โรงเรียนชาวนา (๒๖)_๓


ตอนที่  11     น้ำหมักฮอร์โมนข้าวสูตรพิเศษ
             ส่วนผสม
                     (1)  ปลาหรือหอยเชอรี่            จำนวน     25   กิโลกรัม
                     (2)  โมลาส                           จำนวน     15   ก้อน
                     (3)  ฟักทองแก่                       จำนวน       7   กิโลกรัม
                     (4)  มะละกอสุก                      จำนวน       7   กิโลกรัม
                     (5)  เปลือกสัปรด                    จำนวน       7   กิโลกรัม
                     (6)  กล้วยสุก                         จำนวน       7   กิโลกรัม
                     (7)  อ้อยลำ                           จำนวน       7   กิโลกรัม
                     (8)  มะพร้าวขูด                      จำนวน       7   กิโลกรัม
                     (ถ้าอยากให้สลายเร็ว  ใช้อีเอนผสม  1 – 2  ลิตร)
            
             วิธีทำ
                     เอาของทั้งหมดมาสับให้ละเอียด  ใส่ถังหรือตุ่มมังกร  หมักไว้ในที่ร่มประมาณ  1  เดือน  ปิดฝาด้วยพลาสติกให้สนิท     5  วัน  เปิดคนครั้ง  พอครบกำหนดแล้วจะมีสีน้ำตาลกลิ่นหอมเปรี้ยว  ถ้าน้ำแห้งใช้น้ำเทลงไปพอสมควร


             วิธีใช้
                     น้ำหมักฮอร์โมนข้าว  50 – 100  ซี.ซี.  ต่อน้ำ  20  ลิตร  ตั้งแต่ข้าวอายุได้  20  วัน  เป็นต้นไป  สูตรนี้ใช้ร่วมกับสมุนไพรไล่แมลงได้


             ข้อน่าสังเกต
                     ก่อนใช้จริงให้เอาน้ำหมักสูตรนี้  ลองใช้ฉีดดูก่อนแล้วค่อยนำไปใช้จริง  เพื่อจะมีการผิดพลาดจะได้ลดหรือเพิ่มตามความต้องการของเรา


ตอนที่  12     สูตรน้ำหมักฮอร์โมนน้ำนมข้าว
             ส่วนผสม
                     (1)  ข้าวพอเป็นน้ำนมจัด         จำนวน        3   กิโลกรัม
                     (2)  กากน้ำตาล                     จำนวน        1   กิโลกรัม
                     (3)  น้ำมะพร้าวอ่อน                จำนวน        1   กิโลกรัม
            
             วิธีทำ
                     เอาข้าวที่กำลังออกรวงเลือกดูรวงที่พอเป็นน้ำนมจัดๆ  แล้วเอามาต้มหรือบดให้ละเอียด  เสร็จแล้วเอามาคลุกเคล้าให้เข้ากันดี  หมักไว้  7  วัน  ปิดด้วยกระดาษขาวที่ยังมิได้พิมพ์  หรือพลาสติกรัดให้แน่น  เอาตั้งไว้ในที่ร่ม  ไม่ควรอยู่ในที่อับ  ถ้าเป็นไปได้เอาไปตั้งไว้ที่โคนกอไผ่ยิ่งดี  มันจะเกิดจุลินทรีย์เพิ่มขึ้น  ถ้าไม่มีกอไผ่ก็ไม่ต้อง  เมื่อครบ  7  วันแล้วให้สังเกตดูว่าเข้มข้นไหม  ถ้าเข้มข้นจัด  ให้เติมน้ำมะพร้าวอ่อนลงไปอีกจนพอดี  มิฉะนั้นมันจะกรองไม่ออก  สูตรนี้เก็บไว้ได้นาน  แต่ต้องเก็บไว้ในที่อากาศถ่ายเทได้


            วิธีใช้
                     สูตรน้ำหมักฮอร์โมนน้ำนมข้าวนี้ใช้อัตราส่วนผสม  1  ลิตร  ต่อน้ำ  200  ลิตร  ไว้ฉีดตอนข้าวได้สองเดือนขึ้นไปแล้ว  หรือข้าวกำลังแต่งตัวที่จะตั้งท้อง  ฉีดพ่นให้ทั่ว  ใช้ครั้งเดียว  ถ้าใช้สูตรนี้แล้วมิต้องใช้อามูเร่หรือฮอร์โมนอื่น  ถ้าไม่แน่ใจให้ทดลองดูแปลงเล็กๆก่อน  จะดูข้อแตกต่าง  อย่าให้เกินกำหนด  ผลกระทบจะตามมาก็คือ  ข้าวจะเขียวจนรวงพอเกี่ยวแล้ว  ใบก็ยังเขียวอยู่  แล้วข้าวก็จะร่วงง่ายเกินไป


ตอนที่  13     สูตรน้ำหมักฮอร์โมนน้ำนมข้าว
             เรามาคิดกันใหม่  ทำกันใหม่  กลับสู่วิถียั่งยืนคืนชีวิตให้แก่ดิน  เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรไทย  คิดค้นขึ้นมาจากภูมิปัญญาชนระดับท้องถิ่น  ผ่านการอบรมมาจากสมาชิกมูลนิธิข้าวขวัญสุพรรณบุรี  เพื่อลดต้นทุนในการประกอบอาชีพ  โดยจัดหาวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น  ไม่ใช้สารเคมีเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรไทย
             ส่วนประกอบปุ๋ยหมักอินทรีย์

(1)  ขี้วัวหรือขี้ไก่    4   กระสอบ     (5) แกลบดำ     2   กระสอบ
(2)  แกลบดิบ        4   กระสอบ   (6)  ขี้เค้ก        4   กระสอบ
(3)  ละอองข้าว     2   กระสอบ   (7)  รำละเอียด  1   กระสอบ
(4)  ใบไม้แห้งหรือหญ้าขน 4 กระสอบ
  (8)  ดินดี         2   กระสอบ

             เมื่อเวลาจะคลุกเคล้าให้เข้ากัน  ในน้ำถังขนาด  200  ลิตร  ถังพลาสติกควรเติมน้ำโมลาส  (กากน้ำตาล)  ลงไปประมาณ  1  ลิตร  เพื่อเป็นตัวปรับสภาพของวัสดุต่างๆ  และเป็นอาหารของจุลินทรีย์ด้วย  เติมหัวเชื้อน้ำหมักฮอร์โมนชีวภาพสูตรพิเศษลงไป  1  ลิตร  เพื่อให้หัวเชื้อจุลินทรีย์ไปช่วยย่อยวัสดุปุ๋ยหมักเพื่อให้เป็นปุ๋ยเร็วขึ้น  และเพื่อไม่ให้เสียเวลา  เราควรเติมหัวเชื้อสมุนไพรไล่แมลงลงไปด้วย  ประมาณ  1 – 2  ลิตร  เพื่อให้ปุ๋ยหมักอินทรีย์ของเรามีคุณสมบัติเพิ่มเติมในการป้องกันแมลงได้ด้วย  เมื่อเวลาผสมควรให้มีความชื้น  ไม่ควรเกิน  40  %  คือ  ใช้มือกำวัสดุที่เราผสมว่ามีความชื้นและสามารถจับตัวกันเป็นก้อนไม่แน่น  และไม่มีน้ำไหลออกจากง่ามนิ้วก็ถือว่าใช้ได้  3 – 5  วัน  ควรมีการกลับกองปุ๋ยเย็น  หรือเมื่อดมดูมีความหอมไม่เหม็นก็สามารถนำไปใช้ได้


             วิธีใช้
                     ใช้ในไม้ผล  ใช้ปุ๋ยหมักอินทรีย์ประมาณ  1 – 2  ปุ้งกี้ต่อ  1  ต้น  ใช้ในนาข้าวประมาณ  100 – 250  กิโลกรัมต่อไร่  หรือใช้ตามความเหมาะสม


             คุณภาพของปุ๋ยอินทรีย์  3  สูตร
                     สูตรที่  1  อินทรีย์วัตถุต่างๆ  ทำให้ดินร่วนซุย  เพิ่มปริมาณแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นแก่ต้นพืช  และมีจุลินทรีย์ไปกระตุ้นช่วยย่อยอินทรีย์วัตถุ  ย่อยธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินให้เป็นประโยชน์ต่อพืช  ปรับสภาพความเป็นกรด – ด่างของดินให้สภาพโครงสร้างของดินดีขึ้น  หน้าดินชุ่มชื้นอุ้มน้ำ  ต้นพืช  รากพืช  แข็งแรงไม่ล้มงาน  เป็นต้น
                     สูตรที่  2  น้ำหมักฮอร์โมนข้าวสูตรพิเศษ  บำรุงรากพืชให้แข็งแรง  พืชจะได้ดูดแร่ธาตุอาหารมาเลี้ยงลำต้นให้มีความอุดมสมบูรณ์  เพิ่มความเขียวให้แก่ต้นพืชและใบพืช  จะช่วยให้พืชสามารถดูดซึมอาหารทางใบมาหล่อเลี้ยงลำต้นในการผลิดอกออกผลได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
                     สูตรที่  3  น้ำหมักสมุนไพรไล่แมลงรวมมิตร  ป้องกันศัตรูพืชทุกชนิด  ที่จะมากัดเจาะต้นและใบพืช  ป้องกันโรคต่างๆ  ที่จะมาทำลายต้นพืชได้หลายชนิด


                วิธีเก็บรักษาและปฏิบัติ
                     ปุ๋ยหมักอินทรีย์ชีวภาพทั้ง  3  สูตร  ของศรีวัฒนา  ควรมีการใช้ให้หมดภายใน  6  เดือน  ถ้าเก็บไว้นานเกินกว่ากำหนดแล้ว  ส่วนผสมต่างๆจะมีคุณภาพลดลงไปบ้าง  ถ้าจะมีการนำไปใช้หากเกินกำหนดไปให้มีการกระตุ้นวัสดุเพิ่มลงไปบ้าง  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้น  แต่จะให้ดีที่สุด  ควรผสมใช้เฉพาะฤดูกาลเท่านั้น
             ดังนั้น  เราควรคืนชีวิตความเป็นอยู่ให้เกษตรกรเราอยู่อย่างมีความสุข  ทุกวันนี้เราไปพึ่งพาต่างชาติปีหนึ่งๆ  เอาเงินตราไปให้กับต่างชาตินับเป็นพันๆล้านบาท  ทั้งที่ทรัพยากรของเรามีอยู่เต็มพื้นที่  เรามาคิดกันใหม่  มาทำกันใหม่  ด้วยภูมิปัญญาของเราเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของชีวิต  ปลอดภัยจากสารเคมี  พี่น้องเกษตรกรจะได้พ้นจากภาระหนี้สิน  อยู่กันอย่างมีความสุข  และอยู่กันแบบไท  ไท 

                                                                        กลั่นจากใจ


ตอนที่  14     วิธีดูแลสุขภาพและบริหารร่างกาย
             เมื่อวานเป็นสิ่งที่เราเรียกคืนไม่ได้  พรุ่งนี้เป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง  สิ่งที่เราแก้ไขได้ก็มีแต่วันนี้เท่านั้น 
             แบ่งเวลาให้เป็นสัดส่วน  ยามกิน – เวลาทำงาน – เวลาพักผ่อน – ยามนอน  เมื่อเราแบ่งเวลาให้กับร่างกายได้  แล้วร่างกายก็จะแข็งแรง  ไม่ค่อยเป็นโรคภัยไข้เจ็บ  มนุษย์เราเมื่อมีร่างกายแข็งแรงดีแล้วสุขภาพจิตใจก็จะดี  จะคิดอะไร  มีแต่ความมุ่งมั่น  ดังคำพระทานว่า  ผู้ไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ
             ยามตื่นนอนยามเช้า  ล้างหน้าเสร็จแล้ว  ควรดื่มน้ำ  1,  2,  3  แก้ว  เพื่อไปรองรับน้ำย่อยไม่ให้กระเพาะเสียดสีกัน  ป้องกันการอักเสบของกระเพาะอาหาร  เพราะว่าตื่นนอนร่างกายทุกสัดส่วนก็เริ่มทำงานแล้ว
             ถ้ามีอาการท้องผูก  ยามเช้าเข้าไปห้องน้ำทุกวันไปเค้นมันให้ปวดถ่ายให้ได้  เดี๋ยวเคยชินไปเอง  ต้องทำทุกวันให้เป็นวิสัย  อย่ากินยาถ่ายโดยไม่จำเป็น  จะทำให้ลำไส้และกระเพาะอักเสบ
             ถ้ารับประทานอาหารแล้วมีอาการท้องอืดจุกแน่น  แสดงว่าน้ำย่อยไม่ดี  อิ่มแล้วควรออกเดินไปประมาณ  10 – 20 – 30  ก้าว  โดยประมาณ  จะพาให้ช่วยน้ำย่อยอาหารได้อีกทางหนึ่ง  ไม่ต้องหายาแก้ท้องอืดรับประทานโดยไม่จำเป็น  โบราณกล่าวเอาไว้ว่าถ้ากินแล้วนอนจะพาให้อายุสั้น
             ยามเย็นเป็นเวลาที่จะพักผ่อนหลับนอน  เวลาประมาณ  20.00  น.  ก่อนเข้านอนให้ไหว้พระสวดมนต์ตามอัธยาศัย  เพื่อขัดเกลาจิตใจให้ว่างเว้นแล้วเข้านอนในเวลาต่อมา  ถ้านอนยังไม่หลับสวดมนต์ต่อ  เพื่อสำรวมจิตใจไม่ให้ฟุ่งซ่าน  แล้วเลิกคิดเรื่องการงานทั้งหมด  ถ้ายังมีปัญหาคั่งค้างอยู่เรื่องงานขอให้หยุดคิด  เพราะเป็นเวลานอน  เช้าตื่นนอนค่อยคิดใหม่  สมองจะโล่งดี  ไม่กินยานอนหลับโดยไม่จำเป็น  จะพาให้เส้นประสาทแข็ง
             จากคำแนะนำของนายแพทย์อาคม  สุรชาติ  โรงพยาบาลประสาทพญาไท


ตอนที่  15     การบริหารร่างกายในเวลาอันสมควร
             ระยะต่อมาเริ่มบริหารร่างกาย  โดยออกไปยืนที่โล่งแจ้งอากาศยามเช้าเป็นอากาศที่บริสุทธิ์ออกไปยืนในท่ากางขาเล็กน้อย  ไม่ใส่รองเท้าเพื่อการทรงตัว  (ผู้สูงอายุออกกำลังกาย  ไม่ควรวิ่ง  เลือดส่งไปเลี้ยงหัวใจไม่ทันอันตราย)
             (1)  นกนางแอ่นลิ่วลม  กางแขนทั้งสองข้างออก  ให้อยู่ระดับไหล่ปิดตัวไปให้พร้อมหันหน้าไปมองดูปลายนิ้วมือ  หันกลับที่เดิม  ปิดตัวซ้าย – ขวา  เช่นเดียวกัน  ท่านี้จะได้มาซึ่งส่วน  คอ – ไหล่ – ลำตัว 
             (2)  ชะนีห้อยโหน  ยืนตัวตรง  ยกแขนขวาขึ้นแนบใบหู  แขนซ้ายแนบลำตัวไปให้สุด  แล้วกลับที่เดิม  ท่านี้จะได้มาซึ่งเส้นเกลียวข้างแขน
             (3)  เข้าคลองฟ้าดิน  ยืนตัวตรงยกแขนทั้งสองข้างขึ้นแนบใบหูให้สุด  ข้อมือตั้ง  แล้วเอนตัวไปข้างหลังให้สุดแล้วกลับที่เดิม  แล้วก้มลงให้สุดมือกันแล้วแขนทั้งสองข้างบิดไปข้างหลังให้สุดจนแขนตั้งแล้วค่อยๆยืนตรง  ถอนหายใจให้สบายค่อยทำต่อ  ท่านี้จะได้มาซึ่ง  ไหล่ – แขน – เส้นท้อง – เอว – ขา – น่อง
             (4)  เข็นครกขึ้นภูเขา  ยืนตัวตรง  ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นแนบใบหู  ข้อมือทั้งสองข้างออกให้สุดแล้วค่อยๆลดตัวลง  ส้นเท้าทั้งสองเขย่งขึ้นเล็กน้อย  แล้วหายใจออกให้สุด  ลดตัวลงให้เหลือ  45  องศา  แล้วค่อยยืดตัวขึ้น  พร้อมหายใจเข้าให้สุด  ท่านี้จะได้มาซึ่ง  ข้อมือ – ข้อเท้า – หัวเข่า – แขน
             (5)  ขย่มพสุธา  ยืนตัวตรง  ยกแขนทั้งสองข้างขึ้น  แล้วหงายฝ่ามือทั้งสองข้างให้สุดแล้ว  เขย่งเท้าขึ้นลง  ท่านี้จะได้มาซึ่งข้อมูล – ข้อเท้า – แขน 
             (6)  สนลู่ลม  ยืนตัวตรงแยกแขนทั้งสองข้างขึ้น  มือเสมอหัวไหล่แล้วเหยีดแขนทั้งสองข้างออกไปเล็กน้อย  แล้วบิดซ้าย – ขวา  พร้อมทั้งเอว – หัวเข่าเคลื่อนไหวให้ทุกส่วนของร่างกาย  ตั้งแต่เท้าจรดหัว  (คล้ายจะออกรำวง)
             (7)  นกกระจอกสลัดขน  ยืนตัวตรง  เอาคอเอียงซ้าย  แล้วสลัดเอียงขวา  แล้วสลัด  ท่านี้จะได้มาซึ่งส่วนลำคอทั้งหมด
             (8)  บริหารกล้ามตา  ยืนหน้าตรงแล้วเหลือบไปซ้ายให้สุด  เหลือบไปขวาให้สุด  เหลือบลงให้สุด  เหลือบขึ้นไปให้สุด  ท่านี้จะได้มาซึ่งกล้ามเนื้อตา จบการบริหารร่างกายจากศูนย์  อบรมที่  8  หุบกะพงเพชรบุรีในโครงการพระราชดำริ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพเกษตรกร


ตอนที่  16     เกษตรกรทางเลือกเพื่อพึ่งพาตนเอง
             ทุกวันนี้  เกษตรกรของเราอยู่ในสภาวะสิ่งแวดล้อมหลายๆด้าน  การซื้อการขายผลผลิต     การลงทุนทุกรูปแบบ  การจัดซื้อจัดหาวัสดุปุ๋ยของเกษตรไม่สามารถตีราคาได้  ตลอดจนค่ารถไถนา  ค่าแรงงานลงในไร่นา  เขาตั้งราคาไว้หมดแล้ว  ซ้ำยังไม่มีความปลอดภัยจากการใช้สารเคมี  เช่น     ยาฆ่าแมลง  ทำให้มลภาวะเป็นพิษในดิน  น้ำ  อากาศ  สูญเสียไปหมด  อันเนื่องมาจากสารเคมีตกค้าง  ในการประกอบอาชีพของเกษตรกรส่งผลกระทบให้เกิดการเจ็บป่วยหลายรูปแบบ  บางรายเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร  ผลกระทบที่เกษตรกรต้องพบมาโดยตลอด  คือ  เมื่อชีวิตไม่มีความปลอดภัยแล้ว  การลงทุนก็สูงในการประกอบอาชีพเป็นเหตุให้พี่น้องเกษตรกรเรามีภาระหนี้สินผูกพันมาโดยตลอด
             จึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่เกษตรกรจะต้องฟื้นฟู  และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปีหนึ่งๆ  เฉพาะค่าสารเคมีและยาปราบศัตรูพืช  เอาเงินตราออกไปให้ต่างประเทศนับหลายพันล้านบาท  เราทำกันแทบตาย  แล้วใครได้ดี  เรามาคิดกันใหม่  ทำกันใหม่  โดยคิดลดต้นทุนในการผลิตหลีกเลี่ยงจากการใช้สารเคมี  จัดหาวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นขึ้นมาใช้เอง  ซึ่งทรัพยากรของเรามีอยู่เต็มพื้นที่  ด้วยภูมิปัญญาของเรา  ไม่ต้องพึ่งภูมิปัญญาของชาวต่างชาติ  บรรพบุรุษของเราเลี้ยงพวกเราจนเติบโตมา  แม้ว่าไม่ร่ำรวย  แต่ก็ไม่มีหนี้สินผูกพันเหมือนเราทุกวันนี้  ถ้าพวกเราจะคิดแก้ไขชีวิตนี้ยังไม่สิ้นหวัง  ยังมีทางเลือก  โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญจะเป็นผู้มาแนะแนวทางให้กับเกษตรกรเราให้มีทางเลือกใหม่  จึงจะมาทำการเปิดอบรมเรียกว่า  “โรงเรียนชาวนา”  ให้ผู้เข้าร่วมในการเรียนรู้วิธีทางเชิงการปฏิบัติในแปลงนาของตนเอง  และแลกเปลี่ยนส่งความรู้สิ่งที่พบเห็นปัญหาในแต่ละคนให้ซึ่งกันและกัน
             การเรียนรู้ด้วยภูมิปัญญาของตนเองนั้น  ไม่จำเป็นต้องจบปริญญา  เราก็ทำได้  ดูแบบอย่าง    วีระบุรุษของเราเคยเกิดศึกสงครามมาหลายครั้งแล้วยังเอาชนะข้าศึกมาได้  เรื่องปราบศัตรูพืชมันเป็นเรื่องเล็กมาก  มันคงไม่มาสู้กับเราหรอก  ถ้าเราคิดจะปราบมันอยู่ที่ตัวเรามนุษย์เป็นผู้ที่ประเสริฐกว่าสิ่งมีชีวิตใดในโลกนี้  สามารถทำได้ทุกอย่าง  ถ้าเราเอาภูมิปัญญาของเราออกมาใช้  ความหวังอยู่แค่มือเอื้อม  พวกเราทุกคนขึ้นมาบนถนนเส้นทางที่ถูกแล้ว  เจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญได้นำทางเดินบนเส้นทางนี้สักวันหนึ่งเราคงได้พบความสว่างในชีวิต  ฟ้าสีทองผ่องอำไพ  ชาวนาเราคงจะได้เป็นใหญ่ในท้องนา


ตอนที่  17     ค่าใช้จ่ายทำนา  จากนาข้าว  22  ไร่
             “เป็นคนชอบจดชอบเขียน  ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว  จดค่าใช้จ่าย  ไม่ใช่นั้นก็จะไม่รู้ว่าได้ตรงไหน  เสียตรงไหน  เราจำก็จำไม่ไหวหรอก  พอเห็นว่าอะไรไม่สมดุลก็ต้องเปลี่ยนแปลง  ชอบจดชอบจำ”

                             
รายการทำนาในสมุดบันทึกของคุณบุญมา  ศรีแก้ว  ระหว่างช่วงปี  พ.ศ.2516 – 2520
  
                                  
 
รายการทำนาในสมุดบันทึกของคุณบุญมา  ศรีแก้ว  ระหว่างช่วงปี  พ.ศ.2516 – 2520
รายการทำนาของคุณบุญมา  ศรีแก้ว  ในช่วงระหว่างปี  พ.ศ.2516 – 2520  (5  ปี)

ปี  พ.ศ.
รายการ  (บาท)

2516
2517
2518
2519
2520
ค่าจ้างรถไถ
325
1,248
2,060
2,000
1,700
ค่าปุ๋ย
130
440
650
180
930
ค่าถอนกล้าดำ
869
1,756
2,415
2,433
802.50
ค่ายา-ฮอร์โมน
0
0
85
0
0
ค่ายาปราบศัตรูพืช
160
73
95
310
350
ค่าน้ำมันชักน้ำ
35
200
250
100
60
ค่ายาปราบวัชพืช
140
269
95
80
112
ค่าจ้างเกี่ยว
2,535
2,945
2,584
3,890
4,447
ค่าจ้างรถบรรทุก
560
525
550
520
450
ค่าจ้างรถนวด
150
80
24
0
450
ซื้อของลงแขก
477
830
100
500
618
ค่าจ้างคนไปแขก
45
40
22
0
0
รวมค่าใช้จ่าย
7,942
10,923
11,448
12,532
12,439.50
ปี  พ.ศ.
รายการ
2516
2517
2518
2519
2520
ข้าวเปลือก  (ถัง)
1,943
1,550
718
(ไม่ได้บันทึก)
527
เก็บไว้กิน  (ถัง)
313
250
0
0
60
ขาย  (ถัง)
1,390
1,300
718
940
467
รายได้จากการขายข้าว (บาท)
37,175
26,750
15,312
20,440
(ไม่ได้บันทึก)
เฉลี่ยขายข้าวได้ถังละ  (บาท)
26.74
20.58
21.33
21.74
(ไม่มีตัวเลขให้คำนวณ)

ค่าใช้จ่ายในการทำนาโดยใช้สารเคมี
                (1)  ค่ารถปั่นนา  จำนวน  22  ไร่ๆละ  130  บาท                2,860  บาท
                (2)  ค่าข้าว  ปลูก  70  ถังๆละ  44  บาท                          2,800  บาท
                (3)  ค่ายาคุม                                                             1,600  บาท 
                (4)  ค่าจ้างคนงานฉีดยา  จำนวน  22  ไร่ๆละ  35  บาท         770  บาท
                (5)  ค่าปุ๋ยรวมหว่านทั้งครั้งที่  1  และ  2  จำนวน  30  ถุง  10,200  บาท
                (6)  ค่าน้ำมัน  โดยประมาณทั้งหมด  200  ลิตร                 2,800  บาท
                (7)  ค่ารถเกี่ยว                                                          6,600  บาท
                (8)  ค่าคนงานแบกข้าว                                               2,200  บาท
                (9)  ค่ารถบรรทุกข้าว                                                  2,100  บาท
                      รวม  ค่าใช้จ่ายทั้งหมด                                        31,930  บาท
                -  รายได้จากการขายได้  21.70  เกวียน  คิดเป็นเงินทั้งหมด  95,480  บาท
                -  หักค่าใช้จ่ายแล้ว  มีเงินคงเหลือ  63,550  บาท
                -  หักค่าใช้จ่ายระหว่างใช้สารเคมีและไม่ใช้สารเคมี  ต่างกัน  10,580  บาท
           ลุงบุญมาเป็นตัวอย่างของชาวนาที่ช่างจดช่างบันทึก    จึงมีข้อมูลรายละเอียดในการทำนาอยู่มาก     เป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มสมาชิกโรงเรียนชาวนา


วิจารณ์ พานิช
๕ มิ.ย. ๔๘   

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2999เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2005 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 13:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท