กาละ + เทศะ ในสังคม โดย ผศ. กวี วรกวิน


กาล + เทศะ ในสังคม

      วันนี้เรามาฝึกทักษะการคิดเชิงสังคมอีก 2 เรื่อง ทั้ง 2 เรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับคำว่า”ที่” และ”สถานที่” ของสรรพสิ่งทั้งหลายจากการฝึกคิดเมื่อครั้งที่แล้ว บางคนอาจถูกผู้ใหญ่ตักเตือนหรือต่อว่า ว่าไม่รู้จัก กาละเทศะ ถ้าใครถูกต่อว่าเช่นนี้ให้รู้ไว้ว่ากำลังถูกดุด้วยคำที่สูงและรุนแรง

กาล จากพจนานุกรมฉบับราชบัณทิต อ่านว่า กาน หรือ กาละ แปลว่า เวลา, คราว, ครั้ง, หน

เทศ จากพจนานุกรมราชบัณฑิต อ่านว่า เทศ หรือ เทศะ แปลว่า ถิ่นที่ หรือ ท้องถิ่น หรือ สถานที่

       ดังนั้น คนที่ไม่รู้จัก กาละ และ เทศะ ก็คือ คนที่ไม่รู้จัก เวลา และ สถานที่ นั่นเอง คนที่ถูกต่อว่าด้วยคำและวลีดังกล่าวจะกลายเป็นคนที่ไม่เอาไหน ไม่มีจุดยืน ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง ไม่มีวัฒนธรรม บ้านนอก หรืออะไรทำนองนี้

       เรื่องของ เวลา และ สถานที่ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งทั้งหลายที่ปรากฏในโลกนี้ เพราะสรรพสิ่งเหล่านั้นต่างก็มี "ภูมิ" เป็นของตนเอง และภูมิทั้งหลายล้วนมี เวลา และ สถานที่ เป็นปัจจัยประกอบอยู่ด้วยทั้งสิ้น ดังนั้น คนที่ไม่รู้จักเวลา และสถานที่ ก็เท่ากับว่าเป็นคนที่มีภูมิบกพร่อง หรือภูมิพิการ คนที่มีภูมิบกพร่องหรือภูมิพิการก็ดูกะพร่องกะแพร่งเป็นธรรรมดา ซึ่งดูไม่ภูมิฐานไม่สง่างาม แต่คนเหล่านี้ก็ไม่ถึงขั้นเป็น "คนที่  ไม่มีภูมิ" หรือ “สิ้นภูมิ” เพราะคน “ไม่มีภูมิ” หรือ “สิ้นภูมิ” คือคน ไร้ที่ ไร้ทิศ ไร้ทาง ไร้ระยะ ไร้เวลา ถ้าใครปราศจากคุณสมบัติเชิงภูมิเหล่านี้ โดยสิ้นเชิงแล้ว ก็เท่ากับว่าไม่สามารถปรากฏร่างให้ได้เห็นให้ได้ประจักษ์ในที่ว่างๆใดๆของโลกนี้ได้

      คนที่เรียนและเข้าใจวิชาภูมิศาสตร์จะต้องเป็นคนที่เข้าใจเรื่องของ  "เวลา" และ "สถานที่" มากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่เรียนวิชาอื่นๆจะไม่เข้าใจ เพราะดูเหมือนว่า "สาระ" ทั้งหลายจะมีปัจจัยทางภูมิศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ หรือศาสตร์อื่นๆ จะมี “ปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์” เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอและปัจจัยเรื่อง “เวลา” กับ “สถานที่” จะเป็นปัจจัยเริ่มแรกในการก่อเกิด หรือกำเนิด ซึ่งเราเรียกว่า “เวลาเริ่มต้น” และ”ที่เกิด” หรือ”ถิ่นกำเนิด” ซึ่งเราอาจเรียกว่า “ปฐมภูมิ” และหลังจากนั้นจะก่อรูป สร้างภาพ เจริญงอกงามเป็น รูปร่าง และ ขนาด อย่างไร เป็นเรื่องของ “ปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์” อื่นๆ เช่น “ทิศทาง” และ “ระยะ” จะเป็นตัวสร้างและปรับแต่งสร้าง “ภูมิ” สร้าง ”ภาพ” ที่ สมบูรณ์เป็น “ทุติยภูมิ” “ตติยภูมิ” ต่อไป

การเกิดสิ่งที่ดีงาม : กับความพอดี

      โดยธรรมชาติ ในการก่อเกิดสิ่งต่างๆ และการทำให้สิ่งต่างๆ มีความเจริญงอกงามที่ดีจะต้องมีความคล้องจองกัน หรือมีความพอดี หรือมีความเหมาะสมกันระหว่าง เวลา กับ สถานที่ เช่น ไก่จะออกไข่ ก็เมื่ออยู่ในสถานที่ซึ่งเป็น รังไก่ หรือ เล้าไก่ และเมื่อเวลาสงบเงียบเท่านั้น ไก่จึงจะออกไข่มา

     ต้นไม้จะงอก ก็ต่อเมื่ออยู่ในสถานที่ซึ่งเป็นดิน หรือเป็นเรือนเพาะชำ และจะงอกเมื่อเวลาฝนตก หรือมีความชื้น เป็นต้น จะเห็นว่า ความเหมาะเจาะของ “เวลา” กับ “สถานที่” จะทำให้เกิดสิ่งต่างๆได้เสมอ

สังคม เวลา สถานที่:กับความพอดี

      ในเชิงสังคมก็เช่นกัน “ความพอดี” กันของ“เวลา” กับ “สถานที่” ล้วนให้กำเนิด “สิ่งที่ดีงาม” ทั้งสิ้น เช่น

เราโรงเรียนก่อนเวลาเข้าเรียน หรือ ถึงโรงเรียนก่อนเวลาเรียน เราถือว่า พฤติกรรมไปโรงเรียน สอดคล้องกับ“เวลา” และ“สถานที่” จึงเป็นสิ่งที่ดีงาม (สถานที่ คือ โรงเรียน เวลา คือ ก่อนเวลาเข้าเรียน)

      การไม่ส่งเสียงงดังในเวลาเรียนในชั้นเรียน เวลา คือ เวลาเรียน สถานที่ คือ ชั้นเรียน เหตุการณ์และเวลา กับ สถานที่ สอดคล้องกันจึงเป็นสิ่งที่ดีงาม

      ยกมือไหว้เมื่อพบผู้ใหญ่ เวลา คือ เมื่อพบ (เวลาพบ) สถานที่ คือ ผู้ใหญ่ (ตำแหน่งผู้ใหญ่) ที่ คือ ตำแหน่ง สถานะ คือ ผู้ใหญ่ พฤติกรรมเช่นนี้เกิดเมื่อ “เวลา” กับ “สถานที่” สอดคล้องกันกับพฤติกรรม จึงเป็น “สิ่งที่ดีงาม”

แจกันดอกไม้สวยงามอยู่บนโต๊ะรับแขกเมื่อแขกมา

    ปรากฎการณ์นี้ “เป็นสิ่งที่ดีงาม” เพราะ “ปรากฎการณ์” “เวลา” “สถานที่” สอดคล้องกัน เวลา คือ เมื่อแขกมา, สถานที่ คือ บนโต๊ะรับแขก, ปรากฎการณ์ คือ มีแจกันดอกไม้สวยงาม

    รถชนคนเดินถนน ที่ไม่ใช้ทางม้าลาย เมื่อไฟเขียว

    อุบัติเหตุนี้ เกิดขึ้น เพราะผิดสถานที่ ผิดเวลา

    เวลาสัญญาณไฟเขียวให้รถเล่น ไม่ใช่ให้คนข้าม คือ ผิดเวลา

    ข้ามถนนบริเวณที่ไม่ใช่ทางม้าลาย คือ ผิดสถานที่

    ผิดเวลาและผิดสถานที่ คือ ไม่สอดคล้องกัน จึงเกิดอุบัติเหตุ

    ดังนั้น วัยทีน ทุกคน เมื่อเข้าใจแล้ว ลองใช้เวลาสักนิดเพื่อนั่งคิดและไตร่ตรอง ฝึกคิด ฝึกตีความว่าสังคมเราและวิถีชีวิตต่างๆทุกสิ่ง ทุกเหตุการณ์ มีเรื่องใดหนี “เวลา” และ “สถานที่” ไปได้บ้าง

 

กาละ และ เทศะ ยังมีความหมายกับวัยทีน เสมอ

กาละ ในวันนี้ คือ โอกาส ในวันหน้า

เทศะ ในวันนี้ คือ เป้าหมาย ในวันหน้า

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 30098เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2006 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท