ทัศนีย์ พรมกลิ้ง


วิทยานิพนธ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
เรื่อง :             การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนซ่อมเสริมวิชาคณิตศาสตร์กับนักศึกษาระดับ
                      ประกาศนียบัตร วิชาชีพชั้นสูง ที่มีคุณวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ
ชื่อผู้เขียน      ว่าที่ร้อยโทยงยุทธ ศรีนวล , Provisional First Lieutenant Yongyuth Srinoul  
วุฒิการศึกษา   ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ความเป็นมา
                   คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่สร้างสรรค์จิตใจมนุษย์ โดยก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์จินตนาการและความสนุกสนาน การที่ได้แก้ปัญหาอย่างเสรี จนสามารถค้นพบหลักเกณฑ์ด้วยตนเอง ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาจิตใจและสติปัญญาได้ เมื่อคณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญมากเช่นนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงจัดให้มีการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ในทุกระดับตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ถึงระดับอุดมศึกษา โดยจัดเนื้อหาการเรียนการสอนให้มีความสัมพันธ์กันในแต่ละระดับ กองวิทยาลัยอาชีวศึกษา เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มีวิทยาลัยอาชีวศึกษาในสังกัดทั้งสิ้นจำนวน 36 แห่ง ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการจัดการศึกษาออกเป็นสามระดับ ได้แก่ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เป็นหลักสูตรสามปี รับผู้สำเร็จการศึกษาประโยคมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) หรือเทียบเท่า ระดับประกาศนียบัตรวิชชีพชั้นสูง (ปวส.) เป็นหลักสูตรสองปี รับผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)หลักสูตรการศึกษาประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า และระดับประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) รับผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
                  การจัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ของกรมอาชีวศึกษา ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ในปี พ.ศ. 2540 แทนหลักสูตรเดิมโดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ เป็นการจัดหลักสูตรเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกระบบ และวิธีการเรียนได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพของผู้เรียน ดังจะเห็นได้จากการรับนักศึกษาเข้ามาศึกษาต่อ จะรับนักศึกษาที่จบจากสายอาชีพในหลักสูตรประกาศนียบัตร (ปวช.) และรับนักศึกษาที่จบจากสายสามัญในหลักสูตรการศึกษาประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือเทียบเท่า จากการจัดการศึกษาดังกล่าวนักศึกษาที่จบสายสามัญ จะมีพื้นฐานความรู้วิชาสามัญมากกว่านักศึกษาสายอาชีพ โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ที่นักศึกษาสายสามัญได้เคยเรียนมาแล้วเมื่อเข้าศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ก็ต้องมาเรียนในเนื้อหาเดิมเช่นเรื่อง เซต ตรรกศาสตร์ ความน่าจะเป็น การจัดลำดับและการจัดหมู่ การที่นักศึกษาที่จบการศึกษาทั้งสองสาย มาเรียนรวมกัน จึงทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับความแตกต่าง ทางด้านความถนัด ความสามารถ เชาวน์ปัญญา ทำให้นักศึกษาที่จบสายอาชีพ (ปวช.) ที่เข้ามาศึกษาต่อมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ต่ำ จากรายงานการประเมินผลการเรียนของวิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง ปีการศึกษา 2540 พบว่ามีนักศึกษาที่จบจากสายอาชีพที่เข้ามาศึกษาต่อได้ระดับผลการเรียนเป็น 0 คิดเป็นร้อยละ 6.75 และพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาคิดเป็นร้อยละ 5.14 ประกอบกับการจัดการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มีจำนวนคาบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์จำนวน 2 คาบต่อสัปดาห์ หรือ 36 คาบต่อหนึ่งภาคเรียน ซึ่งจำนวนเวลาการเรียนการสอนน้อย ถ้าสอนตามกำหนดเวลาจะสอนได้เพียงตามเนื้อหาที่มีในจุดประสงค์การเรียนเท่านั้น ไม่สามารถอธิบายทบทวนความรู้ในเนื้อหาเดิมได้ ดังนั้นผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จึงมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหา การแก้ปัญหาการเรียนการสอนทางหนึ่งมุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ในการแก้ปัญหาซึ่งสามารถทำได้โดยผู้สอนใช้การสอนเสริมนอกเวลาเรียนปกติ โดยการใช้สื่อการสอนที่สามารถสนองความต้องการของนักศึกษา อาจจะใช้ชุดการเรียน บทเรียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
                  ในปัจจุบันสื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพ และทันสมัยคือ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นสื่อการสอนที่ดีสามารถนำมาใช้สอนซ่อมเสริมได้กับนักศึกษาที่จบการศึกษาสายอาชีพ (ปวช.) เพราะนักศึกษาต้องเรียนวิชาคอมพิวเตอร์เบื้องต้นเป็นวิชาบังคับ จึงทำให้นักศึกษามีพื้นฐานความรู้วิชาคอมพิวเตอร์ทำให้เอื้ออำนวยความสะดวกในการที่นำคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมาสอนเสริม นอกจากนี้แล้วผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองนอกเวลาเรียนปกติ เพราะมีเนื้อหาที่ชัดเจนเรียงลำดับจากง่ายไปหายาก มีคำถามคำตอบที่ถูกต้อง เพื่อตรวจสอบ เมื่อผู้เรียนทำผิดก็จะสามารถย้อนกลับให้ผู้เรียนไปศึกษาเนื้อหาเดิม แล้วย้อนกลับมาตอบคำถามใหม่ได้ ทำให้ผู้เรียนรู้จริงและไม่ข้ามขั้นตอน นอกจากนี้แล้วสามารถเรียนได้ไม่จำกัดเวลา สามารถประเมินผลความก้าวหน้าของผู้เรียนได้โดยอัตโนมัติ เป็นการสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียนได้ดี เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้เรียนมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนโดยตรง ดังจะเห็นได้จากงานวิจัยของ ศุภสมบูรณ์ อึงรัตนากร (2531) ได้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องการใช้เมตริกซ์แก้สมการเชิงเส้น และนำไปทดลองใช้กับนักศึกษาปริญญาตรีปีที่ 1 ที่สอบไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 จากผลการทดสอบผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ พบว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่สร้างขึ้นช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษาสูงขึ้นถึงเกณฑ์ร้อยละ 60
                     จากปัญหาและเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นแรงจูงใจให้ผู้วิจัยสนใจที่จะนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยสอนเสริม วิชาคณิตศาสตร์ ในหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงปีที่ 1 เรื่อง ความน่าจะเป็นเพื่อศึกษาว่านักศึกษาที่ได้รับการสอนเสริมด้วยคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจะมีการพัฒนาการด้านผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ไปในทางดีหรือไม่
แนวคิดทฤษฎี
 1.การสอนซ่อมเสริม
2. บทเรียนโปรแกรม
3. คอมพิวเตอร์ช่วยสอน
4. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
วัตถุประสงค์
1.       ศึกษาความก้าวหน้าในการเรียนของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงที่เรียน โดย
       การใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการสอนซ่อมเสริม
2.   ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ
     ชั้นสูง
ระเบียบวิธีวิจัย
             การวิจัยเชิงทดลอง
ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง
              ประชากรในการวิจัย เป็นนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงปีที่ 1 สาขาวิชาการบัญชีวิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาคณิตศาสตร์ 1 (30001501) ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2542
               กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงปีที่ 1 ที่มีคุณวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขาการบัญชี วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาคณิตศาสตร์ 1 (30001501) ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2542 จำนวน 40 โดยเลือกแบบเจาะจง
นิยามศัพท์
            การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนซ่อมเสริม หมายถึง การสอนวิชาคณิตศาสตร์ที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเสริม หลังจากการเรียนจบจากการสอนตามปกติในแต่ละหน่วย
           ความก้าวหน้าในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ หมายถึง พัฒนาการของคะแนนที่ดูได้จากการทำข้อสอบประจำหน่วยก่อนเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และหลังเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
           ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ หมายถึง ความสามารถในการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ เรื่องความน่าจะเป็น ซึ่งแสดงให้เห็นด้วยคะแนนการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น และจำนวนนักศึกษาที่สอบผ่านเกณฑ์ร้อยละ 50 ของแต่ละจุดประสงค์
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
              เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้มี 3 ชนิด ดังนี้
1. แผนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ 1 (30001501) เรื่องความน่าจะเป็น มีทั้งหมด 5 หน่วยย่อย ใช้เวลา
    เรียนในแต่ละหน่วย 1 คาบ รวม 5 คาบ ดังนี้
    หน่วยที่ 1 การทดลองสุ่ม แซมเปิลสเปส และเหตุการณ์
    หน่วยที่ 2 ความน่าจะเป็น
    หน่วยที่ 3 ทฤษฎีความน่าจะเป็น
    หน่วยที่ 4 ความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่มีเงื่อนไข
    หน่วยที่ 5 ความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่เป็นอิสระต่อกัน
     2. บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนซ่อมเสริม โดยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนซ่อมเสริมแต่ละหน่วย ประกอบด้วยแบบทดสอบก่อนเรียน บทเรียนสำหรับช่วยสอนซ่อมเสริม แบบทดสอบหลังเรียน โดยใช้โปรแกรม MATHCAI
    3. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบอิงเกณฑ์ เรื่องความน่าจะเป็น แบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ
การวิเคราะห์ข้อมูล
           1.นำคะแนนจากแบบทดสอบประจำหน่วยก่อนเรียนและหลังเรียน โดยการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนซ่อมเสริมของนักศึกษามาหาค่าเฉลี่ยเลขคณิต และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเพื่อดูความก้าวหน้าในการเรียน แล้วนำเสนอโดยใช้ตารางและกราฟประกอบคำบรรยาย
          2. นำคะแนนจากแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มาคำนวณหาค่าเฉลี่ยเลขคณิตส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และร้อยละของนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 50 ของแต่ละจุดประสงค์ แล้วนำเสนอโดยใช้ตาราง และกราฟประกอบการบรรยาย
สรุปผลวิจัย
     1.นักศึกษาได้รับการเรียนซ่อมเสริมโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีความก้าวหน้าในการเรียน
     2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาอยู่ในระดับดี และสูงกว่าเกณฑ์ 50% ของแต่ละจุดประสงค์
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะทั่วไป
          1. นักศึกษาที่จะเรียนซ่อมเสริมด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ควรมีพื้นฐานความรู้ทางคอมพิวเตอร์มาบ้างเพราะจะทำให้นักศึกษาสามารถศึกษาเนื้อหา และปฏิบัติตามกิจกรรมที่จัดในบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เสร็จสิ้นตามจำนวนเวลาที่กำหนดให้
        2. ควรจัดเตรียมโปรแกรมในบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนให้ตรงตามคุณสมบัติของคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละรุ่นมีความเร็วในการทำงานไม่เท่ากัน ซึ่งมีผลต่อการใช้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์
        3. ควรแนะนำให้นักศึกษาได้ศึกษาเนื้อหาทุกเรื่อง และทุกจุดประสงค์เรียงตามลำดับเพราะการฝึกทักษะในบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในแต่ละหัวข้อ ต้องใช้ความรู้จากหัวข้อเดิมมาใช้
        4. ผู้สอนควรทบทวนความรู้เรื่องการเรียงสับเปลี่ยนและการจัดหมู่ก่อน และเนื้อหานี้จะเป็นพื้นฐานในการสอนเรื่องการหาความน่าจะเป็นของเหตุการณ์
ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป
        1. ควรมีการวิจัยเกี่ยวกับการสอนวิชาคณิตศาสตร์โดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนซ่อมเสริมกับนักศึกษา ในเนื้อหาอื่น ๆ เพราะเนื้อหาบางเรื่องอาจจะไม่เหมาะสมที่จะใช้สอนโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
       2. ควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนซ่อมเสริมในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เพราะว่านักศึกษากลุ่มนี้มีพื้นฐานความรู้ในการใช้คอมพิวเตอร์เหมือนกัน นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29877เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2006 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท