คนที่ได้เลื่อนวิทยฐานะสูงขึ้นควรเป็น "คนที่ควรจะได้"มากกว่า "คนที่อยากจะได้"อย่างเดียว


       เมื่อมีใครถามผมเรื่องการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ ผมจะมีกรอบความคิดหลักของตนเอง  3 ประการ คือ
                1. การประเมินกับการพัฒนาบุคลากรต้องเป็นกระบวนการเดียวกัน
                2. การเสนอผลงานเพื่อการประเมินเลื่อนวิทยฐานะไม่ใช่ผลทางตรงแต่เป็นผลพลอยได้ หรืออานิสงส์จากการพัฒนางานจนเกิดผลดีแก่ผู้เรียนที่ชัดเจน
                3. อยากเห็นคนที่ผ่านการประเมินเลื่อนวิทยฐานะเป็นคนที่ “ ควรจะได้” ไม่ใช่คนที่    “อยากจะได้” อย่างเดียว
               
                เนื่องจากปัจจุบันมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการประเมินผลงานวิชาการที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตจริงมากขึ้นดังที่กล่าวกันว่า “ไม่เขียนในสิ่งที่จะทำจริง ไม่ทำในสิ่งที่เขียนจริง และ ไม่ปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่อง” โดยอาจมีบางคนใช้ช่องว่างของการประเมินที่กำหนดให้ประเมินจากการเขียนเอกสารเป็นโอกาสไปสู่เป้าหมายของตนเองซึ่งทำให้เกิดผลเสียที่ตามมามากมาย คือนอกจากเป็นการสูญเสียงบประมาณ สูญเสียเวลา  ผู้เรียนไม่ได้รับการพัฒนา  ไม่เกิดการพัฒนาคนที่แท้จริง   รวมทั้งเกิดผลเสียต่อการยอมรับของเพื่อนร่วมงานแล้ว  ยังไม่เป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของความเป็นครูด้วย
                ผมเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิของ สกศ.(สภาการศึกษาแห่งชาติ)ในการประเมินผู้บริหารต้นแบบของ สกศ. ที่ใช้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไปดูการทำงานจริง(ไปโดยไม่บอกล่วงหน้า) ดูสภาพจริง  ดูผลการบริหารงานจริง  สัมภาษณ์ครู บุคลากร นักเรียน ชุมชน ผู้ปกครองหลายๆ คน ถึงพฤติกรรมการบริหารงาน ผลงานที่เกิดขึ้นจริงและความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง แล้วสัมภาษณ์ตัวผู้บริหาร  จากนั้นคณะผู้ทรงคุณวุฒิก็มาประชุมปรึกษาหารือกัน วันเดียวก็รู้เรื่องว่าผู้บริหารคนนี้ควรเป็นผู้บริหารต้นแบบหรือยัง
                เพื่อให้แน่ใจอีกครั้ง ก็ให้ผู้บริหารที่เข้าข่ายผ่านการประเมินเบื้องต้นแต่ละคน มานำเสนอผลงานกับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดใหญ่อีกครั้ง ( คล้ายการสอบวิทยานิพนธ์  )ประมาณคนละ 10-15 นาที  เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ก็ถือว่าเป็นผู้บริหารต้นแบบได้  และต้องทำวิจัยพัฒนาต่อเนื่อง รวมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ให้เครือข่ายด้วย
                สกศ. คัดเลือกมา 2 รุ่น ได้ผู้บริหารต้นแบบไม่ถึง 100 คน ถือว่าเป็นผู้บริหารมือเยี่ยมทั้งนั้น  ผมเคยเสนอวิธีนี้แก่ ก.ค.ศ. เพื่อให้นำมาปรับใช้กับการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ โดยให้คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละสาขาที่เป็นที่ยอมรับได้(จริงๆ)มาดำเนินการอย่างนี้ แล้ว ก.ค.ศ. ก็คอยติดตามดูพฤติกรรม ถ้าผู้ทรงคุณวุฒิคนใด ไม่รักษาชื่อเสียงเกียรติยศของตนเองก็ปลดออก ถือเป็นการลงโทษทางสังคมที่รุนแรงต่อวงศ์ตระกูลด้วย
                มีคนกล่าวว่า “ คนที่เชี่ยวชาญการดูม้าจริงๆเขาจะดูว่าเป็นม้าดีหรือไม่ก็แค่ตบบั้นท้ายทีสองทีก็รู้แล้ว  ไม่ต้องลงทุนเสียงบประมาณมากมาย แล้วก็ได้เอกสารกองโตที่อาจไม่ได้ทำจริง เหมือนที่เขาล้อเลียนการทำแผนการสอนว่า “ แผนการส่ง” นั่นแหละ    ครูและบุคลากรทางการศึกษาเก่งๆคงไม่ใช่เขียนเก่งอย่างเดียว  คนบางคนเขียนไม่เก่ง แต่ ทำเก่ง ก็จะหมดโอกาส  ส่วนคนที่ทั้งเขียนก็เก่ง ทำก็เก่ง  ถือว่ายอดเยี่ยม สมควรได้อย่างยิ่ง  แต่ใครล่ะจะสมบูรณ์แบบทุกอย่าง การประเมิน ก็ควรจะดูในหลาย ๆ มิติใช่ไหม
          ดังนั้นเพื่อรักษาความเป็นวิชาชีพครู ซึ่งมีมาตรฐานวิชาชีพ ทั้งด้านความรู้ การปฏิบัติงาน และ การปฏิบัติตน (จรรยาบรรณวิชาชีพ ) เราจึงควรมาช่วยกันรักษาจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยใช้เรื่องนี้เป็นฐานกันดีไหม
 
 
หมายเลขบันทึก: 30084เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2006 07:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เยี่ยมยอดตรงใจมากค่ะ เคยคิดเสมอว่า ทำไมการเลื่อนขั้น เลื่อนระดับจะต้องทำเอง คนที่ควรพิจารณาน่าจะเป็นคนที่มีอำนาจตัดสินใจ และควรพิจารณาจากการปฏิบัติจริงตามงานที่ระบุในหน้าที่นั้นๆ ไม่ใช่ให้คนทำงานไปดูว่าตัวเองถึงเวลาถึงระดับที่ต้องขอเลื่อนหรือยัง แล้วก็เขียนบรรยายว่าตัวเองทำอะไร ดียังไง ถึงสมควรได้เลื่อน

ภาคปฏิบัติที่เป็นอยู่ เปิดโอกาสให้คนเขียนเก่ง มองลู่ทางเก่งเจริญก้าวหน้า ส่วนคนทำงานเก่ง เขียนไม่เก่ง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ขาดหรือด้อยโอกาสในการก้าวหน้า หรือถึงขั้นถูกมองว่าไม่รู้จักพัฒนาตนเองเลยด้วยซ้ำ เพราะเขียนชมตัวเองว่าเก่งยังไงไม่เป็น บรรยายไม่ถูกว่าตัวเองทำอะไรดีสมควรได้เลื่อนขั้น

ขอให้ระบบที่อาจารย์เล่าได้มีโอกาสขยายไปสู่วงราชการทุกระดับด้วยเถิดค่ะ น่าจะทำให้คนทำงานมีขวัญกำลังใจ และเอาเวลาไปทำงานจริงๆ และได้รับการส่งเสริมเพราะทำงานจริงๆ ไม่ใช่เพราะเสนอให้ถูกพิจารณา

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง

เจ้าตัวควรเขียนแค่รายงานผลงานว่าเคยทำอะไรที่สมควรได้รับการเลื่อนฐานะ  ( SAR )  แล้วมีดณะกรรมการมาประเมินตามลักษณะที่ อ.เธนศ นำเสนอ 

เนื้อหาโดนใจผมมากครับวันนี้ที่อาจารย์ถ่ายทอดออกมา อยากให้ครูไทยทั่วประเทศได้อ่านบันทึกฉบับนี้ของอาจารย์..เพื่อที่จะได้มีแนวทางในการยกระดับงานวิชาการของตนเองขึ้น..

ขอให้กำลังใจคุณครูสองท่านที่ประสบเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นทางภาคใต้ ทำไมชาวบ้านไม่ช่วยครู...

ทิ้งท้าย..
ฝากไว้ให้ช่วยกันกระตุ้นสื่อเพื่อสังคมหน่อยนะครับ โปรดอ่านที่ ขอความเห็นจากทุกๆท่าน เรื่องการตีแผ่วงจรธุรกิจน้ำเมา แล้วไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อที่บอร์ดของทีวีบูรพา ตามหัวข้อที่แนะนำนะครับ ขอขอบคุณ..

อยากจะบอกว่าไม่ใช่แค่วงการครูหรอกนะคะที่สามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ ในอาณาจักรราชการทุกหย่อมหญ้าต่างหากที่ควรจะใช้แนวคิดเช่นนี้ เพื่อที่ว่าคนทำงานจริง ๆ ก็คือคนที่ควรได้เท่านั้น  คะแนนความคิด 100 เต็ม คะแนนปฏิบัติแล้วแต่บุญกรรม

เคยได้ยินไหม  สมัยก่อนคนขึ้นบ้านแล้วชักบรรได้น่ะ

ตัวเองขึ้นได้แล้ว  ดึงบรรไดไม่ให้คนอื่นเขาได้ขึ้น อยากขึ้นก็ให้มันปีนให้ยาก ๆ หน่อย  จำไว้...

ครูที่ผลงานวิชาการไม่อนุมัติบางคนเขาทำด้วยตนเองด้วยความตั้งใจ ผลิตสื่อ นำมาทดลองใช้กับเด็กจริงและเด็กพัฒนาทักษะสูงขึ้น แต่เขียนรายงานไม่เก่ง ผลงานไม่อนุมัติ น่าเห็นใจมากๆ

ส่วนคนที่จ้างทำ จ้างกรรมการแต่ผลงานคัดลอกมา กลับอนุมัติ นี่หรือการศึกษาไทย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท