แมลงวัน -พันธิตรา กมล 45312089


การควบคุมแมลงวัน
แมลงวัน
การควบคุมแมลงวันบ้านโดยทั่วไปอาจจะทำได้โดย 2 วิธี คือ (1) พยายามป้องกันไม่ให้แมลงมาตอมอาหาร และน้ำดื่มของคน และสัตว์ อาหาร และน้ำดื่มจะต้องปกคลุมด้วยฝาปิดถ้าทำได้ (2) วิธีที่ 2 ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลอย่างมาก วิธีดังกล่าวทำได้โดยการทำลายทั้งแมลงตัวเต็มวัย และแหล่งเพาะพันธุ์ วิธีการฆ่าแมลงตัวเต็มวัยที่ได้ผลมากที่สุดคือการใช้สารเคมีฉีดพ่นตามแหล่งเกาะพัก แหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน แต่ทั้งนี้การควบคุมแมลงวัน จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินการ การควบคุมแมลงวัน จะต้องคำนึงถึงชีววิทยาของแมลงวัน แหล่งเพาะพันธุ์ แหล่งเกาะพัก ความชุกชุม ตลอดจนความใกล้ชิดกับคน โดยทั่วไปการควบคุมแมลงวันในระยะยาวต้องพิจรณาถึงมาตรการทางสุขาภิบาล และมาตรการด้านสุขวิทยาเป็นสำคัญ เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการควบคุมแมลงวัน ได้แก่

การจัดการด้านสุขวิทยา และสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม

แมลงวันชอบวางไข่ในสิ่งขับถ่ายทุกชนิดของสัตว์รวมทั้งคน และในพืชผักที่เน่าเปื่อยทุกชนิด ดังนั้นวิธีที่สำคัญที่ใช้ในการควบคุม ก็คือ การจัดการสุขาภิบาลในที่อยู่อาศัย และมีการระบาย ตลอดจนกำจัดของเสียที่ถูกต้อง ระบบการสุขาภิบาลเหล่านี้

 

ควรจะถูกดัดแปลงเพื่อทำลายการแพร่พันธุ์ของแมลง และวิธีการต่างๆ ควรจะทำเป็นขั้นตอน ดังนี้

กำจัด และลดแหล่งเพาะพันธุ์ เช่น
- จัดเก็บขยะ และนำไปทิ้งให้มิดชิดอย่างสม่ำเสมอ
- ทำความสะอาดภาชนะบรรจุขยะ เป็นประจำทุกครั้งที่นำขยะไปทิ้ง
- นำมูลสัตว์ไปฝังกลบ หรือทำปุ๋ยคอก หากเป็นฟาร์มปศุสัตว์ ก็ควรจัดสถานที่เก็บมูลสัตว์ที่เหมาะสม และถูกหลักสุขาภิบาล
- การกำจัดขยะ และซากสัตว์ที่ตายแล้วไปทิ้งโดยเร็ว กำจัด และทำลายโดยเผาทิ้งหรือใส่ถุงปิดสนิทอย่าปล่อยทิ้งไว้
- กองขยะเปียก การแก้ปัญหาที่แหล่งเพาะพันธุ์ช่วยลดจำนวนประชากรแมลงวันได้ไม่ต่ำกว่า 90% ถ้าพบว่ามีเศษขยะเปียก ควรทำให้แห้ง หรือทำให้ความชื้นลดลง
- การดูแลความสะอาดบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะบ่อเกราะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน
- การควบคุมแมลงวันเข้าในบริเวณสถานประกอบการ โดยตรวจรถขนขยะ รถส่ง หรือรับสินค้า เพราะอาจเป็นสาเหตุของการนำพาแมลงวันเข้ามา ซึ่งต้องมีมาตราการป้องกัน
ให้สุขศึกษา เช่น
- ให้ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแมลงวันแก่สถานประกอบการต่างๆ
- อบรมผู้ประกอบการ ให้ได้รับความรู้ที่ถูกต้อง
- ให้พนักงานภายในสถานประกอบการนั้นๆ ช่วยกันดูแลรับผิดชอบด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม

การใช้สารเคมีกำจัดแมลง

สำหรับการใช้สารเคมี ควรใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น สารเคมีที่จะนำมาใช้ในการควบคุมแมลงวันควรมีคุณสมบัติ
ดังนี้
- มีประสิทธิภาพสูง ใช้ในปริมาณน้อย และแมลงวันดื้อยาได้ยาก
- มีฤทธิ์คงทานได้นานในธรรมชาติ และไม่สลายตัวเร็วเกินไป
- มีความปลอดภัยต่อคน สัตว์เลี้ยง และสัตว์ในธรรมชาติ สามารถถูกกำจัดจากร่างกายได้เร็ว หากได้รับเข้าไป ไม่สะสมในเนื้อเยื่อ ไขมัน และน้ำนม
- สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมยาวนาน
- สะดวกต่อการใช้งาน ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือสลับซับซ้อน

 

การใช้สารเคมีกำจัดแมลงวัน สามารถทำโดยวิธีต่างๆ ดังนี้
- การกำจัดหนอนแมลงวันในแหล่งเพาะพันธุ์ จะดำเนินการ โดยเครื่องพ่นหมอกควัน หรือเครื่องอบละออง โดยให้ขนาดของละอองน้ำยามีขนาดใหญ่พอสมควร เพื่อให้พื้นผิวของแหล่งเพาะพันธุ์เปียกได้ลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร โดยใช้สารเคมีกลุ่ม organophosphorus หรือกลุ่ม carbamate เช่น diazinon นอกจากนี้สามารถใช้สารยับยั้งการเจริญเติบโต เช่น diflubenzuron หรือ cyromazine แหล่งเพาะพันธุ์ที่เหมาะสมกับวิธีนี้ ได้แก่ กองขยะในตลาด สถานประกอบการ และสถานศึกษา เป็นต้น

- การกำจัดแมลงวันตัวเต็มวัย ด้วยสารเคมีที่มีฤทธิ์ตกค้างตามแหล่งเกาะพัก วิธีนี้ใช้เมื่อมีความจำเป็นที่ต้องลดความชุกชุมของแมลงวันลงในเวลาสั้น เช่น ในช่วงที่มีโรคติดต่อระบาด โดยฉีดพ่นเฉพาะแหล่งเกาะพักที่ใกล้แหล่งเพาะพันธุ์เท่านั้น สารเคมีที่ใช้คือ fenitrothion, diazinon และ pyrimiphos methyl

- การใช้สารเคมีชุบวัสดุห้อยแขวน
เนื่องจากแมลงวันมีนิสัยชอบเกาะพักตามเชือก สายไฟ หรือวัสดุที่ห้อยแขวนอยู่ในแนวดิ่ง จึงนำเอาเชือกหรือวัสดุที่ยาวประมาณ 1-2 เมตร มาชุบน้ำตาลผสมสารเคมี เช่น diazinon, fenitrothion หรือ pyrimiphos methyl แล้วนำไปห้อยไว้บริเวณตลาด ร้านค้า โรงฆ่าสัตว์ ร้านอาหาร หรือโรงเรือนอื่นๆ โดยเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 2-3 เดือน

- การใช้เหยื่อพิษ วิธีการนี้แนะนำให้ใช้ในแหล่งที่มีแมลงวันชุกชุม เช่น บริเวณร้านค้า โรงครัว โรงงานประกอบอาหาร และแหล่งที่มีแมลงชนิดอื่นๆ เหยื่อพิษมีหลายรูปแบบ ได้แก่
- เหยื่อชนิดแห้งเคลือบน้ำตาลผสมสารเคมี (dry scatter ait)
- เหยื่อชนิดน้ำผสมน้ำตาล หรือสารล่อแมลง (liquid sprinkle bait) ใช้พ่นตามแหล่งที่มีแมลงวันชุกชุม
- เหยื่ออาหารชนิดน้ำ (liquid dispensor bait) เช่น นม หรือน้ำตาลผสมสารเคมี
- เหยื่อชนิดของเหลวข้น (viscous paint-on bait) เป็นกาวผสมน้ำตาล หรือสารล่อ แล้วชุบแท่งไม้ตามแหล่งที่แมลงวันชุกชุม อาจผสมสารเคมีด้วยก็ได้

-การพ่นเคมีแบบฟุ้งกระจาย วิธีการนี้สามารถทำได้ทั้งภายใน และภายนอกอาคาร อาจใช้วิธีพ่นหมอกควัน หรือพ่นฝอยละเอียดก็ได้

การควบคุมแมลงวันโดยวิธีกล วิธีนี้ไม่ได้ลดประชากรของแมลงวันในธรรมชาติ
แต่เป็นการป้องกันแมลงวันไม่ให้เล็ดลอดเข้ามาในอาคาร หรือกำจัดแมลงวันที่เล็ดลอดเข้ามาได้จำนวนน้อย ได้แก่ การใช้มุ้งลวด การใช้ไม้ตีแมลงวัน การใช้กรงดักแมลงวัน เป็นต้น
ตัวอย่างกล่องดักแมลงวัน

- การวางเหยื่อพิษสำเร็จรูป (Bait) จะดำเนินการวางสารเคมีเหยื่อภายในกล่องดักแมลงวัน (Bait Station) ซึ่งมีลักษณะดังนี้คือ เป็นกล่องลักษณะสี่เหลี่ยม มีฝาปิดใสสองชั้น ซึ่งเมื่อแมลงวันบินเข้าไปกินเหยื่อสดที่อยู่ในกล่อง ทันทีที่กินเสร็จแมลงวันจะบินขึ้น และจะติดอยู่ที่ฝาชั้นที่สอง ส่วนของตัวกล่องนั้นมี มีรูอยู่โดยรอบกล่อง เพื่อให้แมลงวันสามารถบินผ่านเข้าไปได้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำกล่อง และแมลงวันภายในกล่องไปกำจัดต่อไป โดยการวางกล่องเหยื่อนั้น จะวางตามจุดที่กำหนด และความเหมาะสมของสถานที่ สำหรับการวางกล่องเหยื่อ คือ วาง ณ แหล่งหากินของแมลงวัน โดยดูจากสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการหากิน เช่น ห้องอาหาร ห้องครัว ส่วนผลิต จุดพักขยะ เป็นต้น ซึ่งหากจุดที่ดำเนินการวางกล่องดัก อยู่ใกล้แหล่งบริเวณที่มีอาหารของแมลงวัน การวางสารเคมีเหยื่อ อาจต้องใช้เหยื่ออาหารสดคลุกปนกับสารเคมีเหยื่อ เพื่อเป็นการดึงดูดมากขึ้น แต่วางสารเคมีเหยื่อนั้นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและการปนเปื้อนด้วย ดังนั้นหากจุดที่วางเป็นบริเวณภายในส่วนการผลิต อาจจะใส่เหยื่ออาหารสดในกล่องอย่างเดียว เพื่อเลี่ยงต่อการปนเปื้อนในอาหาร การใส่สารเคมีเหยื่อที่วางในกล่องดักแมลงวันนั้น ช่วยป้องกันสัตว์อื่นไปกิน ไม่ควรวางสารเคมีบนพื้น หรือโยนทั่วไป ทั้งนี้สารเคมีจะเสื่อมสภาพ และอาจปนเปื้อนในอาหาร หรือสัตว์อาจไปกินเกิดอันตรายได้

การควบคุมแมลงวันโดยวิธีกายภาพ ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพดีนักสำหรับแมลงวัน แต่ก็มีใช้กันมากตามศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้า โรงอาหาร โรงพยาบาล เช่น กับดักไฟฟ้า เป็นต้น

การควบคุมแมลงวันโดยชีววิธี ใช้สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมาช่วยทำลายแมลงวัน ทั้งระยะไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ได้แก่

- ตัวห้ำ (predators) เป็นสัตว์ที่กินแมลงวันเป็นอาหาร เช่น แมงมุม แมลงหางหนีบ ตั๊กแตนตำข้าว มด จิ้งจก กบ คางคก และนก นอกจากนี้ไรบางชนิดกินไข่ และตัวอ่อนแมลงวันเป็นอาหารด้วย
- ตัวเบียน (parasitoids) เป็นสัตว์ที่มีตัวอ่อนเข้าไปอาศัยอยู่ในตัวอ่อนของแมลงวัน ทำให้ระยะตัวอ่อนของแมลงวันตาย เช่น แตนเบียน แมลงวันก้นขน และด้วงก้นกระดก
- ใช้จุลินทรีย์ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis และเชื้อรา Entomopthora sp.
- การใช้เหยื่อสด ใส่ลงในกล่องดักแมลงวัน ซึ่งมีลักษณะดังนี้คือ เป็นกล่องลักษณะสี่เหลี่ยม มีฝาปิดใสสองชั้น ซึ่งเมื่อแมลงวันบินเข้าไปกินเหยื่อสดที่อยู่ในกล่อง ทันทีที่กินเสร็จแมลงวันจะบินขึ้น และจะติดอยู่ที่ฝาชั้นที่สอง ส่วนของตัวกล่องนั้นมี มีรูอยู่โดยรอบกล่อง เพื่อให้แมลงวันสามารถบินผ่านเข้าไปได้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำกล่อง และแมลงวันภายในกล่องไปกำจัดต่อไป โดยการวางกล่องเหยื่อนั้น จะวางตามจุดที่กำหนด และความเหมาะสมของสถานที่ สำหรับการวางกล่องเหยื่อ คือ วาง ณ แหล่งหากินของแมลงวัน โดยดูจากสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการหากิน เช่น ห้องครัว ส่วนผลิต จุดพักขยะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2957เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2005 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท