3. งานวิจัยที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์


มาเรียนร้เรื่องการปฐมพยาบาลกันเถอะ

 

รายงานการวิจัย

 

ชื่อปัญหาการวิจัย การผลิตคอมพิวเตอร์ช่วยสอน “การปฐมพยาบาล” [Computer Assisted Instruction (First Aid) : Development and Evaluation]

[Computer Assisted Instruction (First Aid) : Development and Evaluation]

 

[Computer Assisted Instruction (First Aid) : Development and Evaluation]

ชื่อผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทิพย์วัลย์ เรืองขจร

Assist. Prof..Tipawan Ruangkajorn)

 

ทำการวิจัยเสร็จเรียบร้อย พ.ศ. 2544

พ.ศ. 2544

 

บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน “การปฐมพยาบาล” ในระบบสื่อหลายแบบ ที่มีประสิทธิภาพด้านความรู้และเจตคติ 80/80 และด้านการปฏิบัติ 75/75 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองเพื่อคำนวณหาประสิทธิภาพของบทเรียน เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของสถาบันราชภัฏสงขลา ที่ได้จากการประกาศรับสมัครเป็นกลุ่มเรียน แล้วสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย จำนวน 1 กลุ่มเรียน 28 คน มีขั้นตอนการคำเนินการวิจัย 4 ขั้น ได้แก่ (1) กำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัย (2) สร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและจัดทำคู่มือการใช้โปรแกรม (3) สร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (4) หาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ด้วยการหาค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพของกระบวนการ/ค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพของผลลัพธ์ คิดเป็นร้อยละ

 

ผลการวิจัยสรุปได้ว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน “การปฐมพยาบาล” ในระบบสื่อหลายแบบที่สร้างขึ้น มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพด้านความรู้ 86.29/83.16 ด้านเจตคติ 86.80/81.40 และด้านการปฏิบัติ 89.06/83.72

 

Abstract

 

The purpose of this research is to develop a Computer Assisted Instruction (CAI), “First Aid”, with the standard criteria on knowledge and attitude efficiency of 80/80 and skill efficiency of 75/75. The subjects used were 3rd year Batchelor Degree students at Rajabhat Institute Songkhla. These were selected from a group of volunteers using a simple sampling technique with the sample size of 28.

 

The research was organized as 4 main steps: (1) drawing the main concept of the CAI; (2) developing the CAI complete with a user manual; (3) creating the test for the assessment purposes; and (4) evaluating the efficiency of the CAI by calculating the ratio (as a percentage) of average process efficiency to (as a percentage) average result efficiency.

 

The findings indicated that the multimedia CAI “First Aid” has efficiencies higher than that of the standard criterion established earlier, that is, the knowledge efficiency is 86.29/83.16, the attitude efficiency is 86.80/81.40, and the skill efficiency is 89.06/83.72.

 

ความเป็นมาและความเป็นมาของปัญหา

 

จากการศึกษาสถิติจำนวนตายด้วยสาเหตุที่สำคัญของคนไทย ที่จัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุข พบว่าอุบัติเหตุและการเป็นพิษเป็นสาเหตุการตายของคนไทยในลำดับที่ 2 และเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับการตายด้วยโรคหัวใจ (รวมหัวใจวาย) ที่เป็นสาเหตุการตายในลำดับที่ 1 ซึ่งในจำนวนตายด้วยอุบัติเหตุนั้น พบว่าตายด้วยอุบัติภัยจากการจราจรทางบกมากที่สุด นอกจากนั้นจากการสำรวจสถิติคดีอุบัติเหตุจราจรทางบกทุก ๆ ปีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าในปี พ.ศ.2541 อุบัติภัยการจราจรทางบกทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 12,234 คน บาดเจ็บสาหัส 15,011 คน บาดเจ็บเล็กน้อย 37,527 คน และมีทรัพย์สินเสียหายเป็นมูลค่า 1,378,673,826 บาท ซึ่งถ้ารวมกับความเสียหายจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตก็จะเป็นมูลค่ามหาศาล

 

ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องใช้มาตรการหลายด้านควบคู่กัน ทั้งมาตรการการขจัดสาเหตุด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการทางกฎหมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มาตรการทางการศึกษาเพื่อการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อลดอัตราการตาย และเพื่อลดความรุนแรงของการบาดเจ็บ ด้วยการให้การศึกษาด้านความปลอดภัย และการศึกษาด้านการปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ณ สถานที่เกิดเหตุ

 

การปฐมพยาบาลเป็นเนื้อหาหมวดหนึ่งของวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่จะสามารถช่วยลดอัตราการตายและความรุนแรงของการบาดเจ็บจากอุบัติภัยได้ ได้รับการบรรจุในหลักสูตรตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งหลักสูตรวิทยาลัยครู ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2536 โดยมีการจัดทั้งเป็นรายวิชาเดี่ยว และรายวิชาบูรณาการที่มีเนื้อหาหมวดการปฐมพยาบาลอยู่ด้วย แต่จากประสบการณ์การสอนการปฐมพยาบาลในสถาบันราชภัฏของผู้วิจัย พบว่านักศึกษาของสถาบันราชภัฏมีพื้นฐานด้านความรู้ เจตคติ และทักษะการปฐมพยาบาลที่สำคัญ ๆ ในระดับที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง หรือผู้อื่นเมื่อได้รับบาดเจ็บจากอุบัติภัยได้ และการจัดกระบวนการเรียนการสอนด้วยการสาธิตและฝึกปฏิบัติ ก็ไม่สามารถทำให้นักศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้ ทั้งนี้เนื่องจากเวลาในคาบเรียนไม่เพียงพอ ที่นักศึกษาจะได้ฝึกซ้ำ ๆ จนเกิดเป็นทักษะขั้นสูงได้

 

การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นการนำเอานวัตกรรมเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน ที่คาดว่าจะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการสอนได้ เพราะสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในลักษณะของบทเรียนโปรแกรม เป็นการเลียนแบบการสอนของครู ใช้เป็นสื่อทบทวนบทเรียน หรือสาธิตคล้ายการสาธิตของครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน แบบนำเสนอเนื้อหา ในระบบสื่อหลายแบบ (multimedia) จะมีองค์ประกอบของการเรียนรู้ที่ดี เพราะผู้เรียนจะเรียนรู้จากประสาทสัมผัสหลายทาง และการดูร่วมกับการฟังยังช่วยให้มีความคงทนของการเรียนรู้อีกด้วย นอกจากนั้นผู้เรียนยังเรียนรู้ได้ตามความสามารถของตนเอง โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล

 

ผู้วิจัยจึงประสงค์จะพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในระบบสื่อหลายแบบ เพื่อนำเสนอเนื้อหาการปฐมพยาบาล ที่เป็นทักษะสำคัญ ๆ ในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วยอุบัติภัย

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

 

เพื่อพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน “การปฐมพยาบาล” ในระบบสื่อหลายแบบ ที่มีประสิทธิภาพด้านความรู้และเจตคติ 80/80 และด้านทักษะ 75/75

 

ประโยชน์ของการวิจัย

 

นักศึกษาที่เรียนการปฐมพยาบาล มีผลสัมฤทธิ์ของการเรียนที่ดี และประชาชนทั่วไปสามารถนำไปใช้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง อันจะเป็นผลลดอัตราการตายและความรุนแรงของการบาดเจ็บต่าง ๆ ด้วยอุบัติภัยจากการจราจรทางบกลงได้

 

 

วิธีดำเนินการวิจัย

 

การวิจัยมีขั้นตอนการดำเนินงาน 4 ขั้น ดังนี้

 

1. กำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัย โดยการศึกษาหลักสูตรวิชาสุขศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา หลักสูตรวิทยาลัยครู ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2536 ศึกษาเอกสาร ตำรา และงานวิจัย เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา คอมพิวเตอร์ช่วยสอน และโปรแกรมช่วยสร้างคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

 

2. สร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และจัดทำคู่มือการใช้โปรแกรม โดยประยุกต์ใช้ขั้นตอนการพัฒนาโปรแกรมของอเลสซี่และทรอลลิป (Alessi and Trollip) ที่มีขั้นตอนการพัฒนา 10 ขั้น ดังนี้

 

2.1 การเตรียม โดยการศึกษาตำราการปฐมพยาบาล งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ช่วยสอน วิเคราะห์หลักสูตรวิทยาลัยครู ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2536 กำหนดกรอบแนวคิดและวัตถุประสงค์ทั่วไป ของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จัดหน่วยการเรียนจากผลการวิเคราะห์เนื้อหาตามกรอบความคิดและวัตถุประสงค์ ได้เป็น 5 หน่วยการเรียน ได้แก่ บทนำ ปฏิบัติการกู้ชีวิต การปฐมพยาบาลบาดแผล การปฐมพยาบาลกระดูกหักและการบาดเจ็บของสมอง และการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ กำหนดแนวคิดและวัตถุประสงค์เฉพาะของแต่ละหน่วยการเรียน เรียบเรียงเนื้อหา ให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเนื้อหา จำนวน 5 ท่าน ประเมินความถูกต้องและความเหมาะสมของการจัดเนื้อหา และแก้ไขปรับปรุงตามผลการประเมิน

 

2.2 ออกแบบบทเรียน ตามการประยุกต์ขั้นการสอนของกาเย่ หลักทัศนศิลป์ และศักยภาพของคอมพิวเตอร์ โดยจัดลำดับเนื้อหาในบทเรียนเป็นแบบเส้นตรง แต่ให้ผู้เรียนสามารถสืบค้นส่วนขยายหรือรายละเอียดได้จากข้อความหลายมิติ (hypertext) โดยแสดงรายละเอียดเป็นรายการเลือกแบบผุดขึ้น (pop-up menu) และการเชื่อมโยงอัตโนมัติ (hyperlink) ไปที่หน้าอื่น ๆ ทุก ๆ บทเรียนมีแบบฝึกหัดท้ายบท มีการแจ้งผลป้อนกลับ สื่อในบทเรียนเป็นสื่อหลายแบบ ที่มีทั้งเสียงดนตรีประกอบ เสียงเทคนิคพิเศษ เสียงบรรยาย ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และภาพวีดิทัศน์ ผู้เรียนต้องโต้ตอบกับคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา บทเรียนมีจำนวนหน้าทั้งสิ้น 189 หน้า

 

2.3 เขียนผังงาน แสดงการทำงานของโปรแกรมและโครงสร้างของบทเรียนในแบบเส้นตรง รวบรวมทรัพยากรต่าง ๆ ที่จะใช้ในการสร้างโปรแกรมตามการออกแบบ สร้างสตอรี่บอร์ด เขียนบทบรรยาย รวมทั้งการให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเนื้อหา ประเมินความถูกต้องของภาพวีดิทัศน์ทักษะการปฐมพยาบาลที่ถ่ายทำ และการดำเนินการขออนุญาตใช้ภาพวีดิทัศน์สื่อการสอนและภาพประกอบจากสถาบันการแพทย์ด้านอุบัติเหตุและสาธารณภัย กับสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

2.4 เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ด้วยโปรแกรมช่วยสร้างมัลติมีเดีย ทูลบุค รุ่น 5 สร้างโปรแกรมติดตั้ง ทดสอบการทำงานของโปรแกรม และเขียนโปรแกรมลงซีดีรอม

 

2.5 ผลิตคู่มือการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

 

2.6 ประเมินคุณภาพด้านการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน โดยกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 3 คน และแก้ไขปรับปรุง

 

2.7 ให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จำนวน 5 ท่าน ประเมินคุณภาพของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และแก้ไขปรับปรุง

 

ขั้นที่ 8-9 เป็นขั้นตอนการหาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

 

3. สร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยการศึกษาตำราเกี่ยวกับการสร้างแบบทดสอบ วิเคราะห์วัตถุประสงค์เฉพาะของแต่ละหน่วยการเรียน กำหนดจำนวนข้อคำถามสร้างแบบทดสอบ ตรวจสอบคุณภาพของแบบทดสอบ โดยทดลองใช้แบบทดสอบกับนักศึกษาโปรแกรมวิชาสุขศึกษา ระดับปริญญาตรี (หลังอนุปริญญา) แล้วตรวจสอบความยากง่าย อำนาจจำแนก และหาความเชื่อมั่นแบบความคงที่ของคะแนน ด้วยการคำนวณหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเปียร์สัน (Pearson product-moment coefficient correlation) ของแบบทดสอบ

 

4. หาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จากค่าเฉลี่ยของคะแนนแบบฝึกหัด เป็นประสิทธิภาพของกระบวนการ กับค่าเฉลี่ยของคะแนนการทดสอบหลังเรียน เป็นประสิทธิภาพของผลลัพธ์ โดยการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง 2 ครั้ง ครั้งแรกทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 6 คน วิเคราะห์ข้อมูล และแก้ไขปรับปรุง ครั้งที่ 2 ทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง 1 กลุ่มเรียน จำนวน 28 คน วิเคราะห์ข้อมูล และแก้ไขปรับปรุง

 

ประชากรที่ใช้ในการวิจัย

 

ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักศึกษาภาคปกติของสถาบันราชภัฏสงขลา

 

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักศึกษาภาคปกติของสถาบันราชภัฏสงขลา ที่ได้จากการรับสมัคร และสุ่มตัวอย่างอย่างง่ายด้วยการจับฉลาก โดยเป็นกลุ่มตัวอย่างประเมินคุณภาพด้านการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จำนวน 3 คน กลุ่มตัวอย่างทดลองหาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ครั้งที่ 1 จำนวน 6 คน และกลุ่มตัวอย่างทดลองหาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ครั้งที่ 2 1 กลุ่มเรียน จำนวน 28 คน

 

ผลการวิจัย

 

การดำเนินการวิจัยตามขั้นตอน ได้ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้

 

1. ได้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน “การปฐมพยาบาล” แบบนำเสนอเนื้อหา ในระบบสื่อหลายแบบ ที่สร้างตามแนวคิดในการใช้มาตรการทางการศึกษา เพื่อลดอัตราการตายและความรุนแรงของการบาดเจ็บที่เกิดจากอุบัติภัยการจราจรทางบก โดยโปรแกรมคอมพิว
เตอร์ช่วยสอนมีหน่วยความจำรวม 650 เมกะไบต์ (MB) บรรจุอยู่ในซีดีรอม และเป็นโปรแกรมที่ใช้งานได้ดีกับคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย พีซี (multimedia PC) ที่มีมาตรฐานตั้งแต่ระดับกลางจนถึงระดับสูง

 

2. โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน “การปฐมพยาบาล” ได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพภายใน และแก้ไขปรับปรุงตามผลการตรวจสอบ

 

3. โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน “การปฐมพยาบาล” เป็นบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่มีประสิทธิภาพใช้เป็นบทเรียนได้ โดยมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านความรู้ ด้านเจตคติ และด้านการปฏิบัติ สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ดังนี้

 

พฤติกรรมสุขภาพ

เกณฑ์ที่กำหนด

(ประสิทธิภาพของกระบวนการ/ประสิทธิภาพของผลลัพธ์)

ประสิทธิภาพของบทเรียน

ด้านความรู้

80/80

80.29/83.16

ด้านเจตคติ

80/80

86.80/81.40

ด้านการปฏิบัติ

75/75

89.06/83.72

 

ผลการวิจัยสรุปได้ว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน “การปฐมพยาบาล” ในระบบสื่อหลายแบบที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพที่สามารถใช้เป็นบทเรียน ที่นักศึกษาของสถาบันราชภัฏสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เพราะเมื่อผู้เรียนปฏิบัติตามคำแนะนำในการเรียน และเรียนตามอัตราเร็วในการเรียนรู้ของตนเอง ก็จะสามารถเรียนรู้ได้ตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนด โดยมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ ทั้งด้านความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติ

 

ข้อเสนอแนะ

 

จากการวิจัยเพื่อพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน “การปฐมพยาบาล” แบบนำเสนอเนื้อหา ในระบบสื่อหลายแบบครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะแยกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน กับข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระข้อเสนอแนะแต่ละด้าน ดังนี้

 

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

 

1. ควรจะมีการศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเจตคติต่อการเรียน ระหว่างการเรียนด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่มีผู้สอนดูแล กับไม่มีผู้สอนดูแลในระหว่างการเรียน เพื่อนำผลวิจัยมาสนับสนุนการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

 

2. ควรมีการวิจัยพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ในรายวิชาที่ขาดแคลนผู้สอน หรือรายวิชาที่บริหารการสอน โดยการจัดเป็นกลุ่มเรียนขนาดใหญ่ เพราะจะสามารถให้ผู้เรียน เรียนทบทวนได้ด้วยตนเอง หรืออาจเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ที่ใช้ในกิจกรรมการสอนรูปแบบอื่น ๆ เช่น แบบฝึก การสาธิต เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการศึกษา ที่มีข่ายงานบริเวณเฉพาะที่ (local area network หรือ LAN) เพราะสามารถเก็บโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไว้ในเครื่องบริการ (server) ซึ่งผู้เรียนจะเรียนได้จากคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง ที่อยู่ในข่ายงานบริเวณเฉพาะที่เดียวกัน

 

ข้อเสนอแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

1. สถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันราชภัฏ ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ให้หลากหลายวิชาและสาขาวิชา โดยกำหนดเป็นนโยบาย แผนงาน และโครงการ ที่มีแนวปฏิบัติ ดังนี้

 

1.1 จัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดซื้อลิขสิทธิ์ซอฟแวร์โปรแกรมช่วยสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ตลอดจนซอฟแวร์งานสื่อหลายแบบ เพื่อให้ผู้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ที่ไม่สามารถเขียนชุดคำสั่งได้ด้วยตนเอง สามารถพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนได้

 

1.2 จัดชุดพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ที่ประกอบด้วยบุคลากร 3 ฝ่าย ได้แก่ อาจารย์ในสาขาคอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมช่วยสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน อาจารย์ในสาขาเทคโนโลยีการศึกษา และอาจารย์ในสาขาวิชาที่จะพัฒนาโปรแกรม หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา

 

1.3 สนับสนุนงบประมาณดำเนินการ

 

2. สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา สนับสนุนและส่งเสริมการใช้งานวิจัยพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29881เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2006 16:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากได้รูปภาพอ่ะค่ะ มีไหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท