การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการเรียนการสอน


การนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน

แนวคิดการจัดการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์


ฐาปนีย์ ธรรมเมธา      
วารสารทับแก้ว      
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร      
ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2540      
บทนำ

             ยุคสมัยนี้ คนในสังคมกำลังตื่นตัวและกระหายความรู้ทางคอมพิวเตอร์กันอย่างมาก   ทำให้การจัดการเรียนการสอนในระดับโรงเรียนจัดไม่ทันกับความต้องการของตลาดแรงงาน      จึงทำให้มีการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนกันมากขึ้น  หรือเป็นลักษณะของโรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์เอกชน การจัดอบรมคอมพิวเตอร์ตามสถาบันราชการและธุรกิจ

             แม้ว่าในระยะสี่ห้าปีที่ผ่านมานี้สถาบันการศึกษาหลายแห่ง  ได้เริ่มผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา ที่มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์   และเป็นผู้ที่มีวิชาชีพครูด้วย    ซึ่งบัณฑิตเหล่านี้สังคมคาดหมายว่าจะต้องเป็นครูผู้สอนคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถโดยตรงที่จะเข้าไปทำงานในสถานศึกษา แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าด้วยปัจจัยหลายประการ ทำให้บัณฑิตส่วนใหญ่เหล่านี้ไม่ได้เข้าไปใช้วิชาชีพของตนโดยตรง  ประกอบกันมีตำแหน่งที่จะบรรจุเข้ารับราชการน้อยมาก   อีกทั้งทำงานเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนสูงมากกว่ามาก  ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้ครูผู้สอนคอมพิวเตอร์ในสถานศึกษาทั่วไปมักจะไม่ใช่ผู้ที่จบทางคอมพิวเตอร์โดยตรง   แต่จะเป็นผู้สอนในหมวดวิชาต่าง ๆ นั้นมีธรรมชติของสาขาวิชา      และหลักวิธีการสอนต่างกันไปตามลักษณะของศาสตร์   แต่ทั้งนี้อาศัยอยู่บนพื้นฐานการจัดระบบการเรียนการสอนเดียวกันการสอนคอมพิวเตอร์เป็นการสอนในสาขาที่ยังใหม่อยู่พอสมควร ดังนั้นบทความนี้ข้อเสนอแนวคิดการเรียนการสอนแก่ผู้สอน  และผู้ให้การอบรมคอมพิวเตอร์ทั้งหลายได้พิจารณาเป็นแนวทางนำไปจัดการเรียนการสอนที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

คอมพิวเตอร์กับการเรียนการสอน

             ตามที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การสอน (Instruction)   หมายถึง การจัดประสบการณ์ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ    เพื่อช่วยให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือการปฏิบัติตามจุดมุ่งหมาย

             การเรียน หมายถึง กิจกรรมหรือกระบวนการที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน  โดยผู้สอนมีหน้าที่จัดประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน    เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามจุดมุ่งหมายนั่นเอง

             ในกิจกรรมการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์เป็นกระบวนการที่ทั้งผู้สอนจัดประสบการณ์     ด้วยเรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพื่อให้ผู้เรียนเปลี่ยนพฤติกรรมไป ตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ สำหรับประเทศไทยมีกรสอนคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล  โดยลักษณะการสอนโดยส่วนใหญ่เป็นการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)     แต่สำหรับหลักสูตรคอมพิวเตอร์ที่จัดการสอนนั้นจะเริ่มตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาต่อไป             ซึ่งการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่แล้วมักมีเนื้อหา 3 แนวทาง คือ 

             - การสอนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
             - การสอนเขียนโปรแกรมโดยใช้ภาษาคอมพิวเตอร์
             - การสอนทักษะการใช้โปรแกรมประยุกต์

ความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (Computer Literacy) ของผู้สอนคอมพิวเตอร์

             ความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (Computer Literacy) หมายถึง ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ทางด้านคอมพิวเตอร์ซึ่ง Paul G. Geisert and Mynga K. Futrell (1990:7) กล่าวไว้ว่า ผู้ที่มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์ควรมีลักษณะ 5 ประการ ดังนี้

             1. รู้ประวัติความเป็นมาของคอมพิวเตอร์
             2. เข้าใจการทำงานของคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์สามารถทำโปรแกรมได้อย่างไร
             3. ตระหนักว่าจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยการเรียนและช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างไร์
             4. หยั่งรู้ถึงธุรกิจ และอุตสาหกรรมประยุกต์ของคอมพิวเตอร์
             5. ตระหนักถึงสภาพปัจจุบัน และความเป็นไปได้ในอนาคตของผลกระทบทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ต่อสังคม

             นอกจากนี้  James Poirot,  Robert Taylor  and  James Powell  (อ้างถึงในครรชิต มาลัยวงศ์ 2530:51)    กล่าวถึงความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เฉพาะขอบข่ายที่บุคลากรทางการศึกษาควรมีความรู้ในระดับที่ต่ำสุดไว้ 7 ประการ ดังนี้

             1. ความสามารถในการเขียน อ่าน และการใช้งานโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์ง่าย ๆ ได้
             2. ความสามารถในการใช้โปรแกรมประยุกต์ด้านการศึกษา
             3. ความสามารถในการพูดถึงคำศัพท์ต่าง ๆ  เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะทางด้านฮาร์ดแวร์ได้อย่างถูกต้องคล่องแคล่วแต่ไม่ถึงกับต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ
             4. ความสามารถในการรู้ตัวอย่างปัญหาการศึกษาต่าง ๆ ว่า ปัญหาใดใช้คอมพิวเตอร์แก้ได้ และปัญหาใดแก้ไม่ได้
             5. ความสามารถในการหาและใช้แหล่งข้อมูลที่ทันสมัยต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ในสถานศึกษา
             6. ความสามารถในการพูดอภิปรายในระดับคนธรรมดาที่เฉลียวฉลาดเกี่ยวกับประวัติคอมพิวเตอร์โดยทั่วไป          ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ในการศึกษาต้องสามารถอภิปรายได้มากพิเศษ
             7. ความสามารถในการอภิปรายปัญหาเรื่องผลกรทบของคอมพิวเตอร์ต่อสังคม และจริยธรรมได้ในแนวทั่ว ๆ ไป และพูดเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้คอมพิวเตอร์ได้มากเป็นพิเศษ

             สรุปได้ว่าลักษณะของผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะบุคลากรด้านการศึกษานั้นต้องเป็นผู้ที่อ่านออก เขียนได้ คือ สามารถอ่านและเขียนโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์อย่างง่าย ๆ ได้ สามารถพูดอภิปรายเรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา ตลอดจนสามารถนำความรู้คอมพิวเตอร์ไปประยุกต์ใช้กับงานการศึกษาได้นั่นเอง    ประเด็นที่น่าตระหนักว่าครูผู้สอนคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่มากมายทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียนขณะนี้    มีลักษณะเหล่านี้ครบถ้วนหรือไม่

เทคนิคและวิธีการสอนคอมพิวเตอร์

             จากคำกล่าวที่ว่า "การสอนต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์" ซึ่งศาสตร์ คือ ตัวเนื้อความรู้ที่มีอยู่ในตัวผู้สอน ส่วนศิลป์ คือ ศิลปะ   ความสามารถในการถ่ายทอดเนื้อหาไปสู่ผู้เรียน  บางครั้งเนื้อหาเดียวกันผู้สอนต่างกัน ย่อมมีศิลปะในการถ่ายทอดต่างกันด้วย การใช้ศาสตร์และศิลป์ต้องใช้อย่างผสมผสานกลมกลืนกัน การสอนคอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน เมื่อผู้สอนที่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ดีอยู่แล้ว ควรต้องพิจารณาเพิ่มศิลปะในการสอน   นั่นคือ การนำความรู้ทางทฤษฎีการสอนและเทคนิควิธีการสอน ไปใช้เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

             ทฤษฎีการสอน นักการศึกษาหลาย ๆ  ท่าน ได้เสนอทฤษฎีการสอนไว้มากมายหลายทฤษฎี ซึ่งสามารถสรุปเป็น 4 ทฤษฎีใหญ่ ๆ  ด้วยกัน  ดังนี้ (ไชยยศ เรืองสุวรรณ, 2533:65-67)

             1. ทฤษฎีการสอนของกาเย่ (Gagne)  เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการรู้ กล่าวถึงการเรียนรู้ของบุคคลว่าจะเกิดขึ้นได้ดีหรือไม่เพียงใดขึ้นอยนู่กับสภาพการณ์ทั้งภายในและภายนอกผู้เรียน (Internal and External Conditions)  และเหตุการณ์ในการเรียน (Events of Lerning)   จัดเป็นลำดับสภาพการณ์ในการเรียนรู้เป็น 9 ขั้น คือ

                          1.1 การเร้าความสนใจ
                          1.2 แจ้งจุดมุ่งหมายแก่ผู้เรียน
                          1.3 สร้างสถานการณ์เพื่อดึงความรู้เดิม
                          1.4 เสนอบทเรียน
                          1.5 ชี้แนวทางการเรียนรู้
                          1.6 ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ
                          1.7 การให้ข้อมูลย้อนกลับ
                          1.8 การจัดการปฏิบัติ
                          1.9 ย้ำให้เกิดความจำและการถ่ายโอนความรู้

             2. ทฤษฎีการสอนของเมอร์ริลไรเกลท (Merrill - Reigelath) แสดงทัศนะว่าการสอนเป็นกระบวนการที่เสนอเป็นขั้นตอนที่ละเอียดและต่อเนื่อง ดังนี้

                          2.1 เลือกหัวข้อปฏิบัติทั้งหลายที่จะสอนด้วยการวิเคราะห์ภารกิจ
                          2.2 ตัดสินใจว่าจะสอนข้อภารกิจใดเป็นอันดับแรก
                          2.3 จัดลำดับก่อนหลังของข้อภารกิจที่เหลือ
                          2.4 ชี้บ่งเนื้อหาที่สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจ
                          2.5 จัดเนื้อหาเข้าบทเรียนและจัดลำดับบทเรียน
                          2.6 จัดลำดับการสอนภายในบทเรียนต่าง ๆ
                          2.7 ออกแบบการสอนในแต่ละบทเรียน

             3. ทฤษฎีการสอนของเคส (Case)     ให้แนวคิดเกี่ยวกับการสอนด้านพฤติกรรมในระหว่างการสอนแต่ละขั้นของพัฒนาการทางสติปัญญานั้นขึ้นกับการเพิ่มความซับซ้อนของยุทธศาสตร์การคิด   ผู้เรียนจะใช้ความคิดที่ซับซ้อนได้เมื่อได้รับประสบการณ์อย่างมีขั้นตอน    การจัดการสอนลักษณะนี้จัดลำดับตามความมุ่งหมายของภารกิจที่จะเรียน จัดลำดับขั้นการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความมุ่งหมายนั้น ๆ โดยการเปรียบเทียบการคิดกับทักษะที่ผู้เรียนได้รับ มีการจัดระดับความสามารถและการปฏิบัติของผู้เรียน มีแบบฝึกหัดหรือตัวอย่างให้ผู้เรียนได้ศึกษา

             4. ทฤษฎีการสอนของลันดา (Landa)    เป็นการดำเนินการสอนโดยใช้การจัดลำดับขั้นการแก้ปัญหาโดยบ่งชี้กิจกรรมการเรียนก่อนที่ผู้เรียนจะลงมือเรียน และจัดให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติการตามที่ได้ออกแบบไว้

             การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละครั้งผู้สอนมักนำทฤษฎีการสอนทั้ง 4 ประการมาประยุกต์ใช้ในการสอนของตน การจะเลือกใช้ทฤษฎีการสอนใดนั้นควรขึ้นกับจุดประสงค์รายวิชา       จุดประสงค์การสอนและเนื้อหาการสอนแต่ละครั้งอาจใช้ทฤษฎีการสอนหลายประการผสมผสานกันก็ได้ และจากทฤษฎีการสอนนี้ครูอาจารย์  ผู้สอน  วิทยากรที่มีหน้าที่สอน   และให้มีการอบรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อาจมองเห็นแนวทางที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับการสอนของตน

ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงต่อการจัดการสอนคอมพิวเตอร์

             การสอนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้นคงไม่สามารถจัดเข้าทฤษฎีการสอนประเภทใดประเภทหนึ่งได้โดยตรง            แต่ควรนำทฤษฎีการสอนทั้ง 4 ประการ  มาพิจารณาใช้ร่วมกัน การสอนคอมพิวเตอร์ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยบางประการที่จะส่งผลต่อการสอนให้สัมฤทธิผลด้วย จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนรับผิดชอบสอนรายวิชาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาพอสมควร   จึงใคร่ขอเสนอปัจจัยที่ส่งผลต่อการสอนคอมพิวเตอร์ที่ประกอบด้วย ด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย

                          หนทางการแก้ปัญหา (Solution)
                          ประสบการณ์และแบบฝึกหัด (Experience and Exercises)
                          ความรู้ (Knowledge)
                          ความชอบความพึงพอใจ และการเล็งเห็นคุณค่า (Appreciation)
                          ความทันสมัย (Modern)

ซึ่งผู้เขียนของใช้ชื่อปัจจัยนี้ว่า SEKAM ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

             หนทางการแก้ปัญหา (Solution)

             การเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ มักพบปัญหาอยู่ตลอดเวลา  ทั้งปัญหาของผู้เรียนและผู้สอนเอง  เช่น ปัญหาผู้เรียนเขียนโปรแกรมภาษา  Basic แล้ว Run โปรแกรมไม่ออกผลลัพธ์ผู้สอนต้องช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้เรียนได้  โดยตรวจดูข้อผิดพลาด  อาจพบว่าผู้เรียนพิมพ์รูปแบบคำสั่งผิด หรืออาจลืมพิมพ์เครื่องหลายเพียงเครื่องหมายคำพูดปิดก็ได้ แต่ถ้าไม่พบข้อผิดพลาดเหล่านี้แล้วผู้สอนต้องพิจารณาต่อไปอีกว่ายังมีข้อผิดพลาดที่ใดอีกหรือไม่  ทั้งนี้ต้องแก้ปัญหาให้ได้ ถ้ายังไม่ได้ลงมือแก้ปัญหาต้องสันนิษฐานได้ว่าปัญหานั้นน่าจะมาจากสาเหตุใด

             ผลการศึกษาของ  Kathleen  M.  Swigger,  Robert Brazile,  and  Dongil  Shin (1997)     สรุปถึงการสอนนักศึกษาระดับปริญญาตรีวิชาเอกการคอมพิวเตอร์  (Computer Science)  ของมหาวิทยาลัย North Texas พบว่าการที่สอนคอมพิวเตอร์โดยใช้ผู้เรียนเรียนแบบกลุ่ม   โดยใช้ทักษะร่วมมือกันแก้ปัญหา (Cooperation Problem Solvig) มีผลสำเร็จจากการแก้ปัญหาโครงการสูงถึงร้อยละ 69.8  ขณะที่การเรียนแบบคนเดียวมีผลสำเร็จเพียง  ร้อยละ 47.3 เท่านั้น

             กล่าวได้ว่าการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์เป็นการเรียนการสอนแบบแก้ปัญหา   ทั้งนี้ตัวผู้สอนเองต้องฝึกฝนโดยการพบปัญหา หรือเคยกระทำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ให้เชี่ยวชาญพอ ก่อนจะมาสอน และถ้าผู้สอนสามารถแก้ปัญหาให้ผู้เรียนได้ แน่นอนว่าการยอมรับจากผู้เรียนย่อมเกิดขึ้นต่อตัวผู้สอน   บางครั้งปัญหาจากผู้เรียนยังช่วยให้ผู้สอนได้มีประสบการณ์สะสมไว้ด้วยเช่นกัน   ส่วนผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้ดี  จนได้ประสบการณ์ย่อมเกิดจากปัญหาที่ได้พบ และได้ฝึกการแก้ปัญหานั่นเอง

             ประสบการณ์และแบบฝึกหัด

             การเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ที่ดีนั้น   ผู้สอนควรจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนที่เป็นประสบการณ์ตรง    การสอนคอมพิวเตอร์ควรสอนทฤษฎีน้อย   ฝึกปฏิบัติการมาก เนื่องจากนักเรียนนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ย่อมต้องการใช้เครื่องมากกว่าจะฟังคำอธิบายจากครู ถ้าจำเป็นต้องสอนทฤษฎีไม่ควรใช้เวลามาก  อธิบายเฉพาะทฤษฎีที่จำเป็นที่ต้องใช้ในครั้งนั้น ๆ แล้วจึงลงมือปฏิบัติการ   ถ้าผู้เรียนคนใดพบปัญหาและมีข้อซักถาม  ผู้สอนควรเข้าไปอธิบายที่เครื่องโดยตรงจะดีกว่า (อำพล สงวนศิริธรรม 2538:193)

             เมื่อกำหนดให้ผู้เรียนได้เรียนจากการฝึกปฏิบัติการ  โดยการใช้แบบฝึกหัดซึ่งแบบฝึกหัดควรมีทั้งในและนอกชั่วโมงเรียน   เพราะแบบฝึกหัดเป็นเครื่องมือที่ดี ในการให้ประสบการณ์ตรงแก่ผู้เรียน ตลอดจนเป็นแนวทางหนึ่งที่จะให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจความคงทนต่อการเรียนเนื้อหานั้น ๆ ได้ดีขึ้น    ผู้สอนต้องถือว่าแบบฝึกหัดเป็นการสื่อการสอนที่จะช่วยผู้สอนและผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน  ในกรณีที่ทำแบบฝึกหัดในชั้นเรียน ผู้เรียนพบปัญหาและข้อสงสัยมักจะถามผู้สอน ส่วนแบบฝึกหัดที่ให้ผู้เรียนทำนอกชั่วโมงเรียนยังช่วยให้ผู้เรียนได้ทบทวนการเรียนของตนเอง  ผู้สอนอาจใช้ประเมินผลการสอนของตนด้วยว่าเมื่อสอนแล้วผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์อย่างไร      นอกจากนี้ผู้สอนคอมพิวเตอร์ควรมีการเตรียมการสอนโดยคิดรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และควรสร้างแบบฝึกหัดตามจุดประสงค์ และเนื้อหา  การเรียนการสอนเป็นหลัก โดยที่แบบฝึกหัดนั้นต้องเน้นปฏิบัติการมากกว่าความรู้ทางทฤษฎี

             ความรู้

             การสอนเนื้อหาความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร ์ แยกเป็นเนื้อหาทางทฤษฎี  และปฏิบัติการ การสอนทุกครั้งต้องเริ่มที่การให้ความรู้แก่ผู้เรียนก่อน จากนั้นจึงปฏิบัติการโดยใช้ความรู้ ความเข้าใจนั้น และจากความรู้พัฒนาเป็นทักษะความชำนาญต่อไป

             ความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์บางเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน  เช่น  เรื่องคำสั่ง  ผังงาน  ควรสอนเนื้อหาในห้องเรียนธรรมดา  บางเนื้อหา  เช่น ประวัติคอมพิวเตอร ์ องค์ประกอบคอมพิวเตอร์  ผู้สอนอาจสรุปเพียงเล็กน้อยแล้วกำหนดให้ผู้เรียนไปศึกษาค้นคว้าเอง ให้ทำรายงานและนำเสนอในชั้นเรียน รวมถึงการจัดบอร์ดนิทรรศการเผลแพร่ความรู้ด้วย   โดยเป็นความรู้ที่นอกเนื้อจากแบบเรียน   และหลักสูตร  หรือเป็นความรู้เรื่องใหม่  เช่น  อุปกรณ์ Input Output ของคอมพิวเตอร์ กล้องดิจิตอล เครื่องพิมพ์รุ่นใหม่ ระบบอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

             ความชอบความพึงพอใจ และการเล็งเห็นคุณค่า (Appreciation)

             การเรียนถ้าเริ่มจาก  ฉันทะ  คือ ความชอบ ความพึงพอใจ และการเล็งเห็นคุณค่าจากเรื่องที่ตนสนใจ  ต้องการได้รับความรู้แล้ว  ผู้เรียนย่อมมีความสุขกับการเรียน อีกทั้งยังเป็นตัวทำนายได้ถึงความสำเร็จของผู้เรียนต่อไปด้วย

             จากผลการศึกษาของ  เกษมศรี พรหมภิบาล (2537)     เรื่อง  ผลของการสอนวิชาออกแบบ  1   ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิก  ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  กรุงเทพมหานคร  โดยศึกษาทั้งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน   และทัศนคติต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  พบว่า  ผลการสอนวิชาออกแบบ 1  เรื่องทฤษฎีองค์ประกอบศิลป ์ โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิก  ทำให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางเรียนสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้   และผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนี้อยู่ในระดับดีมาก     มีความกระตือรือร้นสนุกสนานต่อการเรียน เห็นประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเรียนการสอน

             ความทันสมัย (Modern)

             เนื่องจากวิทยาการด้านคอมพิวเตอร์มีความเจริญก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วมากทั้งเรื่องฮาร์ดแวร์  ซอฟต์แวร์  ตลอดจนวิธีการใหม่  จากแนวการจัดกิจกรรมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน  ระดับชั้นประถมศึกษา  ศูนย์พัฒนาหลักสูตร  กรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการ (2540:9) กล่าวว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ ๆ  ได้พัฒนาออกมาใช้ในท้องตลาดมากมาย  และโปรแกรมเหล่านี้ได้พัฒนาให้สะดวกต่อผู้ใช้มากขึ้น   แต่ต้องอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงขึ้น  ซึ่งตลาดพัฒนาอยู่ตลอดเวลา    หลักสูตรคอมพิวเตอร์พื้นฐานจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าด้วย จากแนวความคิดดังกล่าว   เนื้อหาความรู้ทางคอมพิวเตอร์ที่ผู้สอนจะนำเสนอกับผู้เรียนต้องเป็นเรื่องที่ทันสมัยสอดคล้องกับความก้าวหน้าด้วย จากแนวความคิดดังกล่าว          เนื้อหาความรู้ทางคอมพิวเตอร์ที่ผู้สอนจะนำเสนอกับผู้เรียนต้องเป็นเรื่องที่ทันสมัยสอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาการคอมพิวเตอร์  เช่น  การสอนด้านโปรแกรมประยุกต ์ ที่เปลี่ยน  Version อยู่เรื่อย ๆ  ดังนั้นผู้สอนย่อมต้องสอนโปรแกรม Version ใหม่นั้นตามที่นิยมกัน เมื่อสองปีการศึกษาที่ผ่านมาสอนโปรแกรม Windows 3.11  แต่ปัจจุบันต้องเปลี่ยนเป็น Windows 95 หรือ  Windows 98 แต่ทั้งนี้บางกรณีอาจสอนไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดทางฮาร์ดแวร์ ผู้สอนคงต้องเลือกโปรแกรม Version ที่ใกล้เคียงกันแทน

             ผู้สอนคอมพิวเตอร์ควรใสใจติดตามวิทยาการด้านคอมพิวเตอร์      เพื่อที่จะได้รับข่าวสารข้อมูลที่เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ         โดยการอ่านวารสารคอมพิวเตอร์ การไปชมนิทรรศการทางคอมพิวเตอร์ซึ่งมักจะมีการนำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยมาแสดง การสืบค้นข้อมูลใหม่ ๆ ทางอินเตอร์เน็ต


ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงต่อการจัดการสอนคอมพิวเตอร์ สามารถสรุปเป็นผังงาน (Flowchart) ได้ดังนี้

ภาพที่ 1 แสดงผังงานปัจจัยที่ควรคำนึงถึงต่อการจัดการสอนคอมพิวเตอร์

             การสอนคอมพิวเตอร์มิใช่แต่เพียงการสอนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้เครื่องหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้เท่านั้น  ซึ่งหมายถึงการสร้างให้คนมีปฏิสัมพันธ์กับเครื่องเพียงอย่างเดียว แต่ผู้สอนไม่ควรมองข้ามประเด็นที่ว่าการสอนเป็นการใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ และเป็นกระาบวนการที่ผู้เรียนและผู้สอนต้องมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ผู้สอนคอมพิวเตอร์ทุกคนย่อมมีความเหมือนกัน คือควารรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาที่ตนจะถ่ายทอด แต่ความสามารถทางการถ่ายทอดนั้นเป็นทักษะที่ผู้สอนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการฝึกฝนเพิ่มพูนความสามารถด้วยตนเอง ทั้งนี้ยังมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง อันจะส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนซึ่งได้กล่าวมาแล้ว และยังต้องตระหนักเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมด้วย

การจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียน

             ผู้สอนคอมพิวเตอร์มักเป็นผู้สอนที่มาถึงห้องสอนก่อนเวลาเสมอ     ทั้งนี้เพื่อการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมสำหรับการสอนของตน   ทำให้เป็นการสอนที่ภาระงานหนักกว่าผู้สอนทั่วไป   เนื่องจากการสอนคอมพิวเตอร์ต้องใช้เครื่องมือประกอบการเรียนการสอน  ทั้งของตนเอง  และผู้เรียน คือ  เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ เครื่องสแกนเนอร์ และอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่น ๆ ผู้สอนต้องจัดเตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์โปรแกรมที่จะใช้สอน   มีการตรวจสอบเครื่องและโปรแกรมให้พร้อมที่จะใช้สอน หรือจัดประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เรียน นอกจากนี้ยังรวมถึงการจัดห้องเรียนและ สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในวิธีการเตรียมการสอน และการใช้สื่อการสอนวิธีหนึ่ง ดังนั้นผู้สอนควรคำนึงถึงการจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

             1. จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อจกนวนผู้เรียน เพียงพอหรือไม่ จะกำหนดให้ผู้เรียน 1 หรือ 2 คนต่อเครื่อง หรือให้เรียนเป็นกลุ่ม
             2. ระยะห่างระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง   ช่องว่างทางเดินเพื่อผู้สอนจะเดินเข้าไปหา   และอธิบายผู้เรียนแบบตัวต่อตัว  ในกรณีที่มีปัญหา
             3. กระแสไฟ  และแหล่งจ่ายไฟ  ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ควรมีเครื่องสำรองกระแสไฟฟ้าและปรับกระแสไฟให้สม่ำเสมอ หรือหม้อปั่นกระแสไฟอัตโนมัติทันทีในกรณีที่ไฟฟ้าดับ มิฉะนั้นจะไม่สามารถดำเนินการสอนได้
             4. แสงสว่าง  คือแสงธรรมชาติและแสงอิเล็กทรอนิกส์ในห้องเรียน   เนื่องจากผู้เรียนต้องใช้สายตาเพ่งมองจอภาพอยู่ตลอดเวลา     ภายในห้องเรียนควรมีม่านเพื่อควบคุมแสงสว่างให้มีปริมาณพอเหมาะ มิฉะนั้นจะทำให้ผู้เรียนเกิดความเมื่อยล้าทางสายตา เสียสมาธิในการเรียน
             5. เสียง ห้องเรียนไม่ควรตั้งอยู่ในบริเวณที่มีเสียงดัง ห้งอเรียนที่มีขนาดใหญ่ ควรจัดระบบขยายเสียงไมโครโฟน
             6. อุณหภูมิ ควรปรับระดับอุณหภูมิให้พอเหมาะไม่หนาว ไม่ร้อนจนเกินไป เพระอาจเป็นสาเหตุให้ผู้เรียนเสียสมาธิในการเรียนได้
             7. ควรจัดเตรียมสื่อการเรียนการสอนให้พร้อมที่จะใช้งานได้ทันที เช่นเครื่องฉายภาพข้ามศรีษะ เครื่องถ่ายทอดสัญญาณภาพจากคอมพิวเตอร์

บทสรุป

             การสอนคอมพิวเตอร์นั้นนอกจากครูอาจารย์ ผู้สอน ผู้ให้การอบรมด้านคอมพิวเตอร์ต้องมีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือว่าเป็นศาสตร์แล้ว ยังจำเป็นต้องอาศัยเทคนิควิธีการสอนที่มีศิลปะด้วย ศิลปะนั้นได้แก่ มีความรู้ความเข้าใจในทฤษฎีการสอน ตลอดจนการประยุกต์ทฤษฎีการสอนนั้นไปเป็นวิธีการสอน อีกทั้งต้องพิจารณาเกี่ยวกับปัจจัยที่ควรคำนึงถึงต่อการจัดการสอนคอมพิวเตอร์ด้วย ผู้เขียนได้นำเสนอชื่อว่า SEKAM ประกอบด้วย การที่ผู้เรียนมีความชอบ  ความพอใจ  การเล็งเห็นคุณค่าในวิชา  ผู้สอนให้ความรู้  จัดประสบการณ์ หรือให้แบบฝึกหัดเพื่อฝึกผู้เรียนให้บรรลุจุดประสงค์ของการสอน  และการสอนในเนื้อหาที่ใหม่  ทันสมัย  เปลี่ยนแปลงตามวิทยาการด้านคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้การจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ อันได้แก่ การจัดเตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมที่จะใช้ คำนึงถึงเรื่องแสงสว่าง อุณหภูมิ เสียง ภายในห้องเรียน เป็นต้น

             จากแนวคิดทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว   ยังไม่เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่เต็มรูปแบบ   แต่คงเป็นแนวทางสำหรับครูอาจารย์   ผู้สอน และผู้ให้การอบรมด้านคอมพิวเตอร์      ได้พิจารณาประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  หรือการฝึกอบรมของท่านให้มีประสิทธิภาพต่อไป          การสอนคอมพิวเตอร์มิใช่การสอนที่ทำให้คนมีปฏิสัมพันธ์กับเครื่อคอมพิวเตอร์เท่านั้น   แต่ต้องเริ่มจากการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอน   และผู้เรียนเป็นพื้นฐานก่อน
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29769เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2006 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เด็กชายประพันธ์ สิติ

อาจารย์ทำสุดยอดมาเลยครับ....เจ๋งไปเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท