จุดเริ่ม การสร้างกระบวนการเรียนรู้ โรงเรียนกลุ่มอาชีพ ต.วัดดาว


ในเวที โครงการสัมมนาเสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มสตรีตำบลวัดดาว
วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ณ วัดดาว ตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
จัดโดย องค์การบริหารส่วนตำบลวัดดาว
วิทยากรโดย  คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ : ผอ.โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น
 

 ความเป็นมาของการเกิดเวที ‘เสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มสตรีตำบลวัดดาว’
                หลังจากที่ทางโครงการฯ ได้ร่วมมือกับ นายก อบต.วัดดาว คือ ‘คุณประทิว รัศมี’ ในการจัดเวทีเสริมศักยภาพผู้นำตำบลวัดดาว ไปแล้ว ๑ ครั้ง เมื่อวันที่ ๙-๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ โดยครั้งนั้นเป็นการเสริมศักยภาพแกนนำในเรื่องของ ‘พลังกลุ่ม’ โดยทางโครงการ ฯ ได้เรียนเชิญทีมวิทยากรจากเสมสิกขาลัย มาช่วยเอื้อกระบวนการเรียนรู้
                ต่อมา วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ นายกฯ ประทิว ได้เรียนเชิญโครงการฯ มาประชุมเพื่อวางแผนการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องสำหรับการพัฒนา ‘โรงเรียนผู้นำตำบลวัดดาว’
                นายกฯ ประทิว เล่าให้ฟังว่า  หลังจากที่ได้เรียนรู้จากเวที ‘พลังกลุ่ม’ ก็ได้นำความรู้ว่าด้วย “การสร้างการมีส่วนร่วม”มาใช้ทันทีในชุมชน  ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงเทศกาลประเพณีลอยกระทงพอดี  ทาง อบต. จึงจัดสรรงบประมาณให้กับแกนนำ  ๒๐,๐๐๐ บาท ให้ช่วยกันคิดกิจกรรมในวันงาน โดยให้โจทย์ไปว่าเราจะช่วยกันทำอย่างไรให้งานออกมาดี  ชาวบ้านมีความสุข  โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทั้งแกนนำและชาวบ้านทั้งตำบล 
การประชุมครั้งนั้น มีผู้นำชุมชนซึ่งเป็นผู้ที่ได้เข้ารับการเสริมศักยภาพมาแล้ว   โดยมีกำนันเป็นประธาน  มีการประชุมพูดคุยวางแผนกัน งานไม่ได้หรูหรามาก แต่ทุกคนมีรอยยิ้ม มีความภาคภูมิใจ เห็นความเปลี่ยนแปลงของคนในระหว่างทำงาน เช่น เวลาประชุมหารือกัน คนที่เข้าร่วมเวทีแล้ว จะบอกว่าอย่าเพิ่งพูด ให้ฟังให้ดีก่อน  ได้ความคิดใหม่ๆ  ความคิดดีๆ เกิดขึ้นเยอะในการประชุมฯ ล ฯ
               งานลอยกระทงปีนี้จึงต่างจากปีก่อนๆ  เช่น ปีที่แล้วมีกิจกรรมเด็ก วัยรุ่น ประกวดนางนพมาศ แต่ปีนี้ร่วมกันคิดเพื่อทำกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุ โดยให้ตัวแทนผู้สูงอายุหมู่บ้านละ ๑ คน แต่งตัวพื้นบ้านขึ้นเวที แต่ไม่ใช่การประกวด  แต่จะเป็นการให้คะแนนสำหรับผู้ที่มีอายุมากที่สุด แข็งแรง ผู้ที่มีความสามารถพิเศษ  ก็เป็นการแบ่งรางวัลกันไป โดยมีปลัดอาวุโส สาธารณสุขประจำตำบล ครูโรงเรียนวัดดาว เป็นกรรมการให้คะแนน  และทาง อบต.ก็มีกระทงให้ผู้สูงอายุคนละกระทง เสร็จงานลูกหลานก็พาไปลอยกระทง
              งานนี้มีส่วนช่วยในการดึงการมีส่วนร่วมของลูกหลานและคนในชุมชนที่มาเชียร์ ต่างจากครั้งก่อนๆ ที่ส่วนใหญ่ผู้มาเที่ยวมีแต่หนุ่มๆ สาวๆ เท่านั้น  เจ้าหน้าที่ต่างๆประสานงานกันดี ให้ความร่วมมือดี ประชาชนเห็นการทำงานอย่างแข็งขันก็ชื่นชม (เห็นพลังสามัคคี)  เห็นความแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนคือ สามารถตรึงกลุ่มวัยรุ่นให้อยู่ในระเบียบ ไม่ตีกันเหมือนงานลอยกระทงที่อื่น (วัยรุ่นมาเชียร์ มาให้กำลังใจผู้อาวุโสที่เป็นญาติหรือคนในหมู่บ้าน )
             นายกฯ ประทิว ยังได้สรุปว่า งานนี้เป็นการดึงความสามารถของคนในหมู่บ้าน เช่นการแสดงออก เขาไม่มีเงินแต่ก็ได้ทำบุญ งานนี้สำเร็จเพราะทุกคนมีส่วนร่วม เป็นการแสดงให้เห็นว่า “การจัดงานแบบมีส่วนร่วม” ดีอย่างไร   งานลอยกระทงปีนี้ทำให้ลูกหลานกับคนเฒ่าคนแก่ได้ใกล้ชิดกัน เป็นการยกคุณค่าของงานลอยกระทงให้สูงขึ้น นายกฯได้ถ่ายภาพนางนพมาศ อัดรูปใส่กรอบให้แต่ละคน แล้วเข้าไปตามคุย  พบว่าเขามีความภูมิใจมาก  เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต  ถ้าไม่มีงานนี้เขาก็ไม่มีโอกาสอีกแล้ว   นายก ฯ ประทิว กล่าวทิ้งท้ายว่า งานนี้คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม  หากเวทีพัฒนาศักยภาพทำให้ได้ความคิดใหม่ๆมาทำงาน   หากต้องใช้เงินเป็นแสนก็ไม่เสียดาย
นอกจากงานลอยกระทง  ก็ยังมีกรณีของกองทุนฟันเทียม ที่เป็นผลจากการรวมกลุ่ม รวมพลังการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้นำ  ยอดเงินบริจาคเข้ากองทุนฟันเทียมพระราชทานได้เงินทะลุเป้า  ผู้นำมีการปรึกษาหารือกันโดยตลอด  ไม่แปลกแยกแบ่งฝ่าย  การเข้าไปแต่ละบ้านผู้นำใช้หลักการพูดโน้มน้าวให้เขาเห็นประโยชน์  มีเอกสารทางการให้ดู   การพูดเชิญชวนทำบุญกับในหลวงทำให้คนศรัทธาอยากทำ  ชาวบ้านมีความวางใจผู้นำของตนเองอยู่แล้ว  เพราะทำอะไรโปร่งใสมาตลอด  ทำให้เขามีความศรัทธาเชื่อมั่น   หมู่บ้านของกำนันเริ่มต้นก่อน  กำนันทำเป็นตัวอย่างนำร่อง ตัวเองบริจาคก่อน เป็นตัวเลขบริจาคเริ่มต้น  รายต่อๆมาก็บริจาคตาม  กำนันเอาวิธีการที่ทำให้เกิดความสำเร็จไปแนะนำให้กับผู้นำหมู่บ้านอื่นๆ  ทำให้หมู่อื่นเกิดความมั่นใจ  เอาไปทำบ้างก็เกิดความสำเร็จ
            นี่เป็นตัวอย่าง ที่แกนนำ อบต.ได้ไปเรียนรู้จากเวทีเสริมศักยภาพ  มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ ชีวทัศน์   ได้เรียนรู้วิธีการทำงานแบบใหม่ๆ และนำความรู้เหล่านั้นมาปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดผลจริงในชุมชน  ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้ นายกและแกนนำ อบต.เกิดความมั่นใจ ในหนทางที่จะทำให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้  จึงอยากร่วมหารือกับโครงการฯ เพื่อวางแผนงานต่อไปข้างหน้า
สำหรับความสนใจของ นายก ฯ ประทิว  นอกจากต้องการให้เกิด ‘โรงเรียนผู้นำ’ ที่ได้ดำเนินงานร่วมกับโครงการฯ อยู่แล้ว  ยังมีประเด็นอื่นๆที่สนใจอีก เช่น  ‘ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก’ ซึ่ง ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ อบต.   นายก ฯ ประทิว จึงสนใจอยากพัฒนาครูศูนย์เด็กเล็ก  และผลักดันให้เกิด “โรงเรียนพ่อแม่” ไปพร้อมๆกัน   ให้ครูศูนย์ฯมีความรู้ และทักษะในการพัฒนาเด็กทั้งทางร่างกายและสมอง  ด้านผู้ปกครอง ก็อยากให้เข้าใจเรื่องการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กในแต่ละวัยด้วย   
หลังจากหารือกับกับโครงการฯแล้ว  ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าโครงการฯ จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันวิทยาการการเรียนรู้ (สวร.) มาเป็นวิทยากรจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับครูศูนย์เด็กเล็กและผู้ปกครองร่วมกับ อบต. อื่นๆด้วย  อยากให้ นายกฯ ประทิว เข้าไปร่วมสังเกตการณ์ เพื่อจะได้เห็นแนวทาง และคิดแผนดำเนินการต่อไปได้
            อีกประเด็นที่นายก ฯ ประทิว ให้ความสนใจคือ ‘กลุ่มอาชีพสตรี’  เนื่องจากพิจารณาดูแล้วว่ายังไม่ค่อยเข้มแข็ง ติดปัญหาต่างๆ เช่น มีปัญหาว่าหากประธานกลุ่มติดภารกิจไม่ได้ลงมือมาร่วมทำด้วยตนเอง คนอื่นทำไม่ได้ ความรับผิดชอบอยู่ที่คนๆเดียว กลุ่มขนมมีปัญหาการตลาดที่ไม่กว้าง ขาดเครือข่ายข้างนอก  และขาดครูมาเสริมทักษะความสามารถเพื่อพัฒนาคุณภาพ  ปัญหาเรื่องรสชาติ ฯ ล ฯ   นายกฯ ประทิว มองว่า  ต้องการระดมคนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชีพทั้งหมดมาคุยกันเพื่อหาทางแก้ไขและพัฒนา 
           ซึ่งทางโครงการฯ ก็ได้แนะนำเบื้องต้นว่า การพัฒนากลุ่มอาชีพนั้น  ต้องทำธงให้ชัด  เราต้องรู้ว่าการเดินไปถึงธงนั้นเราต้องทำอะไรบ้าง  และจะทำอย่างนั้นได้เราต้องเรียนรู้อะไร ต้องไปหาข้อมูลอะไรมา หากเรารู้จักหาข้อมูล ตีความใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ แสดงว่าเรารู้จักคิดวิเคราะห์ ใช้หลักวิชาการและหลักการจัดการความรู้เข้ามาเสริม    กลุ่มอาชีพต้องตกลงกันว่าจะหยิบเรื่องอะไรขึ้นมาเป็นเป้าหมาย   เช่น การทำดอกไม้จันทน์  การทำขนม   ฯ ล ฯ  แต่ละคนอาจสนใจคนละเรื่องก็ได้
          คนทั่วไปจะมีธรรมชาติว่า เกาะรั้วดูก่อน หากทำสำเร็จค่อยทำตาม หากล้มเหลวจะซ้ำเติม  ดังนั้นเราต้องหนุนให้คนใดคนหนึ่งทำให้สำเร็จ   เป็นแกนนำพิสูจน์ให้สมาชิกเห็น  เช่น หันมาผลิตน้ำปลา กะปิ ขายและกินกันเอง ให้มันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจหมู่บ้าน ตำบลของเราเองได้ไหม ดูการตลาดภายในตัวเองก่อนได้ไหม
           กิจกรรมที่เราน่าจะทำเป็นการเริ่มต้นก็คือ  ๑) ดูบัญชีครัวเรือนว่ามีอะไรที่เราผลิตเองได้  ๒) รื้อฟื้นสิ่งที่เราเคยทำว่า ที่ผ่านมาแล้วมีจุดอ่อนอย่างไร ถ้าจะทำใหม่ให้สำเร็จจะทำได้ไหม   ทำอย่างไร
          โครงการฯ ยินดีที่จะช่วยจัดกระบวนการให้กลุ่มสตรีได้มีโอกาสที่จะวิเคราะห์ตนเองและกิจกรรมที่เคยทำมาในอดีต  และวิเคราะห์หาช่องทางในการทำกลุ่มอาชีพที่มีความเป็นไปได้จริง
นายก ฯ  ประทิว แจ้งว่า เบื้องต้น อบต. มีงบประมาณสนับสนุนกลุ่มสตรีอยู่  ๑๐๐,๐๐๐ บาท จะเชิญประธานและแกนนำกลุ่มอาชีพมาปรับความคิด ความเข้าใจ และยุทธศาสตร์การทำงานใหม่ จึงนัดจัดประชุมกลุ่มครั้งแรกวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ นี้
 
ย้อนมาวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ เตรียมวางแผนก่อนจัดเวที
                ก่อนจะไปจัดเวทีจริง ทางทีมประสานงานพื้นที่ภาคกลาง นำโดย ‘คุณถาวร’ ‘คุณชไมพร’ และ ‘คุณอัฒยา’ ได้ปรึกษาหารือกับ ‘คุณทรงพล’ และทีมงานส่วนกลาง ถึงการออกแบบเวทีเรียนรู้ในวันที่ ๓กุมภาพันธ์
                วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ทีมงานส่วนกลาง กรุงเทพฯ จึงเดินทางลงมาพบกับทีมประสานงานพื้นที่ และนักจัดการความรู้ ภาคกลาง ทั้ง ๕ คน ณ สวนรุ้งทิพย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
                สิ่งที่ได้พูดคุยกันในวันนี้ ‘คุณทรงพล’ ชวนมองว่า ก่อนที่เราจะทำอะไรก็ตาม เราต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน  เมื่อมีเป้าหมายแน่ชัดแล้ว เราควรถามต่อไปว่า แล้วเราควรรู้อะไรบ้าง  เปรียบเสมือนการปรุงอาหาร  ถ้าเราต้องการอาหารแบบนี้  เราควรมีวัตถุดิบอะไรบ้าง และมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง 
นั่นคือ การจะทำอะไรให้สำเร็จตามเป้าหมาย ควรทำอย่างไร  และเงื่อนไขความสำเร็จนั้นควรประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
                ส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง หรือเงื่อนไขปัจจัยแห่งความสำเร็จของกลุ่มอาชีพ ที่ช่วยกันระดมความคิดนั้น อาจจะประกอบด้วย ๔ ด้านใหญ่ๆ ที่ควรพิจารณา ได้แก่ ๑) ด้านตัวละคร – ประธาน รองประธาน กรรมการ สมาชิกกลุ่ม แต่ละคนแต่ละฝ่ายมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร  ๒) ด้านกิจกรรม  เช่น ปัญหาเกิดขึ้นตรงส่วนไหน  สาเหตุของปัญหาคืออะไร  อะไรเป็นสาเหตุหลัก   ๓) ด้านระบบพี่เลี้ยง เช่น ตัวพี่เลี้ยง  เวทีการเรียนรู้  การดูงาน ฯ ล ฯ   ๔) ด้านวิทยากร เช่น ความสามารถ ความเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงของชุมชน  เหล่านี้เป็นต้น
                เมื่อพิจารณาทั้งระบบแล้ว  จะพบว่าแต่ละจุดมีปัญหาทั้งสิ้น และถ้าเรามุ่งแก้ปัญหาเฉพาะส่วน คงไม่ใช่หนทางไปสู่ทางออกได้อย่างแท้จริง
                ‘คุณทรงพล’ ได้ให้ข้อคิดว่า  การแก้ปัญหาที่ดี ควรให้เขาเห็นความเชื่อมโยงทั้งระบบ  ทำให้เขาเห็นช้างทั้งตัว  เช่น ในด้านของกลุ่มอาชีพ  เขาก็ควรเห็นเส้นทางเดินของผลผลิต หรือผลิตภัณฑ์ คือ เห็นตั้งแต่วัตถุดิบ อุปกรณ์  วิธีการ  สินค้า ตลาด คนซื้อ คนบริโภค การขนส่ง เป็นต้น
                ในกรณีของการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนนั้น  มีเรื่องใหญ่ๆ ๓  เรื่องที่เป็นโจทย์ท้าทายเราคือ การจัดการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่  ๑) การรู้จักตนเอง และมองเห็นโอกาสในการผลิตของกิน ของใช้ ที่สามารถหนุนเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจตำบล  ๒) การบริหารจัดการกลุ่มที่เข้มแข็ง  และ ๓) การสร้างค่านิยมใหม่ของชุมชนในการหันมานิยมใช้ของที่ชุมชนสามารถผลิตได้เอง ไม่นิยมของฟุ่มเฟือยจากภายนอก
                ดังนั้น ในวันที่ ๓  กุมภาพันธ์  เราควรจะออกแบบเวทีเป็น ๒ ช่วง  ช่วงแรกให้เป็นการเหลียวหลัง พาเขาวิเคราะห์ตัวเองว่าที่ผ่านมาเขาล้มเหลวในเรื่องอะไร   เพราะอะไร และช่วงที่สอง เป็นช่วงของการแลไปข้างหน้า  พาเขาวิเคราะห์ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของกิจกรรมหรือตัวสินค้าที่เขาจะผลิต ถ้าจะทำให้สำเร็จ เขาควรทำอะไรบ้าง   ต้องทำให้เขาสามารถมองเห็นแนวทางได้อย่างชัดเจน
 
ถึงวันจริง เวที ‘เสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มสตรีตำบลวัดดาว’ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ณ วัดดาว
                ช่วงเช้า เวลาประมาณ ๘.00 น. เมื่อโครงการฯ และทีมงานเข้าไปถึง ณ ศาลาอเนกประสงค์ของวัดดาว ก็พบกลุ่มแม่บ้านมารออยู่แล้ว ประมาณ ๓๐ คน  แถมยังมีกลุ่มพ่อบ้านแกนนำวัดดาว มาร่วมเปิดเวที และรอสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ อีกร่วม ๑๐ คน   นอกจากนี้ยังมีพัฒนากรสาวสวยของตำบลวัดดาวอีก ๑ ท่าน และฝ่ายของเกษตรอำเภอบางปลาม้าอีก ๓ ท่าน รวมแล้วเวทีนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณเกือบ ๕๐ คน  พวกเรานั่งเก้าอี้ล้อมเป็นวงกลม เพื่อจะได้เห็นหน้าเห็นตาแต่ละคนได้อย่างชัดเจน และทุกคนจะได้รู้สึกว่าเสมอเท่าเทียมกัน
                การเริ่มต้นเปิดเวที โดยปลัด อบต. ชี้แจงถึงความปรารถนาที่อยากพัฒนากลุ่มสตรีตำบลวัดดาวให้เกิดความเข้มแข็ง โดยได้จัดสรรงบประมาณรอไว้แล้ว ๑๐๐,๐๐๐ บาท  เวทีนี้อยากให้หาแนวทางร่วมกันว่า ถ้าทุกคนเห็นประโยชน์ พวกเราจะดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างไรเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้
                จากนั้น ‘คุณทรงพล’ ในฐานะวิทยากรกระบวนการ  เริ่มแนะนำตัว บอกที่มาของโครงการฯ  และวัตถุประสงค์ที่มาในวันนี้  โดยเริ่มเกริ่นจากการชวนชาวบ้านมองบทบาทของ อบต. ที่เป็นผู้ดูแลทุกข์สุขของชุมชน  ขณะนี้ทาง อบต. วัดดาวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านนายก อบต. ก็เล็งเห็นความสำคัญเรื่องของการสร้างคน และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน   ทางโครงการฯ  ก็ยินดีให้ความร่วมมือในการให้ความรู้ สรรหาวิทยากรพาทำ พาเรียนรู้   อบต. ก็เป็นฝ่ายจัดสรรงบประมาณสนับสนุน จากความตั้งใจ และความจริงใจทั้งทางโครงการฯ และ อบต. ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง  ซึ่งเราก็คาดหวังอยากให้กลุ่มที่เราจะไปพาเรียนรู้นั้นมีความมุ่งมั่น และตั้งใจจริง 
               ‘คุณทรงพล’ ชี้แจงต่อว่า  ในการพัฒนากลุ่มแม่บ้านในครั้งนี้  โครงการฯ จะยึดหลัก การใช้การจัดการความรู้เป็นตัวนำ เป็นกระบวนให้พวกเราไปถึงเป้าหมายที่พวกเราอยากจะเห็นด้วยการให้ความสำคัญกับการใช้ปัญญาหรือความรู้  เราจะไม่ใช้ ‘เงิน’ เป็นตัวนำเหมือนอย่างการแก้ปัญหาที่ผ่านๆ มา   และยกตัวอย่างว่าในอดีตนั้น  พ่อแม่ปู่ย่าตายายเราสอนเราอยู่เสมอว่า  “เราจะทำอะไร ต้องมีปัญญา”  “เองมีปัญญาทำหรือเปล่า ?”  คำเหล่านี้เราได้ยินกันมาตั้งแต่สมัยพ่อแม่ปู่ย่าตายายเรา แต่มาสมัยนี้ จะทำอะไรไม่ค่อยถามถึงปัญญา แต่จะถามเรื่องเงินก่อน   ที่เป็นหนี้เป็นสินกันมากมายเป็นเพราะอะไร  มิใช่เป็นเพราะเงินไหลมาๆ   แต่ความรู้ไม่มาใช่หรือไม่   เงินอย่างเดียวไม่สามารถช่วยเราได้  ถ้าเราไม่มีสติปัญญา ไม่มีความรู้ที่จะใช้เงินเหล่านั้นให้ออกดอกออกผล  เราไปกู้เงินเขามา ทำนา เป็นหนี้เป็นสิน ขายข้าวจ่ายไม่พอดอก ไม่พอต้น  ก็เพราะว่าเรามีความรู้ด้านการทำนาอย่างเดียว มันก็อาจไม่พอ อย่างนี้เป็นต้น  
              ‘คุณทรงพล’ ชวนคิดต่อว่า  จะทำอะไรไปข้างหน้าก็ตาม ต้องเหลียวหลังเสียก่อน ที่ทำมาเราทำได้ดี หรือไม่ดี เพราะอะไร ถ้าเราเข้าใจมัน ก็จะเดินหน้าได้ถูก   ทางโครงการฯ ก็ถือโอกาสนี้ เข้ามาพูดคุยฉันท์พี่น้อง ฉันท์เพื่อน ช่วยกันคุยว่า ที่เราทำมาในอดีตนั้น มันไปไม่ได้ เป็นเพราะอะไร จะต้องเป็นสิ่งที่เราเผชิญด้วยตัวเอง   ที่เราทำแล้วล้ม เป็นเพราะอะไร ยกตัวอย่างเช่น ไม่เอาจริงเอาจัง ทำแล้วไม่มีตลาดรองรับ ทำแล้วไม่รู้จะไปขายที่ไหน  ทำแล้วไม่ต่อเนื่อง แล้วมันมีทางออกอื่นหรือเปล่า  ที่จริงอาจมีทางออกมากมาย  แต่เราคิดกับมันอย่างจริงจังหรือเปล่า เราใช้ปัญญากับมันหรือเปล่า
              หลังจากนั้น ‘คุณทรงพล’ ได้ชี้แจงกระบวนการของวันนี้ว่า  ในช่วงเช้า จะเป็นการเหลียวหลัง ทบทวนกันว่าที่ชาวบ้านตั้งกลุ่มกันมา มันมีปัญหา มีจุดติดขัดตรงไหนที่ไปไม่ได้ พอช่วงบ่าย จะเป็นการแลไปข้างหน้า  ถ้าจะทำให้ไปได้จริง ให้ยั่งยืน เป็นทางเลือก ทางออกจริง เราควรจะทำอย่างไร 
              ก่อนที่จะแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อทบทวนสิ่งที่ผ่านมา ก็ได้มีการฉายวีซีดี ‘ยอดหญิงนักพัฒนา’ ที่โครงการฯ ใช้เป็นสื่อเพื่อกระตุ้นให้ชาวบ้านเกิดแรงบันดาลใจที่จะพัฒนา หรือกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง  ซึ่งหลังจากที่ทุกคนได้ดูแล้ว ก็มารวมกลุ่ม โดยแบ่งเป็นทั้งหมด 5 กลุ่มย่อย คละกันไปตามหมู่บ้าน กลุ่มหนึ่งก็มีประมาณ ๖-๑๐ คน ในแต่ละกลุ่มก็จะมีนักจัดการความรู้ท้องถิ่นทำบทบาทเป็น ‘คุณอำนวย’ คอยซักถาม และ ‘คุณบันทึก’ คอยช่วยจับจดประเด็น
บรรยากาศในวงย่อย  แรกๆ อาจจะยังเหมือนสงวนท่าที  เพราะถึงแม้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะรู้จักกันมาก่อนแล้ว  แต่ก็ต้องมีความรู้สึกแปลกหน้ากับทีมโครงการฯ  อยู่บ้าง   ทางทีมโครงการฯ หรือในด้านของ ‘คุณอำนวย’ นั้น  จึงเริ่มต้นจากการถามความรู้สึกที่ได้ดูวีซีดียอดหญิงนักพัฒนา แต่ละคนมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง หลายคนก็นับถือยอดหญิงที่มีความมานะ อดทน บางคนก็พูดออกมาเสียงดังว่า  “เหมือนอย่างกับชีวิตฉันเลย”  ก็ช่วยทำให้เสียงในวงย่อยค่อนข้างคึกคักขึ้น  ชาวบ้านก็รู้สึกผ่อนคลายกับ ‘คุณอำนวย’ มากขึ้น หลังจากนั้น ‘คุณอำนวย’ ก็พาเข้าประเด็นการทบทวนสิ่งที่ผ่านมาในการดำเนินงานของกลุ่มแม่บ้าน   ชวนคิดว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอะไร  จนไปถึงประเด็นความต้องการช่วยเหลือ และแนวทางที่ต้องการแก้ไข สรุปว่าในช่วงเช้าสามารถใช้เวลาได้ทั้งการเหลียวหลัง และการแลไปข้างหน้า  ซึ่งชาวบ้านก็ใช้เวลาจนถึงเที่ยงแล้วก็พักรับประทานอาหาร  ก่อนที่จะมีตัวแทนแต่ละกลุ่มออกมานำเสนอในวงใหญ่
                หลังจากที่ ‘คุณอำนวย’ แต่ละกลุ่มได้ออกมาเล่าสู่กันฟังถึงเรื่องราวที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนในกลุ่มย่อย  เป็นที่น่าสังเกตว่า  ถ้ากลุ่มใดมีประธานกลุ่มแม่บ้าน  สมาชิกในกลุ่มย่อยจะไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น  หรือเป็นการแสดงความคิดเห็นที่จะไม่แตกต่างจากประธานฯ มากนัก  แต่สำหรับกลุ่มที่ประธานกลุ่มไม่ได้มาในวันนี้ ก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่  ทำให้ทีมโครงการฯ อาจจะต้องย้อนทบทวนถึงการจัดกลุ่มในครั้งต่อไป  แต่การจะจับกลุ่มในลักษณะใดนั้น  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีเฉพาะประธานกลุ่ม   กลุ่มกรรมการฯ  กลุ่มสมาชิก  หรือจะเป็นการจับกลุ่มรวมทุกบทบาท  ก็จะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน  นั่นก็คือ ถ้าเรามีวัตถุประสงค์ที่กำหนดชัดเจน  เราก็จะสามารถเลือกจัดการในวิธีที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้  นอกจากนี้ สำหรับด้านข้อมูลก็ได้รับทราบว่าแต่ละกลุ่มจะมีปัญหาที่แตกต่างกัน บางกลุ่มมีปัญหาเรื่องไม่มีตลาด บางกลุ่มมีปัญหาเรื่องไม่มีทุนหมุนเวียน และบางกลุ่มก็ไม่มีปัญหา และไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือ ฯ ล ฯ
เมื่อนำเสนอกันครบทุกกลุ่มแล้ว  ‘คุณทรงพล’ ก็ช่วยสรุปท้ายเวทีอีกครั้ง โดยตอกย้ำเรื่องการใช้ปัญญาเพื่อแก้ปัญหา และต้องการคนที่ทำจริงจัง  และชี้ชวนให้เห็นว่า  เราต้องหันกลับไปมองกลุ่มแม่บ้านเหมือนมองให้เห็นช้างทั้งตัว   ในกลุ่มไม่ว่าจะเป็นประธาน กรรมการ สมาชิก แต่ก่อนอาจจะไม่เคยทำงานด้วยกัน  เมื่อต้องมาทำงานด้วยกัน  จะทำงานกันได้อย่างไร นานาจิตตัง มาอยู่ด้วยกันแล้วจะทำกันอย่างไร ต้องรู้จิตรู้ใจกันยังไง ถ้าเขาคิดไม่เหมือนเรา จะอยู่กันอย่างไร ไม่ใช่เรื่องง่าย   กลุ่มจะเข้มแข็งและประสบความสำเร็จได้   มันต้องการความรู้หลายเรื่อง  ต้องการความมานะ ความพยายาม ต้องการกำลังใจซึ่งกันและกัน ต้องมีความรัก 
               ‘คุณทรงพล’ ยังชวนมองให้เห็นปัญหาแต่ละจุดที่เกิดขึ้นในกลุ่ม และยกตัวอย่างให้เห็นฉุกคิดว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะชาวบ้านมีความรู้ไม่พอหรือเปล่า ซึ่งชาวบ้านควรเน้นมาให้ความสำคัญเรื่องของการหาความรู้ เพื่อให้เกิดปัญญา  สามารถแก้ปัญหาไปถึงรากได้อย่างแท้จริง
‘คุณทรงพล’  ตั้งคำถามว่าก่อนที่ชาวบ้านจะทำอะไรขาย   รู้จักลูกค้าของตนหรือไม่ ว่าลูกค้าอยู่ที่ไหน  ปริมาณลูกค้ามากพอไหม  การผลิตอะไร  เรามีความรู้พอไหม   รู้วิธีการ ขั้นตอน  รู้สูตรไหม  วัตถุดิบหาได้ง่ายไหม  มีอุปกรณ์เครื่องมือพร้อมหรือยัง  ต้องการวิทยากรเข้ามาสอนไหม  และพอชาวบ้านทำอะไรแล้วมักทำเหมือนกันหมด  เมื่อของออกตลาดมากๆ  ตลาดก็เป็นของผู้ซื้อ  ผู้ซื้อก็สามารถต่อรองได้   นอกจากนั้น คุณภาพ และราคาก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึง...
อีกประเด็นหนึ่งที่ ‘คุณทรงพล’ พยายามชวนให้ชาวบ้านคิด คือ ชาวบ้านภาคกลางส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา  รายได้ส่วนใหญ่จึงมาจากการขายข้าว  โดยข้าวนั้นเป็นสินค้าที่ถูกกำหนดราคาจากตลาดต่างประเทศ  ราคาที่ตลาดข้าวต่างประเทศซื้อจากตลาดข้าวในกรุงเทพฯ ก็เป็นราคาที่หักค่าขนส่ง และหักกำไรออก  ตลาดข้าวกรุงเทพฯ รับซื้อข้าวจากตลาดกลางส่วนจังหวัด ก็เป็นราคาที่หักค่าขนส่ง และหักกำไรออก  ตลาดกลางรับซื้อข้าวจากพ่อค้าคนกลาง ก็เป็นการหักค่าขนส่ง และกำไรอีกต่อ จนกระทั่ง เมื่อพ่อค้าคนกลางมารับซื้อข้าวจากชาวนา ก็หักค่าขนส่งและกำไรลงไปอีกเป็นทอดๆ ดังนั้นราคาข้าวที่ชาวนาขายออกไปจึงเป็นราคาที่ต่ำมาก  แต่เมื่อต้องซื้อสินค้าที่ผลิตจากโรงงาน  ไม่ว่าจะเป็นของกินของใช้  เช่น พัดลม  ตู้เย็น   แฟ๊บ  ยาสีฟัน  น้ำตาล  ฯ ล ฯ  ราคาที่ชาวบ้านต้องจ่ายคือราคาที่โรงงานบวก กำไร  บวก ค่าขนส่ง  มาเป็นทอดๆ  มาถึงบ้าน้ราก็ราคาแพงแล้ว    ชาวบ้านตกอยู่ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ซื้อแพง  ขายถูก  มาโดยตลอด   เราจะต้องเข้าใจและสามารถมองเห็นภาพเหล่านี้ให้ออก   ซึ่งจะทำให้เราสามารถคิดใหม่  ทำใหม่  เห็นช่องทางในการที่จะสร้างเศรษฐกิจบนฐานของการพึ่งตนเองได้มากขึ้น
               เหล่านี้ เป็นการตอกย้ำว่า  ก่อนที่ชาวบ้านจะมุ่งไปข้างหน้า ควรตรวจเช็คดูแต่ละจุดๆ ก่อน ว่าเรามีความรู้แค่ไหน   รู้เรา รู้เขา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง   แต่ถ้าเราใจร้อน ไม่ให้ความสำคัญกับความรู้ ไม่ให้ความสำคัญกับการที่จะเอาอดีตมาเป็นครู  โอกาสก็จะผิดพลาดได้ง่าย                      ‘คุณทรงพล’ ได้ยกตัวอย่างของกลุ่มอาชีพที่ประสบความสำเร็จ คือ กลุ่มสหกรณ์ผลิตน้ำดื่ม จังหวัดลำพูน ที่สำเร็จได้เพราะเขาให้ความสำคัญเรื่องการหาความรู้ หาข้อมูล และการศึกษาดูงาน ซึ่งหวังว่าการยกตัวอย่างที่เห็นผลเป็นรูปธรรม จะช่วยให้กลุ่มแม่บ้านวัดดาวเกิดกำลังใจลุกขึ้นมาสู้ใหม่ได้
                ‘คุณทรงพล’ ได้ปิดท้าย โดยเสนอแนวทางการดำเนินการต่อสำหรับผู้ที่ตั้งใจทำจริง  คือ ๑) การจัดการความรู้เพื่อให้เกิดกลุ่มแม่บ้านผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค ที่เข้มแข็ง  ซึ่งทางโครงการฯ ยินดีเข้ามาเป็นเพื่อนร่วมคิด  ร่วมทำ และนำวิทยากรมาช่วยเหลือ ด้าน อบต.ก็จะช่วยสนับสนุนงบประมาณ  และ  ๒) การจัดการความรู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนค่านิยมในการใช้ การซื้อ    โดยต้องชี้ให้เห็นว่าหากชาวบ้านสามารถผลิตสินค้าอุปโภคบางตัวได้เอง เช่น แฟ๊บ สบู่ ยาสีฟัน ก็จะช่วยลดเงินที่ไม่ต้องเสียออกไปปีละ ๔-๕ แสนบาท  และมันเป็นตลาดใกล้ตัว ทุกคนต้องใช้อยู่แล้ว  เพียงแต่เมื่อชุมชนผลิตสินค้าเอง ด้วยคุณภาพที่ดีพอ คนในชุมชนก็ควรหันมาช่วยใช้ด้วย  มิใช่มัวแต่ไปใช้สินค้าที่มียี่ห้อดัง  ราคาแพง  แต่คุณภาพทัดเทียมกัน   ชาวบ้านต้องเปลี่ยนค่านิยมเสียใหม่...
               หลังจากที่ ‘คุณทรงพล’ ทบทวนวัตถุประสงค์ การทำความเข้าใจให้ตรงกันเสร็จสิ้นแล้ว  ก็เปิดโอกาสให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็น  มีตัวแทนที่เป็นเสียงของชาวบ้านลุกขึ้นพูดว่า จากการได้พูดคุยกับชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มาในวันนี้ ต้องการรู้ว่า จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณแน่หรือเปล่า  นี่เป็นเสียงสะท้อนที่ทำให้เราเห็นวัฒนธรรมของชาวบ้านที่รอคอยการสนับสนุนจากภายนอก โดยเฉพาะการเน้นเรื่องเงิน ที่เขาคิดว่าเป็นปัจจัยที่ช่วยแก้ปัญหาได้  ปรากฏการณ์นี้ถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปสำหรับชุมชน สิ่งที่เราจะช่วยได้คือพาชาวบ้านให้ลุกขึ้นแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน โดยอาศัยปัญญาเป็นตัวนำ  ก็เป็นสิ่งที่ได้พูดตอกย้ำไปแล้วในวันนี้  ก็หวังว่า สิ่งที่ได้พูดไปจะค่อยๆ ซึมซับ และถ้ามีโอกาสได้เจอคนที่ตั้งใจจริง ร่วมมือกันแก้ปัญหาให้เกิดเห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม  ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลา และการทำที่ต่อเนื่อง  ก็คงจะช่วยให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจ และปรับเปลี่ยนความคิดแบบใหม่ได้ในที่สุด
                และจากคำถามนี้  ทาง อบต. ก็ให้คำตอบว่า  อบต.ยินดีสนับสนุนงบประมาณสำหรับคนที่จะทำจริง แต่กิจกรรมที่จะสนับสนุนงบประมาณนั้น อยากให้เป็นกิจกรรมของชุมชน ที่เกิดจากความต้องการและความร่วมมือของทุกคน  คงมิใช่นำงบประมาณไปสนับสนุนเฉพาะกลุ่ม  ก็อยากปรึกษาหารือว่า กิจกรรมนั้นเราจะทำอะไร  ในส่วนคำตอบตรงนี้  ตั้งข้อสังเกตว่า  คงจะไม่ตรงวัตถุประสงค์ตอนแรกที่มาของกลุ่มแม่บ้านบางกลุ่มที่เข้ามาเพื่ออยากได้รับงบประมาณไปสนับสนุนกลุ่มของตน  แต่ตอนหลังท้ายเวทีเมื่อ อบต.ชี้แจงวัตถุประสงค์ดังนี้  ก็มีเสียงส่วนหนึ่งที่เห็นด้วย และอยากร่วมมือกันทำกิจกรรมของชุมชน ซึ่งเสียงที่สะท้อนออกมา ก็อาจจะเป็นการทำเสื้อ หรือของอุปโภค  ซึ่งตอนแรก ทาง อบต. อยากได้คำตอบในวันนี้เลยว่ากิจกรรมนั้นจะเป็นอะไร    แต่ ‘คุณทรงพล’ ได้ให้ข้อเสนอว่า คงต้องให้ตัวแทนชาวบ้านที่เข้ามาวันนี้ กลับไปทบทวนก่อน แล้วค่อยนัดมาสรุปร่วมกันอีกครั้ง  ซึ่ง อบต. ก็ตกลง เห็นดีด้วย  ก็กำหนดให้ตัวแทนกลุ่มมาเจอกันอีกครั้งในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
               เวทีก็ปิดท้ายด้วยเสียงปรึกษาหารือกันของกลุ่มแม่บ้านที่จะแบ่งงานกันไปแจ้งให้สมาชิกของแต่ละหมู่บ้านทราบ...
              หลังเวที ทาง ปลัด อบต. พัฒนากร คุณทรงพล และทีมงานโครงการฯ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมดในวันนี้  ทางด้าน ปลัด อบต. ชี้แจงว่า จริงๆแล้ววันนี้ได้รับนโยบายจาก ‘นายกฯ อบต.’ ว่า ให้วางเป้าหมายว่าเป็นโครงการระดับตำบล อยากให้สรุปวันนี้เลยว่าจะเป็นโครงการในลักษณะไหน  ก็เป็นลักษณะของราชการทั่วไป ที่มุ่งทำตามแผนที่วางไว้  จุดนี้ถือเป็นการได้ประสบการณ์ว่า ไม่ควรรีบร้อนเกินไป ควรจะมีการกลั่นกรอง ให้ตัวแทนหมู่บ้านกลับไปนั่งคิดทบทวน แล้วเอามานำเสนอใหม่ วันนี้ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จไป ๙๐ เปอร์เซนต์แล้ว คือขอให้เป็นโครงการที่สร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่ม ส่วนรายละเอียด เขาจะเอาเสื้อ  ไปเที่ยว ไปทัศนศึกษา หรือไปทำสินค้าอุปโภคบริโภค ก็เรื่องของเขา  ในวันที่ ๑๔ ถ้าเป็นไปอย่างที่คิดกับนายกฯว่า ถ้าเขาจะผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคก็จะเป็น ๑๐๐% ตามที่วางไว้  และในส่วนของการจัดกลุ่มเรียนรู้เช่นนี้ ปลัด อบต.มีความเห็นว่า  ในความคิดเห็นส่วนตัว เห็นเป็นเรื่องพื้นๆ  แต่ว่าชาวบ้านมาร่วมวันนี้ สังเกตเห็นว่า ที่เราพยายามดึงความคิดเห็นของเขาออกมา เราจะได้ความคิดอะไรต่างๆ ของเขามากขึ้น  บางทีกระบวนการ ผมอาจจะเคยเห็นซ้ำซากมาบ่อยๆ แต่เมื่อเราได้ให้ความสำคัญเขาตรงนั้น เขาก็ให้ข้อมูลเรากลับมาเยอะ ก็ค

หมายเลขบันทึก: 29540เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2006 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท