หลักการพัฒนาชุมชน


การทำงานกับประชาชนมิใช่ทำให้ประชาชน

          การพัฒนาชุมชน คือ การทำงานกับประชาชนมิใช่ทำให้ประชาชน เพราะฉะนั้น กิจกรรมใดๆ ที่จะดำเนินงานในชุมชนนั้นจะต้องเป็นกิจกรรมที่มาจากการริเริ่มของประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของบทบาทของผู้ปฏิบัติงานพัฒนานั้นเป็นผู้กระตุ้น ชี้นำ ให้ประชาชนเกิดความคิดริเริ่มในการแก้ไขปัญหาหรือหาทางสนองความต้องการของตนแล้วร่วมกันทำงานตามที่คิดขึ้นมาแล้วนั้น การเข้าไปทำงานกับประชาชนในลักษณะนี้ ผู้ปฏิบัติงานพัฒนาจะต้องเป็นผู้ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ กระทำตนให้เป็นที่เชื่อถือของประชาชนในชุมชนและต้องทำงานอย่างมีหลัก งานจึงจะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปแล้วผู้ปฏิบัติงานพัฒนาจะยึดหลักการพัฒนาชุมชนของกรมการพัฒนาชุมชน 10 ประการ คือ

          1.  ต้องพัฒนาชุมชนทุกๆ ด้านไปพร้อมกัน ถ้าพิจารณาอย่างกว้างๆ จะเห็นว่า สิ่งที่จะต้องทำการพัฒนาในชุมชนนั้นมีเพียง 2 ประการ คือ ด้านวัตถุและจิตใจ ด้านวัตถุนั้น หมายถึง สภาพแวดล้อมที่เป็นวัตถุทุกๆ ด้าน เช่น ถนนหนทาง ที่อยู่อาศัย สถานศึกษา สถานรักษาพยาบาล ไฟฟ้า วิทยุ เป็นต้น เมื่อสภาพแวดล้อมทางวัตถุเจริญก้าวหน้าดีแล้ว ไม่ได้หมายความว่า สภาพจิตใจของประชาชนจะเจริญก้าวหน้าตามไปด้วยเสมอไป จึงจำเป็นต้องส่งเสริมสภาพจิตใจให้แปรเปลี่ยนไปในทิศทางที่ถูกต้องด้วย เช่น การให้การศึกษา    ส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีหรือวัฒนธรรมพร้อมกันไปด้วย

          2.  ยึดประชาชนเป็นหลักในการพัฒนา การทำงานกับประชาชนนั้นจะต้องคำนึงถึงปัญหาและความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ ประชาชนกำลังประสบปัญหาอะไร กำลังมีความต้องการอะไร อะไรเป็นปัญหารีบด่วน เป็นความต้องการรีบด่วนที่จะต้องรีบแก้ไข อะไรเป็นปัญหาความต้องการที่รองลงมา สิ่งเหล่านี้จะต้องคำนึงถึงตัวประชาชนเป็นที่ตั้ง การแก้ปัญหาจึงจะตรงจุดมิใช่แก้ปัญหาจากปัญหาและความต้องการของผู้ปฏิบัติงานพัฒนาเอง

          3.  การดำเนินงานจะต้องค่อยเป็นค่อยไป จุดมุ่งหมายของการดำเนินงานพัฒนาชุมชน ก็คือ ต้องการแปรเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนในชุมชนและวัตถุไปพร้อมๆ กัน ฉะนั้น การดำเนินงานตามกิจกรรมจึงไม่ควรเร่งรีบจนเกินไปจนประชาชนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร การมุ่งผลงานตามกิจกรรมอย่างเดียวนั้นจะไม่ก่อให้เกิดผลการพัฒนาอย่างแท้จริง การดำเนินงานจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป โดยเลือกทำในชุมชนที่พร้อมกว่าก่อน

          4.  ต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมของชุมชนเป็นหลัก ขนบธรรมเนียมประเพณีหรือวัฒนธรรมในท้องถิ่นมีลักษณะสนับสนุนการพัฒนาแล้ว จึงควรส่งเสริมให้วัฒนธรรม ประเพณีในท้องถิ่นให้ได้มีบทบาทในการพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น สิ่งใดที่เป็นการขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีหรือวัฒนธรรมควรหลีกเลี่ยง หรือถ้าเห็นว่าประเพณีบางอย่างไม่ถูกไม่ควรก็ไม่ควรจะไปตำหนิ    ติเตียนตรงๆ แต่ควรชี้นำเสนอแนะให้ประชาชนเห็นว่าดีและไม่ดีอย่างไรด้วยเหตุผลแล้วช่วยกันหาทางปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

          5.  ต้องพยายามใช้ทรัพยากรในชุมชนให้มากที่สุด ผลงานพัฒนาชุมชนนั้น ควรจะเริ่มจากการนำเอาทรัพยากรในท้องถิ่นมาดัดแปลงใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด โดยชี้นำสอนแนะให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน และนำเอาสิ่งเหล่านั้นมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือแปรรูปเป็นวัสดุเครื่องใช้ในครัวเรือนให้ได้ คำว่า ทรัพยากรในที่นี้ หมายถึง ทุกสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ตัวคน วัตถุ สถาบันทางสังคม และกลุ่มต่างๆ  เป็นต้น

          6.  ต้องยึดหลักประชาธิปไตยในการดำเนินงาน การดำเนินงานพัฒนาชุมชนจะเริ่มด้วยการประชุมปรึกษาหารือกัน ร่วมกันคิดว่าจะทำอะไร เมื่อตกลงกันแล้วก็จะร่วมกันทำโดยมอบหมายงานให้แต่ละคนได้รับผิดชอบร่วมกัน งานจะมาจากเบื้องล่าง คือ ตัวประชาชนในชุมชนเอง ไม่ได้มาจากถูกสั่งให้กระทำ ในการเข้าไปแก้ปัญหาของประชาชนนั้น ผู้ปฏิบัติงานพัฒนาจะไม่ใช่วิธีออกคำสั่งแต่จะให้การศึกษา ชักชวน ชี้นำให้ประชาชนได้เห็นปัญหา และร่วมกันหาทางแก้ไขโดยความสมัครใจ

          7.  ต้องใช้หลักการประสานงาน งานพัฒนาชุมชนจะประสบผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหนอยู่ที่การประสานงาน เพราะงานพัฒนาชุมชนนั้นมิใช่งานของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นงานที่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบทุกหน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานพัฒนาก็มิใช่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทุก ด้าน จึงต้องอาศัยการประสานงานเป็นหลักในการดำเนินงาน

          8.  เริ่มต้นทำงานกับกลุ่มผู้นำก่อน ผู้นำในท้องถิ่นเป็นผู้ที่ประชาชนในชุมชนให้ความเคารพเชื่อถือ จะพูดจาทำอะไร ประชาชนส่วนใหญ่จะยอมรับและคล้อยตาม การจะกระทำกิจกรรมพัฒนาในชุมชนหากผู้นำเห็นชอบด้วย ปัญหาการขัดแย้งและการให้ความร่วมมือก็จะน้อยลงหรือหมดไป

          9.  การดำเนินงานต้องให้สอดคล้องกับนโยบายของชาติ การจัดทำแผนงานหรือกิจกรรมใดๆ จะต้องให้เป็นไปตามแผนพัฒนาระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสมอ

          10.  ปลูกฝังความเชื่อมั่นในตนเองให้กับประชาชน ความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นพลังสำคัญที่จะช่วยให้การทำงานสำเร็จลงได้ แม้งานนั้นจะยากลำบากเพียงใดก็ตาม หากมีความมั่นใจและเชื่อในพลังงานที่ตนมีอยู่แล้ว การดำเนินงานก็จะสำเร็จลงได้โดยไม่ยากนัก

 

หลักการปฏิบัติงาน   4 .

          กรมการพัฒนาชุมชนได้ประยุกต์หลักการดำเนินงานพัฒนาโดยทั่วไปข้างต้นให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนยึดถือและนำไปเป็นหลักปฏิบัติ 4 ประการ เรียกว่า หลัก 4 . คือ ประชาชน ประชาธิปไตย ประสานงาน และประหยัด

          1.  ประชาชน (People oriented) ในการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ทุกคนต้อง

              ทำงานกับประชาชนไม่ได้ทำให้ประชาชนพัฒนาทัศนคติของประชาชนทุกเพศ ทุกวัยโดยการเพิ่มพูนทักษะ  พิจารณาสภาวการณ์และปัญหาของชุมชนและประชาชนเป็นหลักในเรื่องงาน

          2.  ประชาธิปไตย (Democracy oriented) ในการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องทำงานในรูปคณะกรรมการ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในท้องถิ่นในระดับหมู่บ้าน ตำบลสนับสนุนให้ประชาชนรวมกลุ่มกันริเริ่มกิจกรรมเพื่อปรับปรุงท้องถิ่นด้วยตนเองอาศัยหลักการเข้าถึงประชาชนในการทำงานและร่วมงานกับผู้นำท้องถิ่นและประชาชนในรูปกลุ่ม

          3.  ประสานงาน (Co-ordination oriented) ในการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องร่วมมือประสานงานกับหน่วยงาน องค์การทั้งของรัฐบาลและเอกชนชักนำบริการของนักวิชาการไปสู่ประชาชนและกระตุ้นให้ประชาชนไปหานักวิชาการเพื่อรับบริการตามความต้องการโดยเหมาะสมพัฒนากรจะเป็นผู้เชื่อมประสานงานระหว่างนักวิชาการกับประชาชน

          4.  ประหยัด (Economy oriented) ในการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้อง

ให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองเป็นหลัก รัฐบาลช่วยเหลือในสิ่งซึ่งเกินความสามารถของประชาชนเท่านั้นในการจัดทำกิจกรรมพัฒนาต่างๆ พยายามนำทรัพยากรในชุมชนทั้งในด้านกำลังคนและวัสดุมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดทุกฝ่ายร่วมกันคิดและวางแผนการปฏิบัติงานตามกิจกรรมไว้ล่วงหน้าจึงจะทำให้ประหยัดแรงงาน เวลา วัสดุอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

 

หมายเลขบันทึก: 295415เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2009 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบ นมัสการพระคุณเจ้า

ขอบคุณคะสำหรับหลักการที่ดีในการพัฒนาชุมชน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท