๓.มาสร้าง Rubric กันเถอะ


Scoring Rubric เกณฑ์การให้คะแนนที่ลดความเป็นอัตตวิสัย

ร้างรูบริกันเถอะ

การประเมินโดยใช้เกณฑ์การให้คะแนนแบบรูบริคแท้จริงครูทุกคนทำกันจนเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ

ย้อนระลึกเวลาคุณครูจะประเมินผลงาน บ่อยครั้งที่จำเป็นต้องแจกแจงคะแนนออกมาเป็นส่วน ๆ เช่น การให้คะแนนรายงาน อาจแบ่งเป็น เนื้อหา การอ้างอิง รูปลักษณ์ของรายงาน เป็นต้น จากนั้นจึงให้คะแนนเป็นส่วนๆ แล้วจึงรวมเป็นคะแนนรายงาน การให้คะแนนภาพวาดของนักเรียน อาจจะแบ่งคะแนนเป็นองค์ประกอบของภาพ การใช้สี การสื่อสาร เป็นต้น

ถึงจักไม่ได้แจกแจงละเอียดแต่ต้องมีส่วนประกอบหลัก ๆ ที่ครูจะพิจารณาให้คะแนน...

  ดังนั้นที่ดิฉันเขียนว่า "การประเมินโดยใช้เกณฑ์การให้คะแนนแบบรูบริคแท้จริงครูทุกคนทำกันจนเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ" จึงเป็นความจริงเพียงแต่เก็บไว้ในใจ ไม่ได้นำมาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เท่านั้น

การเขียนรูบริคจึงทำเพื่อให้คะแนนได้ง่ายและสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจความเป็นมาของคะแนน

เทคนิคการเขียน

๑. ควรเริ่มจากการแจกแจงประเด็นที่จะพิจารณาให้คะแนน หรือบางทีเรียกว่า มิติที่จะประเมิน ซึ่งแต่ละมิติอาจจะให้น้ำหนักคะแนนเท่ากันหรือไม่ก็ได้ เช่น

     การประเมินการทำรายงานของนักเรียน อาจแบ่งเป็น ๓ มิติ ดังนี้

     มิติที่ ๑ เนื้อหา            ให้น้ำหนักคะแนน   ๖

     มิติที่ ๒ การอ้างอิง      ให้น้ำหนักคะแนน  ๒

     มิติที่ ๓ รูปลักษณ์ของรายงาน  ให้น้ำหนักคะแนน  ๒

     ข้อสังเกตุประการแรก การให้น้ำหนักคะแนนในส่วนใดมากน้อยขึ้นกับดุลยพินิจของครูนะคะ แต่รวมแล้วไม่เกินน้ำหนักที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก ในที่นี้คือ ๑๐

     ขอสังเกตุอีกประการที่สอง การแบ่งมิตินั้นไม่ควรกว้างหรือแคบจนเกินไป เช่น เนื้อหา หมายความรวมถึง เนื้อหาและการลำดับเนื้อหา หรือการอ้างอิง หากไปกำหนดมิติว่า จำนวนรายการอ้างอิงอาจจะแคบเกินไป ควรกำหนดว่า การอ้างอิง หมายความรวมถึง จำนวน และความทันสมัย ถูกต้อง เพื่อที่จะได้เขียนระดับลดหลั่นลงได้อีกในขั้นตอนต่อไป

๒. จากนั้นในแต่ละมิติให้เขียนบรรยายความตั้งแต่สิ่งที่ดีที่สุดที่คาดหวังว่านักเรียนจักทำได้ จนไปถึงสิ่งที่แย่ที่สุด ทั้งนี้แล้วแต่ดุลยพินิจของครู แต่ควรเขียนบรรยายลักษณะงานที่ให้คะแนนระดับสูงมีความท้าทาย และระดับต่ำเป็นลักษณะงานพื้น ๆ ที่คนธรรมดาสามัญทำได้ เริ่มต้นควรเขียนบรรยายสัก ๓ ระดับ แล้วเมื่อใช้รูบริคแล้วจักรู้เองว่ามีช่องว่างระหว่างระดับหรือไม่ หากมีค่อยเพิ่มเป็น ๕ หรือ ๗ ระดับเช่น

     มิติที่ ๑ เนื้อหา มี ๓ ระดับคะแนน 

     ระดับ  ๓  หมายถึง เนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์ มีการลำดับเนื้อหาต่อเนื่อง

     ระดับ  ๒  หมายถึง เนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์ มีการลำดับเนื้อหาไม่ต่อเนื่องนัก

     ระดับ  ๑  หมายถึง  เนื้อหายังไม่ครบถ้วน มีการลำดับเนื้อหาไม่ต่อเนื่อง

     ข้อสังเกตุประการที่สาม การบรรยายงานในระดับต่ำสุดก็อยู่ที่ดุลยพินิจของครูค่ะ ว่าจะเริ่มต้นแบบไหน บางท่านสอนนักเรียนเก่งอาจจะเริ่มนำลำดับ ๒ ลดมาเป็น ๑ ก็ได้ แล้วค่อยเขียนลำดับ ๓ ให้สูงขึ้นอีก...ปรับได้ค่ะ 

๓. ในรูบริคอาจจะมีเกณฑ์การให้คะแนนทั้งเชิงปริมาณและหรือเชิงคุณภาพ เช่น แหล่งอ้างอิงในรายงาน อาจจะเขียนว่าเป็นเชิงปริมาณอย่างน้อย ๑๐ แหล่ง หรืออาจเขียนเกณฑ์เชิงคุณภาพประกอบด้วย ๑๐ แหล่ง ที่ทันสมัย เชื่อถือได้ เป็นต้น เช่น

     มิติที่ ๒ การอ้างอิง (ตัวอย่างที่ ๑)

     ระดับ  ๓  หมายถึง แหล่งอ้างอิง มากกว่า ๕ แหล่ง ทันสมัย และมีการเขียนอ้างอิงที่ถูกต้อง

     ระดับ  ๒  หมายถึง แหล่งอ้างอิง ๓-๕ แหล่ง  ทันสมัย และมีการเขียนอ้างอิงที่ถูกต้อง

     ระดับ  ๑  หมายถึง แหล่งอ้างอิง ต่ำกว่า ๓ แหล่ง ทันสมัย และมีการเขียนอ้างอิงที่ถูกต้อง

     หรือ ตัวอย่างที่ ๒

     ระดับ  ๓  หมายถึง แหล่งอ้างอิงมากกว่า ๕ แหล่ง การเขียนอ้างอิงถูกต้อง ทันสมัย

     ระดับ  ๒  หมายถึง แหล่งอ้างอิงมากกว่า ๕ แหล่ง การเขียนอ้างอิงถูกต้อง แต่ยังไม่ทันสมัยเท่าที่ควร

    ระดับ  ๑  หมายถึง แหล่งอ้างอิงมากกว่า ๕ แหล่ง การเขียนอ้างอิงยังไม่ถูกต้องนัก และยังไม่ทันสมัยเท่าที่ควร

    ข้อสังเกตุประการที่สี่ การเขียนบรรยายระดับคะแนน อยู่ที่จุดเน้นหรือผลที่คาดหวังว่าจะเกิดกับนักเรียนเป็นสำคัญ หากต้องการให้เขาอ้างอิงให้ถูก และทันสมัยก็ใช้ตัวอย่างแรก เป็นต้น

๔. บรรจุคำบรรยายเข้าตาราง ตกแต่งให้สวยงามตามความพอใจ แล้วอย่าลืมให้นักเรียนช่วยพิจารณาด้วยนะคะ หากนักเรียนได้อ่านและเข้าใจเป้าหมายของงาน กำชับให้ดีนักเรียนจะเติบโตเป็นเยาวชนและผู้ใหญ่ที่เป้าหมายในชีวิต และรู้จักการประเมินตนเองอยู่เสมอ นี่แหล่ะคือเป้าหมายสุดท้ายของการประเมินสภาพจริงค่ะ

บายค่ะ ขอให้มีความสุขกับการประเมิน

    ต่อไป...พบกับการหาคุณภาพของรูบริคค่ะ...

 

 

หมายเลขบันทึก: 296649เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2009 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ได้ใจมากๆทำแบบนี้ชาติจะเจริญไม่ต้องรอเลือกตั้ง ไชโย..ไชโย..ยยยย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท