บทบาทของคนทำงานทุกคน สำหรับการผลักดัน KM ในองค์กร


ทำด้วยใจก่อน ไม่ต้องให้ใครมาตั้งตำแหน่งอะไรให้

ได้อ่านวารสาร ถักทอสายใยแห่งความรู้ จากสคส. เล่มล่าสุดที่ท่าน CKO ฝากมาให้แล้ว เกิดความรู้สึกอยากเขียนบันทึกนี้ขึ้นมา เพราะในเล่มนี้มีเรื่องเล่าประสบการณ์การทำ KM ของท่าน CKO ของมหาวิทยาลัยถึง 4 แห่งคือ ม.วลัยลักษณ์, ม.นเรศวร, ม.สงขลานครินทร์และม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งจะพบว่าแนวทางในการดำเนินการของแต่ละแห่งนั้นแตกต่างกันค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ สิ่งที่ทำให้ต้องมีการจัดการความรู้ขึ้น ก็คือสิ่งที่เกิดมาจากคนทำงานแต่ละคนนั่นเอง โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานมาเป็นเวลานานจนกระทั่งเกิดความรู้ฝังลึก ส่วนคนที่เพิ่งมาทำงานก็จะเป็นมุมมองที่เกิดจากการทำงาน สิ่งที่ได้รับจากการทำงานกับคนที่ทำงานมานานแล้ว

จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดกับทุกหน่วยงาน ทุกระบบการทำงาน ดังนั้นหากเราต้องการมีส่วนร่วมผลักดัน KM เราจะสามารถทำได้ทันที ทุกเมื่อ ไม่จำกัดสายงาน

ยิ่งเราเป็นคนเล็กเท่าไหร่ ก็ยิ่งง่ายเท่านั้น เพราะยิ่งเล็กๆคือเป็นคนหน้างาน ก็จะมีบทบาทในการทบทวนสิ่งที่ตนเองรู้และต้องการจะสอนคนอื่นที่ต้องมาทำงานแบบที่เราทำอยู่ ส่วนคนที่เป็นผู้ดูแลคนทำงานอีกที ก็จะเพิ่มการทบทวนวิธีการดูแลเข้าไปอีกนอกเหนือจากวิธีการทำงานโดยตรง ซึ่งสำหรับระดับนี้นั้นเราต้องการความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือทาง KM ต่างๆบ้างไม่ต้องมากมายนัก จึงจะทำให้สามารถจัดการความรู้ที่เกิดจากคนในความดูแลและตนเองได้ เช่น รู้จักเล่าเรื่อง เขียนเรื่องที่ตนเองรู้ออกมา

ในบทบาทสำหรับนอกหน่วยงาน เราก็สามารถจะช่วยได้โดยแสดงความคิดเห็นผ่านประสบการณ์ที่เรามองงานอื่นๆอย่างเป็นระบบ  หรือหากเรารู้จักเครื่องมือต่างๆทาง KM จนพอจะเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้ เราก็สามารถช่วยได้ตรงจุดนั้น โดยไม่ต้องลงลึกถึงตัวองค์ความรู้ฝังลึกนั้นๆเอง

ส่วนผู้ที่จะทำให้เกิดการจัดเก็บความรู้ฝังลึกของแต่ละองค์กรก็คือ ผู้ที่รับบทเป็น ผู้บริหารองค์กรที่จะต้องระบุแนวทางขององค์กรให้แน่ชัด เพื่อให้ผู้บริหารระดับรองๆลงมา มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนั้นก็มีหน้าที่เอื้ออำนวยให้เกิดบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้คนทำงานภูมิใจในการทำงานของตนเอง ให้ความสำคัญกับความรู้ทุกระดับขององค์กร

สิ่งเหล่านี้จำเป็นและมีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศของเรา น่าจะต้องขอบคุณสคส.ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญและปลุกแนวความคิดนี้ จนขยายกว้างไปถึงแทบทุกระดับ เพราะเมื่อการจัดการความรู้ยิ่งขยายวงมากขึ้นเท่าใด คลังความรู้ที่เราจะได้ต่อไปในอนาคตก็จะยิ่งครอบคลุมความรู้ฝังลึกจากทรัพยากรบุคคลที่เรามีมากเท่านั้น

นี่คือแนวคิดของตัวเองที่คงต้องรอการลปรร.กับชาว GotoKnow ท่านอื่นๆต่อไป พวกเราที่ได้ใช้ GotoKnow เป็นเครื่องมือในการทำ KM ทั้งต่อตนเองและคนรอบๆตัวคงจะมีแนวคิดต่างๆกันไปใช่ไหมคะ คิดว่า version ใหม่ของ GotoKnow คงช่วยให้เรามองอะไรๆได้ชัดขึ้น และมีเครื่องมือช่วยในการทำ KM มากยิ่งขึ้น

 

หมายเลขบันทึก: 30079เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2006 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

บันทึกนี้ แสดงทักษะในการสกัดแก่นความรู้  ทักษะนี้ ตนเองคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญมากๆ เรื่องหนึ่งของกระบวนการการจัดการความรู้ เพราะทักษะนี้ จะนำไปสู่ การประยุกต์ใช้ และต่อยอดความรู้ต่อไป  หากองค์กรใดมีคนที่มีทักษะแบบนี้มากๆ  ก็จะเกิดผลประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากเท่านั้น

คุณโอ๋ คะ ขออนุญาตนำ บันทึกฉบับนี้ลงใน จุลสารกองการเจ้าหน้าที่  ฉบับเดือน มิย.นี้นะคะ เนื่องจากคุณโอ๋ สกัดแก่นความรู้ได้ดีจริงๆ ค่ะ ที่จริงคุณเมตตา ก็อ่านเล่มเดียวกันที่ว่านี้แล้ว (2 รอบยังไม่รวมตอนถือติดมือเข้าห้องน้ำอีกนับไม่ถ้วน) แต่ไม่ยักจะ สกัดได้แบบคุณโอ๋เลยค่ะ  ขอบคุณค่ะ วันหลังขอเรียนทักษะการสกัดแก่นความรู้ด้วยคนนะคะ

ขอบคุณในคำนิยมจากอ.ปารมีค่ะ ความจริงเขียนบันทึกนี้ตั้งแต่ตอนอ่านวารสารจบแล้ว แต่รู้สึกไม่ได้อย่างใจก็เลยบันทึกเป็นร่างไว้ เพิ่งกลับมาอ่านอีกที ก็ได้แค่เพิ่มเติมขยายความนิดหน่อย แต่คงทุกส่วนที่มีแต่แรกไว้ค่ะ จริงๆยังมีเรื่อง KM  ค้างในใจที่อยากเขียนอีกเรื่อง ไม่ทราบจะทันก่อนเปลี่ยน version หรือเปล่าค่ะ ความจริงก็ได้ความคิดมาจากคำถามที่อาจารย์เกริ่นถามตอนคุยกันด้วยค่ะ ที่ว่าคิดว่า KM คืออะไรนั่นแหละ

คุณเมตตา...ด้วยความยินดีค่ะเรื่องการลงพิมพ์บันทึกนี้
 แต่เรื่องทักษะที่ว่านี่คิดว่าคงไม่เก่งพอจะสอนหรอกค่ะ คงต้องเรียนรู้ไปด้วยกันมากกว่านะคะ กับต้องขอไปอยู่ใกล้ๆคนที่ส่งเสริมให้เกิดการคิดไปเรื่อยๆ แบบอ.ปารมีนี่แหละค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท