คุณธรรมและจริยธรรม (๒)


ความสำคัญของคุณธรรมและจริยธรรมกับอาชีพ กฎและทฤษฎีทางจริยธรรม

ความสำคัญของคุณธรรมและจริยธรรมกับอาชีพ

          คุณธรรมและจริยธรรม มีความสำคัญอยู่ที่การให้คุณค่าของบุคคลจนเกิดเป็นความประทับใจอย่างลึกซึ้งเรียกว่าเป็นค่านิยมเฉพาะของบุคคลต่อสิ่งนั้น ๆ   จริยธรรมที่เกิดจากค่านิยมอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประการ ประการแรก คือ ค่านิยมพื้นฐาน เป็นค่านิยมที่ทำให้บุคคลมีคุณธรรมประจำใจ มีธรรมเนียมประเพณีที่ดี กฎหมาย และกฎระเบียบที่ควบคุมสังคม และ ประการที่ 2 คือ  ค่านิยมวิชาชีพ ทำให้บุคคลมีอุดมการณ์ประจำวิชาชีพ มีจรรยาบรรณวิชาชีพหรือมีพระราชบัญญัติวิชาชีพ เป็นต้น (จำเริญรัตน์ เจือจันทร์, 2548) ซึ่งจะกล่าวถึงในเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพในตอนต่อไป ความสำคัญของคุณธรรมและจริยธรรมอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ

          1.4.1 ระดับการดำรงชีวิต  คุณธรรมและจริยธรรมจะเป็นตัวนำที่ทำให้บุคคลได้กำหนพฤติกรรมของตนเอง เพื่อทำให้เกิดความสุข

          1.4.2 ระดับสังคม ความสุขของบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเพื่อนและสังคม คือ การได้รับการยอมรับ บุคคลต้องอาศัยคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและส่งเสริมชื่อเสียง เกียรติคุณของบุคคล และในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น จริยธรรมจะเป็นอุดมการณ์หรือจุดมุ่งหมายอันสูงสุดสำหรับวิชาชีพนักกฎหมายในอันที่จะให้ความยุติธรรม การดำรงไว้ซึ่งความสุขของสังคม และการใช้เหตุผลยิ่งกว่าการกระทำตามอำเภอใจ (วิชา มหาคุณ, 2546)

          1.4.3 ระดับโลก คุณธรรมและจริยธรรมอาจกล่าวได้ว่าเป็นหลักธรรมที่คุ้มครองโลกให้อยู่รวมกันได้อย่างสันติสุข โดยเฉพาะในโลกยุคโลกาภิวัตน์  ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมก่อให้เกิดการแพร่กระจายในด้านข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการไหลของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ในยุคนี้เป็นยุคของการแข่งขันและท้าทายความสามารถในการดำเนินการบริหารทุกสาขารวมทั้งธุรกิจการค้าในระบบโลกสากล

          การดำรงชีวิตตามปกติสุขของมนุษย์จะมีปัญหาถ้ามนุษย์เกิดความวิตกกังวลและสับสนในเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรม และเรียกร้องสิ่งนี้เพื่อความอยู่รอดร่วมกันอยู่ตลอดเวลา จะพบว่าความไม่มีคุณธรรมและจริยธรรมของประเทศหนึ่งอาจทำลายล้างสันติสุขของทุกประเทศในโลกนี้ได้ แต่ทว่าความมีคุณธรรมและจริยธรรมต้องได้รับการปลูกฝังด้วยการอบรมสั่งสอนให้คิดแน่นอยู่ในระบบความคิด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร

 

กฎและทฤษฎีทางจริยธรรม

          ทฤษฎีทางจริยธรรมมีรากฐานมาจากองค์ความรู้ด้าน จริยศาสตร์ (Ethics) หรือ ปรัชญาจริยะ (Moral philosophy) ซึ่ง จำเริญรัตน์ เจือจันทร์ (2548) อธิบายว่า เป็นศาสตร์ที่พยายามจะทำการศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจระบบแนวคิดหรือสังกัปทางจริยธรรม รวมทั้งตัดสินหลักการและทฤษฎีทางจริยธรรมโดยการวิเคราะห์แนวความคิด เช่น วิเคราะห์ความถูกต้อง ความผิด ความพอเหมาะพอควร ความดี หรือความเลว กฎและทฤษฎีทางจริยธรรมที่จะกล่าวถึงในตอนการเรียนรู้ที่ 2 นี้ จะเป็นหลักที่นักบริหารสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในด้านการบริหารงานได้อย่างผู้มีคุณธรรมและจริยธรรม

 

1.  สัมพันธ์ระหว่างกฎกับทฤษฎี

         กฎ คือ สิ่งที่เป็นสากลที่ทุกคนในสังคมยอมรับได้ เป็นข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกันเป็นเหตุเป็นผลที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง กฎ อาจเกิดได้ใน สองลักษณะด้วยกัน คือ เกิดจากการอุปมานข้อเท็จจริง โดยการรวบรวมจากข้อเท็จจริงทั้งหลาย ๆ ข้อเท็จจริง หรือจากการอนุมานทฤษฎี โดยการดึงเอาส่วนย่อย  ๆ ของทฤษฎีมาสังเคราะห์เป็นกฎ กฎที่ดีต้องเป็นหลักที่เน้นความสำคัญระหว่างเหตุผลและกฎมีความเป็นจริงในตัวของมันเอง มีความเป็นปรนัยและสามารถพิสูจน์ทดลองได้ผลตรงกันทุกครั้งและถ้าหากมีผลการทดลองใดที่ขัดแย้งกับกฎแล้ว กฎนั้นต้องยกเลิกไป แต่กฎไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ว่า ทำไมเหตุกับผลจึงมีความสัมพันธ์กันเช่นนั้น สิ่งที่สามารถอธิบายได้ระหว่างเหตุกับผลในตัวกฎ กฎและทฤษฎีจึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกัน เช่น กฎของพุทธจริยศาสตร์ คือ หลักของทฤษฎีพุทธศาสตร์ เพราะเกิดจากการอุปมานข้อเท็จจริง โดยการรวบรวมจากข้อเท็จจริงทั้งหลาย ๆ ข้อเท็จจริงของพุทธจริยศาสตร์มาสังเคราะห์ เป็นมโนคติแล้ว เอามโนคติทั้งหลายมาสังเคราะห์เป็นหลักการ

 

2.  ทฤษฎีทางจริยธรรม 

          ทฤษฎีทางจริยธรรมมีความหลากหลายทั้งจากมุมมองของนักปรัชญา นักจิตวิทยา และนักจริยศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นประโยชน์ในการพิจารณาหลักคุณธรรมและจริยธรรม

          2.1 ทฤษฎีทางจริยธรรมเชิงจริยศาสตร์ ในแต่ละทฤษฎีจริยธรรมเชิงจริยศาสตร์มีสาระสำคัญซึ่ง จำเริญรัตน์ เจือจันทร์ (2548) ได้นำมาสรุปเป็นแนวทางเพื่อประยุกต์ใช้ ดังนี้

          1) ทฤษฏีจริยศาสตร์ของ อริสโตเติล (Aristotle) อริสโตเติล มองว่า คุณธรรมจริยธรรมทำให้มนุษย์มองเห็นแต่สิ่งที่มีคุณค่าเป็นลักษณะคุณธรรมเชิงพุทธิปัญญา ซึ่งเกิดจากการเรียนการสอน การได้รับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และคุณธรรมจริยธรรมที่เกิดจากพฤติกรรมที่อยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ ต้องอาศัยการอยู่ร่วมกัน ประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้องร่วมกันคุณธรรมจริยธรรมจะต้องมีลักษณะสภาวะความเป็นกลาง ความดีหรือลักษณะทางสายกลางเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเพราะต้องสลัดสิ่งที่ติดอยู่ที่ปลายทั้งสองด้านที่เป็นความเข้มข้นและความอ่อนด้อยออกเสียก่อน การทำได้ก็จะเข้าถึงความดี ความดีที่ อริสโตเติล กล่าวถึง คือ การอยู่ดี ทำดีและชีวิตประสบความสุขโดยมุ่งหวังให้ทุกอย่างเป็นไปตามสภาวการณ์หรือเป็นไปตามธรรมชาติอย่างแท้จริง หลักทฤษฎีทางจริยธรรมของ อริสโตเติล สามารถนำมาปรับใช้กับการบริหารการศึกษาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะหลักการว่าด้วยความดี ความสุขและทางสายกลาง เป็นต้น การนำมาใช้เพื่อปลูกฝังให้ นักเรียน  ครู อาจารย์ ผู้ใต้บังคับบัญชาให้ฝักใฝ่ในความดีก็จะทำให้สังคมมีความสงบสุข

          2) ทฤษฎีสัมพัทธนิยมทางจริยธรรม ยึดถือว่าหลักการทางจริยธรรมทั้งหลายขึ้นอยู่กับการยึดถือของสังคมที่บุคคลนั้นอาศัยอยู่ กลุ่มบุคคลในสังคมอื่นอาจจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง การยึดถือของคนในสังคมมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรม ประเพณี วิถีประชา วิถีทางการชีวิต ซึ่งยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมา ช้านานดังนั้นจริยธรรมของสังคมนั้นจึงเป็นเรื่องปรากฏต่อสายตาของผู้ยึดถือซึ่งเป็นสิ่งที่ในสังคมนั้นยึดถือร่วมกัน   ดังเช่น การที่ภรรยาหม้ายต้องกระโดดกองไฟตายตามสามี เป็นพฤติกรรมที่แสดงความรักและซื่อสัตย์ต่อสามีของคนในสังคมหนึ่งซึ่งสังคมอื่น อาจมองว่าเป็นความโหดร้าย

          การยึดถือจริยธรรมแบบสัมพัทธนิยมอาจจะมีลักษณะของการตัดสินใจด้วยตนเองหรือให้กลุ่มคนในสังคมเป็นผู้ตัดสินซึ่งถือว่าเป็นข้อยุติไม่สามารถโต้แย้งได้ ซึ่งไม่อาจนำเอาแนวความคิดของสังคมอื่น ๆ มาเป็นข้อโต้แย้งได้ เพราะการตัดสินใจของกลุ่มคนในสังคมเป็นความตั้งใจ แม้ว่าจะเกิดจากความไม่เข้าใจหรือก่อให้เกิดอันตรายก็ตามก็ถือว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของสังคมนั้นในเวลานั้น นักบริหารจึงต้องมีความระมัดระวังที่จะต้องมีจริยธรรมบนฐานความคิดที่ถูกต้อง

          3) ทฤษฎีอัตนิยม เป็นทฤษฎีทางจริยศาสตร์ที่มีหลักการในการมุ่งเน้นตนเองเห็นหลักหรือยึดถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นประการสำคัญ และถือว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมแม้จะไม่เป็นที่ยอมรับเพราะถือว่าไม่สมเหตุสมผลของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าทฤษฎีอัตนิยมจะยึดตนเองเป็นสำคัญแต่ก็มีลักษณะของความสมเหตุสมผลในเชิงความคิดด้านจริยธรรมในมุมมองที่เป็นการส่งเสริมตนเองซึ่งมีส่วนเกี่ยวโยงกับการส่งเสริมความดีให้แก่คนส่วนใหญ่ด้วย อัตนิยมมีการประเมินทางเลือกไว้ว่าจะยึดถือในสิ่งที่ตนเองชอบใจและทำในสิ่งที่ตนชอบถ้าไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมจริยธรรมอันดี และเลือกที่จะไม่ทำในสิ่งที่ตนไม่ชอบ การได้รับความสุขจากสิ่งที่ตนทำและการช่วยเหลือผู้อื่นเนื่องจากเกิดความต้องการที่จะช่วยเหลือซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ทำพฤติกรรมนั้นก็เป็นหลักการของอัตนิยมเช่นกัน  ดังนั้นอัตนิยมจึงมีลักษณะที่ยึดถือตนเองเป็นหลักเพื่อเลือกแนวทางซึ่งแนวทางที่เลือกก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและในทางกลับกันตนเองได้รับประโยชน์จากการให้ประโยชน์แก่สังคมด้วย

          นักบริหารที่ยึดอัตนิยมจะมีความเชื่อว่าทุกคนมีความคิดเห็นเป็นของตนเอง และยึดถือความคิดเห็นของตนเองในการตัดสินปัญหาต่าง ๆ โดยคิดว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ซึ่งอาจจะทำให้ขาดความเคารพในความคิดเห็นของผู้ร่วมงาน แต่อย่างไรก็ตามการบูรณาความคิดที่พึ่งพาตนเองและการเปิดใจกว้างยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจจึงเป็นหัวใจสำคัญของทฤษฎีอัตนิยม

         4)  ทฤษฎีอรรถประโยชน์เชิงการกระทำและเชิงระเบียบ อรรถประโยชน์เชิงการกระทำ แถลงว่า การกระทำจะถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าผลของการกระทำนั้นก่อให้เกิดประโยชน์มากน้อยเพียงใด การกระทำที่ถูก คือการการทำที่ก่อให้เกิดความสุขหรือหลุดพ้นจากความทุกข์และเป็นการกระทำที่ให้ผลแห่งความสุขแก่คนจำนวนมากด้วย เรียกการกระทำที่ถูกต้องนี้ว่าเป็นความดี การกระทำที่ผิด คือ การกระทำที่นำความทุกข์ความเดือดร้อนมาสู่คนจำนวนมาก การวัดการกระทำดังกล่าวต้องพิจารณาจากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาคำนวณค่าของความสุขและความทุกข์เป็นเชิงปริมาณ ดังนั้นการกระทำทั้งหลายย่อมมีผลเป็นประโยชน์หรือโทษแก่ผู้ทำตามมาเสมอ

          ทฤษฎีอรรถประโยชน์เชิงระเบียบ เป็นการมองถึงการจัดระเบียบทางสังคมโดยใช้กฎระเบียบทางสังคม กฎหมายบ้านเมืองมาใช้เพราะสิ่งเหล่านี้จะให้ความสำคัญของรูปแบบการกระทำที่ต้องเป็นไปตามหลักจริยธรรมโดยมีกฎระเบียบรองรับ ซึ่งต้องเป็นกฎระเบียบที่ต้องได้รับการยอมรับตามหลักตรรกวิทยาด้วย

          นักบริหารอรรถประโยชน์ต้องคำนึงถึงหลักการที่จะนำมาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด แต่นักจริยศาสตร์ยังเชื่อว่า กฎระเบียบจะเกิดผลดีต่อสังคมในลักษณะของการประนีประนอมอีกด้วย

         5) ทฤษฎีสุขนิยม เป็นทฤษฎีที่เชื่อว่าความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ดังนั้น สิ่งที่ดีคือสิ่งที่พาไปสู่ความสุข และแนวทางในการนำไปสู่ความสุขตามทัศนะของสุขนิยมนี้เน้นไปที่ความสุขที่สัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรม บุญมี แท่นแก้ว (2541) กล่าวว่า ความสุขที่เป็นจุดหมายของชีวิตตามความเชื่อนี้แบ่งออกเป็น 2 ประการ คือ

           ประการที่หนึ่ง ความสุขส่วนตน ได้แก่ ความสุขที่เน้นตัวเองเป็นสำคัญ และให้คุณค่าของสิ่งนั้นมากที่สุด ความสุขส่วนนี้ได้จากการสัมผัสถูกต้องด้วยอวัยวะรับสัมผัส เช่น ตาดู หูฟัง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส และผิวหนังรับความรู้สึก

          ประการที่สอง ความสุขส่วนรวม ได้แก่ ความสุขที่เน้นคนส่วนรวมเป็นสำคัญ การแสดงพฤติกรรมที่คนส่วนใหญ่กระทำจึงเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการช่วยให้สังคมมีความสุขด้วย หลักธรรมที่สุขนิยมนำเสนอว่าเป็นความดีสูงสุดและเป็นแนวทางที่นำไปสู่ความสุขหลายประการ เช่น ทางสายกลาง อริยทรัพย์ เบญจศีลเบญจธรรม มงคลชีวิต บุญกิริยาวัตถุ อิทธิบาท อริยทรัพย์ เป็นต้น โดยเฉพาะธรรมที่เป็นอริยทรัพย์นั้น จำเริญรัตน์ เจือจันทร์ (2548) กล่าวว่า นักบริหารการศึกษาสามารถจะนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกประเด็น ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ดังนี้

          (1)  ศรัทธา การมีความเชื่ออย่างมีเหตุผล

          (2)  ศีล การควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจให้อยู่ในกฎระเบียบอันดีงามของสังคมซึ่งได้แก่การมีศีล

          (3)  หิริ การมีความละอายต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น คิดฉ้อราษฎร์บังหลวง

          (4)  โอตตัปปะ การมีความอดกลั้นโดยเกรงกลัวที่จะไม่ทำชั่ว

          (5)  พาหุสัจจะ การรอบรู้ รู้ลึกโดยใช้หลักการรับฟังข้อเสนอแนะ รู้จักโต้แย้งด้วยหลักการที่เป็นเหตุเป็นผล รู้จักวิธีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และนำไปสู่การบูรณาการเป็นข้อมูล สำหรับการบริหารจัดการการศึกษา

          (6)  จาคะ การมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเสียสละ มีน้ำใจต่อผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้อื่น

          (7)  ปัญญา การมีความรู้ที่กว้างและเห็นจริง มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเหตุผล รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว ถูก ผิด มีคุณ มีโทษ  มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์  เป็นต้น

          นักบริหารหากว่าต้องการจะประสบความสำเร็จและมีความสุขทั้งในส่วนตนและในส่วนรวม จะต้องเป็นผู้ที่มีอริยทรัพย์ในตน  โดยมุ่งยึดหลักการแห่งวิชาชีพของตนว่าองค์กรทางการศึกษาเป็นองค์กรที่บ่มเพาะภูมิปัญญา ตลอดจนมุ่งสร้างและสั่งสมความดี เป็นแหล่งปลุกฝังคุณธรรมเพื่อความสุขในการดำรงชีวิต

          6)  ทฤษฎีจริยธรรมของคานท์ (Kant) เป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงคุณค่าของการปฏิบัติตามหลักจริยธรรม ว่าต้องเป็นเจตนาที่ดีและเกิดจากความตั้งใจจริง หรือมีมูลเหตุที่จูงใจให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยเริ่มจากเหตุการณ์จูงใจที่ดีจะเป็นเงื่อนไขในการกระทำดีและผลจากการกระทำดีนั้นจะเป็นผลดีและมีประโยชน์  การกระทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นหลักสากล เป็นลักษณะของการกระทำตามหน้าที่และการให้ความเคารพยำเกรง มีเงื่อนไขและมีความเด็ดขาด โดยใช้ คติบท (Maxim) เป็นลักษณะการบรรยายการกระทำเชิงอัตนัยโดยมีพื้นฐานที่ดี และมีความรู้สึกแฝงด้วยเจตนาดีเสมอ

          ตามหลักการของ คานท์ ผู้บริหารจะต้องทำตามหน้าที่บริหารการศึกษาให้ก่อประโยชน์ต่อบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องในด้านการศึกษา และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องรู้ว่าหน้าที่ของตนคืออะไร 

          7) ทฤษฎีอภิจริยศาสตร์ เป็นหลักการที่กล่าวถึงความหมายในรายละเอียดด้วยการวิเคราะห์เชิงลึกในสิ่งที่ปรากฏว่าคืออะไร เพื่อนำมากำหนดให้ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญญาและความไม่เข้าใจที่ตรงกัน โดยเฉพาะในความหมายของคำว่า ความดี ความเลว ความถูกต้องและความผิด การกำหนดนิยามที่เฉพาะลงไปให้ชัดเจนตรงกันโดยเฉพาะในเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ปรากฏใน ขณะนั้น แต่ตามหลักการแล้ว ธรรมชาติ คือความจริงและความดีความงามเป็นคุณสมบัติของธรรมชาติและมีคุณค่าอยู่ในตัวเองอยู่เสมอ

          จำเริญรัตน์  เจือจันทร์ (2548) อ้างถึงนักจริยศาสตร์ มัวร์ (Moore) ว่าได้กล่าวถึงคุณค่าทางจริยธรรมว่าไม่อาจนิยามได้ด้วยสิ่งที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของหรือปรากฏการณ์ และความดีไม่อาจนิยามได้เพราะเป็นคุณสมบัติที่ไม่ใช่เป็นธรรมชาติ ความดีเป็นความจริงที่อยู่ในตัวมันเอง สามารถรับรู้จินตนาการและสัมผัสได้จากจิตสำนึก

          ทฤษฎีนี้ยังมีความคิดที่ลึกซึ้งในเรื่องของธรรมชาติจึงเกิดเป็นหลักในการศึกษาขึ้น เรียกว่า  ทฤษฎีธรรมชาตินิยมในอภิจริยศาสตร์ เนื่องจากนักธรรมชาตินิยมไม่ได้มองธรรมชาติในแง่ดีเสมอไป เพราะความดีและความไม่ดีของธรรมชาติมีอยู่ในตัวเองและแยกออกจากกันไม่ได้ ดังนั้น มนุษย์จึงมองสิ่งที่เป็นวัตถุสิ่งเดียวกันไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะมองว่าดีและบางคนอาจจะมองว่าไม่ดีก็ได้ นักบริหารการศึกษาต้องเรียนรู้ในเรื่องธรรมชาติของคน เพราะการรู้ธรรมชาติเป็นกลยุทธของการบริหารอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม

          8) ทฤษฎีแบบแผน จากแนวความคิดของ รอสส์ (Ross) กล่าวว่า จากหลักของพหุนิยมนั้น คุณลักษณะที่หลากหลายสามารถก่อให้เกิดความถูกต้องได้ ดังนั้นแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับหน้าที่จึงเป็นหลักเด่นสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อน โดยกำหนดให้หน้าที่เป็นเงื่อนไขซึ่งผูกพันกับข้อเท็จจริง ถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น  ความซื่อสัตย์ การชดใช้ ความกตัญญู ความยุติธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดลำดับความสำคัญและตรวจสอบการกระทำว่าตกอยู่ในรายการใด ดังตัวอย่างเช่น

          (1) หน้าที่ที่ต้องรักษาคำมั่นสัญญา

          (2) หน้าที่ที่ต้องชดใช้หรือชดเชย

          (3) หน้าที่ที่ต้องกตัญญูรู้คุณ

          (4) หน้าที่ที่ต้องให้ความยุติธรรม

          (5) หน้าที่ที่ต้องได้รับประโยชน์

          (6) หน้าที่ที่ต้องปรับปรุงตนเอง

          (7) หน้าที่ที่ไม่ประทุษร้ายคนอื่น

 

          ดังนั้น การได้ประโยชน์จากการกระทำ การพัฒนาตนเองให้มีคุณธรรมการมีเจตนาที่จะไม่ทำร้ายผู้อื่น ความมีเมตตา กรุณา และความพยายามหลีกเลี่ยงไม่ไห้ผู้อื่นได้รับความทุกข์ ดังนั้นการกระทำที่ถูกต้อง คือ การกระทำตามหน้าที่ โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่มีทางเลือก แต่ถ้ามีทางเลือกก็จะต้องจัดลำดับทางเลือกที่ให้ประโยชน์สูงสุดเป็นอันดับแรกในการกระทำ (จำเริญรัตน์  เจือจันทร์, 2548)

          9) ทฤษฎีอาเวค เป็นทฤษฎีที่กล่าวถึง จริยภาษา เนื่องจากมนุษย์ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือสะท้อนความคิดและอารมณ์ ความสำคัญของจริยภาษาจึงเป็นภาษาที่แสดงถึงจริยธรรม การออกคำสั่ง คำขอร้อง ทั้งที่เป็นภาษาเขียนและภาษาพูดต่างแฝงด้วยอารมณ์ทั้งสิ้น ดังนั้นการแสดงออกจึงเป็นความรู้สึกของผู้สื่อสารซึ่งอาจจำไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงและไม่ยังสามารถแยกภาษาและการกระทำออกจากกันได้

          ดังนั้นผู้บริหารต้องตระหนักว่า อารมณ์ของบุคคลต่อสถานการณ์ในขณะนั้น จึงมีทั้งทางบวกและทางลบในประเด็นเดียวกัน ถ้าเห็นเหตุการณ์ในทางลบ การตัดสินจริยธรรมโดยอาศัยภาษาที่แสดงอารมณ์ ก็จะใช้ภาษาแสดงอารมณ์ชักขวนให้คนอื่นหยุดการกระทำนั้น แล้วผลของการกระทำก็เป็นความดี การแสดงอารมณ์ในทางบวกต่อสิ่งใดก็จะเกิดอารมณ์ดีต่อสิ่งนั้น เพราะความเชื่อและความรู้สึกทางอารมณ์เป็นสิ่งแยกกันไม่ออกจึงทำให้เกิดอารมณ์ที่รุนแรงต่อสิ่งที่ไม่ดีและสิ่งที่ดีได้เสมอ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล หรือกลุ่มบุคคล

          10)  ทฤษฎีบัญญัตินิยม เป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงเรื่องการสื่อสารด้วยการใช้ภาษา การบัญญัติความใด ๆ ต้องใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ เป็นการกำหนดหรือชี้แนะที่เป็นแนวทางเลือก ผู้บริหารต้องตระหนักว่า ข้อบัญญัติไม่ใช่เป็นข้อห้ามแต่เป็นข้อเสนอแนะว่าไม่ควรทำ เพื่อให้การใช้ลักษณะของการบัญญัติเป็นข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ถือเป็นกติกาขององค์กรหรือสังคมที่จะต้องรับรู้ร่วมกัน เนื่องจากแนวทางเลือกอาจมีมากมายหลายประการ การมองมุมมองในเชิงเปรียบเทียบอย่างหลากหลาย และประเมินให้ได้ว่าแนวทางที่เลือกแล้วนี้ดีกว่าแนวทางทางเลือกอื่น ๆ

          มนุษย์มีอิสรภาพในการเลือกเป็นอำนาจที่อยู่ในตนเอง นอกจากการรู้จักตนเองแล้ว มนุษย์ยังมี จินตนาการสามารถที่จะพาตนเอง ให้หลุดไปอยู่ในสภาพวาดที่สร้างขึ้นด้วยตนเอง ซึ่งอาจจะห่างไกลจากความเป็นจริงก็ได้ แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ คือ การมีมโนธรรม การตระหนักรู้ล้ำลึกที่อยู่ในจิต การแยกแยะความผิดชอบชั่วดี และหลักของการควบคุมมโนพฤติกรรม และการปรับแนวทางของความคิดให้สอดคล้อง กับมโนธรรมที่ตนยึดถือและสังคมยอมรับได้  (Covey, 2004)

              2.2.2 ทฤษฎีจริยธรรมตามแนวศาสนา ศาสนาเป็นแหล่งกำเนิดด้านจริยธรรม ทุกศาสนามีคัมภีร์ที่ให้ผู้นับถือศรัทธายึดถือไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนตามศาสนกิจและตามวิถีการดำเนินชีวิตในสังคมด้วย ศาสนาที่ใหญ่ ๆ มีผู้คนนับถือเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ศาสนาพุทธ คริสต์ และศาสนาฮินดูและอิสลาม

          1) ทฤษฎีจริยธรรมตามแนวพุทธศาสตร์ พระเทวินทร์ เทวินโท (2544 หน้า 346-349) กล่าวว่า ทฤษฎีจริยธรรมตามแนวพุทธศาสตร์นี้เรียกว่า ทฤษฎีพุทธจริยศาสตร์ซึ่งเป็นสัจจทฤษฎีแห่งธรรม  โดยประกอบด้วยเหตุผลและผล เป็นการศึกษาธรรมที่มีความเป็นธรรมชาติซึ่งหมายถึงสิ่งที่เป็นจริง การศึกษาด้านทฤษฎีทางจริยศาสตร์นี้เป็นการศึกษาด้วยการสังเกต ทดลองด้วยการปฏิบัติจริงและนำผลมาเป็นองค์ความรู้ของศาสตร์  ดังนั้น การศึกษาด้านจริยศาสตร์จึงเป็นการศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์ จากองค์ประกอบในด้าน ธรรมชาติของสสาร การรวมตัวและการแยกสลายออกจากกันจนไม่มีตัวตนที่แน่นอน คือ พระอภิธรรมปิฎก ข้อประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ต่อธรรมชาติที่จะทำให้สังคมมีความสงบสุขและวิธีการที่จะทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ซึ่งได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ พระสุตตันตปิฎก และข้อห้ามไม่ให้มนุษย์ทำ ได้แก่ ศีล กฎ ระเบียบ คือ พระวินัยปิฎก ทฤษฎีนี้ได้กล่าวถึง    สัจธรรมที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ไว้ 3 หลักธรรม คือ

          หลักธรรมที่ 1 ได้แก่ อรูปธรรมและรูปธรรม ซึ่งอธิบายได้ว่า ธรรมชาตินั้นมีอยู่สองสภาวะ สภาวะหนึ่ง คือ สภาวะที่ยังไม่รวมกันเป็นธาตุ เป็นสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่ง มีสภาวะเป็นกลาง เป็นอยู่อย่างอัตตพิสัย ไม่มีปฏิกิริยาไม่พลังในตัวเอง และสภาวะสอง คือ สภาวะของธรรมชาติที่เป็นอัตตพิสัยแล้ว ได้รวมตัวกันเป็นปรพิสัย คือ เป็นธาตุ เป็นสารเคมีต่าง ๆ จนมีปฏิกิริยามีพลังงานอยู่ในตัวเอง

         หลักธรรมที่ 2 ได้แก่ อสังขตธรรมและสังขตธรรม อธิบายได้ว่า ธรรมชาติที่ยังไม่มีปัจจัย ยังไม่ธาตุ ยังไม่มีสารเคมีใด ๆ มาปรุงแต่ง ให้เป็นสังขาร ให้เป็นสิ่งที่มีชีวิตใดชีวิตหนึ่ง ยังอยู่ในสภาพที่เป็นอากาศ เป็นธาตุที่บริสุทธิ์อยู่ ซึ่งในอีกธรรมชาติหนึ่งคือธรรมชาติที่มีการปรุงแต่งของปัจจัยต่าง ๆ  ธาตุชนิดต่าง ๆ  จนรวมกันเป็นพืชเป็นสัตว์ เป็นมนุษย์เป็นสังขาร มีชีวิต และจิตใจ มีวิญญาณ เป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นไปตามปกติวิสัยของธรรมชาติทั้งที่ดีและไม่ดี

          หลักธรรมที่ 3 ได้แก่ โลกิยธรรมและโลกุตตรธรรม  อธิบายได้ว่า ธรรมที่ทำให้มนุษย์ สัตว์ พืช ต้องเป็นไปตามโลกธรรม มีการเวียนว่ายตายเกิด มีความไม่เที่ยง มีความทุกข์ ความสุขตามปกติวิสัยไม่มีที่สิ้นสุด มีความเป็นอนัตตา และตกอยู่ใต้อำนาจการครอบงำของธรรมชาติที่เลวซึ่งเป็นสภาวะหนึ่งของธรรมชาติ ในอีกซีกหนึ่งของธรรมในหลักนี้ คือ ธรรมที่ทำให้มนุษย์และสัตว์ได้พ้นจากสภาวะปกติของโลกธรรมและโลกิยธรรม ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อบรรลุถึงสภาวะสูงสุดของโลกุตตรธรรม ก็จะไม่ตกอยู่ใต้อำนาจการครอบงำของธรรมชาติที่เลวที่ดำรงอยู่เหนือความชั่วร้ายทั้งปวง

          ทฤษฎีจริยศาสตร์เชิงศาสนา เป็นทฤษฎีที่ใช้กุศโลบายเพื่อให้เกิดความศรัทธาต่อพระผู้เป็นศาสดาซึ่งเป็นตัวนำที่ทำให้มีความเคร่งครัดในการปฏิบัติตนตามศาสนกิจและตามคำสอนของพระธรรมในศาสนานั้นๆ ซึ่งให้หลักเพื่อนำไปประกอบคุณงามความดี ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นละเว้นความชั่ว เป็นต้น

           ทฤษฎีจริยธรรมเชิงจิตวิทยา นักจิตวิทยาศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งที่เป็นพฤติกรรมภายนอกที่มนุษย์แสดงออกและพฤติหรรมภายในซึ่งเป็นพฤติกรรมทางจิต ทฤษฎีจริยธรรมเชิงจิตวิทยาจึงมุ่งเน้นที่พฤติกรรมทางจิตของมนุษย์ที่ส่งผลให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมเพื่อก่อให้เกิดความสมดุลของของกายและจิต

          ฟรอยด์ (Freud) นักจิตวิทยาผู้นำทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ได้ให้แนวคิดในการวิเคราะห์จิตซึ่ง ฟรอยด์ และกลุ่มผู้ทำการศึกษาได้พื้นฐานความคิดมาจากพฤติกรรมการวางเงื่อนไขและปฏิกิริยาสะท้อนซึ่งเป็นผลงานการเรียนรู้แบบคลาสสิกของ พาฟลอฟ ฟรอยด์ กล่าวว่าสิ่งที่ทำให้บุคคลเกิดการกระทำดีและชั่วมาจากความดิ้นรนพยายามระหว่าง พลังแรงขับและสัญชาตญาณของตัวตนที่จะสร้างความพึงพอใจโดยได้รับสิ่งที่พึงปรารถนา และสิ่งที่เป็นความจำเป็นสำหรับการสร้างสังคมของตัวตนด้วยความพยายามควบคุมและเก็บกดสิ่งทีเป็นกระแสความต้องการไว้เพื่อให้ตนเองสามารถทำหน้าที่ในสังคมได้  แม้ว่าอิทธิพลทางความคิดของ ฟรอยด์ จะไม่ได้แทรกซึมลงสู่ความคิดเชิงจริยธรรมอย่างสมบูรณ์ แต่จิตวิทยาของฟรอยด์ในส่วนลึกได้แสดงถึงเรื่อง ความรู้สึกผิด โดยเฉพาะในเรื่องของเพศที่เป็นสิ่งที่ได้รับการเน้นหนักในเรื่องของความดีและความเลว   ซึ่งมีผลกระทบในด้านความคิดเชิงจริยธรรมของบุคคลในปัจจุบัน

          เจมส์ (James) ซึ่งเป็นนักปรัชญาและนักจิตวิทยาที่เป็นนักปฏิบัตินิยมก็กล่าวว่า คุณค่าของแนวคิดต่าง ๆ จะเกิดขึ้นเมื่อมีผลลัพธ์ของการกระทำตามมา ดังนั้น หลักจริยธรรมมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ที่หลากหลายที่เกิดขึ้นในโลกนี้

         จริยธรรมตามแนวความคิดของนักจิตวิทยาเหล่านี้ยังไม่ได้ลงรากฐานสู่พฤติกรรมด้านคุณธรรมและจริยธรรมอย่างชัดเจน จนกระทั่ง โคห์ลเบอร์ค (Kohlberg) ได้ทำการศึกษาด้านจริยธรรม จากพื้นฐานการพัฒนาการด้านความคิดและความเข้าใจ ของเพียเจท์ (Piaget) ซึ่งได้ศึกษาและอธิบายการแสดงพฤติกรรมตามแนวทางของคุณธรรมและจริยธรรมของเด็กในด้าน เจตคติของเด็กที่มีต่อกฎ การตัดสินใจของเด็กเกี่ยวกับความถูกต้องและความผิด และการประเมินค่าความยุติธรรมในการตัดสิน เพียเจท์ สรุปว่า คุณธรรมประกอบขึ้นด้วยระบบของกฎและความคงอยู่ของคุณธรรมจะค้นหาได้จากความเชื่อถือซึ่งแต่ละบุคคลจะพยายามที่จะรับกำนั้นไว้ (ประภาศรี  สีหอำไพ, 2543)  

          1) ทฤษฎีจริยธรรมของ โคห์ลเบอร์ค (Kohlberg) มีจุดเริ่มต้นของการเกิดคุณธรรมและจริยธรรมอยู่ที่ตัวตนของบุคคล (Self) โดยเริ่มจากผลประโยชน์ส่วนตนเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่เอื้อต่อมวลชนในระดับที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ การศึกษาจริยธรรมจากพฤติกรรมที่ความรู้ความเข้าใจระดับคุณธรรมเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมได้ เมื่อต้องเลือก การตีค่าและการอธิบายคุณค่าหรือตัดสินใจอย่างไร

 

หลักจริยธรรมของโคลเบอร์ค มี 6 ขั้น ได้แก่

        ขั้นที่ 1 การลงโทษและการเชื่อฟัง ที่รับรู้เฉพาะตน ดังนั้น บุคคลจะแสดงพฤติกรรมทางจริยธรรมเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ

         ขั้นที่ 2 ความแตกต่างระหว่างบุคคลและการอลกเปลี่ยนกันเพื่อแสวงหารางวัล

          ขั้นที่ 3 ความสัมพันธ์และการกระทำตามรูปแบบตามที่ผู้อื่นเห็นชอบ

          ขั้นที่ 4 ระบบสังคมและความมีสติรับผิดชอบ

          ขั้นที่ 5 สิทธิแ

หมายเลขบันทึก: 300100เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2009 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท