การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๒๗)


การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๒๗)


           ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๒๗ มาลงต่อนะครับ     เป็นตอนทีเด็ดเต็มไปด้วยศิลปะแห่งท้องทุ่ง   โดยฝีมือชาวนา     ตอนนี้เป็นบทสัมภาษณ์คุณอรุณ จันทิมา    ท่านจะได้เห็นว่าคุณอรุณมีวิธีดึงสามีเข้ามาเป็นพวกได้อย่างไร

 


ตอนที่  1    บทสัมภาษณ์นักเรียนชาวนาเกี่ยวกับการจดบันทึกข้อมูล
             “เราได้แต่โจทย์มาอย่างเดียว  (จากโรงเรียนชาวนา)  ว่าให้ไปดูว่าในทุ่งนามีอะไรบ้าง  ? 
             ได้รับโจทย์ในแต่ละอาทิตย์  ก็ได้มาคุยกันว่าเราจะสำรวจร่วมกัน  ทุกคนก็จด  แต่จะจดไม่เหมือนกัน  แล้วแต่วิธีการของใครจะจดแบบไหน  แบบของพี่สาว  เขาก็จะจดตามวิธีที่เขาเข้าใจ  แต่ละคนจึงออกมาไม่เหมือนกัน  บางคนก็จดแล้วก็วาดแมลง 
             สมุดจดก็จดกันทุกวัน  เพราะจะลงตรวจแมลงกันทุกวัน  ไปสำรวจกันช่วงเช้า  จะต้องรีบทำครัวทำงานบ้านให้เสร็จ  เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาในบ้าน  (หัวเราะ)  ทำให้เสร็จเรียบร้อย  เพราะจะต้องไปตั้งแต่เช้า  ถ้าสายก็จะจับแมลงไม่ได้  แมลงจะลงโคลน  เสร็จก็นัดกันที่หนึ่งที่ใด  ในโรงเรียนชาวนาเป็นกลุ่มใหญ่  ก็มีการแบ่งกลุ่มกันเป็นกลุ่มๆ  ให้คนที่เรียนก่อนเป็นรุ่นพี่เป็นพี่เลี้ยง  เอาบ้านที่ใกล้ๆกันจะได้นัดมารวมกัน  จะได้เจอกันง่าย  จะไม่ได้มีปัญหา  กลุ่มหนึ่งๆก็มี  5  คน  แล้วมีนักเรียนชาวนาคนใหม่เข้ามาก็มาเสริมเป็น  7  คน 
             ก็จะนัดกันว่าวันนี้จะลงนาใครก่อน  แล้วก็ไล่ไปให้ครบในกลุ่ม  ไปบ้านละวัน  สลับหมุนเวียนกันไป  เวลาไปสำรวจแมลงก็จะไปด้วยกันเป็นกลุ่ม  ตอนที่วัดก็วัดต้นเดียวกัน  เพราะเราจะดูว่าต้นที่เราวัดสูงเท่าไหร่?  ก็จะจด  เป็นการสำรวจร่วมกัน  สำรวจข้าว  สำรวจน้ำ  ระดับ   ความสูง  แล้วก็จับแมลง  คัดแมลง  ช่วยกันดูว่านี่ตัวดี  นี่ตัวร้าย  ตัวไหนเราสงสัยก็ใช้แว่นขยายส่องแล้วส่องอีกเพื่อดูว่าตัวนี้ตัวอะไร?  ถ้าไม่รู้ก็ต้องเปิดสมุดหนังสือที่พอจะมี  ที่พอหาได้  ว่า  ตัวนี้  ตัวดีหรือ  ตัวร้าย  ?  หรือที่เราพอจะรู้จัก  แต่ในหนังสือมันเป็นภาษาอังกฤษ  เราก็จะเรียกเป็น    แตนเบียนสีส้มแทน  เพราะสีมันส้มๆ  แล้วก็แยกตัวดีตัวร้าย  แล้วก็มาคุยกันว่า  พอจะอยู่ได้ไหมโดยไม่ต้องฉีดยา?  ก็ใช้รูปแบบนี้
             ที่จดนี่ก็จะดูว่า  ตัวดีมันเพิ่มขึ้น  หลังจากที่เราหยุดใช้สารเคมี  เราใช้สมุนไพรมากขึ้น  ก็ยิ่งทำให้ตัวดีมีมากขึ้น  เรียกว่าเราดูแล้ว  ...  เราสบายใจว่าเราไม่ต้องไปฉีดยาอีกแล้ว  เรารู้ว่าแมลงธรรมชาติมันเพิ่มขึ้น  แล้วเราก็จะจดได้ว่าระยะข้าวที่โตขึ้น  มีใบเพิ่มขึ้น 
             สีเทียนได้มาจากเจ้าหน้าที่ให้มาบ้าง  ขอหลานมาใช้บ้าง  (หัวเราะ)  ปกติเราวาดมันก็ไม่สวยหรอก  แต่พอลงสีไปแล้วมันก็กลับสวยขึ้น  หลานก็มาช่วยดู  บางอย่างก็ให้หลานช่วยเขียนลงรายละเอียดให้ 
             เราเรียนแล้ว  เราก็ยิ่งอยากรู้เพิ่มขึ้นไปอีก  อย่างบางทีเราเจอแตนเบียนอีลัสมัส  เราก็เขียนตามว่าเป็นแตนเบียนอีลัสมัส  แล้วบางทีเราเจอแมลงที่ไม่รู้จัก  ก็เอามารวมไว้ด้วยกัน  เพราะเรายังไม่รู้จัก  แต่รู้ว่าเป็นตัวดี  พอยิ่งนานวันเราก็รู้จักเพิ่มมากขึ้น  เมื่อก่อนพึ่งรู้จัก  3 – 4  ชนิด  ...  ก็เพิ่มขึ้นมาอีก  2  ชนิด  3  ชนิด  มันก็เพิ่มขึ้นไปอีกเรื่อยๆ 
             เราวาดจากของจริงมันดูได้ยาก  ก็อาศัยภาพจากหนังสือ  แต่มันไม่แตกต่างกัน  เพราะมันจะลักษณะเดียวกัน  เวลาวาดก็เครียด  (หัวเราะ)  ทำอย่างไรจะให้ที่เราวาดมันเหมือน  (ของจริง)  ก็วาดแล้วก็ลบ  ...  เอาใหม่  ก็ใช้เวลาว่างๆมานั่งวาด  แล้วก็ต้องมั่นอ่านหนังสือหน่อย  พ่อสอนให้อ่านหนังสือตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน 
             เมื่อก่อนที่ใช้สารเคมี  ก็ไม่เคยจดอะไรอย่างนี้เลย  เคยแต่ไปจ้องดูมา  โอ...โห้...  ไอ้ตัวนี้มาอีกแล้ว  มีมาสารพัด  ไม่รู้ว่าตัวอะไรเป็นตัวอะไร  ?  ให้สามีเป็นคนฉีดยา  แล้วปรากฎว่ามันยังไม่ตายก็ต้องบี้กันให้ตาย  (หัวเราะ)” 


                               
คุณอารมณ์  จำปานิล  (ซ้าย)  และคุณอรุณ  จันทีมา  (ขวา)  พี่น้องในครอบครัว
นักเรียนชาวนาโรงเรียนชาวนาบ้านสังโฆ  ตำบลวัดดาว  อำเภอบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี 
แสดงผลงานจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง  โดยอาศัยกระบวนการกลุ่มเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน

             “พอเราไปเรียนแล้ว  เราก็กลับมาถ่ายทอดให้คนที่บ้านได้  เช่น  ในตอนเช้า  เราจะแกล้งก็บอกเขา  (สามี)  ว่าวันนี้ยุ่งจังเลย  ...  ช่วยไปดูซิที่ทุ่งนามีตัวอะไรบ้าง  ?  แล้วเขาก็ไปดู  ก็จะถามเขาว่าลักษณะมันเป็นตัวอย่างไร  ?  พอวันหลังๆก็ถามอีกว่า  ไปดูให้หน่อยซิมีตัวอะไรบ้าง?  ทีแรกเขา  (สามี)  ก็ไม่ค่อยสนใจ  ในครอบครัว  ...  เราสนใจเพียงคนเดียว  ก่อนจะบอกให้คนอื่น  เราก็ต้องให้คนในครอบครัวเราเชื่อเสียก่อน  (หัวเราะ)  ตอนเช้าๆ  เขาไปนา  เขาจะไปก่อน  ก็จะไปนั่งดู  ไปแหวกๆดูว่ามีตัวอะไรบ้าง?  เมื่อก่อนไม่เคยสนใจ  และไม่เชื่ออะไรด้วย  ชวนไป  (สำรวจ)  ก็ไม่ไป  แต่ตอนนี้เขาคุยได้  เขานั่นแหละจะเป็นคนพาเราไปดูว่ามันไข่อยู่ตรงไหนๆ  เขาอยากดูแล้ว  ตอนนี้เขาไปดูทุกวันเลย  แล้วก็จะกลับมาเล่าให้ฟังว่าเจออะไรตรงโน้นตรงนี้  แถมนาข้างๆเขาก็ไปดูให้  (หัวเราะ)
             นี่เป็นความรู้ของเรา  วันนี้เราได้ความรู้อย่างนี้  วันพรุ่งนี้เราก็ต้องรู้ไปอีกว่าจะมีอะไรอีก  จะเกิดอะไรขึ้น?”
             (สัมภาษณ์  คุณอรุณ  จันทีมา,  นักเรียนชาวนา  โรงเรียนชาวนาบ้านสังโฆ  ตำบลวัดดาว  อำเภอบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี,  10  ธันวาคม  2547)


           บันทึกถ้อยคำที่เป็นคำบอกเล่าแบบนี้แหละครับ ที่เป็นยอดปรารถนาของวงการ KM     เพราะมันเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และความรู้เกี่ยวกับสภาพจริงที่เกิดขึ้น      ท่านผู้อ่านจะได้ทราบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครอบครัวของคุณอรุณ    ได้เห็นพลังของการสังเกตตรวจสอบสภาพในแปลงนาของตนเอง (และของเพื่อนบ้าน)     ก็ในแปลงนามันมีชีวิต     สามีของคุณอรุณจึงติดใจที่จะไปสังเกตทุกวัน


วิจารณ์ พานิช
๕ มิ.ย. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3018เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2005 14:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 11:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท