ความหมายของคำว่า “การพัฒนา”


ความหมายจากรูปศัพท์ โดยทั่วไป ทางเศรษฐศาสตร์ พัฒนบริหารศาสตร์ เทคโนโลยี การวางแผน การปฏิบัติ พระพุทธศาสนา สังคมวิทยา และการพัฒนาชุมชน

                  คำว่า  การพัฒนา  ใช้ในภาษาอังกฤษว่า  Development  นำมาใช้เป็นคำเฉพาะและใช้ประกอบคำอื่นก็ได้ เช่น  การพัฒนาประเทศ  การพัฒนาชนบท  การพัฒนาเมือง  และการพัฒนาข้าราชการ เป็นต้น  การพัฒนาจึงถูกนำไปใช้กันโดยทั่วไปและมีความหมายแตกต่างกันออกไป ดังกล่าวแล้ว  เกี่ยวกับความหมายของการพัฒนานั้นได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายความหมายทั้งความหมายที่คล้ายคลึงกัน  และแตกต่างกัน  ซึ่งอาจจำแนกออกได้เป็น  10  ลักษณะ คือ 

 

1.  ความหมายจากรูปศัพท์ 

          โดยรูปศัพท์  การพัฒนา  มาจากคำภาษาอังกฤษว่า  Development  แปลว่า การเปลี่ยนแปลงที่ละเล็กละน้อย  โดยผ่านลำดับขั้นตอนต่างๆ ไปสู่ระดับที่สามารถขยายตัวขึ้น  เติบโตขึ้น  มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น  และเหมาะสมกว่าเดิมหรืออาจก้าวหน้าไปถึงขั้นที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่น่าพอใจ  (ปกรณ์  ปรียากร.  2538, หน้า  5)  ส่วนความหมายจากรูปศัพท์ในภาษาไทยนั้น  หมายถึง  การทำความเจริญ  การเปลี่ยนแปลงในทางที่เจริญขึ้น  การคลี่คลายไปในทางที่ดี  ถ้าเป็นกริยา  ใช้คำว่า  พัฒนา  หมายความว่า  ทำให้เจริญ คือ ทำให้เติบโตได้  งอกงาม  ทำให้งอกงามและมากขึ้น  เช่น  เจริญทางไมตรี  (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.  2525,  2538,  หน้า  238)

          การพัฒนา  โดยความหมายจากรูปศัพท์จึงหมายถึง  การเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เกิดความเจริญเติบโตงอกงามและดีขึ้นจนเป็นที่พึงพอใจ  ความหมายดังกล่าวนี้  เป็นที่มาของความหมายในภาษาไทยและเป็นแนวทางในการกำหนดความหมายอื่นๆ  (สนธยา  พลศรี.  2547,  หน้า  2)

 

2.  ความหมายโดยทั่วไป 

            การพัฒนา  ที่เข้าใจโดยทั่วไป  มีความหมายใกล้เคียงกับความหมายจากรูปศัพท์ คือ หมายถึง  การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งที่ดีกว่าเดิมอย่างเป็นระบบ  หรือการทำให้ดีขึ้นกว่าสภาพเดิมที่เป็นอยู่อย่างเป็นระบบ  (ยุวัฒน์  วุฒิเมธี.  2526, หน้า  1)  ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบทางด้านคุณภาพระหว่างสภาพการณ์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งในช่วงเวลาที่ต่างกัน  กล่าวคือ  ถ้าในปัจจุบันสภาพการณ์ของสิ่งนั้นดีกว่า  สมบูรณ์กว่าก็แสดงว่าเป็นการพัฒนา  (ปกรณ์  ปรียากร.  2538,  หน้า 5)

 

          การพัฒนา  ในความหมายโดยทั่วไปจึงหมายถึงการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เกิดคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิม  ความหมายนี้  นับว่าเป็นความหมายที่รู้จักกันโดยทั่วไป  เพราะนำมาใช้มากกว่าความหมายอื่นๆ  แม้ว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการก็ตาม (สนธยา  พลศรี.  2547,  หน้า  2)

 

3.  ความหมายทางเศรษฐศาสตร์

          นักเศรษฐศาสตร์ได้ให้ความหมายของ  การพัฒนา ว่า  หมายถึง  ความเจริญเติบโต  โดยเน้นความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ  เช่น ผลผลิตรวมของประเทศเพิ่มขึ้น  รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น  รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคนของประชากรเพิ่มขึ้น (ณัฐพล  ขันธไชย.  2527, หน้า  2)  มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น  ประชากรมีรายได้เพียงพอที่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของตนได้  (เสถียร  เชยประทับ.  2528, หน้า  9)  ซึ่งอาจสรุปได้ว่า  การพัฒนา เป็นกระบวนการทางสังคม  ที่ผลผลิตออกมาในรูปซึ่งสามารถวัดได้ด้วยเกณฑ์ทางเศรษฐศาสตร์  (สุนทรี  โคมิน.  2522, หน้า 37)

          จะเห็นได้ว่า  นักเศรษฐศาสตร์ได้กำหนดความหมายของการพัฒนา  โดยใช้ความหมายจากรูปศัพท์และความหมายโดยทั่วไป คือ  หมายถึง  ความเจริญเติบโต  แต่เป็นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  ตามเนื้อหาของวิชาเศรษฐศาสตร์  ซึ่งเป็นการเน้นความหมายเชิงปริมาณ คือ  การเพิ่มขึ้น  หรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าด้านอื่นๆ  (สนธยา  พลศรี.  2547,  หน้า  2-3)

 

4.  ความหมายทางพัฒนบริหารศาสตร์ 

          นักพัฒนบริหารศาสตร์ได้ให้ความหมายของ การพัฒนา เป็น  2 ระดับ คือ  ความหมายอย่างแคบและความหมายอย่างกว้าง  ความหมายอย่างแคบ  การพัฒนา หมายถึง  การเปลี่ยนแปลงในตัวระบบการกระทำการให้ดีขึ้นอันเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านคุณภาพเพียงด้านเดียว  ส่วนความหมายอย่างกว้างนั้น  การพัฒนา  เป็นกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงในตัวระบบการกระทำทั้งด้านคุณภาพ  ปริมาณและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน  ไม่ใช่ด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว

          การพัฒนา  ในความหมายของนักพัฒนบริหารศาสตร์จะมีขอบข่ายกว้างขวางกว่าความหมายจากรูปศัพท์  ความหมายโดยทั่วไป  และความหมายทางเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว  เพราะหมายถึง  การเปลี่ยนแปลงของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ทั้งในด้านคุณภาพ (ดีขึ้น) ปริมาณ  (มากขึ้น)  และสิ่งแวดล้อม  (มีความเหมาะสม)  ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว  (สนธยา  พลศรี.  2547,  หน้า 3)

 

 

5.  ความหมายทางเทคโนโลยี 

          ในทางเทคโนโลยี  การพัฒนา  หมายถึง  การเปลี่ยนแปลงระบบอุตสาหกรรม  และการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย  ด้วยนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์  ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงจากสังคมประเพณีนิยม  เป็นสังคมสมัยใหม่ที่ทันสมัย  (นิรันดร์  จงวุฒิเวศย์.  2534, หน้า  95)  หรือ การพัฒนา  คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีนั่นเอง  (นิรันดร์  จงวุฒิเวศย์  และพูนศิริ  วัจนะภูมิ.  2534,  หน้า  13)

          จะเห็นได้ว่า  ความหมายของ  การพัฒนา  ในทางเทคโนโลยีแตกต่างออกไปจากความหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  โดยหมายถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ทันสมัยด้วยความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ซึ่งเป็นความหมายอีกแนวทางหนึ่ง  (สนธยา  พลศรี.  2547,  หน้า  3)

 

6.  ความหมายทางการวางแผน 

          ในทางการวางแผน  การพัฒนา  เป็นเรื่องเกี่ยวกับการชักชวน  การกระตุ้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ด้วยการปฏิบัติตามแผนและโครงการอย่างจริงจัง  เป็นไปตามลำดับขั้นตอนต่อเนื่องกันเป็นวงจร  โดยไม่มีการสิ้นสุด  (นิรันดร์  จงวุฒิเวศย์.  2534,  หน้า  91-92)  ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  (The  United  National  Educational,  Scientific  and  cultural  Organization : UNESCO. 1982,  p.  305, อ้างถึงในอัจฉรา  โพธิยานนท์. (2539, หน้า  11)  สรุปได้ว่า  การพัฒนาเป็นหน้าที่  (Function)  ของการวางแผนและการจัดการ ดังนี้

                             D        =        f (P+M)

                   เมื่อ     D        =        Development  คือ  การพัฒนา

                             P        =        Planning  คือ  การวางแผน

                             M       =        Management  คือ  การบริหารงานหรือการจัดการ

          ดังนั้น  การพัฒนา  จะเกิดขึ้นได้ด้วยการวางแผนที่ดี  มีการบริหารงานและการจัดการอย่างเป็นระบบ  ทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

          การพัฒนา  ในความหมายของนักวางแผน  จะเป็นไปอีกแนวทางหนึ่ง  โดยอาจสรุปได้ว่า  หมายถึง  การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเตรียมการของมนุษย์ไว้ล่วงหน้า  ในลักษณะของแผนและโครงการ  แล้วบริหารหรือจัดการให้เป็นไปตามแผนและโครงการจนประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้  จะเห็นได้ว่าความหมายของการพัฒนาทางการวางแผนกำหนดให้การพัฒนาเป็นกิจกรรมของมนุษย์และเกิดขึ้นจากการเตรียมการไว้ล่วงหน้าเท่านั้น  การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เกิดจากการวางแผนโดยมนุษย์  ไม่ใช่การพัฒนาในความหมายนี้ (สนธยา พลศรี. 2547, หน้า 4)    

 

7.  ความหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติ 

          ในขั้นของการปฏิบัติ  การพัฒนา  หมายถึง  การชักชวนหรือการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยการปฏิบัติตามแผนและโครงการอย่างจริงจังและเป็นลำดับขั้นตอนต่อเนื่องกันในลักษณะที่เป็นวงจร  ไม่มีการสิ้นสุด  (นิรันดร์  จงวุฒิเวศย์  และพูนศิริ  วัจนะภูมิ.  2534, หน้า  13)

          การพัฒนา  ในความหมายของการปฏิบัติการนี้เป็นความหมายต่อเนื่องจากความหมายทางการวางแผนโดยมุ่งเน้นถึงการนำแผนและโครงการไปดำเนินการอย่างจริงจังและอย่างต่อเนื่อง  เพราะถึงจะมีแผนและโครงการแล้วแต่ถ้าหากไม่มีการนำไปปฏิบัติการพัฒนาก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้  (สนธยา  พลศรี.  2547,  หน้า 4)

 

8.  ความหมายทางพระพุทธศาสนา 

          พระราชวรมุนี  (ประยุทธ์  ปยุตฺโต,  2530, หน้า  16-18)  ได้ให้ความหมายและอธิบายไว้ว่า  ในทางพุทธศาสนา  การพัฒนา  มาจากคำภาษาบาลีว่า  วัฒนะ  แปลว่า  เจริญ  แบ่งออกได้เป็น  2 ส่วน คือ  การพัฒนาคน  เรียกว่า  ภาวนา  กับการพัฒนาสิ่งอื่นๆ  ที่ไม่ใช่คน เช่น  วัตถุสิ่งแวดล้อมต่างๆ  เรียกว่า  พัฒนา  หรือ วัฒนา  เช่น การสร้างถนน  บ่อน้ำ  อ่างเก็บน้ำ  เป็นต้น  ซึ่งเป็นเรื่องของการเพิ่มพูนขยาย  ทำให้มากหรือทำให้เติบโตขึ้นทางวัตถุและได้เสนอข้อคิดไว้ว่า  คำว่า  การพัฒนา  หรือ คำว่า  เจริญ นั้นไม่ได้แปลว่าทำให้มากขึ้น  เพิ่มพูนขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น  แต่มีความหมายว่า  ตัดหรือทิ้ง เช่น เจริญพระเกศา คือตัดผม  มีความหมายว่า  รก เช่น  นุสิยา  โลกวฑฺฒโน  แปลว่า  อย่างเป็นคนรกโลกอีกด้วย  ดังนั้น  การพัฒนาจึงเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความเจริญจริงๆ คือ ต้องไม่เกิดปัญหาติดตามมาหรือไม่เสื่อมลงกว่าเดิม  ถ้าเกิดปัญหาหรือเสื่อมลง  ไม่ใช่เป็นการพัฒนา  แต่เป็นหายนะ  ซึ่งตรงกันข้ามกับการพัฒนา

          กล่าวได้ว่า  การพัฒนา  ในทางพระพุทธศาสนา  หมายถึง  การพัฒนาคนให้มีความสุขมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม  การพัฒนาในความหมายนี้  มีลักษณะเดียวกันกับการพัฒนาในความหมายทางด้านการวางแผน คือ เป็นเรื่องของมนุษย์เท่านั้น  แตกต่างกนเพียงการวางแผนให้ความสำคัญที่วิธีการดำเนินงาน  ส่วนพุทธศาสนามุ่งเน้นผลที่เกิดขึ้น คือ  ความสุขของมนุษย์เท่านั้น  (สนธยา  พลศรี.  2547,  หน้า 4)

 

9. ความหมายทางสังคมวิทยา  และ

          นักสังคมวิทยาได้ให้ความหมายของ  การพัฒนา ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม  ซึ่งได้แก่  คน  กลุ่มคน  การจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคม  ด้วยการจัดสรรทรัพยากรของสังคมอย่างยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ  (ฑิตยา  สุวรรณชฏ.  (2527, หน้า  354)  การพัฒนา เป็นทั้งเป้าหมายและกระบวนการที่ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนต่อชีวิตและการทำงาน  การเปลี่ยนแปลงสถาบันต่างๆ ทางสังคม  วัฒนธรรมและการเมืองอีกด้วย  (Streeten.  1972,  p. 3)

          นักสังคมวิทยาได้ให้ความหมายของ  การพัฒนา  โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม  คือ มนุษย์  กลุ่มทางสังคม  การจัดระเบียบทางสังคม  ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับความหมายในทางพุทธศาสนา  คือ  การเปลี่ยนแปลงมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มีความสุข  และมีลักษณะเช่นเดียวกับความหมายทางการวางแผน คือ  ด้วยวิธีการจัดสรรทรัพยากรของสังคมอย่างยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ  ซึ่งนักวางแผน เรียกว่า  การบริหารและการจัดการนั่นเอง  (สนธยา  พลศรี.  2547,  หน้า 5)

 

10.  ความหมายทางด้านการพัฒนาชุมชน

            นักพัฒนาชุมชนได้ให้ความหมายของ  การพัฒนา  ไว้ว่า  หมายถึง  การที่คนในชุมชนและสังคมโดยส่วนรวมได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมเพื่อปรับปรุงความรู้ความสามารถของตนเอง  และร่วมกันเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของตนเองชุมชนสังคมให้ดีขึ้น  (สมศักดิ์  ศรีสันติสุข.  2525, หน้า  179)  การพัฒนาเป็นเสมือนกลวิธีหรือมรรควิธี (Mean)  ที่ทำให้เกิดผล  (Ends) ที่ต้องการ คือ คุณภาพชีวิต  ชุมชน และสังคมดีขึ้น (ยุวัฒน์  วุฒิเมธี.  2534, หน้า  2)

          นักพัฒนาชุมชนได้ให้ความหมายของ  การพัฒนา  ไว้ใกล้เคียงกับนักสังคมวิทยา คือ เป็นวิธีการเปลี่ยนแปลงมนุษย์และสังคมมนุษย์ให้ดีขึ้น  แต่นักพัฒนาชุมชนมุ่งเน้นที่มนุษย์ในชุมชนต้องร่วมกันดำเนินงานและได้รับผลจากการพัฒนาร่วมกัน 

          จากความหมายในด้านต่างๆ  ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  จะเห็นได้ว่า  การพัฒนา  มีความหมายที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างการออกไปบ้าง  ซึ่งถ้าหากพิจารณาจากความหมายเหล่านี้อาจสรุปได้ว่า  การพัฒนา  หมายถึง  กระบวนการเปลี่ยนแปลงของสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ดีขึ้น  ทั้งทางด้านคุณภาพ  ปริมาณ  และสิ่งแวดล้อม  ด้วยการวางแผนโครงการและดำเนินงานโดยมนุษย์  เพื่อประโยชน์แก่ตัวของมนุษย์เอง  (สนธยา  พลศรี.  2547,  หน้า 5)

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

ฑิตยา  สุวรรณชฏ.  (2527).  สังคมวิทยา.  กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

ณัฐพล  ขันธไชย.  (2527).  แนวความคิดและทฤษฎีในการพัฒนาประเทศและการพัฒนาชนบท,  ใน การบริหารงานพัฒนาชุมชน  หน้า 1 – 25  จักรกฤษณ์  นรนิติผดุงการ.  กรุงเทพฯ : โอเดี้ยนสโตร์. 

นิรันดร์  จงวุฒิเวศย์.  (2534).  ทฤษฎีและแนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท, ใน เอกสารการสอนชุดวิชาการพัฒนาชุมชน  หน่วยที่  1-7. หน้า 1-47 (พิมพ์ครั้งที่  8. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยโขทัยธรรมาธิราช.

นิรันดร์  จงวุฒิเวศย์,  และพูนศิริ  วัจนะภูมิ.  (2534).  ทฤษฎีและแนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท, ใน เอกสารการสอนชุดวิชาคหกรรมศาสตร์กับการพัฒนาชุมชน  หน่วยที่  1-7. หน้า 1-47 (พิมพ์ครั้งที่  2). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยโขทัยธรรมาธิราช.

ปกรณ์  ปรียากร.  (2538).  ทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนา  ใน  การบริหารการพัฒนา  หน้า  18 – 65.  อุทัย  เลาหวิเชียร.  กรุงเทพฯ : สามเจริญพานิช.

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.  2525. (2538).  พิมพ์ครั้งที่  5.  กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

พระราชวรมุนี,  (ประยุทธ์  ปยุตฺโต).  (2530).  ทางสายกลางของการศึกษาไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2).  กรุงเทพฯ : คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ยุวัฒน์  วุฒิเมธี.  (534).  การพัฒนาชุมชน : จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ.  กรุงเทพฯ : บากกอกบล็อก.

สนธยา  พลศรี.  (2547).  ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน  (พิมพ์ครั้งที่ 5).  กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

สมศักดิ์  ศรีสันติสุข.  (2525).  สังคมไทยแนวทางการวิจัยและพัฒนา.  ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

สุนทรี  โคมิน.  (2522).  ผลกระทบของการพัฒนาในแง่มุมของจิตวิทยาสังคม,  พัฒนบริหารศาสตร์.  19, 3  (กรกฎาคม  2522) : 374-396.

อัจฉรา  โพธิยานนท์.  (2539).  การศึกษากับการพัฒนาชุมชน (พิมพ์ครั้งที่  2).  กรุงเทพฯ : คณะครุศาสตร์  สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา.

Streeten, Paul. (1972). The  Frontiers of Development  studies. London : Macmillan.

UNESCO. (1982).  Basic  Concepts  and  Considerations  in  Educational  Planning  and  Management.  Bangkok : UNESCO  Regional  office  for  education  in  Asia  and  the  Pacific.  (Basic  Training  Programme  in  Educational  planning  and  Management  Book 1)

หมายเลขบันทึก: 300377เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ช่วยให้ความหมาย คำว่า การศึกษาความเป็นไปได้

พระนิมิตร กลิ่นดอกแก้ว
  • การศึกษาความเป็นไปได้ feasibility studies
  • ความหมาย ในวิชาคอมพิวเตอร์
  • หมายถึง การศึกษาเพื่อชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการมีหรือใช้คอมพิวเตอร์ โดยคำนึงถึงกำไรและต้นทุน ช่วงเวลา กำลังเงินและกำลังคน เพื่อให้ทำงานตามโครงการใด ๆ ที่กำหนด โดยปรกติในการศึกษาความเป็นไปได้ จะมีข้อเสนอแนะทางเลือกอื่นที่เหมาะสมไว้ด้วยเสมอ
วิภาวรรณ ชินอักษร

ช่วยอธิบายเกี่ยวกับ

เรื่องการวางแผนและการพัฒนา

ให้ด้วยนะค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคูณคะ ดีมากเลยคะ

ข้อมูลดีมากครับ ขออนุญาติสำเนา เป็นประโยชน์ต่อการทำโครงการวิจัยของผมมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท