ยอดปรารถนา: เพชรบนยอดมงกุฏ


ใครเคย "ฝังปรารถนา" บ้าง?

วนมาเรื่องเพลงสุนทราภรณ์อีกแล้วครับ

ผมได้ฟังเพลง ยอดปรารถนา ครั้งแรกผ่านรายการ สุขกันเถอะเรา สถานีวิทยุจุฬาฯ เมื่อปีก่อน โชคดีที่รายการนี้สามารถฟังย้อนหลังทางอินเทอร์เนทได้ เลยคลิกวนกลับมาฟังอีกหลายครั้ง

ล่าสุด คุณ FieryFriend24 นำไปแปะไว้บน Youtube ที่

http://www.youtube.com/watch?v=vwzuFahfD2M

ยิ่งทำให้ฟังแล้วฟังอีก ได้ง่ายกว่าเดิม

เพลงนี้ผมถือว่าเป็นเพชรบนยอดมงกุฏของเพลงสุนทราภรณ์ครับ ความสามารถในเชิงกวีและเชิงดนตรีของผู้ประพันธ์ นั้นอยู่ในขั้นอัจฉริยะจริงๆ

เนื้อหาของเพลงนั้นครึ่งหนึ่งรำพันถึงความสุขจากการได้รัก อีกครึ่งคร่ำครวญถึงทุกข์ของการพรากจาก

สุรัฐ พุกกะเวส ผู้ประพันธ์คำร้อง ใช้ประโยคเกือบสามสิบประโยคในการพรรณาเนื้อหาข้างต้น

ฉันมีความสุขเหลือเกินที่ได้รัก ฉันเศร้าเสียจริงเมื่อต้องพรากจาก

หาอีกยี่สิบกว่าประโยคขยายสองประโยคนี้ ไม่ใช่อัจฉริยะทำไม่ได้นะครับ

ความวิเศษอยู่ตรงที่การพรรณาดังกล่าวใช้อุปมาที่ยิ่งใหญ่ หนักแน่น ผู้ฟังเห็นภาพถึงความรักที่ลึกล้ำ ถึงขนาดที่ว่า

"ศรรักปักทรวงลึก
นึก ๆ รำลึกแต่รักเรา ใฝ่เฝ้าน้ำคำสัญญาสองรารักใคร่
ชาตินี้ชาติหน้าหรือว่าชาติไหน รักไม่สะเทือนเลื่อนไหล รักไม่เปลี่ยนใจยั่งยืน"

และแน่นอน เมื่อความรักลึกล้ำ ความเจ็บช้ำย่อมรุนแรง

เมื่อเธอจากไป เขาเสียใจถึงขนาดว่า

"จะก่นแต่ครวญจนเธอนั้นหวนมา
จะครองน้ำตาวิญญาถึงร้องไห้"

โวหารที่สร้างไว้เมื่อแรกรัก รับกันดีเหลือเกินกับการพรรณาเมื่อต้องพรากจาก

นอกจากนี้เนื้อเพลงยังเลือกใช้คำที่งดงามราวกับภาษากวี

เช่น

"คำรักเคยเพรียกเขาเรียกกลับคืน
ร้องไห้ด้วยใจสุดฝืน รักชื่นกลับคืนให้ตรม"

จินตนาการยังไงก็เป็นไปได้ยากว่า สมัยนี้ยังจะมีคนใช้คำว่า "เพรียก" หรือคำว่า "รักชื่น" อยู่หรือไม่ คำพวกนี้ถึงจะเป็นภาษาโบราณ แต่ผมว่ามันไม่เชยนะครับ

ยังมีอีกครับ

"ขวัญชู้กู่คำหวาน
รักเหลือเจือตาลเคยหวานชื่น กลับขื่นเนื้อตาลนั้นพานร้าวรานหลายเสี่ยง"

เคย "กู่คำหวาน" กับใครแล้ว "กลับขื่น" บ้างไหมครับ

ท่อนนี้ไม่เขียนถึงไม่ได้ครับ การรำพันถึงความสัมพันธ์ขั้นลึกซึ้งด้วยความที่ว่า

"เคยเคล้าสวาทฝังปรารถนา"

"แอบอกอุ่นใจโลมไล้ใต้แสงจันทร์
รำพึงทุกวันรำพันทุกคืนค่ำ
ต่างคนชื่นชู้ต่างรู้ใจจำ ต่างคนร่วมชู้คู่ล้ำ
รักไม่เคยช้ำ ทุกคืนชื่นฉ่ำคำรักเร้าใจ"

โอย ถึงตายครับ ท่อนนี้ ผมแต่งงานมาก็หลายปี ยังไม่สามารถบรรยายได้เลยครับ ว่า "ฝังปรารถนา" นี่มันเป็นความสัมพันธ์ถึงขั้นไหน

ที่สำคัญที่สุดถึงขนาดสมควรได้รับการยกย่องให้เป็นเพชรบนยอดมงกุฎ เพราะความเป็นที่สุดของเพลงนี้อยู่ที่การร้องที่ไม่ต้องโหนเสียงให้ผิดวรรณยุกต์เลย

(ดูเนื้อเต็มๆ ได้ที่ http://www.websuntaraporn.com/suntaraporn/lyric/postlyric.asp?GID=73)

คำ "รัก" ก็ร้องออกเสียงเป็น "รัก" ไม่ใช่ "หรัก" คำ "ถึง" ก็ไม่ต้องโหนให้เป็น "ทึ้ง"เพื่อให้ลงกับทำนอง

ผมว่าลักษณะของเพลงชั้นครูต้องเป็นแบบนี้ครับ คืออัจฉริยะฝั่งคำร้อง มาสบเข้ากับเทพฝั่งดนตรี

เทพฝั่งดนตรีผู้ประพันธ์ทำนองก็มิใช่ใครอื่น ท่านคือ ครู เอื้อ สุนทรสนาน ครับ ชื่อนี้คงไม่ต้องบรรยายอะไรกันอีก

ด้วยเหตุประการทั้งปวงผมจึงขอยกย่องให้ยอดปรารถนา เป็นเพชรบนยอดมงกุฎ ของเพลงสุนทราภรณ์ เพลงที่ฟังเพื่อความชื่นชูใจ และเพื่อซึมซับความงดงามของภาษาไทยเราครับ

หมายเลขบันทึก: 300172เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2009 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท