ยุงลาย - สุธาสินี เสือดี 45312337


การควบคุมยุงลายพาหะนำโรคร้าย
ยุงลาย" พาหะนำโรคไข้เลือดออก ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-28 มิ.ย. 2546 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมแล้วถึง 27,800 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 26 ราย นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจและถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย สำหรับการระบาดของโรคไข้เลือดออกในปีนี้

ยิ่งหน้าฝนมาเร็วกว่าทุกปี ฝนตกกระหน่ำไม่เว้นแต่ละวัน ทำเอาน้ำท่วมขัง จากฝนเก่ายังไม่ทันแห้ง ฝนใหม่ก็ตกลงมา ซ้ำเติมอีกระลอก ทำให้ “ยุงลาย” ฆาตกรร้ายที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัส “เดงกี่” dengue virus ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกมาสู่คนมีโอกาสแพร่พันธุ์เพิ่มขึ้นอีกไม่รู้กี่เท่า สภาพสิ่งแวดล้อมยิ่งเหมือนเป็นใจให้กับยุงลายสามารถวางไข่ แพร่พันธุ์ออกลูกออกหลานได้มากขึ้น ซ้ำร้ายล่าสุดข้อมูลทางวิชาการยังระบุด้วยว่าไข้เลือดออกในระยะหลังๆ นี้ ไม่ได้ระบาด เฉพาะในหน้าฝนเท่านั้น แต่ยังระบาดในช่วงหน้าร้อนและหน้าหนาวอีกด้วย

กระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบ จึงต้องเร่งดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อกำจัด “ยุงลาย” เช่น โครงการบ้านนี้ปลอดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งให้ อสม. เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ทุกบ้าน ทุกครัวเรือนในประเทศไทย ปลอดจากแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยการส่งทีมเข้าไปตรวจลูกน้ำเดือนละ 1 ครั้ง ด้วยกลยุทธ์สร้างแรงจูงใจว่า บ้านที่ดูแลกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายดีเยี่ยม มีสิทธิ์ได้รับรางวัลจากทางกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการตั้งเป้าให้มีบ้านปลอดยุงลายถึง 17.5 ล้านหลังคาเรือนภายในปี 2546 หรือโครงการสร้าง “มือปราบน้อยตามรอยลูกน้ำยุงลาย” ที่พุ่งเป้าขยายไปยัง โรงเรียนต่างๆ ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ ยุงลาย เพื่อป้องกันไข้เลือดออก ไปจนถึงโครงการ “รณรงค์ให้ทุกบ้านกำจัด ลูกน้ำยุงลายทุกวันศุกร์”

ข้อมูลที่สำคัญก็คือ แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก 80% มาจากในบ้าน บรรดาภาชนะใส่น้ำต่างๆ ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น โอ่งน้ำ อ่างน้ำ น้ำในแจกัน จานรองขาตู้กับข้าว ไปจนถึง อ่างบัว หรืออ่างไม้น้ำ สารพัดที่ชาวบ้านนิยมปลูก ไว้เพื่อความสวยงาม ล้วนเป็นแหล่ง เพาะพันธุ์ยุงลายที่ดีที่สุดทั้งสิ้น สำหรับบ้านเรา ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกนั้นมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ ยุงลายบ้าน และ ยุงลายสวน ซึ่งทั้ง 2 ชนิด จะชุกชุมและแพร่พันธุ์มากที่สุดในหน้าฝน

การติดต่อของโรคเกิดจากยุงลาย โดยเฉพาะยุงลายตัวเมีย ซึ่งจะดูดเลือด ขณะที่ ตัวผู้จะดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ เมื่อยุงลาย ตัวเมียดูดเลือดของคนที่ป่วย หรือมีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกอยู่ในตัว เชื้อก็จะเข้าไปอยู่ในกระเพาะของยุง และแบ่งตัว เพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อยุงลายตัวเดิมไปกัดคนอื่นต่อ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็น การกัดในเวลากลางวัน ก็จะปล่อยเชื้อทำให้ป่วยเป็นโรคได้

นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดมาตรการใหม่ที่จะปราบยุงลายให้สิ้นซากถึงในบ้านด้วยการกำหนดปฏิบัติการควบคุมโรค ที่เรียกว่า 3 ป. หรือ ป.ป.ป. ขึ้นประกอบด้วย

  • ป.ปิด หมายถึง การปิดฝาโอ่ง ฝาอ่าง และภาชนะ ใส่น้ำในบ้าน เพื่อไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ได้
  • ป.เปลี่ยน หมายถึง การเปลี่ยนน้ำในแจกัน ภาชนะที่ปลูกต้นไม้ในบ้าน เช่น พลูด่าง รวมทั้งเปลี่ยนน้ำในที่รองขาตู้กับข้าว อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง
  • ป.ปล่อย คือ ปล่อยปลาหางนกยูงลง ในอ่างบัวหรือกระถางไม้น้ำ เพื่อปลาจะได้คอยกินลูกน้ำ ไม่ให้กลายเป็นตัวยุงไปกัดคนได้
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2956เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2005 12:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท