื่มสุราก็เยอะ สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการวิวาทเลือดตกยางออก  หนีไม่พ้นการนำพาผู้ปกครอง ผู้หลักผู้ใหญ่มาไกล่เกลี่ยประนีประนอม หนักๆ ก็ส่งลูกเต้าหนีออกไปจากหมู่บ้าน  ปล่อยให้การไกล่เกลี่ยคดีความเป็นเรื่องของผู้ปกครอง...

นี่คือความเป็นจริงของวันนี้ที่ชวนสะท้อนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ครับ

 

สวัสดีครับ ♡*.:。 KiTTyJuMP゚・♡゚゚・~

ทุกวันนี้กลับบ้านเมื่อไหร่ ผมก็ไม่ลืมที่จะแวไปสูดอากาศของท้องนาท้ายหมู่บ้านเสมอๆ..มันช่วยให้รู้สึกว่าชีวิตได้รับการเติมพลังจากสิ่งเหล่านั้น..

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ..วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

เพื่อนหลายคนบอกกับผมว่า ไม่อยากกลับบ้าน เพราะไม่รู้จะกลับมาทำอะไรเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ท้องนาก็แล้งจนเกินจะทานทน เลยปล่อยให้คนอื่นเช่าแทน ส่วนตัวเองก็ผันตัวมาเป็นหนุ่มสาวโรงงาน  มันเป็นทางเลือกที่เสมือนวัฒนธรรมการเคลื่อนไหลของแรงงานไปในตัว...

ขอบคุณครับ

ผมชอบบทความนี้มาก >>>>>>

วิถีชีวิตชนบทที่เปลี่ยนไป  เฉกเช่นฤดูกาล ที่มีอากาศหนาวคอยสร้างสีสันแฟชั่นการแต่งตัวด้วยผ้ากันหนาวสวยๆ นั้นช่งสั้นนัก บางปีแทบไม่มีเลย  เป็นเพียงอากาศเย็นที่แผ่เข้ามาปกคลุมเฉยๆ     
ช่วงฤดูหนาวนั้น บวกกับในหน้าเทศกาลเก็บเกี่ยวรวงข้าวในท้องทุ่งนา  การนวดข้าวที่ใช้มือ  เสียงตุ๊บตับ  ทั่วแดนท้องทุ่งนาในยามค่ำคืน แสงไฟตะเกียงที่อยู่ทั่วท้องนาในกระท่อม อากาศหนาวจับใจ  จุดไฟผิงบ้าง  กลิ่นธรรมชาติท้องทุ่งนา  กับวิถีชีวิตชนบทที่เปลี่ยนหลายอย่าง  สิ่งอำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยีเข้ามา  หรือฤดูกาลที่เปลี่ยนไป  วิถีนั้นได้เปลี่ยนด้วยครับ  อย่างไรผมคนหนึ่งที่ยังคงระลึกบรรยากาศท้องทุ่งสมัยก่อน 

สวัสดีครับ..คุณ รัชนีวรรณ ศุภวรรณ

อย่าลืมพาหัวใจกลับไปแนบชิดหัวใจบ้านนะครับ...เพราะที่นั่นมีคนที่รักของเรา..อยู่อย่างมากมาย

 

ทุกฤดูมีความแตกต่างค่ะ เราสามารถหาความงดงามจากฤดูกาลเหล่านั้นทุกฤดู ไม่ว่า จะร้อน หนาว หรือฝนตก

ครูใจดีคิดว่า ในปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่าสังคม หรือโลกจะเปลี่ยนแปลงไป สำหรับเมืองไทย "ในน้ำยังมีปลา ในนาก็ยังมีข้าวอยู่นะคะ" ยังพอมองเห็นภาพวิถีชีวิตบนท้องทุ่งนา และแปลงข้าวอยู่บ้าง.... ถึงแม้ว่าผืนนาบางส่วนจะตกไปอยู่ในมือของนายทุนต่างชาติก็ตามที

ระลึกถึงค่ะ

มาชม

เห็นวิถีชีวิตชาวนา ชาวบ้าน...เหมือนครั้งที่ตนเองเคยสัมผัสมาอย่างนี้นะนี่...

เรื่องในน้ำมีปลา...เมื่อกี้นั่งคุยกับลูกศิษย์ที่เอางานมาส่งและเล่าเรื่องราวว่าพ่อเขานั้นเป็นไต้ก๋งเรือ เมืองสงขลา

แต่ก่อนออกเรือคืนเดียวกลับเข้าฝั่งได้ปลาเต็มลำเรือ

เดี๋ยวนี้ต้องไปหาปลาแถวน่านน้ำอินโดนีเซียแล้วละ เพราะปลาในอ่าวไทยแทบไม่เหลือ...

นาข้าวหลังบ้าน ฉีดยาบ่อยมาก

แบบว่านาอยู่ติดรั้วบ้านเลยนะคะ

เวลาได้ยินเสียงเครื่องฉีดยา..รีบปิดหน้าต่างประตูแทบไม่ทัน

เจอเด็กๆๆชาวมอญถามเขาว่า ในน้ำมีปลา ในนามีอะไร เด็กๆๆบอกว่ามีหอย มีกุ้งด้วยนะครู ฮามากเลย..

"ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ทำมาหากิน แผ่นดินของเรา ปลูกเรือนสร้างเหย้าอยู่ร่วมกันไป....เราอยู่เป็นสุข สนุกสนาน

ถ้าในน้ำมีปลา แล้วในนาไม่มีข้าว แล้วเราจะกินอะไรเพื่อชีวิตของเราให้อยู่รอดได้ ถ้าไม่มีข้าว เราก็ตายกันหมดซิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท