วิพากษ์หลักสูตรกายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ ม.นเรศวร


ทุกคนจะนั่งล้อมวงคุยกัน ทำให้ทราบว่าในวันนั้นมีผมคนเดียวที่เป็นแพทย์ ผู้เข้าร่วมประชุมท่านอื่นๆล้วนเป้นนักกายภาพบำบัดทั้งนั้น

               ผมได้รับเกียรติจากคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แต่งตั้งเป็นกรรมการวิพากษ์หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขากายภาพบำบัด เพื่อทำหลักสูตรปรับปรุงปี 2550 โดยจัดการประชุมวิพากษ์เมื่อ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม 1 คณะสหเวชศาสตร์  วันนั้นผมไปร่วมประชุมช้าไป 30 นาที จึงไม่ได้ฟังการสรุปความเป็นมาภาพรวมของหลักสูตรปัจจุบันโดยอาจารย์กนกพร อุณเอกลาภ หัวหน้าภาควิชาและไม่ทันการกล่าวเปิดของอาจารย์มาลินี ธนารุณ คณบดีคณะสหเวชศาสตร์

                ผมไปถึงประมาณ 09.30 น. เป้นช่วงเริ่มต้นการวิพากษ์โดยอาจารย์กนกวรรณ ศรีสุภรกรกุล เป็นผู้ดำเนินรายการให้มีการแนะนำตัวกัน โดยทุกคนจะนั่งล้อมวงคุยกัน ทำให้ทราบว่าในวันนั้นมีผมคนเดียวที่เป็นแพทย์ ผู้เข้าร่วมประชุมท่านอื่นๆล้วนเป้นนักกายภาพบำบัดทั้งนั้น โดยมีทั้งผู้เชี่ยวชาญมาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น( ผศ.น้อมจิตต์ นวลเนตร์) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(รศ.กรกฎ  เห็นแสงวิไล, รศ.จงจินตน์ รัตนาภินันท์ชัย,ดร. จตุพร วงศ์สาธิตกุล) จากมหาวิทยาลัยนเรศวร(อ.กนกพร,ผศ.ปนดา เตชทรัพย์อมร,อ.กนกวรรณ,อ.ปริญญา เลิศสินไทย,อ.มัทนา อังศุไพศาล,อ.โอปอร์ วีรพันธุ์และอ.วราภรณ์ พยัตตพงษ์) และมีพี่ๆน้องๆนักกายภาพบำบัดจากทั้งโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนและหน่วยงานต่างๆทั้งที่เป็นอาจารย์พี่เลี้ยงฝึกภาคปฏิบัติเช่นพี่วัฒนาและนิสิตรุ่นแรกๆของ มน.เอง  บรรยากาศช่วงแรกๆก็ดูจะเกร็งๆโดยเฉพาะตัวผมเองที่ดูเหมือนจะเป็นคนนอกวงวิชาชีพด้วย

                ในเอกสารที่แจกให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน จะมีผลสรุปแบบประเมินหลักสูตรโดยผู้ทรงคุณวุฒิในประเด็นต่างๆให้ดูซึ่งส่วนใหญ่ผลจะออกมาดีมาก ในการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมนั้นผมเลยขอออกความเห็นเป็นคนหลังสุดเพราะอยากจะฟังและเรียนรู้จากผู้เข้าร่วมประชุมท่านอื่นๆ และต้องการความคิดเห็นของแต่ละท่านมากระตุ้นต่อมความคิดเห็นของตนเองก่อน การวิพากษ์วันนั้นจึงเหมือนเป็นการทำสุนทรียสนทนาเพราะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เสนอความเห็น ได้พูดออกมา เพียงแต่ว่ามีการกำหนดการพูดให้ทุกคนพูด(กึ่งบังคับนิดๆ)เพื่อจะได้รับฟังความคิดเห็นของทุกคนได้

                ผมได้วิพากษ์ในส่วนของเหตุผล ปรัชญา วัตถุประสงค์ของหลักสูตรที่มีการใช้คำที่มีความหมายคล้ายๆกันหลายคำซึ่งอาจเกิดความซ้ำซ้อนและการสื่อความหมายให้เข้าใจตรงกันได้ยาก บางส่วนมีการเขียนรวมๆมากไป กว้างเกินไป

                ในช่วงบ่ายมีการวิพากษ์ตัวหลักสูตร รายวิชาต่างๆ ที่มีการปรับลดจำนวนหน่วยกิตลงเหลือ 138 หน่วย แต่มีบางรายวิชาที่น่าจะปรับรวมกันได้ และที่ผมได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอมากก็จะเป็นวิชากายภาพบำบัดชุมชน

                สิ่งหนึ่งที่ผมเสนอให้แก่ที่ประชุมที่มีนักกายภาพนี้คือการสร้างความโดดเด่นในเชิงวิชาชีพให้มากขึ้น โดยการสร้างผลงานที่นักกายภาพสามารถทำได้ในการปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ทั้งการค้นหาผู้ป่วยที่นักกายภาพสามารถช่วยเหลือได้ในโรงพยาบาล ร่วมกับการออกไปทำงานกายภาพบำบัดในชุมชนที่มีประชาชนต้องการการฟื้นฟูสภาพอีกมาก ซึ่งอาจารย์จตุพรได้ใช้คำว่า ถ้านักกายภาพบำบัดรอตั้งรับอยู่แต่ในแผนกอาจจะทำให้ปริมาณงานมีไม่มากพอ จนเกิดภาวการณ์ว่างงานแฝงได้

                อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ยังไม่มีรายวิชาที่ชัดเจนในเรื่องการวินิจฉัยเพื่อให้การดูแลทางกายภาพบำบัด และได้ข้อมูลจากอาจารย์จงจินต์ว่า แม้ในต่างประเทศก็ยังไม่มีใครทำเรื่องนี้ชัดเจน แต่พบว่ามีการเรียนแทรกอยู่ในวิชาต่างๆของกายภาพบำบัดอยู่แล้ว ผมก็เลยเสนอว่าไม่ต้องรอให้ฝรั่งทำก่อน นักกายภาพบำบัดในไทยเราน่าจะรวบรวมหลักการทางด้านนี้ไว้แล้วรวบรวมเป็นตำรา เป็นแนวคิดของเราเอง แล้วฝรั่งอาจจะมาขอศึกษาจากเราบ้างก็ได้ โดยผมเสนอว่าน่าจะใช้ชื่อวิชาว่า การวินิจฉัยทางกายภาพบำบัด

                ช่วงท้ายก่อนเลิกประชุม ได้มีการทำAARใน 5 คำถามที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว หากสนใจเรื่องKMของ สคส.ซึ่งแต่ละท่านก็ได้พูดและเขียนไว้ ในส่วนของผม ก็สรุปออกมา ดังนี้ครับ

1.   ท่านคาดหวังอะไรจากการมาสัมมนาในครั้งนี้ 

                ผมคาดว่าจะได้เรียนรู้หลักสูตรการเรียนการสอนของนักกายภาพบำบัดเพื่อจะได้รู้ว่าเราจะสนับสนุนหรือดึงเอาศักยภาพด้านใดของนักกายภาพบำบัดมาใช้ในโรงพยาบาลได้บ้าง จะเปิดบริการด้านใดเพิ่มได้บ้างที่จะเกิดประโยชน์แก่โรงพยาบาลและชุมชน

                คาดว่าจะได้รู้จักกับอาจารย์ของภาควิชากายภาพบำบัดของมหาวิทยาลัยนเรศวร

                คาดว่าจะได้นำเสนอความเห็นเกี่ยวกับบทบาทที่ควรจะเป็นของนักกายภาพบำบัดเมื่อมาอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน

2.  อะไรที่ท่านได้รับเกินกว่าที่คาดหวัง

                ได้รู้จักอาจารย์ทางกายภาพบำบัดจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้และเป็นกรรมการของสภาวิชาชีพกายภาพบำบัดด้วย พร้อมทั้งได้เรียนรู้ประสบการณ์จากอาจารย์ทุกท่านที่มาร่วมวิพากษ์

                ได้เรียนรู้มุมมองของวิชาชีพนักกายภาพบำบัดจากทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย นักกายภาพบำบัดที่ทำหน้าที่อาจารย์พี่เลี้ยงฝึกงานในโรงพยาบาลทั่วไปและน้องๆนักกายภาพบำบัดที่เพิ่งจบไปทำงานในภาคส่วนต่างๆ

                ได้ทานอาหารกลางวันกับอาจารย์มาลินี ท่านคณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มน. ที่ท่านเป็นผู้ให้กำลังใจชาวโรงพยาบาลบ้านตากโดยการเขียนชุมไว้ในบล็อกของท่าน รวมทั้งการชื่นชมเป็นการส่วนตัวในความน่ารักของอาจารย์ ความเป็นผู้ใหญ่ที่รับฟังความเห็นของผู้น้อย และมีอัธยาศัยที่เป็นที่น่าประทับใจมาก

3.  อะไรที่ท่านได้รับน้อยกว่าที่คาด  ไม่มี

4.  เหตุใดสิ่งที่คาดหวังและสิ่งที่ได้รับจึงแตกต่างกัน   ไม่ได้คาดหวังอะไรไว้มากนัก

5.  ต่อไปถ้าจะจัดแบบนี้อีก ควรจะปรับปรุงเรื่องใด  รูปแบบการประชุมและเก้าอี้ที่นั่งประชุม
หมายเลขบันทึก: 30127เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2006 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณมากค่ะ  ในวันที่ 16 พ.ค. 49 อาจารย์ (นพ.พิเชฐ) ได้ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจไว้มากมาย  แต่มีข้อหนึ่งที่เป็นแนวทางที่น่าสนใจมาก ขออนุญาตเล่านะคะ คือ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรายวิชากายภาพบำบัดชุมชน ซึ่งอาจารย์ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าเนื้อหาน้อยไปหน่อย  แต่ก็ได้ให้แนะทางออกไว้ ซึ่งน่าสนใจมาก คือ เมื่อเนื้อหาน้อยไป  ควรเพิ่มเนื้อหา แบบเอาวิชาศึกษาทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับรายวิชากายภาพบำบัดชุมชน เช่น การคิด การใช้เหตุผลและจริยธรรม, พฤติกรรมมนุษย์, มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในรายวิชานี้ โดยสร้าง"วิสัยทัศน์ร่วมกัน" กับผู้รับผิดชอบรายวิชาศึกษาทั่วไป มองภาพเดียวกันว่าสอนเพื่อให้เป็นนักกายภาพบำบัดที่สมบูรณ์นั้น ควรเป็นเช่นไร ซึ่งไม่น่าจะเหมือนสอนนิสิตสาขาอื่นๆ โดยอาจสอดแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวกับกายภาพบำบัดเข้าไปสักหน่อย อาจารย์กายภาพบำบัดอาจเข้าไปสอนเองบางชั่วโมง เป็นการสอนเพื่อให้ได้ใช้  วิชาศึกษาทั่วไปก็จะเรียนไปแล้วไม่เสียเปล่า แต่จะได้นำมาใช้จริงในรายวิชากายภาพบำบัดชุมชน ในการทำงานจริงๆในวิชาชีพ  ภาควิชาเองก็ไม่ต้องสอนเพิ่มเอง ซึ่งจะมีผลต่อจำนวนหน่วยกิต  และจะได้ไม่เข้าทำนองที่ว่า "ที่เรียนไม่ได้ใช้ ที่ใช้ไม่ได้เรียน" 

ขอขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท