วัดประเดิม โบราณสถานสำคัญในจังหวัดชุมพร


วัดประเดิม ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๓ ตอนที่ ๓๔ วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๙

สวัสดีค่ะ  พบกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ชุมพร  กันอีกแล้วนะคะ  วันนี้เรามีเรื่องราวดีๆ ของจังหวัดชุมพรมาฝากเพื่อนๆ เหมือนเคยค่ะ  จำได้ว่าเราเคยนำเสนอเรื่องโบราณสถานสำคัญในจังหวัดชุมพรไปแล้ว  ในตอนวัดพระธาตุสวี  วันนี้เรามาติดตามเรื่องโบราณสถานสำคัญในจังหวัดชุมพรกันต่อนะคะ  เพื่อนๆ ทราบไหมค่ะว่าวัดเก่าแก่และมีความสำคัญกับความเป็นมาของเมืองชุมพร  คือวัดอะไร  ใครที่เป็นคนชุมพรคงพอจะตอบได้นะคะ  แต่สำหรับเพื่อนๆ ที่ไม่ใช่คนชุมพรอาจจะไม่ทราบ  ไม่เป็นไรค่ะเพราะเพื่อนๆ สามารถหาคำตอบได้ที่นี่และตอนนี้เลยค่ะ   มาทำความรู้จักกับวัดประเดิมพร้อมๆ กับเราเลยนะคะ 

วัดประเดิม


ที่ตั้ง    หมู่  ๒  ตำบลตากแดด  อำเภอชุมพร  จังหวัดชุมพร

ประวัติ / ตำนาน

          เชื่อกันว่า เมืองเดิมของจังหวัดชุมพร ตั้งอยู่บริเวณวัดประเดิม ฝั่งซ้ายของแม่น้ำชุมพรที่ตำบลตากแดด ต่อมาย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่ตำบลท่ายาง และที่ตำบลท่าตะเภาตามลำดับ เหตุที่ย้ายเมืองบ่อยครั้งอาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นเพราะการเปลี่ยนทางเดินของแม่น้ำท่าตะเภา และแม่น้ำชุมพร หรือ อาจเป็นเพราะเมืองชุมพรเป็นเมืองหน้าด่านในการทำศึกสงคราม จึงไม่สามารถสร้างบ้านเมืองถาวรได้  สำหรับชื่อ วัดประเดิม นั้น เล่ากันว่า น่าจะมาจากการเป็นวัดแรกในบริเวณนี้ และเป็นวัดประจำเมืองชุมพรเก่า เชื่อกันว่าพระปรางค์เดิมมีรูปแบบศิลปะแบบศรีวิชัย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันที่แน่นอน ในสมัยก่อนน่าจะมีโบราณวัตถุชนิดต่างๆ อยู่ในวัดมากพอสมควร แต่ได้ชำรุดหักพังไปตามกาลเวลาและจากภัยสงคราม ในปัจจุบันยังปรากฏโบราณวัตถุที่ทางวัดเก็บรักษาไว้ เช่น ใบเสมาหินทราย เศียรพระพุทธรูปหินทราย และเศียรพระพุทธรูปปูนปั้นประมาณ ๒๐ ชิ้น มีรูปแบบศิลปะแบบสมัยอยุธยา  เป็นต้น

          จากหลักฐานที่กล่าวข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่าวัดประเดิม คงเป็นวัดที่มีความสำคัญและเจริญมากในอดีตแห่งหนึ่งในจังหวัดชุมพร

สิ่งสำคัญภายในวัด

๑. พระปรางค์ (บูรณะแล้ว)   ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส   ทำฐานเป็นบัวลดหลั่นกันขึ้นไป   รูปทรงชลูด เรือนธาตุมีขนาดเล็ก มีระเบียงคตล้อมรอบพระปรางค์ ระหว่างระเบียงคตกับพระปรางค์เป็นลานประทักษิณ รูปแบบศิลปกรรมดั้งเดิมของพระปรางค์องค์นี้ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเป็นแบบใด แต่จากรูปแบบโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบในวัด เช่น เศียรพระพุทธรูปหินทราย และใบเสมาหินทราย อาจสันนิษฐานได้ว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา

๒. เจดีย์รายขนาดเล็ก ๑ องค์ เป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม สภาพทรุดโทรม มีผู้เล่าว่าเดิมเจดีย์รายรอบวัดมีหลายองค์แต่ปัจจุบันเหลือเพียงองค์เดียวเท่านั้น

 

๓.อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นอาคารสถาปัตยกรรมท้องถิ่น สร้างขึ้นระหว่าง ปี พ.ศ.๒๔๗๓ - ๒๔๘๐ เป็นอาคารไม้แบบเรือนปั้นหยา ยอดจั่ว ชายคาตกแต่งด้วยไม้ฉลุ และกลึงลวดลายแบบพื้นเมือง อาคารนี้แบ่งเป็น ๒ ห้อง โดยมีชานเป็นส่วนเชื่อมต่อ ระเบียงจะอยู่ลดระดับต่ำจากชานประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ปัจจุบันส่วนระเบียงมีการซ่อมแซมโดยทำเป็นพื้นคอนกรีต และเสาคอนกรีตที่ยกพื้นทำให้อาคารนี้เป็นเรือนใต้ถุนโปร่ง (ตัวอย่างของอาคารสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบนี้ ปัจจุบันพบน้อยมาก เนื่องจากได้รับความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นเกย์ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๓๒)

          วัดประเดิม  ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ  ในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  ๕๓  ตอนที่  ๓๔  วันที่  ๒๗  กันยายน  พ.ศ.๒๔๗๙

เป็นอย่างไรบ้างคะ  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ชุมพร  หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเพื่อนๆ คงได้รับความรู้เกี่ยวกับโบราณสถานสำคัญในจังหวัดชุมพรเพิ่มขึ้นนะคะ  แล้วพบกันใหม่ในคราวต่อไปค่ะ

เอกสารอ้างอิง

- สำนักงานโบราณดคีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ที่  ๑๑  นครศรีธรรมราช.โบราณสถานจังหวัดชุมพร. เอกสารประกอบการอบรมทบทวนอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มส.)  จังหวัดชุมพร  วันที่  ๔  สิงหาคม  ๒๕๔๑  ณ  ห้องประชุมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ชุมพร (เอกสารอัดสำเนา)

หมายเลขบันทึก: 29541เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2006 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

อยากให้พูดถึงชุมชนและร่องรอยของชุมชนบริเวณวัดประเดิมด้วย จะช่วยอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของเมืองชุมพรได้ดีขึ้น

ขอบคุณค่ะที่ติดตาม Blog ของพิพิธภัณฑ์ฯ ชุมพรมาตลอด  สำหรับเรื่องร่องรอยของชุมชนบริเวณวัดประเดิมนั้นยังไม่มีหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีตามหลักวิชาการ  เนื่องจากในจังหวัดชุมพรมีการขุดค้นทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากรที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว  สำหรับแหล่งอื่นๆ เป็นการสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลเท่านั้น

แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในวัดประเดิม เช่น  ใบเสมา  และเศียรพระพุทธรูป ซึ่งมีลักษณะเป็นศิลปะอยุธยาดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น อาจพอสันนิษฐานได้ว่า  วัดประเดิมคงมีขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา และรอบๆ บริเวณวัดประเดิมนั้นคงมีชุมชนอยู่อย่างแน่นอน  นอกจากวัดประเดิมแล้วในบริเวณนี้ยังมีวัดอื่นๆ อีก  เช่น  วัดนอก  วัดพระขวาง  เป็นต้น แต่ถ้าหากต้องการข้อมูลเรื่องร่องรอยชุมชนอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการก็จะต้องทำการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อดูลักษณะชั้นวัฒนธรรมและการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในบริเวณนั้น  แต่ข้อจำกัดในเรื่องนี้อาจจะอยู่ที่เมืองชุมพร  ไม่มีลักษณะการเป็นเมืองที่ชัดเจนเหมือนเมืองนครศรีธรรมราช หรือไชยา ที่ปรากฏกำแพงเมือง  ประตูเมืองหรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ดังที่

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงวิจารณ์เกี่ยวกับเมืองชุมพรว่า มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากหัวเมืองภาคใต้อื่นๆ ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕๐ (ตำนานเมืองระนอง) ว่า

…ในบรรดาหัวเมืองทางแหลมมลายูที่ตั้งมาแต่โบราณ เมืองชุมพรประหลาดผิดกับเพื่อนอยู่อย่างหนึ่ง ที่ไม่มีตัวเมืองเหมือนเมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา เมืองปัตตานี และเมืองถลาง เมืองตะกั่วทุ่งทางฝั่งตะวันตก ล้วนมีโบราณวัตถุรู้ได้ว่า เป็นเมืองมาแต่โบราณ แต่ส่วนเมืองชุมพรข้าพเจ้าผู้แต่งหนังสือนี้ (สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)ได้เข้าค้นหาหนักแล้ว ยังมิได้พบโบราณวัตถุเป็นสำคัญ บางที่จะเป็นด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ มีที่ทำนาไม่พอคนมากอย่าง ๑ อีกอย่าง ๑ อยู่ตรงคอแหลมมลายู มักเป็นสมรภูมิรบพุ่งกันตรงนั้นจึงไม่สามารถสร้างบ้านเมือง แต่ต้องรักษาเป็นเมืองด่าน…”

 และข้อสันนิษฐานเรื่องที่ตั้งเมืองเดิมของชุมพรนั้นยังมีอีกหลายแห่งค่ะ  อาจกล่าวได้กว้างๆ ว่าชุมชนที่เกิดขึ้นในจังหวัดชุมพรมีกระจายทั่วไป  และมีระยะเวลาใกล้เคียงกัน  โดยผลัดเปลี่ยนกันมีความสำคัญขึ้นในแต่ละช่วง  ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ ประการค่ะ

วัดประเดิมเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่น่ามาเที่ยวชมมาก อยากให้ทุกคนลองมาเที่ยวชมดูค่ะ

วัดประเดิมเป็นวัดที่มีความสำคัญ มีพระบรมสารีริกธาตุ คือกระดูกขององค์พระพุทธเจ้า ที่คาดว่าอัญเชิญมาพร้อมกับพระบมสารีริกธาตุนครศรีธรรมราช แต่ทำไมชาวชุมพรเราถึงไม่ให้ความสำคัญ การที่ครั้งหนึ่งของชีวิตได้เข้าเฝ้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะถือเป็นบุญอย่างยิ่ง ถ้ามีโอกาส ตูนขอให้ทางจังหวัดชุม เล็งเห็นถึงความสำคัญ และรักในความเป็นมาของเรา อยากให้มีประเพณีที่สำคัญอย่างจังหวัดนครศรีธรรมราชบ้าง ช่วยเล็งเห็นกันหน่อย

ไม่อยากพูดลองไปดู

หนุอยุ่ใกล้วัดประเดิม อยากบอกเพื่อนว่า ตอนนี้วัดประเดิมมีพิพิธภัณฑ์ฯน่าชมมากเลยค่ะ เป็นศูนย์รวมวัตถุโบราณ มากมาย รวมทั้งมีของใช้ของคนโบราณ <ต้องมาชมเอง>

ตอนนี้มีข่าวดีจะบอกเพื่อนๆว่าเขากำลังจะปรับปรุงใหม่

ท่านที่มีใจเป็นกุศล ขอเชิญรวมทำบุญได้ค่ะ

จะทามอย่างงั้ยให้วัดประเดิมเป็นวัดที่มีชื่อเสียงได้บ้าง ทั้งทั้งที่มีประวัติ และคุณค่าทางด้านโบราณสถาน ที่ชาวชุมพร และทางผู้ว่าราชการจังหวัดน่าจะเห็นและตระหนัก

วัดประเดิมควรค่าที่จะได้รับเป็นพระอารามหลวงเนื่องด้วยเป็นวัดที่แสดงถึงรากเหง้าของชาวชุมพร

ช่วยเขียนประวัติ วัดหาดทรายแก้ว ให้หน่อยคับ

ขอบคุนล่วงหน้าคับ

ธีระ:พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา

นำมาฝากผู้สนใจครับ

โดยตำนานเมืองชุมพรนั้น เป็นเมืองบริวาร ๑๒ นักษัตร ถือตราแพะเป็นเครื่องหมายประจำเมือง ทั้งนี้เนื่องจากเป็นชุมทางจุดยุทธศาสตร์ เป็นเมืองหน้าด่านที่ได้รับผลกระทบเสมอ อีกประการเมืองอยู่บนเส้นทางวาตภัย จึงได้รับความเสียหาย เคราะห์ร้ายมาแต่โบราณ บ้างก็เรียกว่า "เมืองเสดสา" เมืองชุมพรในยุคแรกชื่อเมืองท่าตะเภา จากจดหมายเหตุจีนสันนิษฐานว่าชื่อ Dan Sun.

จาก

เขมิกา หวังสุข. ภาคใต้:ประวัติศาสตร์และโบราณคดี. สงขลา:สถาบันทักษิณคดีศึกษา, ๒๕๕๑.

โอ! ตอนนี้มีดีดีเยอะมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

กำลังอุ๊ย! ไม่ใช่เสร็จแล้ว

คือ ไม่บอกต้องมาดูเอง

โห บ้านเกิด ของ ป๋ม มีดี จริง ๆ

ดี ที่ เกิด ม า ไม่ เสีย ชาติ เกิด

ขอให้ วัด ประ เดิม อยู่ กับ ตำบล ตากแดด ตลอด ไป

ที่บ้านป๋มมีที่เที่ยวที่โบราณด้วยหรอ

ภูมใจจริงๆๆสวยด้วย...!

ผมว่า วัดพระขวาง เก่าแก่กว่าวัดประเดิมแน่นอนครับ

ผมเคยเห็น ที่วัดพระขวางมีพระหยก หน้าตักประมาณ ๑ ศอก อยู่ ๒ องค์ ขณะนี้ทราบว่าเหลืออยู่ ๑ องค์ หรืออาจจะไม่เหลือแล้วก็ได้ น่าเสียดายจริงๆ "เด็กวัดพระขวาง"

สวีก้อมีพระธาตุสวีอายุ700กว่าปีแล้ว ซึ่งอาจจะเก่ากว่าพระธาตุนคร

แต่ว่าขาดการฟื้นฟูพัฒนา ลูกหลานจะไม่รู้จักอยุ่แล้ว

วัดนี้มีความเป็น "วัด" ของคนไทยแต่ดั้งเดิมจริง ๆ ไม่เจริญทางวัตถุ แต่เจริญทางจิตใจ ชาวบ้านไปวัดนี้ไม่ยึดติดกับความสิวิไลส์ของเมืองใหม่ ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยไว้อย่างเข้มแข็ง เจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ยังเป็นรูปทรงเก่า ไม่ได้ทำด้วยหินอ่อน หรือประดับประดาด้วยแก้วแหวนเงินทอง ชาวบ้านช่วยกันรักษารูปแบบเดิม ๆ ไว้ มีการเปลี่ยนผ้าห่มพระธาตุทุกปี ซึ่งมีชาวบ้านและผู้คนจากที่อื่น ๆ มาร่วมพิธีจำนวนมาก

อยากให้วัดประเดิม เป็นวัดประเดิมในแบบนี้ตลอดไป อย่าเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยเลย เมื่อใดที่ความเจริญทางวัตถุย่างกรายเข้ามา ความเจริญทางด้านจิตใจจะลดต่ำลง ให้คนมาวัดด้วยศรัทธาดีกว่า

ผมเกิดที่วัดประเดิมครับ แต่ตอนนี้อยู่อุดรธานี ภูมิใจในบ้านเกิดจังหู้ พี่น้องวัดเดิมมีความสุขมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆครับบบบบ

เพิ่มเติมครับ วัดประเดิมหรือวัดเดิมมีมานานเท่าไรไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนครับ อาจเป็นเพราะชุมพรอย่ในเขตมรสุมมีนำท่วมและเป็นจุดสู้รบในสงครามโลกครั้งที่2จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลักฐานสำคัญได้รับความเสียหายก็เป็นได้ แต่คำว่าวัดเดิมในภาษาท้องถิ่นคนชุมพรรู้จักดีหากจะกล่าวว่า วัดเดิมเคยเป็นที่ตั้งเมืองเก่ามาก่อนคนที่เชื่อคงจะมีไม่น้อย ในประวัติเท่าที่บันทึกได้ก็ไม่ตำกว่า400ปีครับ วัดเดิมมีแม่นำชุมพรผ่ากลางหมู่บ้านและในจุดนี้มีสถานที่ท่องเทียวที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งที่ท่านควรรู้และหาโอกาศไปเยี่ยมชม คือ สะพานแขวนแห่งแรกของไทย ลักษณะเป็นสะพานแขวนโดยมีลวดสลิงคู่เป็นสายยาวมีคานไม้ขวางเป็นลูกสะพานชาวบ้านเรียกสะพานี้ว่า สะพานสาย หรือ พานสายในภาษาท้องถิ่นและตรงตีนสะพานมีต้นฉำฉาขนาดเส้นผ่ากลาง4เมตรอยู่เป็นที่ร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อนมากครับ หากได้ไปวัดเดิมอย่าลืมนะครับแวะใหว้พระธาตุวัดประเดิม และใหว้พ่อปู่แพชร พ่อปู่เวส พ่อปู่เย็นที่เป็นบรรพบุรุษของคน วัดเดิม ด้วยครับ

วัดประเดิมหรือวัดพระขวางหรือวัดหาดทรายแก้ว ล้วนแล้วแต่อยู่ในละแวกเดียวกัน สำหรับวัดประเดิมนั้น มีหลักฐานปรากฎอยู่ในบริเวณดังกล่าวอยู่หลายประการที่แสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่และสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่าเป็นวัดประจำจังหวัดชุมพรและเป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นเป็นวัดแรก อาทิเช่น พระเสื้อเมือง พระหลักเมือง กำแพงเก่า ที่อยู่ร่วมกับวัดประเดิมเรื่อยมาซึ้งทำให้ข้อสันนิษฐานที่ว่า เมืองชุมพรนั้นแต่เดิมตั้งอยู่ในละแวกหมู่ ๒ ตำบลตากแดด อำเภอเมือง จังหวัดชุมพรนั้นชัดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การที่เราจะอยู่ใกล้วัดใดก็ตาม วัดนั้นยิ่งใหญ่ เก่าแก่ปานใดก็ตาม หากคนในชุมชนยังคงมองข้ามวัด ไม่ได้มองเข้าไปถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา วัดที่ตั้งอยู่ก็มีไปเพียงเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยว หากหลายคนยังต้องการเอาชนะกันเพียงแต่ความยิ่งใหญ่ความเก่าแก่ของวัดที่ต้นสังกัดหรืออยู่ใกล้มันก็เท่านั้น เอาเป็นว่าจะวัดไหน จะสังกัดวัดใด ก็ขอให้ทำนุบำรุงและเข้าใจไปถึงคำสอนของพระพุทธองค์ และสุดท้ายนี้อย่าพยายามยกข้อความใดใดที่จะทำให้คนในชุมชนหรือองค์กรต้องเกิดความแก่งแย่งชิงดีกัน อย่าให้ใครต่อใครมาทะเลาะเพื่อเอาชนะกัน เพราะวัดประเดิม วัดพระขวาง วัดหาดทรายแก้ว ล้วนแล้วแต่เป็นพี่น้องกัน มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน จะวัดไหนได้ดีได้ความเอาใจใส่ ได้รับเกียรติใดใด ก็ให้ยินดีกับชุมชน เพราะเราเป็นคนชุมพรและเราก็เกิดมาภายใดคำสอนของพระศาสดาองค์เดียวกัน ขอบคุณที่อ่านครับ

๒. ฝั่งตะวันออก พื้นที่ฝั่งตะวันออกเป็นที่ราบลดระดับและมีแผ่นดินงอก  เนื่องจากมีสันเขาเป็นต้นทางของแม่น้ำสายสั้นๆ  และมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือ (ตุลาคม - มกราคม) ทำให้มีฝนตกมากเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ ไหลลงสู่แม่น้ำใหญ่ทำให้เกิดสันทราย  ซึ่งเป็นบริเวณที่เหมาะสมในการตั้งถิ่นฐานและการเพาะปลูก  จึงมีการตั้งชุมชนอยู่บริเวณตีนภูเขา (ห่างจากทะเลประมาณ  ๒๐ - ๓๐  กิโลเมตร)  และบริเวณที่ราบริมฝั่งทะเล  แหล่งโบราณคดีมีดังนี้
     ๒.๑ เขาสามแก้ว ตำบลนาชะอัง  อำเภอเมือง  จังหวัดชุมพร  พบโบราณวัตถุจากอินเดีย  เช่น  ลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยนและอาเกต  แบบเรียบและแบบฝังสี  และด้ามทัพพีสำริดรูปนกยูง
     ๒.๒ เขาศรีวิชัย  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  พบเทวรูปพระนารายณ์และศาสนสถาน  ๘  แห่ง  ซึ่งแสดงถึงความรุ่งเรื่องของศาสนาพราหมณ์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
     ๒.๓ วัดอัมพาวาส  อำเภอท่าชนะ  จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบโบราณวัตถุจากอินเดียประเภทลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยนและอาเกต
     ๒.๔ แหลมโพธิ์  ตำบลพุมเรียง  อำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เกิดจากแผ่นดินใหญ่ที่มีคลองพุมเรียงไหลผ่าน  พบโบราณวัตถุที่เป็นสินค้าต่างชาติจากอินเดีย  จีน  และอาหรับ  จากการขุดตรวจทางโบราณคดี (ประมาณ  พ.ศ.๒๕๒๒ - ๒๕๒๔ )โดยกรมศิลปากร  ได้พบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง  (พุทธศตวรรษที่  ๑๒ - ๑๕)
     ๒.๕ ไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นที่ตั้งของโบราณ  มีการขุดค้นทางโบราณคดี (ประมาณ  พ.ศ.๒๕๒๒ -๒๕๒๔ ) โดยกรมศิลปากร บริเวณสันทรายพบว่ามีวัฒนธรรมเดียว (ชั้นดินลึกประมาณ  ๑๐๐  เซนติเมตร)  มีอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่  ๑๖  นอกจากนั้นยังได้ขุดตรวจบริเวณวัดหลง  และได้พบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พุทธศตวรรษที่  ๒๐ - ๒๒) ส่วนหลักฐานด้านศิลปกรรมเนื่องในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธนั้นได้พบเป็นจำนวนมาก

ยังมีเพิ่ม

2.5 เมืองโบราณ เวียงสระ

๑.เทวรูปพระวิษณุ พบจำนวน ๒ องค์ ได้แก่ 
              
๑.๑ พระวิษณุ ศิลา สกุลช่างปัลลวะ สูง ๑๔๘ เซนติเมตร อายยุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ พระวรกายแสดงกล้ามเนื้อใกล้เคียงธรรมชาติ พระนาภีแอ่นขึ้นและพระปฤษภางค์เว้าเข้าแสดงให้เห็นลมปราณของโยคี พระเนตรเบิก พระโอษฐ์แย้ม ทรงสวมกีรีฏิมกุฏข้างบนผายออกทรงภูษายาวกรอมข้อพระบาทขมวดเป็นปมใต้พระนาภี และคาดผ้าคาดพระโสณีตามแนวนอนพระหัตถ์ขวาอาจทรงถือภู (ก้อนดิน) พระหัตถ์ซ้ายทรงถือคฑาแนบพระองค์ ปัจจุบันอยู่ทิ่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เทวรูปองค์นี้คล้ายกับชิ้นส่วนเทวรูปพระวิษณุที่พบที่เขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน และพระวิษณุที่อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี 
              
๑.๒ พระวิษณุ ศิลา สกุลช่างโจฬะ สูง ๕๓ เซนติเมตร อายุประมาณครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ประติมากรรม พระหัตถ์ขวาหลังทรงถือสงข์พระหัตถ์ซ้ายหลังทรงถือจักรโดยวางบนพระดัชนี ด้านหลังพระหัตถ์และพระเศียรเชื่อมด้วยแผ่นศิลา พระหัตถ์ขวาทรงแสดงปางประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายหน้าวางไว้ที่พระโสภี ทรงพระภูษาโจงสั้น สวมกีรีฏิมกุฏทรงสูงสอบเข้าด้านบน ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 
          
๒.พระพุทธเจ้าศากยมุนี ศิลาสลักนูนสูง สูง ๑๖.๕๐ เซนติเมตร อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ พบโดย ดร. ควอริทซ์ เวลส์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษ จากการสำรวจและขุดค้น ได้พบแนวอิฐซึ่งน่าจะฐานศาสนสถานกลางเมืองเวียงสระ ลักษณะประทับยืนท่าตริภังค์ ( เอียงสะโพก) ครองจีวรห่มคลุมบางแนบพระวรกาย พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานพร พระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับประติมากรรมในศิลปะสมัยคุปตะ สกุลช่างสารนาถ อาจนำเข้ามาจากประเทศอินเดีย อย่างไรก็ตาม วัสดุหินทรายสีแดงเป็นวัสดุที่หาง่ายในแถบเมืองเวียงสระ ไชยาและพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี พระพุทธรูปองค์นี้ยังคล้ายคลึงกับพระพิมพ์ดินดิบที่ถ้ำเขาขนาบน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณพสถานแห่งชาติ พระนคร 
          
๓.พระศิวะไภรวะ เป็นประติมากรรมนูนสูงทำด้วยหินทรายรูปพระศิวะปางดุร้าย สูงประมาณ ๕๑.๕๐ เซนติเมตร อยู่ในลักษณะเปลือย มีสุนัขเป็นพาหนะเห็นส่วนหางอยู่ทางด้านหลัง พระเกศาเป็นขมวดส่วนบนและสยายเป็นเปลวไฟ มีสายกระดิ่งห้อยยาวเกือบจรดข้อพระบาท (น่าจะเป็นพวงมาลัยร้อยด้วยกระดูกหรือกระโหลกศีรษะมนุษย์) ทรงรัดประคดเป็นรูปคล้ายงู มี ๔ กร พระหัตถ์ซ้ายหนาทรงถือ ถ้วยทำจากกระโหลกศีรษะ พระหัตถ์ขวาหน้าทรงเชือก พระหัตถ์ซ้ายหลังทรงตรีศูล และพระหัตถ์ขวาหลังทรงบัณเฑาะว์ (กลอง) อิทธิพลศิลปะอินเดียสกุลช่างโจฬะตอนต้น อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร 
          
๔. เทพีอุ้มโอรส ทำด้วยดินเผา สูง ๒๒ เซนติเมตร กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ คล้ายเทพีอุ้มโอรสที่เกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา 
          
๕.ฐานรูปเคารพ ทำด้วยหินทรายแดง สูง ๕๐ เซนติเมตร กว้างยาวด้านละ ๔๕ เซนติเมตร ด้านบนมีรางน้ำมนต์ ด้านข้างมีการแกะสลักลวดลายเป็นชั้น ๆ อย่างสวยงาม 
          
๖.พระพุทธรูปหินทรายแดง พบเป็นกลุ่มตั้งกระจัดกระจายเรียงรายอยู่บริเวณทางด้านทิศเหนือของอุโบสถเก่าและบริเวณโบราณสถานภายในเมืองเวียงสระ พระพุทธรูปส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุด มีตะไคร่น้ำจับทั่วไป ลักษณะทางพุทธศิลป์เป็นศิลปะสมัยอยุธยา พระพักตร์รูปไข่พระเนตรโปนเหลือบต่ำ ขมวดพระเกศาเล็กและไม่มีไรพระศก ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิยาวถึงพระนาภี ส่วนปลายตรง ประทับนั่งปางสมาธิและปางมารวิชัย

๒. ฝั่งตะวันออก พื้นที่ฝั่งตะวันออกเป็นที่ราบลดระดับและมีแผ่นดินงอก  เนื่องจากมีสันเขาเป็นต้นทางของแม่น้ำสายสั้นๆ  และมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือ (ตุลาคม - มกราคม) ทำให้มีฝนตกมากเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ ไหลลงสู่แม่น้ำใหญ่ทำให้เกิดสันทราย  ซึ่งเป็นบริเวณที่เหมาะสมในการตั้งถิ่นฐานและการเพาะปลูก  จึงมีการตั้งชุมชนอยู่บริเวณตีนภูเขา (ห่างจากทะเลประมาณ  ๒๐ - ๓๐  กิโลเมตร)  และบริเวณที่ราบริมฝั่งทะเล  แหล่งโบราณคดีมีดังนี้
     ๒.๑ เขาสามแก้ว ตำบลนาชะอัง  อำเภอเมือง  จังหวัดชุมพร  พบโบราณวัตถุจากอินเดีย  เช่น  ลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยนและอาเกต  แบบเรียบและแบบฝังสี  และด้ามทัพพีสำริดรูปนกยูง
     ๒.๒ เขาศรีวิชัย  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  พบเทวรูปพระนารายณ์และศาสนสถาน  ๘  แห่ง  ซึ่งแสดงถึงความรุ่งเรื่องของศาสนาพราหมณ์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
     ๒.๓ วัดอัมพาวาส  อำเภอท่าชนะ  จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบโบราณวัตถุจากอินเดียประเภทลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยนและอาเกต
     ๒.๔ แหลมโพธิ์  ตำบลพุมเรียง  อำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เกิดจากแผ่นดินใหญ่ที่มีคลองพุมเรียงไหลผ่าน  พบโบราณวัตถุที่เป็นสินค้าต่างชาติจากอินเดีย  จีน  และอาหรับ  จากการขุดตรวจทางโบราณคดี (ประมาณ  พ.ศ.๒๕๒๒ - ๒๕๒๔ )โดยกรมศิลปากร  ได้พบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง  (พุทธศตวรรษที่  ๑๒ - ๑๕)
     ๒.๕ ไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นที่ตั้งของโบราณ  มีการขุดค้นทางโบราณคดี (ประมาณ  พ.ศ.๒๕๒๒ -๒๕๒๔ ) โดยกรมศิลปากร บริเวณสันทรายพบว่ามีวัฒนธรรมเดียว (ชั้นดินลึกประมาณ  ๑๐๐  เซนติเมตร)  มีอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่  ๑๖  นอกจากนั้นยังได้ขุดตรวจบริเวณวัดหลง  และได้พบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พุทธศตวรรษที่  ๒๐ - ๒๒) ส่วนหลักฐานด้านศิลปกรรมเนื่องในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธนั้นได้พบเป็นจำนวนมาก

ยังมีเพิ่ม

2.5 เมืองโบราณ เวียงสระ

๑.เทวรูปพระวิษณุ พบจำนวน ๒ องค์ ได้แก่ 
              
๑.๑ พระวิษณุ ศิลา สกุลช่างปัลลวะ สูง ๑๔๘ เซนติเมตร อายยุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ พระวรกายแสดงกล้ามเนื้อใกล้เคียงธรรมชาติ พระนาภีแอ่นขึ้นและพระปฤษภางค์เว้าเข้าแสดงให้เห็นลมปราณของโยคี พระเนตรเบิก พระโอษฐ์แย้ม ทรงสวมกีรีฏิมกุฏข้างบนผายออกทรงภูษายาวกรอมข้อพระบาทขมวดเป็นปมใต้พระนาภี และคาดผ้าคาดพระโสณีตามแนวนอนพระหัตถ์ขวาอาจทรงถือภู (ก้อนดิน) พระหัตถ์ซ้ายทรงถือคฑาแนบพระองค์ ปัจจุบันอยู่ทิ่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เทวรูปองค์นี้คล้ายกับชิ้นส่วนเทวรูปพระวิษณุที่พบที่เขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน และพระวิษณุที่อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี 
              
๑.๒ พระวิษณุ ศิลา สกุลช่างโจฬะ สูง ๕๓ เซนติเมตร อายุประมาณครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ประติมากรรม พระหัตถ์ขวาหลังทรงถือสงข์พระหัตถ์ซ้ายหลังทรงถือจักรโดยวางบนพระดัชนี ด้านหลังพระหัตถ์และพระเศียรเชื่อมด้วยแผ่นศิลา พระหัตถ์ขวาทรงแสดงปางประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายหน้าวางไว้ที่พระโสภี ทรงพระภูษาโจงสั้น สวมกีรีฏิมกุฏทรงสูงสอบเข้าด้านบน ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 
          
๒.พระพุทธเจ้าศากยมุนี ศิลาสลักนูนสูง สูง ๑๖.๕๐ เซนติเมตร อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ พบโดย ดร. ควอริทซ์ เวลส์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษ จากการสำรวจและขุดค้น ได้พบแนวอิฐซึ่งน่าจะฐานศาสนสถานกลางเมืองเวียงสระ ลักษณะประทับยืนท่าตริภังค์ ( เอียงสะโพก) ครองจีวรห่มคลุมบางแนบพระวรกาย พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานพร พระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับประติมากรรมในศิลปะสมัยคุปตะ สกุลช่างสารนาถ อาจนำเข้ามาจากประเทศอินเดีย อย่างไรก็ตาม วัสดุหินทรายสีแดงเป็นวัสดุที่หาง่ายในแถบเมืองเวียงสระ ไชยาและพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี พระพุทธรูปองค์นี้ยังคล้ายคลึงกับพระพิมพ์ดินดิบที่ถ้ำเขาขนาบน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณพสถานแห่งชาติ พระนคร 
          
๓.พระศิวะไภรวะ เป็นประติมากรรมนูนสูงทำด้วยหินทรายรูปพระศิวะปางดุร้าย สูงประมาณ ๕๑.๕๐ เซนติเมตร อยู่ในลักษณะเปลือย มีสุนัขเป็นพาหนะเห็นส่วนหางอยู่ทางด้านหลัง พระเกศาเป็นขมวดส่วนบนและสยายเป็นเปลวไฟ มีสายกระดิ่งห้อยยาวเกือบจรดข้อพระบาท (น่าจะเป็นพวงมาลัยร้อยด้วยกระดูกหรือกระโหลกศีรษะมนุษย์) ทรงรัดประคดเป็นรูปคล้ายงู มี ๔ กร พระหัตถ์ซ้ายหนาทรงถือ ถ้วยทำจากกระโหลกศีรษะ พระหัตถ์ขวาหน้าทรงเชือก พระหัตถ์ซ้ายหลังทรงตรีศูล และพระหัตถ์ขวาหลังทรงบัณเฑาะว์ (กลอง) อิทธิพลศิลปะอินเดียสกุลช่างโจฬะตอนต้น อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร 
          
๔. เทพีอุ้มโอรส ทำด้วยดินเผา สูง ๒๒ เซนติเมตร กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ คล้ายเทพีอุ้มโอรสที่เกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา 
          
๕.ฐานรูปเคารพ ทำด้วยหินทรายแดง สูง ๕๐ เซนติเมตร กว้างยาวด้านละ ๔๕ เซนติเมตร ด้านบนมีรางน้ำมนต์ ด้านข้างมีการแกะสลักลวดลายเป็นชั้น ๆ อย่างสวยงาม 
          
๖.พระพุทธรูปหินทรายแดง พบเป็นกลุ่มตั้งกระจัดกระจายเรียงรายอยู่บริเวณทางด้านทิศเหนือของอุโบสถเก่าและบริเวณโบราณสถานภายในเมืองเวียงสระ พระพุทธรูปส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุด มีตะไคร่น้ำจับทั่วไป ลักษณะทางพุทธศิลป์เป็นศิลปะสมัยอยุธยา พระพักตร์รูปไข่พระเนตรโปนเหลือบต่ำ ขมวดพระเกศาเล็กและไม่มีไรพระศก ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิยาวถึงพระนาภี ส่วนปลายตรง ประทับนั่งปางสมาธิและปางมารวิชัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท