การสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง ต่อ โรงเรียนพ่อแม่ของ ต.วัดดาว


( ครั้งที่ ๑ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๔๙ ณ ศาลาการเปรียญวัดดาว ต.วัดดาว  อ.บางปลาม้า    จ.สุพรรณบุรี ) 

จากการที่นายกประทิว  รัศมี (นายก อบต.วัดดาว)  ได้ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อวางแผนการจัดทำ ร.ร.พ่อแม่ ในต.วัดดาว กับ สรส.เมื่อวันที่  ๒๗  ธ.ค. ๔๘ ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความต้องการในการพัฒนาเรื่องของการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดด้านการพัฒนาสมองให้แก่เด็กเล็ก ตลอดจนการพัฒนาครูศูนย์เด็กเล็กที่มีอยู่ในตำบลทั้ง   ๒  ศูนย์ ให้รู้จักการใช้วิธีการ  เครื่องมือ เพื่อพัฒนาสมองด้านการเรียนรู้ให้แก่เด็กเล็กที่อยู่ในตำบลให้มีความทัดเทียมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่อยู่ในตัวอำเภอเมือง หรือที่อื่นๆเพื่อป้องกันมิให้เด็กเล็กที่อยู่ในตำบลต้องไปเรียนที่อื่น เพียงเพราะผู้ปกครองในตำบลต่างมองว่าศูนย์เด็กเล็กที่มีอยู่ในตำบลไม่มีศักยภาพเพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้บุตรหลานของเขานั้นฉลาดและมีพัฒนาการที่ดีได้เทียบเท่ากับ ร.ร.ในตัวเมือง
                        การเชิญวิทยากรจากสถาบันวิทยาการการเรียนรู้(สวร.) ซึ่งทำหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้วยฐานความรู้เรื่องสมองจึงเป็นเรื่องของแนวคิดที่สอดคล้องกับสิ่งที่สถาบันสรส.เห็นความสำคัญตรงกัน ตรงที่เด็กควรได้รับการพัฒนาการด้านสมองและพฤติกรรมที่ดีควบคู่กัน ก่อนการสอนที่แค่ให้เด็กแค่เรียนเก่งเท่านั้น จึงเป็นสิ่งที่ สรส. ได้ให้คำแนะนำกับผู้นำท้องถิ่นว่าสมควรจัดให้มีวิทยากรที่ชำนาญการเฉพาะด้านลงพื้นที่เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจต่อการจัดทำ “ร.ร.พ่อแม่” ของตำบล
                        อบต.วัดดาว เล็งเห็นความสำคัญของพัฒนาการของเด็กไทยจากการปูพื้นฐานการเรียนรู้จากเด็กวัย ๓ - ๕ ขวบ เพื่อการเติบโตเป็นเด็กที่ดีมีความรู้ในอนาคต แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่เด็กนั้น คือ การเร่งสร้างความเข้าใจกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อให้เข้าร่วมกระบวนการเพื่อการพัฒนาบุตรหลานไปพร้อมๆกับครูศูนย์ฯ  ดังนั้น แนวทางในการพัฒนา ร.ร.พ่อแม่ ในตำบลจึงจำเป็นต้องเชิญวิทยากรภายนอกที่ทีความรู้เฉพาะด้านมาจัดกระบวนการเพื่อทำให้การเรียนรู้ที่ได้มีความคุ้มค่าและสามารถพัฒนางานได้อย่างต่อเนื่อง
 
 
n   บทบาทหน้าที่...ที่ประสานงานอย่างลงตัว
·         บทบาทของสรส. คือ การเป็นเพื่อนคู่หูในการพัฒนาท้องถิ่นโดยใช้หลักการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ถ้าเราไม่สามารถจัดกระบวนการเองได้เราก็ต้องเป็นเพื่อนที่สามารถประสานหาแหล่งเรียนรู้จากภายนอกมาให้กับชุมชนท้องถิ่นได้ ดังนั้น การสรรหาความรู้  แหล่งเรียนรู้  หรือแม้กระทั่งวิทยากรที่จะช่วยเสริมเรื่องของกระบวนการจัดการความรู้ในชุมชนทั้งในด้านของผู้นำท้องถิ่น  การพัฒนาศพด.  การพัฒนากลุ่มอาชีพ  หรือทุกๆเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ในชุมชนท้องถิ่น  สรส.ต้องเข้ามาช่วยเป็นเพื่อนที่ช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นเล็งเห็นความสำคัญของการใช้ความรู้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ได้
ดังนั้น ในการพัฒนาโรงเรียนพ่อแม่ ครั้งที่ ๑ ของตำบลวัดดาว ในฐานะของสรส.จึงเป็น “คุณประสาน” เพื่อประสานความต้องการของชุมชนท้องถิ่นที่ต้องการพัฒนาและสร้างความเข้าใจเรื่องของ “โรงเรียนพ่อแม่” ที่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) คือ อบต.วัดดาว เล็งเห็นปัญหาของจุดคอขวดที่ว่าการพัฒนาบุตรหลานตั้งแต่เยาว์วัย จำเป็นต้องให้พ่อแม่และผู้ปกครองร่วมสร้างความเข้าใจร่วมกันในการสร้างความร่วมมือเพื่อร่วมพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้แก่บุตรหลานเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นคือการผลักภาระการเลี้ยงดูบุตรหลานให้เป็นภาระหน้าที่ของครูเพียงอย่างเดียว
·         บทบาทของอบต.วัดดาว คือ การเป็น “คุณเอื้อ” เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นได้เกิดการเรียนรู้  การสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพราะ อบต.เปรียบเป็นแหล่งทุนหรือรัฐบาลระดับตำบลที่ต้องสรรหาและพัฒนาตำบล ดังนั้น บทบาทของอบต.วัดดาวจึงต้องเป็นผู้เอื้อให้ชุมชนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชุมชนต้องการมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมเพื่อให้เกิดกระแสของการสร้างความร่วมมือหรือการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ความรู้เพื่อการพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด
·         บทบาทของสวร. คือ การเป็น “คุณอำนวย” ในเวทีที่ช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีความเข้าใจและเล็งเห็นความสำคัญในการจัดการเรียนรู้ให้แก่บุตรหลานตามแนวคิดของ Brain – Based Learning (BBL) โดยใช้ธรรมชาติของการเรียนรู้ทางสมองเป็นพื้นฐานในการจัดรูปแบบกิจกรรม  การใช้สื่อการเรียนการสอนที่เกื้อหนุนให้เด็กมีความสนใจใคร่รู้ โดยพยายามจัดการเรียนรู้โดยให้เด็กได้ใช้ทุกส่วนของร่างกายเพื่อพัฒนาการทางสมอง  นอกจาก การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาการทางสมองของเด็กแล้ว บทบาทของสวร.ที่ลงพื้นที่ต.วัดดาวครั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกับผู้ปกครองในเบื้องต้นต่อการให้ความสำคัญกับพัฒนาการทางสมองของเด็กเพราะเด็กวัย  ๓ - ๕  ขวบ เป็นวัยที่สมองมีพัฒนาการอย่างเต็มที่ บุคคลที่มีส่วนช่วยผลักดันให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด คือ ผู้ปกครอง วิทยากรได้พยายามจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น  การเข้าร่วมกิจกรรม  และถอดความรู้จากกิจกรรมว่ามีส่วนช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร
และนอกจากการสร้างความเข้าใจร่วมกับผู้ปกครองในเบื้องต้นแล้วนั้น สิ่งสำคัญที่ทาง สวร.ต้องช่วยพัฒนาเรื่องของการจัดกระบวนการเรียนรู้แก่เด็กเล็กก็คือครูผู้ดูแลเด็ก และการเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในตำบลวัดดาว ซึ่งมีอยู่ ๒ ศูนย์ฯ คือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนวัดดาว และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโพตะครวน เพื่อช่วย
สร้างความเข้าใจร่วมกับครูศพด.และอบต.วัดดาวซึ่งเปรียบเสมือนเป็นพี่เลี้ยงของครูศูนย์ฯในการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดของ BBL คือ การนำองค์ความรู้เรื่องของสมองและธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กเพื่อนำมาใช้ออกแบบในการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากโลกแห่งความเป็นจริง  ธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม  การเรียนรู้ผ่านการเล่น  การลองผิด  ลองถูก จนเป็นการเรียนรู้ของตนเองจากประสบการณ์จริง
 
·         บทบาทของพ่อแม่.และครูผู้ดูแลเด็ก คือ การเป็น“คุณกิจ” ที่ต้องนำกระบวนการทีวิทยากรจัดให้เพื่อการนำไปปรับใช้ในการเลี้ยงดูและดูแลเด็กเล็ก
โดยพ่อแม่..ต้องพยายามสร้างความเข้าใจใหม่และปรับวิธีคิดในการเลี้ยงดูบุตรหลานโดยการให้ความสำคัญและนำกิจกรรมจากสิ่งที่วิทยากรให้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเล่านิทาน  การไม่ปิดกั้นการเรียนรู้ของเด็ก โดยปล่อยให้เขาเรียนรู้เองจากการได้ลงมือปฏิบัติ อย่างเช่น การปล่อยให้เด็กได้เล่นดิน เล่นทราย  เล่นน้ำ เพื่อให้เขาได้เกิดการเรียนรู้ เพราะบางครั้งผู้ปกครองบางท่านกลัวว่าลูกจะเปื้อนเปรอะเลอะเทอะจากการเล่นแต่หารู้ไม่ว่านั่นคือ การปิดกั้นการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจใหม่ให้แก่ผู้ปกครองเพื่อการพัฒนาการที่ดีของเด็กตั้งแต่เยาว์วัย โดยเฉพาะเป้าหมายของร.ร.พ่อแม่ในต.วัดดาวนั้นสิ่งที่สำคัญ คือ การให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาให้แก่เด็กในตำบล เพราะเด็กคือผู้นำในอนาคตที่สามารถวางรากฐานและปลูกฝังได้ เมื่อเด็กเติบโตขึ้นก็จะสามารถ..รักและพัฒนาท้องถิ่นได้เอง
ในฐานะครูผู้ดูแลเด็ก..ต้องเป็นผู้ที่สามารถออกแบบและจัดกิจกรรมที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องต่อการพัฒนาการทางสมองของเด็กได้ไม่ว่าจะเป็นการจัดสื่อการเรียนการสอน สิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง  การปลูกฝังมารยาทเพื่อการเติบใหญ่เป็นต้นกล้าที่มีคุณธรรม 
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปูแนวทางด้านการพัฒนาโรงเรียนพ่อแม่ของตำบลวัดดาว ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องร่วมพัฒนาและออกแบบกระบวนการเพื่อปรับให้มีความเหมาะสม  สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนตำบลวัดดาวอยู่อย่างต่อเนื่อง  ดังนั้น  การจัดเวทีและรูปแบบกิจกรรมในวันนี้จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการพัฒนา“ร.ร.พ่อแม่”ของต.วัดดาว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรีเท่านั้น
 
n   ความตั้งใจจริงของ “คุณเอื้อ”
 
ในฐานะ“คุณเอื้อ”คือ อบต.วัดดาว นั้นหมายมั่นปั้นมือเพื่อพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในตำบลเพื่อให้มีการจัดการเรียนการสอนที่เทียบเท่าศูนย์ฯเด่นๆเทียบเท่าที่อื่นๆ อบต.วัดดาวจึงได้จัดส่งครูศพด.ในตำบลเพื่อเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการที่ทาง อบต.หัวไผ่  อ.เมือง  จ.สิงห์บุรี  เป็นเจ้าภาพในการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครูผู้ดูแลเด็กของศพด. โดยจัดฝึกอบรมตามหลักการของ BBL เพื่อให้ครูผู้ดูแลเด็กนำหลักการ  รูปแบบ และการจัดกระบวนการเรียนการสอนจากการลงมือปฏิบัติจริงเพื่อสามารถนำหลักการที่ได้ไปปรับใช้ในการเรียนการสอนของศูนย์ฯตนเองต่อไป  ซึ่งเวทีครั้งนี้สรส.ได้ทำหน้าที่เป็นคุณประสานและจัดการหาวิทยากรที่มีความสามารถเพื่อจัดกระบวนการเพื่อพัฒนาครูศพด.ในพื้นที่และที่เข้าร่วมเป็นเครือข่าย มาร่วมเรียนรู้ร่วมกันโดย อบต.หัวไผ่ เป็นเจ้าภาพในการจัดฝึกอบรม ระหว่างวันที่  ๘ - ๑๐  กุมภาพันธ์  ๒๕๔๙ ณ  โรงเรียนหัวไผ่  อ.เมือง  จ.สิงห์บุรี

ชไมพร  วังทอง

ผู้ประสานงาน สรส.ภาคกลาง

คำสำคัญ (Tags): #โรงเรียนพ่อแม่
หมายเลขบันทึก: 29584เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2006 15:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท