ร่องรอยการเรียนรู้และหลักฐานการทำงานของคุณกิจใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง


การจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร หรือจัดการความรู้เรื่องใดก็ตาม เมื่อได้ดำเนินการไปแล้ว นอกจากจะปรากฏว่าสามารถทำได้หรือไม่ได้งานตามเป้าหมายแล้ว สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นควบคู่เสมอก็คือบทเรียน หรือเคล็ดลับการทำงาน แม้จะเป็นความรู้เล็กๆไม่มากมายด้วยเนื้อหาวิชาก็ตาม (จะให้มีมากมายตามหลักวิชาการคงต้องอาศัยผู้รู้ภายนอกไปสัมภาษณ์สอบถามความรู้ฝังลึกเพิ่มเติมก็ได้) แต่ก็มีความหมายต่อผู้เรียน ประชาชน หรือกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างยิ่ง เขาจะเล่าได้อย่างภาคภูมิใจ ผมใฝ่ฝันอยากเห็นการถอดบทเรียนจากการทำงาน อยากเห็นการเทียบความรู้ประสบการณ์ที่ได้รับให้เป็นคุณกับผู้เรียนหรือคุณกิจ  เช่น ยืนพูดในที่สาธารณะได้ เป็นผู้นำกลุ่มชาวบ้านได้ มีทักษะอาชีพ ประสบความสำเร็จในอาชีพ เป็นต้น ควรจะให้ค่าหน่วยกิตเขาในสาระใด ของหมวดวิชาใด จำนวนเท่าใด

วันนี้ดีใจมากที่เห็นการทำงานในแนวทางนี้ เมื่อได้รับหนังสือเชิญให้เข้าร่วมบรรณาธิการ (ร่าง) กิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับกรอบมาตรฐานการเรียนรู้สาระวิทยาศาสตร์ ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งกำหนดจัดวันที่ 5-6 มิถุนายน 2549 ที่โรงแรมทวินโลตัส มี(ร่าง) กิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับกรอบมาตรฐานการเรียนรู้สาระวิทยาศาสตร์แนบมาให้อ่านล่วงหน้าด้วย อ่านแล้วพบว่าในเล่มประกอบด้วย กิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมด 19 กิจกรรม แบ่งได้ 6 กลุ่ม คือ กลุ่มชีววิทยาและสิ่งแวดล้อม กลุ่มเคมี กลุ่มฟิสิกส์ กลุ่มโลกดาราศาสตร์ กลุ่มทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และกลุ่มบูรณาการ / หลายสาระ ซึ่งมีความสมบูรณ์มาก อ่านแล้วเกือบจะสิ้นสงสัย ไม่ต้องบรรณาธิการอะไรกันแล้ว แต่ก็ไม่วายที่ ผอ.บัญญัติ ลายพยัคฆ์ ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดนครศรีฯ เชิญ นักวิชาการ ครูอาจารย์ ผู้รู้ นักพัฒนาหลักสูตร ร่วม 100 คน มาร่วมกันพิจารณา(ร่าง)กิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับกรอบมาตรฐานการเรียนรู้สาระวิทยาศาสตร์

ผมตั้งใจเต็มร้อยที่จะเข้าร่วมประชุม เพราะเห็นงานอยู่ข้างหน้าเรื่องการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาอาชีพชาวบ้าน ที่ผมกำลังทำอยู่ เป็นแนวทางที่ผมจะได้คิดนำผลและร่องรอยการเรียนรู้ และหลักฐานการทำงานของชาวบ้าน มาเพื่อเทียบโอนเข้าสู่สาระของหมวดวิชาพัฒนาอาชีพ หรือหมวดอื่นๆที่บูรณาการเข้ากับการทำอาชีพ กิจกรรมนี้ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดนครศรีฯ ไม่ธรรมดาจริงๆ เป็นมิติใหม่ของการทำงาน เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สถานศึกษาอื่นๆ ที่มุ่งทำงานอย่างมีกระบวนการและเป้าหมายที่ชัดเจน ตอบสนอง Roadmap ของสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ในการยกระดับปีการศึกษาเฉลี่ยให้สูงขึ้น 9.5 ปี ในปี 2551 นับว่าศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดนครศรีฯได้ทำ KM โดยที่ไม่ได้เป่าร้องให้ใครเขารู้ว่าทำ KM เนียนอยู่ในเนื้องาน ชื่นชมจริงๆ ผมคงจะเข้าร่วมด้วยแน่นอนตามคำเชิญ เพื่อจะได้เรียนรู้วิธีการดีๆมาปรับใช้กับหน่วยงานบ้าง เพราะตั้งใจจะทำเรื่องแบบนี้มานานแล้วครับ



ความเห็น (1)

ขอชื่นชมครูนงและยินดีกับนักเรียนของครูนงทุก ๆ คนครับ

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

http://gotoknow.org/papangkorn

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท