ลักษณะของสัญญาจำนำ


ลักษณะของสัญญาจำนำ

           มาตรา 747 อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

           สัญญาจำนำ คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบ สังหาริมทรัพย์ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเป็นผู้ครอบครองเรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อประกันการชำระหนี้ ทรัพย์สินที่จำนำได้คือ ทรัพย์สินที่สามารถเคลื่อนที่ ได้ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ช้าง ม้า โค กระบือ และเครื่องทองรูปพรรณ สร้อย แหวน เพชร เป็นต้น ตัวอย่างเช่น นาย ก กู้เงินนาย ข จำนวน 50,000 บาท เอาแหวนเพชรหนึ่งวงมอบให้นาย ข ยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้เรียกว่า นาย ก เป็นผู้จำนำ และนาย ข เป็นผู้รับจำนำ ผู้จำนำอาจเป็นบุคคลภายนอก เช่น ถ้าแทนที่นาย ก จะเป็นผู้ส่งมอบแหวนเพชรให้เจ้าหนี้ กลับเป็นนาย ค ก็เรียกว่า เป็นผู้จำนำ ผู้จำนำไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหนี้เสมอไป

          ตามมาตรานี้ได้กล่าวถึง จำนำเป็นสัญญาระหว่างผู้รับจำนำกับผู้จำนำ ซึ่งผู้จำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนำด้วย เพราะการจำนำนั้นมีผลทำให้ผู้รับจำนำ เอาทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาดได้ มาตรานี้ มีลักษณะสำคัญของสัญญาจำนำที่ควรพิจารณา 4  ประการ  คือ

            1.   บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนำ กฎหมายไม่ได้กล่าวไว้ เช่นเดียวกับผู้ค้ำประกันต้องเป็นบุคคลภายนอก   ดังนั้น ผู้จำนำจะเป็นลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกก็ได้

            2.   ผู้จำนำต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำให้แก่ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสืออาจทำด้วยวาจาก็ได้ แต่สาระสำคัญอยู่ที่การส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำ  เมื่อผู้รับจำนำทำให้ทรัพย์สินที่จำนำกลับมาอยู่ในความครอบครองของผู้จำนำ สัญญาจำนำย่อมระงับสิ้นไปเพราะได้ขาดสาระสำคัญของสัญญาจำนำไป           

             ในการทำสัญญาจำนำ ตามปกติผู้รับจำนำต้องเก็บรักษาทรัพย์สินที่เขาส่งมอบเป็นจำนำ  แต่บางกรณี คู่กรณีจะตกลงกันให้บุคคลภายนอกเก็บรักษาก็ได้  ดังบัญญัติใน มาตรา  749  บัญญัติว่า  “คู่สัญญาจำนำจะตกลงกันให้บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินที่จำนำไว้ก็ได้” เมื่อมีข้อตกลงกันตามหลักของกฎหมายดังกล่าว ผู้รับจำนำก็อาจไม่ต้องเก็บรักษาทรัพย์จำนำไว้ด้วยตนเองก็ได้

            คำพิพากษาฎีกาที่ 1451/2503 การจำนำ ไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ (อ้างฎีกาที่ 200/2496)

            คำพิพากษาฎีกาที่ 229/2522   (ประชุมใหญ่) การที่โจทก์กู้เงินและมอบโฉนดให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ ไม่เข้าลักษณะจำนำ กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 189 จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดของโจทก์ไว้ต้องคืนให้โจทก์ (วรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 19/2521)

            3.  ทรัพย์ที่จำนำได้เฉพาะสังหาริมทรัพย์เท่านั้น  เพราะจำนำต้องมีการส่งมอบให้ครอบครองเช่น โทรทัศน์ วิทยุ แหวน ช้าง รถยนต์ เป็นต้น

            คำพิพากษาฎีกาที่ 2643/2531 ทรัพย์สินที่จำนำได้นั้นต้องเป็นสังหาริมทรัพย์ แต่สิทธิการเช่าอาคารไม่ใช่สังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 101 จึงไม่อาจจำนำกันได้

            4.   ทรัพย์ที่จำนำส่งมอบให้แก่เจ้าหนี้เพื่อประกันการชำระหนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อการชำระหนี้ ดังนั้นต้องมีหนี้ประธานระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้เกิดขึ้นเสียก่อน  สัญญาซึ่งผู้จำนำได้ทำกับเจ้าหนี้เรียกได้ว่าเป็นสัญญาอุปกรณ์  ถ้าไม่มีหนี้ประธานหรือหนี้ประธานเสื่อมเสียไปไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม การจำนำก็ตกเป็นอันเสื่อมเสียด้วยเช่นกัน  ดังนั้น การส่งมอบต้องมีเจตนาส่งมอบ เพื่อการประกันการชำระหนี้   มิฉะนั้นมิใช่สัญญาจำนำ

            คำพิพากษาฎีกาที่ 1560/2527 การที่โจทก์ให้จำเลยกู้เงินไปเพื่อซื้อหุ้นของบริษัท โจทก์เอง โดยโจทก์ ยึดถือหุ้นนั้นไว้เป็นจำนำหรือเป็นประกัน เงินที่โจทก์ทดรองจ่ายซื้อหุ้น หรือโจทก์ให้จำเลยกู้เงิน จากบริษัทในเครือของบริษัทโจทก์โดยเงิน ที่กู้เป็นเงิน ของบริษัทโจทก์ให้บริษัทในเครือดังกล่าวกู้ไปให้จำเลย กู้ อีกต่อหนึ่งทั้งหุ้นที่จำเลยจำนำแก่บริษัทในเครือ ดังกล่าวโจทก์เป็น ผู้ยึดถือไว้เอง พฤติการณ์เช่นนี้ถือ ได้ว่าโจทก์

 เป็นผู้ให้จำเลยกู้ยืมเงินไปซื้อหุ้นของ บริษัทโจทก์และโจทก์รับจำนำหุ้นของตนเองเป็นประกัน เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1143 ทั้งต่อมาพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 20(3) บัญญัติห้ามมิให้บริษัทเงินทุน รับหุ้นของ บริษัทเงินทุนนั้นเองเป็นประกันหรือรับหุ้นของบริษัทเงินทุน จากบริษัทเงินทุนอื่นเป็นประกันอีกด้วย การกระทำของ โจทก์จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 (มาตรา 150ใหม่) ไม่มีผลบังคับโจทก์จะอ้างเป็นมูลเรียกร้องให้ จำเลยชดใช้เงินที่โจทก์ฟ้องมิได้

            5. ผู้จำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จำนำ

            คำพิพากษาฎีกาที่ 449/2519 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เอารถยนต์ของโจทก์ไปมอบให้จำเลยที่ 3 ยึดไว้เป็นประกันหนี้ของตนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และไม่ปรากฏว่าโจทก์รู้เห็นด้วยกับการกระทำของจำเลยการจำนำนั้นไม่ผูกพันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของ การที่โจทก์ให้ป้ายวงกลมมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรถเพื่อไปติดหน้ารถ แต่จำเลยที่ 2 ไม่นำป้ายวงกลมดังกล่าวไปติด จะถือเป็นความผิดหรือประมาทเลินเล่อของโจทก์ยังไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่จำเป็นจะต้องติดตามดูแลการติดป้ายวงกลม

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 301187เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2009 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ ดร. เมธา สุพงษ์

มาจองให้กำลังใจค่ะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกกฎหมายค่ะ

 

ขอบคุณครับสำหรับดอกไม้และกำลังใจจาก ครูจิ๋ว

สวัสดีค่ะคุณเมธา

.ความรู้ดีๆขอเก็บไปใช้สอนนักเรียนบ้างนะคะ

.คงสบายดีนะคะ

หวัดดีครับอาจารย์

มีประโยชน์มากเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท