ปัญหาคลาสสิคของห้องสมุด


สิ่งที่ต้องมานั่งทบทวนในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง คือ ทำอย่างไรจะป้องกันเหตุการณ์นี้ไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีกและก็ต้องคิดถึงวิธีการอื่นๆ ที่เขาจะทำอีก โดยคิดถึงคนที่เข้ามาใช้ห้องสมุดว่าเขาคิดจะทำยังไงบ้างหากเขาคนนั้นเกิดอยากจะได้หนังสือสักเล่มหนึ่งของห้องสมุดเป็นของตนเอง

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา น้องที่รับผิดชอบงานบริการยืม-คืน นำหนังสือ กองหนึ่งมาให้ดูบอกว่าหยิบออกมาจากตู้คืนหนังสือล่วงเวลา เห็นแล้วพาลนึกเลยไปยังอดีต อาจารย์ที่คณะมนุษยศาสตร์ ม.ช. เคยเล่าเรื่อง สมัยอาจารย์รับผิดชอบห้องสมุด นักศึกษาคนหนึ่งได้ส่งหนังสือมาคืนห้องสมุดหลังจากจบการศึกษาแล้ว 1 กล่อง ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ยืมออกจากห้องสมุดอย่างถูกต้อง "ดีนะที่ยังส่งคืน" นั่นคือคำพูดของอาจารย์ที่ซ้ำกับเหตุการณ์ที่จะกล่าวถึง

หนังสือกองนั้นทั้งหมดถูกดึงเลขเรียกหนังสือซึ่งติดไว้ที่สันหนังสือและดึงบาร์โค้ดที่ติดไว้ด้านในของปกหลังออกทั้งหมดทุกเล่ม นั่นหมายความว่า ถ้าผู้ตรวจหนังสือออกไม่ระมัดระวัง หรือเป็นช่วงที่คนทะยอยออกจากห้องสมุดค่อนข้างมาก ก็จะเข้าใจได้ว่า หนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือส่วนตัวของผู้ใช้บริการ (ห้องสมุด ม.น. ยังไม่มีประตูกลตรวจจับหนังสือที่ไม่ได้ถูกยืม)

สิ่งที่ต้องมานั่งทบทวนในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง คือ ทำอย่างไรจะป้องกันเหตุการณ์นี้ไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีกและก็ต้องคิดถึงวิธีการอื่นๆ ที่เขาจะทำอีก โดยคิดถึงคนที่เข้ามาใช้ห้องสมุดว่าเขาคิดจะทำยังไงบ้างหากเขาคนนั้นเกิดอยากจะได้หนังสือสักเล่มหนึ่งของห้องสมุดเป็นของตนเอง

หยิบหนังสือใส่กระเป๋า  แก้ด้วยการ ตรวจกระเป๋า  (ทำแล้ว)

โยนหนังสือออกทางหน้าต่าง (เคยมีกรณีนี้เกิดขึ้น)  แก้ด้วยการลดพื้นที่ลับตาให้มากที่สุด ทำลูกกรงตาข่ายในจุดที่มีโอกาสจะโยนหนังสือได้และมอบให้ รปภ. ตรวจตรามากขึ้น  (ทำแล้ว)

เอาหนังสือเสียบหลังกางเกงและใส่เสื้อคลุมทับ แก้ด้วยการตรวจค้นตัว แต่อ่อนไหวต่อการโดนประท้วงจากคนอื่นๆ ที่ไม่มีเจตนาขโมย จึงยังไม่ได้ทำ แต่ตอนนี้คงต้องทำแล้ว ขอแค่ให้ถอดเสื้อคลุม และที่สำคัญหาประตูกลตรวจจับมาใช้แทนการตรวจค้นตัว  (แต่เท่าที่ทราบจากหลายๆ มหาวิทยาลัยที่ใช้ประตูกลก็ยังคงพบหนังสือหายไปอยู่ดี)

ตรวจตราผู้ใช้ภายนอกให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการที่ไม่มีสิทธิ์ยืมหนังสือออกจากห้องสมุด ไม่แน่บางคนอาจจะอยากอ่านหนังสือบางเล่มบนเตียงนอนตอนเช้าวันเสาร์-อาทิตย์แบบที่หลายๆ คนชอบ  (เหตุผลของคนอารมณ์ศิลปินไปหน่อย แต่เชื่อว่ามี ) ด้วยเหตุผลดังกล่าวอาจทำให้ศิลปินบางคนหยิบหนังสือกลับบ้านโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นอย่างดี ด้วยวิธีการแยบยลเป็นพิเศษ

เพิ่มปริมาณและเวลายืมให้มากขึ้น (อันนี้ช่วยแก้ปัญหาการขึ้นชั้นหนังสือไม่ทันและชั้นหนังสือมีปริมาณไม่เพียงพอกับจำนวนหนังสือได้ด้วย แต่ผู้ใช้บางคนอาจจะต้องรอหนังสือที่ต้องการนานหน่อย)

ความลำบากใจของผู้ทำงานให้บริการก็คือ เราต้องระวังเรื่องความรู้สึกของผู้ใช้บริการเป็นพิเศษ ดังนั้นการแก้ปัญหาต่างๆ จึงต้องพยายามลดการเผชิญหน้าแบบไม่เป็นมิตรกับเขาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะกี่ปีต่อกี่ปี เหตุการณ์เดิมๆ ก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าสำรวจหนังสือทุกปี ก็จะพบว่ามีหนังสือจำนวนหนึ่งหายไปจากห้องสมุดทุกปี  คงต้องแก้กันที่การสร้างจริยธรรม แต่นั่นย่อมไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ใช้เวลาสั้นๆ แน่ 

เลยต้องนำมาถกต่อในบล็อกว่า มีท่านไหนพอจะแนะนำวิธีการป้องกันได้บ้างน้อ

 

หมายเลขบันทึก: 29517เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2006 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
     แบบนี้ถ้าได้ ลปรร. เทคนิคต่างๆ ระหว่างหอสมุดหลายๆ สถาบันคงจะดีนะคะ  เพราะแต่ละที่น่าจะมีประสบการณ์แตกต่างกัน

พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครูอนุบาล ควรปลูกฝัง ศีลข้อ 2 แก่เด็กๆ ตั้งแต่เริ่มพูดรู้เรื่อง

http://gotoknow.org/arrive-alive

นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์

ขอขอบคุณอาจารย์วันเพ็ญ...                                          

  1. เรียนเสนอให้มีกล้องวงจรปิดตรงทางออกห้องสมุด
  2. หากระจกเงา "รอบด้าน" มาตั้งไว้ตรงทางออก ใช้กระจกบานใหญ่ๆ ขนาดเต็มประตู การเห็นภาพตัวเองในกระจกเงาอาจทำให้คนบางคนตกใจหรืออายที่จะขโมยหนังสือได้
  3. น่าจะมีป้ายเตือน เช่น ประวัติขโมยจะบันทึกในประวัติเกรด (transcript) ฯลฯ
  4. ก่อนเดินผ่านให้ถอดเสื่อคลุม

  5. น่าจะมีทุนทำงาน มหาวิทยาลัยน่าจะส่งเสริมให้มีทุนทำงาน ลดทุน "ให้เปล่า" ลง ให้นิสิตนักศึกษาทุนทำงานมาเฝ้าระวัง

ตอนผมเป็นนักศึกษามีข่าวคนกลุ่มหนึ่งนำหนังสือไปซ่อนไว้ให้ผิดหมวดหมู่ เพื่อนจะได้ไม่มีหนังสืออ่านหรือยืม นี่อาจเป็นผลจากการประเมินคะแนนแบบ "ตัดเกรด (แข่งขัน)"

น่าเห็นอกเห็นใจคนลักหนังสือที่ทำบาปเก่งตั้งแต่เด็ก...

ขอขอบคุณ น้องตูน อ. เปมิช และ อ. หมอวัลลภค่ะ

คำตอบของน้องตูนและ อ. เปมิช ต้องขอความช่วยเหลือจากบุคคลหลายคน จึงต้องใช้เวลามากหน่อย

ข้อเสนอของ อ. หมอวัลลภ น่าสนใจที่สามารถนำมาใช้ได้เลย ดิฉันจะลองนำเรียนผู้บริหารสำนักหอสมุดพิจารณาดูค่ะ

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

  • ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า RFID ครับ
  • โดยแบ่งการลงทุนเป็นเฟสหลายๆ เฟส โดยเริ่มจากหนังสือราคาแพง หรือหนังสือหายาก (มีน้อยเล่ม) ก่อน
  • RFID นี้จะช่วยให้การยืม-คืนเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่น่าถึง 1 นาที
  • ถ้าออกแบบระบบดีๆ ไม่ว่าเอาไปซ่อนไว้ตรงไหนของห้องสมุดระบบก็จะหาเจอครับ
  • ที่หอสมุดม.อ.รู้สึกว่า ถ้าเอาหนังสือที่ไม่ได้ยืมผ่านประตู ประตูจะร้องปี๊บๆ นะครับ ผมไม่ทราบว่าเขาทำอย่างไรเหมือนกัน แต่ RFID ทันสมัยกว่าเยอะครับ
  • อาจจะติดประกาศ โทษของการขโมย (และฉีกหนังสือรวมถึงเจตนาขีดเขียนลงไปในหนังสือ) หนังสือ ไว้ข้างฝา ร่วมด้วยครับ ป้ายโตๆ ก็ดีครับเห็นชัดๆ
  • ขนาดตอนเรียนยังขโมย ถ้าปล่อยให้จบไป ผมคิดว่ายิ่งกว่านี้หลายเท่าครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท