เวทีถ่ายทอดประสบการณ์ ณ ศนน.


การอบรมเพื่อพัฒนาครู/ผู้จัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือ

การอบรมเพื่อพัฒนาครู/ผู้จัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือ  ในหัวข้อการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น วันที่ 18 พฤษภาคม 2549 ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ จังหวัดลำปาง

  • ผู้เข้ารับการอบรมมาจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ ข้าราชการจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดในเขตภาคเหนือจังหวัดละ 1 คน และศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ จังหวัดละ 1 อำเภอ  อำเภอละ 4 คน ประกอบด้วยผู้อำนวยการศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน ครูอาสาสมัคร และครูศูนย์การเรียนชุมชน เนื่องด้วยศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือได้จัดอบรมเพื่อพัฒนาครู/ผู้จัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือ จึงเชิญดิฉันและคณะไปถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการหน่วยการเรียนแบบสะสมหน่วยกิต ซึ่ง 17 จังหวัดที่มาเข้ารับการอบรมยังไม่ได้ทดลองจัดการเรียนการสอนในจังหวัดของตนเอง และเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ทดลองฝึกปฏิบัติจริงโดยมีความคาดหวังว่าให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำเอาความรู้กลับไปทำจริงได้
  • ดิฉันได้เล่าให้ฟังถึงที่มาของการเกิดการเรียนการสอนแบบบูรณาการหน่วยการเรียนรู้บ้านทุ่งขาม ว่าได้เริ่มต้นมาจากการที่ ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเกาะคาได้ดำเนินการโครงการจัดการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน บ้านทุ่งขาม ต.ใหม่พัฒนา จ.ลำปาง โดยการจัดเวทีประชาคม ร่วมกับพันธมิตร และชุมชน จากการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านทุ่งขามทำให้ได้แผนชุมชนบ้านทุ่งขาม
  • หลังจากนั้นดิฉันได้ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ฟังแกนนำในชุมชนบ้านทุ่งขามประกอบไปด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ส.อบต. ประธานกลุ่มอาชีพต่าง ๆ มาเล่าให้ฟังถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนชุมชน ซึ่งเป็นความต้องการของชุมชนในการพัฒนาชุมชนของตนเอง เพื่อโยงมาสู่การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการหน่วยการเรียนแบบสะสมหน่วยกิต: บ้านทุ่งขาม โดยแกนนำในชุมชนเล่าให้ฟังถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นหลังจากทำแผนชุมชน ซึ่งเป็นการเรียนการสอนแบบบูรณาการแบบหน่วยการเรียนสะสมหน่วยกิตบ้านทุ่งขาม ผู้เรียนไม่ต้องมาเข้าห้องเรียน แต่ผู้เรียนเรียนจากวิถึชีวิตจริง ต้องการเรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพ และพัฒนาชุมชนของตนเอง
  • ต่อจากนั้นผู้เข้ารับการอบรมได้แบ่งกลุ่มเพื่อเรียนรู้ขั้นตอนการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนแบบบูรณาการหน่วยการเรียนสะสมหน่วยกิต แบ่งออกเป็น  5 กลุ่มตามกลุ่มอาชีพบ้านทุ่งขาม คือกลุ่มสวนส้ม สวนลำไย การเลี้ยงปลาในกระชัง กลุ่มผักปลอดสารพิษ กลุ่มพริก โดยมีครูกศน. อ.เกาะคา เป็นวิทยากรประจำกลุ่ม กลุ่มละ 2 คน ผู้เข้ารับการอบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการได้มาของหน่วยการเรียน กระบวนการจัดการเรียนการสอน วิธีการวัดผลประเมินผล และวิธีการคิดหน่วยกิตสะสม
  • จากการนำเสนอการเรียนรู้ของผู้เข้ารับการอบรมแต่ละกลุ่ม พูดตรงกันว่าการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการแบบหน่วยการเรียนสะสมหน่วยกิตนั้น เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ตรงกับความต้องการของผู้เรียนจริงๆ ทำให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์ เป็นการจัดการเรียนการสอนการศึกษานอกโรงเรียนแนวใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างแท้จริง

ณราวัลย์

21 พ.ค 49

หมายเลขบันทึก: 30057เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2006 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท