“ปรับวิธีคิดกลุ่มอาชีพ..สู่..การวางแผนการทำงาน”


 (๑๔ ก.พ.๔๙ ณ  อบต.วัดดาว  ต.วัดดาว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี)
 
 
    “ปัญหาที่แก้ไขยากที่สุด..ของกลุ่มอาชีพ”
                        ก่อนที่พวกเราจะจัดกระบวนการเพื่อชวนกลุ่มสตรีวัดดาวพูดคุยเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในการรวมกลุ่มอาชีพในระดับตำบลกับการจัดสรรงบประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อมาพัฒนากลุ่มอาชีพสตรีตำบลวัดดาว โดยในวันนี้ได้มีตัวแทนของแต่ละหมู่มาร่วมหามติข้อตกลงในการจัดสรรงบประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งทางทีมประสานงาน สรส.ภาคกลาง เราได้พูดคุยและปรึกษาหารือกับนายกประทิว รัศมี ก่อนการประชุมว่าโดยความต้องการทางอบต.คาดหวังว่ากลุ่มอาชีพควรมีคำตอบให้แก่ อบต.วัดดาว อย่างไรบ้าง ซึ่งคำตอบที่ได้คือ อบต.คาดหวังให้กลุ่มอาชีพมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมๆ คือ การนำเงินงบประมาณที่ได้มาตัดเสื้อแบ่งกันหรือการจัดไปศึกษาดูงาน โดยที่ไม่รู้ว่าจะไปศึกษาดูงานเพื่ออะไร ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบเดิมๆ และเป็นการละลายเงินงบประมาณโดยที่ไม่เกิดประโยชน์
                        คำตอบที่นายกฯมีให้แก่ทีมฯ เป็นโจทย์ที่ยากในการจัดกระบวนการ เพราะทางทีมฯมีความรู้สึกว่า กลุ่มอาชีพสตรีฯที่มาเป็นตัวแทนเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ต่างมีคำตอบอยู่ในใจอยู่แล้วว่าต้องการเงินงบประมาณที่จะได้มานั้นนำไปตัดเสื้อและไปศึกษาดูงานหรือที่เรารู้ๆกันอยู่ก็คือการไปเที่ยวกันนั่นเอง
                        เป็นความท้าทายของทางทีมฯเป็นอย่างมากที่ต้องจัดกระบวนการเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิดของกลุ่มสตรีฯที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ให้ได้
 
   “นำคำตอบในใจที่กลุ่มมี..มาแซะร่องวิธีคิดเสียใหม่”
 
                        ในครั้งนี้รู้สึกจะเป็นเวทีแรกที่ผู้เขียนต้องเป็น“คุณอำนวย”เต็มตัวในการชวนกลุ่มสตรีฯพูดคุยร่วมกับคุณอัฒยา  สง่าแสง เนื่องจากการเป็นมือใหม่หัดขับ พวกเรายังคงเคอะเขินต่อการชวนคุย แต่ด้วยหน้าที่และการทำงานเพื่อชุมชนท้องถิ่น วิธีการเข้ามวยที่ผู้เขียนพยายามนำมาใช้ทุกครั้งในการเป็นคุณอำนวยในวง คือ การแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน และการพูดจาหยอกเย้าชวนหัวเราะเพื่อให้วงสนทนาเกิดความคลี่คลายและไม่เกิดอาการเกร็งเวลาที่ต้องร่วมสนทนากันเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ
                        จากการที่ผู้เขียนได้สอบถามทุกคนที่เป็นตัวแทนมาเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ต่างได้ข้อสรุปว่าต้องการนำเงินงบประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ไปตัดเสื้อกลุ่มอาชีพของตำบล เพียงเพราะคิดว่าการมีเสื้อใส่เป็นทีมจะทำให้กลุ่มดูเป็นทีมและมองเป็นภาพรวมของตำบลมากขึ้น ส่วนเงินงบประมาณที่เหลือก็จะไปศึกษาดูงานกับพื้นที่อื่นๆเพื่อนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้กับกลุ่ม
                        เมื่อคุณอำนวยเจอคำตอบของกลุ่มฯเช่นนี้และดูเหมือนว่าทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจกับงบประมาณที่จะนำไปตัดเสื้อมาก กลวิธีที่นำมาใช้ในการพูดคุยเพื่อปรับวิธีคิดของกลุ่มอาชีพ คือ
                                                        
·         ถ้า อบต.ไม่อนุมัติให้นำเงินงบประมาณไปตัดเสื้อ ทุกท่านจะนำเงินงบประมาณไปทำอะไร?
Ä...คำตอบที่ได้  คือ  ถ้าไม่ให้เราก็จะไปทำกลุ่มอาชีพของตำบล
·         และถ้าจะจัดทำกลุ่มอาชีพ คิดว่าจะเรียนรู้เรื่องอะไรก่อน?
Ä...คำตอบที่ได้  คือ  การทำกลุ่มอาชีพน้ำยาล้างจาน
·         แล้วที่บอกว่าจะพากลุ่มไปศึกษาดูงานนั้น จะไปดูงานเรื่องอะไร?
Ä...คำตอบที่ได้  คือ  ยังไม่รู้เหมือนกัน
 

แต่ละคำถามที่ทางทีมฯ พยายามถามกลุ่มตัวแทนที่มาเข้าร่วม ทำให้เราประเมินเหตุการณ์ได้ว่า ตัวแทนที่มาเข้าร่วมต่างไม่พอใจในคำถามของพวกเราเพราะคงรู้ตัวแล้วว่าความคาดหวังที่กลุ่มอยากได้ในขณะนี้ ทาง อบต.อาจไม่เห็นชอบด้วย และพยายามให้พวกเราพูดจาหว่านล้อมเพื่อให้กลุ่มปรับเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ เมื่อเราถามว่าจากกิจกรรมเหลียวหลัง แลหน้า เมื่อวันที่ ๓ ก.พ. ๔๙ ที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มได้เรียนรู้อะไรบ้าง คำตอบที่ได้คือ

ระดับตัวบุคคล

·         สมาชิกไม่มีใจ...ที่ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม (มีเพียงไม่กี่คน)
·         ไม่มีจิตสาธารณะหรือเสียสละเพื่อส่วนร่วม
·         ขาดผู้นำในการทำกิจกรรม (ไม่มีคนรับผิดชอบหลักอย่างจริงจัง) การเกี่ยงงานกัน
·         ขาดความสามัคคีซึ่งกันและกันของกลุ่ม
·         ภาวะจิตใจของคนที่ทำ..เกิดความท้อแท้
 

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม

·         ของที่ผลิตได้ไม่มีคุณภาพ...เก็บไว้ได้ไม่นาน
·         ไม่เป็นที่นิยมของคนซื้อเพราะเป็นขนมไทย ถ้าจะขายได้ต้องมีงานบุญ
·         ขาดความรู้ในการทำ
 

ทุนในการดำเนินการ

·         ไม่มีทุนในการดำเนินการ
·         ขาดอุปกรณ์
 

การจัดการตลาด

·         ไม่มีตลาดรองรับที่ต่อเนื่องทั้งภายในชุมชนและภายนอกชุมชน
·         ขาดการประชาสัมพันธ์เพื่อขายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม
·         บางคนที่เก่งแล้วมักแยกไปทำเองจึงเกิดการแย่งตลาดของกลุ่มกันเอง
 

หน่วยงานราชการที่ให้การสนับสนุน

·         ขาดหน่วยงานพี่เลี้ยงที่ติดตามอย่างต่อเนื่อง
·         ขาดหน่วยงานสนับสนุนด้านทุน  ด้านความรู้ในการผลิต ฯลฯ
 
           เมื่อคำตอบที่ได้เป็นการชี้ให้เห็นว่าที่กลุ่มนั้นล้มเหลวเพราะอะไร และถ้ากลุ่มจะเข้มแข็งได้การตัดเสื้อเพื่อนำไปแจกกับสมาชิกของกลุ่มทั้ง  ๑๕๐  คนจะเป็นหนทางที่แก้ไขปัญหาได้หรือ? จากการชวนคุยและพากลุ่มร่วมคิดร่วมกันวิเคราะห์ ทำให้กลุ่มตัวแทนของกลุ่มสตรีวัดดาวเริ่มปรับวิธีคิดใหม่ โดยการรวมกลุ่มอาชีพเป็นภาพรวมของตำบลโดยในขั้นต้นจะเรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพการทำน้ำยาล้างจานเพื่อขายในตำบล โดยทีมอบต.วัดดาว จะเป็นทีมพี่เลี้ยงและเป็น “คุณเอื้อ”เพื่อช่วยสนับสนุนให้กลุ่มอาชีพได้เรียนรู้ร่วมกัน และทางสรส.จะเข้ามาช่วยเป็นเพื่อนคู่คิด..ชวนคุย..ชวนกลุ่มวิเคราะห์และเรียนรู้เรื่องการจัดการให้มากขึ้น
 
           ในครั้งนี้มติที่ประชุมได้ข้อสรุปเพื่อการวางแผนการพัฒนากลุ่มอาชีพของตำบล  ดังนี้
·         ตัวแทนแต่ละหมู่ต้องไปสรรหาสมาชิกในหมู่บ้าน หมู่บ้านละ ๑๕ คน ในตำบลมี  ๑๐ หมู่บ้านรวมทั้งตำบลเป็น ๑๕๐ คน โดยการชวนเข้าร่วมกลุ่มห้ามกล่าวอ้างถึงเรื่องการตัดเสื้อเพื่อแจกให้กับกลุ่มเด็ดขาด ขอให้ผู้ที่สมัครนั้นต้องการเรียนรู้ด้วย “ใจ”อย่างแท้จริง
·         กำหนดจัดประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันทั้งตำบลให้กับสมาชิก ๑๕๐ คน ถึงแนวทางการร่วมกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพโดยมติของกลุ่ม คือ การทำน้ำยาล้างจาน โดยกำหนดจัดประชุมในวันที่  ๒๓  ก.พ. ๔๙  ณ  ศาลาการเปรียญวัดดาว  เวลา  ๐๙.๐๐  น.เป็นต้นไป
·         จัดฝึกอบรมการทำน้ำยาล้างจาน ให้กับตัวแทนแต่ละหมู่บ้านๆละ ๒ คน รวม ๒๐ คน
·         จัดอบรมการบริหารจัดการกลุ่ม เนื่องจากกิจกรรมที่ผ่านมาปัญหาหนึ่งที่ทำให้กิจกรรมหยุดดำเนินการ คือการจัดการบริหารที่ไม่เป็นระบบ
·         ให้ตัวแทนสมาชิกที่ผ่านการอบรมนั้นลงมือทำ  ส่วนสมาชิกที่เหลือเป็นผู้ร่วมเรียนรู้
·         สรุปผลการทำงานเป็นระยะโดยทีมประสานงาน สรส.ร่วมกับหน่วยงานพี่เลี้ยง
 
สุดท้ายเรื่องการตัดเสื้อของกลุ่มอาชีพสตรีตำบลวัดดาว ทางนายกเห็นว่าถ้าเป็นเรื่องที่กลุ่มต้องการและคิดว่าอยากจะได้  ทางอบต.วัดดาว จะจัดงบประมาณบางส่วนที่เป็นค่าอาหารในการจัดฝึกอบรมมาตัดเสื้อให้กับกลุ่ม แต่มีข้อแม้ว่าต้องมาเข้าร่วมทุกครั้งตลอดจนครบ ๕ เวที ซึ่งกลุ่มตัวแทนที่เข้าร่วมต่างก็ตกลงตามข้อเสนอและพอจะยิ้มออกเพราะอย่างน้อยความคาดหวังที่ว่าอยากจะได้เสื้อของกลุ่มอาชีพสตรีต.วัดดาว ก็ยังพอมีแสงสว่างปลายอุโมงค์ให้เห็นเพียงแต่ถ้าอยากได้ก็ต้องลงแรงกันหน่อยเท่านั้นเอง
 
 
 
 
AAR  กับนายกท้ายเวที
 
                        จากการที่ทางทีมฯได้จัดกระบวนการเพื่อชวนกลุ่มคิดวิเคราะห์เพื่อวางแผนการทำงานในเวทีครั้งนี้ ทางทีมฯเองก็ต้องการคำตอบจากนายกว่าในการจัดกระบวนการในครั้งนี้ ผลที่ออกมานั้นสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้นำท้องถิ่นหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้ นายกประทิวบอกว่า “รู้สึกดี..และคิดว่าสมหวัง เพราะอย่างน้อยในการชวนคุยในครั้งนี้ กลุ่มอาชีพเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางวิธีคิดโดยหาข้อตกลงเพื่อใช้ความรู้เพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ” นายกบอกว่าจริงๆแล้ว อบต. ไม่เคยเสียดายงบประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ที่จะให้กับชาวบ้านเลย เพียงแต่จะทำอย่างไรให้เขาได้ หยุดคิดและใช้สติตรึกตรองและต่อจากนั้น..ปัญญาก็จะเกิด  สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อบต.คาดหวังอยากให้ชาวบ้าน คิดเป็น  ทำเป็น และสามารถพึ่งพาตนเองได้เท่านั้นเอง เพียงแต่ อบต.ยังไม่สามารถชวนชาวบ้านคิดวิเคราะห์ได้ ด้านอบต.เองยังคงต้องการบุคคลภายนอกเพื่อเข้ามาช่วยกระตุกกระตุ้นการเรียนรู้ให้แก่ชาวบ้านอย่างกับสรส.ที่เข้ามาเป็นเพื่อนชวนคุยทำให้ชาวบ้านได้หยุดคิดได้มากขึ้น เพราะในหลักการความเป็นจริง ชาวบ้านมักเชื่อถือคนภายนอกมากกว่าคนภายใน ดังนั้น การเข้ามาช่วยเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ชาวบ้านต.วัดดาวของสรส.ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นเพราะถ้าชาวบ้านยังคิดได้ไม่เป็น ทำเองไม่ได้ เขาก็ต้องรอและกลายเป็นผู้รับเสมอไปจะไม่มีการเรียนรู้เพื่อการพึ่งพาตนเองได้เลย
                        ข้อสรุปของการจัดวทีในครั้งนี้เป็นแรงกำลังที่ทำให้ทีมฯยังคงต้องการทำงานเพื่อการพัฒนาด้านการจัดการความรู้เพื่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยการที่พวกเราได้ลงมาทำเอง ปฏิบัติจริง โดยที่ไม่มีคุณทรงพลอยู่ในเวทีทำให้พวกเราต้องเรียนรู้กับการจัดการเวทีให้มากยิ่งขึ้น การได้ทำงานร่วมกับอบต.วัดดาว เปรียบเสมือนเป็นเวทีทดสอบการทำงานของทางทีมว่าสามารถนำความรู้ เครื่องมือ ที่ทางสรส.จัดเตรียมอาวุธทางปัญญามาให้นั้น มาปรับใช้ในการทำงานได้อย่างไร?

ชไมพร  วังทอง

ผู้ประสานงาน สรส.ภาคกลาง

หมายเลขบันทึก: 29591เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2006 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท