ครูสมใจ
ครู ครูสมใจ ครูพณิชยการ เอื้อความดี

อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (หน่วยที่ 3 )ต่อ


อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม

5.   อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม

ปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำมาใช้ในประเทศไทยมี 2 อัตรา คือ

5.1    อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ใช้สำหรับธุรกิจขายสินค้าหรือบริการทุกชนิดรวมทั้ง การนำเข้า อัตรานี้รวมภาษีท้องถิ่นไว้แล้ว

5.2    อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 0 มีผลเท่ากับไม่ต้องเสียภาษีจากการขายสินค้าหรือ การให้บริการ และยังได้รับคืนภาษีซื้อ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 0 ใช้สำหรับการประกอบกิจการดังต่อไปนี้

5.2.1   การส่งออกสินค้าของผู้ประกอบกิจการจดทะเบียน

5.2.2  การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการ                        ในต่างประเทศตามประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด นอกจากนี้ยังรวมถึงการให้บริการต่อเรือเดินทะเล การให้บริการซ่อมแซมอากาศยานหรือเรือเดินทะเล และการให้บริการประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยสำหรับทรัพย์สินในต่างประเทศหรือสำหรับสินค้าที่ได้ส่งออกนอกราชอาณาจักร และการบริการที่กระทำในราชอาณาจักรเพื่อใช้ผลิตสินค้าในเขตอุตสาหกรรมส่งออก (ดูประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 105) ประกอบ)

การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ให้รวมถึงกิจการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรเพื่อใช้ผลิตสินค้าในเขตปลอดอากรเพื่อส่งออก และการให้บริการที่กระทำในเขตดังกล่าวเพื่อใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกด้วย

คำว่า “อุตสาหกรรมส่งออก” หมายถึง กิจการที่อยู่ในประเทศไทย แต่ได้สิทธิพิเศษเสมือนหนึ่งเป็นดินแดนต่างประเทศ

5.2.3   การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยานหรือเรือเดินทะเลที่กระทำโดยผู้ประกอบกิจการที่เป็นนิติบุคคล (เดิมก่อนมีการแก้ไขกฎหมายตามพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 33) พ.ศ. 2541 เริ่มบังคับใช้ 1 มกราคม 2542 นั้น ถ้าเป็นผู้ประกอบกิจการที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศจะได้รับอัตราศูนย์เฉพาะกรณีที่ประเทศนั้นให้การปฏิบัติกับนิติบุคคลไทยในทำนองเดียวกัน)

5.2.4   การขายสินค้าหรือการให้การบริการแก่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามโครงการเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ

5.2.5  การขายสินค้าหรือการให้บริการกับองค์การสหประชาชาติ          

        ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล

5.2.6   การขายสินค้าหรือการให้บริการที่ก่อให้เกิดสินค้าที่มีรูปร่าง หรือ การให้บริการที่ไม่ก่อให้เกิดสินค้าที่มีรูปร่าง แต่ทำให้สินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นระหว่างคลังสินค้าทัณฑ์บนด้วยกัน หรือระหว่างผู้ประกอบกิจการที่ประกอบกิจการอยู่ใน เขตอุตสาหกรรมส่งออก ไม่ว่าจะอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออกเดียวกันหรือไม่ รวมทั้งการขายสินค้าหรือการให้บริการระหว่างคลังสินค้าทัณฑ์บนกับผู้ประกอบกิจการที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก

คำว่า “คลังสินค้าทัณฑ์บน” หมายถึง คลังสินค้าที่ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้นำเข้าไม่ต้องชำระอากรเป็นเงินจำนวนมาก โดยผ่อนผันให้ผู้นำเข้าเก็บของได้ในคลังสินค้าได้เป็นเวลานานพอสมควร และตลอดเวลาที่ของยังอยู่ในคลังสินค้าผู้นำเข้ายังไม่ต้องชำระเงินอากร และเมื่อผู้นำเข้าประสงค์ จะนำของออกจากคลังสินค้าเป็นจำนวนเท่าไรก็ให้ชำระอากรตามจำนวนที่นำของออกแต่ละคราวไปโดยใช้พิกัดอัตราอากรในวันที่นำของออก หรือถ้าผู้นำเข้าประสงค์จะส่งของกลับคืนไปต่างประเทศก็จะได้รับยกเว้นอากรทั้งขาเข้าและขาออก 

6.     วิธีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

6.1  แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบคำขอที่ใช้ในการขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่  แบบ ภ.พ. 01 ซึ่งในเขตกรุงเทพมหานครขอรับได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เขต/อำเภอ) หรือสำนักงานในจังหวัดอื่นขอรับได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (อำเภอ) ทุกแห่ง

6.2  เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

6.2.1  คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.01 จำนวน 3 ฉบับ

6.2.2  สำเนาทะเบียนบ้านหรือหลักฐานแสดงการอยู่อาศัยจริง พร้อมภาพถ่าย         บัตรดังกล่าว

6.2.3  บัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร  พร้อมภาพถ่ายบัตรดังกล่าว

6.2.4  สัญญาเช่าอาคารอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการ (กรณีเช่า) หรือหนังสือยินยอมให้ใช้สถานประกอบการ และหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์  เช่น เป็นเจ้าบ้าน สัญญาซื้อขาย            คำขอหมายเลขบ้าน ใบโอนกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่าช่วง  พร้อมสำเนาทะเบียนบ้านที่ตั้งสถานประกอบการและภาพถ่ายเอกสารดังกล่าว

6.2.5  หนังสือจัดตั้งห้างหุ้นส่วน พร้อมภาพถ่ายหนังสือ (กรณีเป็นห้างหุ้น            ส่วนสามัญหรือคณะบุคคล)

6.2.6  หนังสือรับรองของนายทะเบียนห้างหุ้นส่วน  บริษัท พร้อมวัตถุประสงค์ หนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ และใบทะเบียนพาณิชย์พร้อมภาพถ่ายหนังสือดังกล่าว (กรณีเป็นนิติบุคคล)

6.2.7  บัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้จัดการ  หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ และสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมภาพถ่ายเอกสาร

6.2.8  แผนที่แสดงที่ตั้งสถานที่ประกอบการโดยสังเขป และภาพถ่ายสถานประกอบการจำนวน 2 ชุด

6.2.9 ถ้าอบให้ผู้อื่นทำการแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์               10 บาท บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับอำนาจพร้อมทั้งภาพถ่ายบัตร โดยผู้รับมอบอำนาจต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป 

7.   ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ตลอดจนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนเป็นผู้รับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่รัฐบาลภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ดังนั้นจึงต้องกำหนดจุดแห่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax Point) มาตรา 78 ในกรณีต่าง ๆ ดังนี้

7.1   กรณีขายสินค้า ความรับผิดในการเสียภาษีทั้งหมดของผู้ขายจะเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ เว้นแต่กรณีที่ผู้ขายได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้า หรือได้รับชำระราคาสินค้า หรือได้ออกใบกำกับภาษีก่อนมีการส่งมอบสินค้า ความรับผิดในการเสียภาษีของผู้ขายก็จะเกิดขึ้นตาม   ส่วนของการกระทำที่เกิดขึ้น แล้วแต่กรณี

ตัวอย่าง นายกนก ตกลงขายเฟอร์นิเจอร์ 5,000 บาท ให้แก่นายขจรเมื่อวันที่ 18 เมษายน 25X9 แต่ได้ส่งมอบเฟอร์นิเจอร์ให้แก่นายขจรเมื่อวันที่ 23 เมษายน 25X9 ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของนายกนกจากค่าขายเฟอร์นิเจอร์ 5,000 บาท จะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 25X9  ซึ่งเป็นวันที่มีการส่งมอบ

7.2   กรณีขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบ ความรับผิดของผู้ขายจะเกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตามงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาในแต่ละงวด เว้นแต่กรณีที่ผู้ขายได้รับชำระราคาสินค้าหรือได้ออกใบกำกับภาษีก่อนที่จะถึงกำหนดชำระในแต่ละงวด ความรับผิดชอบในการเสียภาษีของผู้ขายดังกล่าวจะเกิดขึ้น แล้วแต่กรณี

ตัวอย่าง บริษัท คะนอง จำกัด ได้ทำสัญญาให้นายพิรุณเช่าซื้อเครื่องซักผ้า 15,000 บาท  โดยนายพิรุณตกลงผ่อนชำระเป็น 10 งวด งวดละ 1,500 บาท กำหนดชำระทุก ๆ วันที่ 1 ของเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 25X9 ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัท คะนอง จำกัด สำหรับค่าขายเครื่องซักผ้าจะเกิดขึ้นทุกวันที่ 1 ของเดือนถัดไปในทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ไม่ว่าในทุกวันที่ 1 ของแต่ละเดือน บริษัท คะนอง จำกัด จะได้รับชำระราคาตรงกำหนดเวลาหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่จะยกเลิกสัญญาเช่าซื้อนั้น ความรับผิดของงวดต่อ ๆ ไปจึงจะไม่เกิดขึ้น (คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 36/2536)

7.3    กรณีขายสินค้าโดยมีการตั้งตัวแทนเพื่อขายและได้ส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนแล้ว ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ความรับผิดในการเสียภาษีทั้งหมดของผู้ขายจะเกิดขึ้นเมื่อตัวแทนได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ เว้นแต่กรณีที่ตัวแทนได้โอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าให้แก่ผู้ซื้อก่อน หรือได้รับชำระราคาสินค้า หรือได้ออกใบกำกับภาษี หรือได้มีการนำสินค้าไปใช้ ซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนที่ตัวแทนจะส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ความรับผิดในการเสียภาษีของผู้ขายก็จะเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี

ตัวอย่าง บริษัท จันทร์เรือง จำกัด ได้มอบหมายให้บริษัท ฉัตรชัย จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า (ตามหลักเกณฑ์ของประกาศอธิบดีฯ) และได้ส่งมอบสินค้า 20,000 บาท ให้แก่บริษัท ฉัตรชัย จำกัด เมื่อวันที่ 19 เมษายน 25X9 ปรากฏว่าบริษัท ฉัตรชัย จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัท จันทร์ฟอง จำกัด ได้ขายสินค้าโดยส่งมอบสินค้าไปทั้งหมดให้แก่ลูกค้าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 25X9 กรณีเช่นนี้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัท จันทร์ฟอง จำกัด จะเกิดขึ้นเต็มตามมูลค่าขายในวันที่ 7 พฤษภาคม 25X9 ซึ่งเป็นวันที่ตัวแทนได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ

6.4    กรณีการขายสินค้าโดยการส่งออก ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะเกิดขึ้นพร้อมกันกับการชำระอากรขาออก หรือวันที่ได้มีการวางค้ำประกันอากรขาออก แล้วแต่กรณี และหากเป็นกรณีไม่ต้องเสียหรือยกเว้นอากรขาออก ความรับผิดจะเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

6.5    กรณีให้บริการ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ให้บริการเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ เว้นแต่กรณีที่ผู้ให้บริการได้ออกใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้าหรือได้ใช้บริการเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าบริการ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำ นั้น ๆ แล้วแต่กรณี

ตัวอย่าง บริษัท ชัยพร จำกัด ได้ให้บริการซ่อมแซมบ้านแก่นายวรุฒ ตกลงราคาค่าบริการ 150,000 บาท โดยงานเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 25X9 แต่นายวรุฒได้ชำระค่าบริการเต็มมูลค่าให้แก่บริษัท ชัยพร จำกัด เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 25X9 กรณีนี้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจาก การให้บริการทั้งหมดของบริษัท ชัยพร จำกัด จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายน 25X9

                ตามตัวอย่างเดียวกัน หากนายวรุฒชำระค่าบริการในวันที่ 8 มิถุนายน 25X9 เป็นเงินเพียง 90,000 บาท ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัท ชัยพร จำกัด จะเกิดขึ้นเพียง 90,000 บาทเท่านั้น สำหรับค่าบริการส่วนที่เหลือ หากมีการชำระให้ในภายหลัง ความรับผิดของบริษัท   ชัยพร จำกัด ก็จะเกิดขึ้นตามส่วนของจำนวนค่าบริการที่ได้รับ หรือในกรณีที่มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นก่อนการชำระค่าบริการดังกล่าวข้างต้น ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของ  ผู้ให้บริการก็จะเกิดขึ้นตามส่วน ทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้วตามข้อ 1

6.6    กรณีการให้บริการตามสัญญาที่กำหนดค่าตอบแทนตามส่วนของบริการที่ทำ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ให้บริการเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าบริการตามส่วนของบริการที่สิ้นสุดลง เว้นแต่จะมีการกระทำอย่างอื่นเกิดขึ้นก่อนการชำระค่าบริการทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้วตามข้อ 6.5

ตัวอย่าง บริษัท ชัยพร จำกัด ได้ให้บริการซ่อมแซมบ้านแก่นายวรุฒ ค่าซ่อมแซม            150,000 บาท เมื่อวันที่ 1 เมษายน 25X7 ตกลงว่าจะชำระเงินเมื่องานซ่อมแซมเสร็จแล้วเป็น 3 งวด คือ

                งวดที่      1             เมื่องานเสร็จร้อยละ 25           ชำระ 37,500 บาท

                งวดที่     2              เมื่องานเสร็จร้อยละ 50           ชำระ 75,000 บาท

                งวดที่      3              เมื่องานเสร็จเรียบร้อย            ชำระ 37,500 บาท

                วันที่ 3 พฤษภาคม 25X9 งานเสร็จร้อยละ 25 นายวรุฒชำระเงินให้ 37,500 บาท ความรับผิดของบริษัท ชัยพร จำกัด ในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 25X9 ใน ส่วนของ 112,500 บาท ที่เหลือจะเกิดความรับผิดในวันที่นายวรุฒชำระค่าซ่อมแซมเฉพาะในส่วนของเงินค่าซ่อมแซมที่บริษัทได้รับชำระ

6.7    กรณีนำเข้าสินค้า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้นำจะเกิดขึ้นพร้อมกันกับการชำระอากรขาเข้า หรือเมื่อมีการวางค้ำประกันอากรขาเข้า แล้วแต่กรณี และหากเป็นกรณีไม่ต้องเสียหรือยกเว้นอากรขาเข้า ความรับผิดจะเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

6.8    กรณีพิเศษ นอกจากกรณีที่กำหนดข้างต้น การขายสินค้าหรือให้บริการบางกรณีตามกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534) ได้กำหนดความรับผิดในการเสียภาษีไว้เป็นพิเศษดังนี้

6.8.1   การขายกระแสไฟฟ้า น้ำประปา หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาสินค้า หรือได้มีการออกใบกำกับภาษีก่อนได้รับชำระราคาสินค้าแล้วแต่กรณี ทั้งนี้โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ

6.8.2   การขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง เช่น สิทธิในสิทธิบัตร กู๊ดวิลล์ เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สัมปทาน ค่าสิทธิ หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาสินค้า เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้ เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระราคาสินค้า ก็ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย เช่น  โอนกรรมสิทธิ์สินค้า หรือได้ออกใบกำกับภาษี ทั้งนี้ให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี

6.8.3   การขายสินค้าหรือให้บริการด้วยเครื่องอัตโนมัติ โดยชำระราคาด้วยวิธีการหยอดเงิน เหรียญ บัตร หรือด้วยวิธีการในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ความรับผิดใน  การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้นำเงิน เหรียญ บัตร หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันออกจากเครื่องอัตโนมัติ

6.8.4   การขายสินค้าโดยการชำระราคาด้วยการใช้บัตรเครดิต หรือในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณีที่ได้มี การกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนส่งมอบสินค้า ก็ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย เช่น โอนกรรมสิทธิ์สินค้า หรือเมื่อมีการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต หรือได้ออกใบกำกับภาษี ทั้งนี้ให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี

6.8.5   การให้บริการโดยการชำระราคาด้วยการใช้บัตรเครดิต หรือในลักษณะทำนองเดียวกันให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต เว้นแต่กรณีที่ได้มีการออกใบกำกับภาษีก่อนการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิตก็ให้ ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการออกใบกำกับภาษีนั้น

6.8.6   การขายสินค้าตามสัญญาจะขายสินค้าตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนส่งมอบสินค้า ก็ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย เช่น โอนกรรมสิทธิ์สินค้า หรือได้รับชำระราคาสินค้า หรือได้ออกใบกำกับภาษี ทั้งนี้ให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี

6.8.9    ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการนำสินค้าไปใช้โดยตนเองหรือบุคคลอื่น        

        โดยมิใช่เพื่อการประกอบกิจการโดยตรงตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อนำไปใช้หรือส่งมอบสินค้าให้บุคคลอื่นเพื่อใช้

6.8.10   ในกรณีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการตรวจพบ

6.8.11    ในกรณีผู้ประกอบกิจการมีสินค้าคงเหลือ และหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบกิจการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อเลิกประกอบกิจการหรือแจ้งเลิกประกอบกิจการ เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ต่อไปเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ ให้ความรับผิดเป็นไปตามข้อ 6.8.1 – 6.8.4

6.8.12    ในกรณีผู้ประกอบกิจการมีสินค้าคงเหลือ และหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบกิจการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ณ วันที่ได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ต่อไปเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ ให้ความรับผิดเป็นไปตามข้อ 6.8.1 – 6.8.4

 แบบพิมพ์ภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

ภ.พ. 01

แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการใช้ยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่หรือสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ที่สถานที่ที่ประกอบการตั้งอยู่ ถ้าผู้ประกอบการมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่หรือสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ภายในกำหนดเวลา

ภ.พ. 01.1

แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและเข้ามาประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นชั่วคราว ใช้ยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว

ภ.พ. 02

แบบคำขอยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกัน ผู้ประกอบการใช้ยื่นต่ออธิบดีกรมสรรพากร เพื่อขอยื่นแบบแสดงรายการค้าร่วมกัน

ภ.พ. 09

แบบแจ้งเปลี่ยนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการจดทะเบียนใช้ยื่นแจ้ง ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในกำหนดเวลา

ภ.พ. 20

ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรออกให้สำหรับผู้ประกอบการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี

ภ.พ. 30

แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการจดทะเบียนใช้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี โดยยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

 

ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้แยกยื่นและชำระภาษีเป็นรายสถานประกอบการ ทั้งนี้เว้นแต่ผู้ประกอบการมีความประสงค์จะยื่นแบบฯ และชำระภาษีรวมกันก็ทำได้ โดยต้องขออนุมัติต่อกรมสรรพากรตามแบบ ภ.พ. 02 ก่อน

ภ.พ. 36

แบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ทอดตลาดซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน ผู้นำเข้าสินค้าหรือบริการ ผู้รับโอนสินค้าหรือผู้รับโอนสิทธิในบริการที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ใช้ยื่นนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ภายในกำหนดเวลา

หมายเลขบันทึก: 300163เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2009 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับเนื้อหาที่อาจารย์นำมาลง

มีประโยชน์ต่อการเรียนของหนูมากเลยค่ะ

ขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรงค่ะ

นักเรียนโรงเรียน...เทคโนโลยีภาคตะวันออก(อี.เทค)

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆนะค่ะ สำหรับข้อมูลและเนื้อหาต่างๆทั้งหมด

ที่อาจารย์ถ่ายทอดลงเว็ป ทำให้หนูเข้าใจ และ รู้เรื่อง ของภาษีมากขึ้น

ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเรียนของหนูเป็นอย่างมาก เพราะหนูเรียน เอก บัญชี

ขอให้อาจารย์มีความสุขมากๆนะค่ะ

ถึงหนูจะไม่ได้เรียนกับอาจารย์ แต่หนูก็เคารพอาจารย์นะค่ะ

ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

อาจารย์ดูแลสุขภาพด้วยนะค่ะ

รักและเคารพอย่างสูงค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ อาจารย์

ธัญวรัตน์ จันผลช่วง

ขอบคุนมากนะค่ะ

ขอโทดน้ะค้ะ สินค้านำเข้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 9 ประเภทนี่มีอะไรบ้างค้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท