ชีวิตที่พอเพียง : ๘๓๖. วางแผนขับเคลื่อน “ครูเพื่อศิษย์” เต็มทั้งแผ่นดิน (๖) เชื่อมโยงกับเครือข่ายผู้บริหารเพื่อศิษย์ และเครือข่ายอื่นๆ


ตอนที่ ๑ 

ตอนที่ ๒     

ตอนที่ ๓ 

ตอนที่ ๔

ตอนที่ ๕


          เมื่อวันที่ ๑ ก.ย. ๕๒ ผมไปร่วมการประชุม เครือข่ายสถาบันทางปัญญา  “ปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะคนไทย” ครั้งที่ ๑๗   โดยมี ศ. นพ. ประเวศ วะสี เป็นประธาน   ได้ฟังการนำเสนอของ อ. สุรพงษ์ งามสม ผอ. รร. สุนทรภู่พิทยา  อ. แกลง  จ. ระยอง และ อ. สุภาวดี วงษ์สกุล  ผอ. รร. สายปัญญารังสิต  จ. ปทุมธานี   ผมได้ชื่นใจที่ได้ฟังวิธีฟื้นโรงเรียนขึ้นจากสภาพไม่มีใครอยากส่งลูกมาเรียน   เป็นเด็กอยากแย่งกันสมัครเข้าเรียน   เปลี่ยนสภาพจากโรงเรียนไร้วิญญาณ   เป็นโรงเรียนที่คึกคักกระฉับกระเฉง

          ผู้บริหารโรงเรียนทั้ง ๒ ท่านนี้ ทั้งเก่ง และจิตใจดี   ประเทศไทยโชคดีที่มีผู้อำนวยการโรงเรียนอย่างนี้   และผมเชื่อว่ายังหาได้อีกมาก   ผมเชื่อว่าในท่ามกลางความอ่อนแอของระบบการศึกษา ยังมี ผอ. ดี และครูดีอีกมาก   ที่จะมาร่วมกันทำเพื่อศิษย์    ไม่ใช่ทำเพื่อกู 

          ทำให้ผมนึกได้ว่า เครือข่ายครูเพื่อศิษย์จริงๆ แล้ว เป็นเครือข่ายสังคมไทยเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก   เพราะจะเป็นเครือข่ายที่ซับซ้อนเชื่อมโยงหลากหลายเครือข่ายเข้ามาร่วมมือกัน  

          เครือข่ายผู้บริหารโรงเรียน  เครือข่ายผู้ปกครอง   เครือข่ายครูภูมิปัญญาที่อาสาสมัครหนุนการเรียนรู้ของเด็ก   เครือข่ายนักเรียนจิตอาสาทำดีเพื่อชุมชน (นี่คือเครือข่ายการเรียนรู้ด้านใน)   เครือข่ายเยาวชนเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ    มีเครือข่ายดีๆ เราจะเปิดช่อง และชักชวน มาร่วมมือร่วมใจกัน ทำเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็ก   โดยเราจะเลือกเฉพาะส่วนของเครือข่ายที่ต้องการทำเพื่อเด็ก ไม่ใช่เครือข่ายเพื่อตัวเอง หรือเพื่อเล่นการเมือง   และจะเลือกเฉพาะคนที่ต้องการร่วมกันทำ โดยใช้แนวคิดเชิงบวก   ไม่ใช้แนวคิดเชิงลบ   ไม่มุ่งตำหนิหรือทำลายใคร

          เราจะเป็นเครือข่ายสร้างสรรค์   เครือข่ายทำเพื่อศิษย์ หรือเด็กนักเรียน    ไม่ใช่เครือข่ายผลประโยชน์  

          ดังนั้น โครงการ KM ครูเพื่อศิษย์ จะมีการประชุมเล็กๆ เพื่อเชิญผู้แทนเครือข่ายที่หลากหลาย มาหารือกันว่าจะมีส่วนเข้ามาหนุนกิจกรรมครูเพื่อศิษย์ หรือการเรียนรู้ของเด็ก อย่างไรบ้าง   วงนี้ผมตั้งชื่อว่า “การประชุมโต๊ะกลมภาคีเครือข่าย”    น่าจะประชุมกันปีละ ๑ – ๒ ครั้ง    และตัวแทนของแต่ละเครือข่ายจะเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการ ที่จัดขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ   

          ตั้งชื่อ “การประชุมโต๊ะกลม” เพื่อจะสื่อความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน หรือแนวราบ   โดยที่เราจะทำความตกลงกันว่า ต้องการให้ “ครูเพื่อศิษย์” เป็นพระเอกหรือนางเอก   ลงมือจัดกิจกรรมสร้างสรรค์กันเองเป็นหลัก   ส่วนเครือข่ายอื่นๆ เป็นภาคีสนับสนุน   ไม่ใช่เข้าไปจัดการจน “ครูเพื่อศิษย์” หัวหด กลายเป็น “ครูไม่กล้า”  

          เท่ากับวง “ภาคีเครือข่ายโต๊ะกลม” จะเป็นภาคีที่ทำหน้าที่ empowerment แก่เครือข่ายครูเพื่อศิษย์   ช่วยปลุกจิตวิญญาณครูทั้งแผ่นดิน ให้ลุกขึ้นมาทำเพื่อศิษย์   ให้มุ่งเรียนรู้จากการทำหน้าที่ครูเพื่อศิษย์   เพื่อยกระดับ “ความเป็นครู” ของตนเอง   และนี่คือ เครือข่ายสนับสนุนครูเพื่อศิษย์ ตามที่ระบุไว้ในตอนที่ ๔ นั่นเอง 

 

วิจารณ์ พานิช
๕ ก.ย. ๕๒

          

 

หมายเลขบันทึก: 295694เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2009 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณครับ อาจารย์หมอ ;)

เป็นความหวังทั้งของครูวิชาชีพ และ(คนรักวิชา)ครู

ขอสนับสนุนค่ะ....ใหญ่เคยเป็น ลูกศิษย์  คือ เป็นทั้งลูกที่มีแม่เป็นครู..และเป็นศิษย์รักของครู..และรักครูตลอดช่วงชีวิตของการเรียนรู้...อยากให้เยาวชนยุคนี้..ได้รับความรักและเอาใจใส่จาก "ครูเพื่อศิษย์" มากๆเช่นเดียวกัน...เชื่อว่าโครงการนี้เราจะได้ยินครูดีๆมาลปรร.กันมากๆนะคะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท