กรมอนามัยรับแขก กพร.สป. และ สคส. (2)


อยากให้พวกเราได้พยายามแลกเปลี่ยนด้วย ระหว่างที่ได้ไปดูว่าเขาทำกันอย่างไร ในการดูงานครั้งนี้ ก็พยายามจัดเป็นกลุ่มย่อยๆ ก็เพื่อให้ทุกคนได้พูด ได้ถาม

 

คุณหมอสมศักดิ์ ประธาน KM กรมอนามัย มาเกริ่นนำให้ผู้มาดูงานได้รู้จักที่มาที่ไปของ KM กรมอนามัย ก่อนที่จะแยกย้ายกันเข้าไปเรียนรู้ตามฐานค่ะ ... ตามสไตล์ อ.หมอสมศักดิ์ ที่ชาวกรมอนามัยต้องหวั่นไหวอยู่เนืองๆ (เพราะท่านชอบใช้ทฤษฎีจับพวกเราโยนน้ำ สำลักน้ำกันอยู่เนืองๆ) ท่านว่าไว้ว่า

วันนี้ก็จะเป็นรายการ Learning by confusion ซึ่งจะเป็นหลักการหนึ่งที่จะมีประโยชน์มาก ถ้าใครไม่งงก่อน ก็จะรู้ครับ ...

ท่านศิริพร นำทีม สป. มาดูงานที่นี่ ก็ทำให้เราได้เรียนรู้จากแขกที่มาดูงานด้วย

ที่ตัดสินใจรับแขกครั้งนี้ ก็ไม่ใช่ว่าเรารู้อะไรมากมาย แต่เราเชื่อว่า การที่มีคนมาเยี่ยมเรา ก็จะเป็นโอกาสที่จะทำให้เราได้รู้ว่าเรามีอะไรกันบ้าง เราก็พยายามควักความรู้ให้ผู้ที่มาดูงานเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน (ลปรร.)

ในเรื่องของการจัดการความรู้นั้น สิ่งที่สำคัญก็คือ การ ลปรร. ที่กรมอนามัย จะมีที่มาที่ไปอยู่ 3 ส่วน ก็คือ

ส่วนแรก คือ ... เราเริ่มต้นอย่างไร ... ก็คงคล้ายๆ กับ สป. นะครับ เพราะว่ารัฐบาลทำให้เริ่ม รัฐบาลบอกมาว่า การบริหารองค์กรต้องมีการจัดการความรู้ ความคิดนี้ก็คงตรงไปตรงมา คือว่า ถ้าอยากบริหารองค์กรให้ดี สิ่งที่องค์กรต้องการให้มีนั้น ก็คือ คนทำงานที่มีความรู้ ผมก็มักจะ Code คำพูดของนักธุรกิจผู้หญิงอเมริกันคนหนึ่งที่เขาบอกไว้ว่า ในอเมริกาถ้ามีใครไปสมัครงาน เขาก็จะบอกว่า “บริษัทนี้ไม่การันตีว่า คุณจะมีงานทำตลอดในบริษัทเรา เราการันตีได้อย่างเดียวว่า ถ้าคุณออกไปจากบริษัทเราแล้ว คุณจะมีความรู้เพื่อที่จะไปทำงานที่บริษัทอื่น ที่ไหนก็ได้” ... ก็มาเทียบกันว่า องค์กรแห่งการเรียนรู้นั้น สำคัญที่คนทำงาน เพราะฉะนั้น การที่รัฐบาลมาเน้นเรื่องนี้ ก็ทำให้เรามีความเห็นตรงกัน

คุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เกริ่นนำก่อนเข้าฐานดูงาน KM กรมอนามัยพอมาดูที่กรมอนามัยแล้ว ผมคิดว่า ในฐานะกรมวิชาการ เราเป็นองค์กรที่คนทุกคนพยายามที่จะเรียนรู้ และผมเองโดยส่วนตัว เมื่อมาอยู่กรมอนามัยได้ประมาณ 5 ปี ก็อยากจะคุยแทนกรมอนามัยสักหน่อยว่า จริงๆ แล้วนักวิชาการกรมอนามัยนั้นมีการเรียนรู้ตลอดเวลา แต่ว่าเราได้เข้าใจมากขึ้น เมื่อเราได้มาทำเรื่อง องค์กรแห่งการเรียนรู้ ว่า ความรู้นั้นมี 2 แบบ อันหนึ่งที่พวกเราเรียนรู้มานี้ ที่ว่าเป็น Explicit knowledge คือ ความรู้ที่เข้าไปเรียนรู้ เช่น ในตำรา ในผลงานวิจัยต่างๆ ในอะไรสารพัดอย่าง แต่ความรู้อีกด้านหนึ่ง ซึ่งมีอยู่มากมาย และมีมากกว่าความรู้ที่ศึกษา ก็คือ ความรู้ที่มีอยู่ในตัวคน เราเรียนรู้กันน้อย เหตุผลที่เราเรียนรู้กันน้อย เพราะว่าเราแลกเปลี่ยนความรู้ในความรู้กลุ่มนี้น้อยมาก แต่ว่ามันสำคัญมากกว่าความรู้ที่มีอยู่ในตำรา ซึ่งตรงนี้ถ้าไปเทียบกับการที่มีการพยายามจัดระบบ และมาสอนพวกเรา เราก็พบว่า คนที่จะมาสอนเราเรื่องเหล่านี้ก็จะชำนาญเรื่องเทคนิคน้อย ที่มาบอกให้เราทำ database ทำ webbase search สารพัดอย่างที่เป็นเรื่องของเทคนิคต่างๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่าถ้าพูดกันตรงๆ หลักคิดเรื่อง Knowledge Management ในเรื่อง tacit knowledge ก็จะมีคนทำกันมากขึ้น และพูดกันมากขึ้นๆ ... และที่โชคดีก็คือว่า ตอนที่เรากำลังตั้งไข่นี่ เราก็มี สคส. ที่มีอาจารย์วิจารณ์เป็นผู้นำ อาจารย์ก็ทำเรื่องนี้มาก่อนรัฐบาลมาเป็นปี และ สคส. เองก็กลายเป็นผู้นำเรื่องการ ลปรร. เรื่อง Tacit knowledge

กรมอนามัยก็ได้ตรงนี้ เราชาวกรมอนามัยก็ควรทราบประวัติศาสตร์ตรงนี้นิดหนึ่งว่า ก่อนหน้าที่เราจะไปคุยกับ สคส. มากๆ นี่ เราเคยมีการคุยกันเรื่องการจัดการความรู้กันเยอะมาก

ใน Phase ที่สอง พอเรารู้ว่าจะทำอะไร ก็เป็นขั้นที่เราจะพยายามตัดสินใจ ว่าเราจะพยายามทำงานในกรมอนามัย สิ่งแรกที่เราบอกตัวเองก็คือว่า เราอยากให้การจัดการความรู้ในกรมอนามัย เป็นงานของทุกหน่วยงานย่อย แม้ว่าทาง กพร. กลางจะขอให้กรมฯ ทำแผนจัดการความรู้ของกรมฯ เราก็ตอบตัวเองตลอดเวลาว่า การจัดการความรู้ของกรมอนามัย ก็คือแผนการจัดการความรู้ของหน่วยงานย่อยของกรมอนามัย ก็คือ กองฯ บวกกับทุกศูนย์ฯ เพราะฉะนั้น เราจึงพยายามให้กองฯ และทุกศูนย์ฯ ของกรมอนามัยทำแผนของหน่วยงานย่อย ซึ่งก็สนุกสนานกันพอสมควร เพราะว่าวิธีการทำแผนของหน่วยงานย่อยนั้น เราก็ให้คิดกันเองว่า แล้วจะเอาอะไร อย่ามาถามว่า จะให้ทำอะไร ก็เป็นวิธีง่ายๆ ... เอาไปลองใช้ได้นะครับ ... ผมก็ใช้วิธีจับโยนน้ำกันอยู่เรื่อยๆ คือว่า เด็กแรกเกิดถ้าไม่ให้ลงน้ำก็คงว่ายน้ำไม่เป็น (ก็พูดเล่นๆ นะครับ)

และสิ่งที่เราพยายามที่จะทำคือ เราพยายามทำให้หน่วยงานต่างๆ เขียนแผน เรามีคณะกรรมการกลาง KM ซึ่งประกอบไปด้วยคนที่มาจากหน่วยงานต่างๆ ของกรมฯ และมีคนกลุ่มหนึ่งที่มาช่วยกันคิด เพื่อที่จะเผยแพร่ความรู้กันต่อๆ ไป แต่เราก็พบว่า มันไม่ work จัดกรรมการยังไงก็ไปไม่ถึงส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นเราก็พยายามหาทางจะ communicate กับคนในส่วนกลาง เพราะว่าเรามั่นใจว่า ถ้าเราปล่อยให้เรื่องของการจัดการความรู้อยู่ในเฉพาะกลุ่มผู้บริหาร หรือกลุ่มที่ได้รับการมอบหมายให้ทำงาน มันจะไม่ดีเท่าที่ควร และดีไม่ดี คนในกองอยู่มากมายจำนวนหนึ่ง ที่สนใจการทำงานแบบนี้ แต่ไม่ได้อยู่ในฐานะที่มาทำงานที่ได้รับมอบหมาย ก็อยากเรียนรู้ด้วย เราจึงพยายามที่จะประสานในหลายๆ ทาง และสุดท้ายก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า แผนของหน่วยงาน เราก็ขอให้หน่วยงานส่งแผนขึ้นมา แล้วเราก็ใช้ทีม Fa ช่วยกันเรียนรู้ว่า แผนของเขาน่าจะเป็นอย่างไร และ feedback กลับไป ก็มีการ feedback กัน 2-3 รอบ

ในที่สุดเราก็มาถึงอีก Phase หนึ่งที่ว่า ทุกคนก็มาถามกันว่า ถ้าให้เขียนแผน อยากรู้ตัวชี้วัด เราก็เลยชวนคนในกรมอนามัยมาคิดกันว่า อะไรคือตัวชี้วัดของงาน KM

ซึ่งผมก็มองว่าทั้งหมดนี้ก็คือ ความพยายามในการสร้างขบวนการเรียนรู้เรื่อง KM ในกรมอนามัย และอันนี้ก็คงเป็นหลัก learning by confusion สิ่งนี้ผมคิด เราได้ข้อดีว่า เราไม่ได้เริ่มจากเราไม่มีอะไร เพราะว่าตอนที่เราทำอย่างนี้ สคส. มีตำรา มี Lecture Note มีเวปไซต์ มี CD แจก และมีหนังสือขายอยู่เยอะ เราก็เลยบอกว่า เราต้องไปหาอ่าน อย่างน้อยเวลาอ่านที่ยังงงๆ นั้น ถ้าอ่านเยอะก็จะงงน้อย หรือพออ่านเยอะก็จะงงเยอะ ก็เป็นไปได้ทั้งหมด แต่เราก็พยายามเอาแผนเป็นตัวเดิน คุยกันอยู่ 2-3 รอบ เราก็ได้ตัวชี้วัดงาน KM ของกรมอนามัย และเราก็มีแผนของกองต่างๆ และส่วนกลางก็จะเป็นตัวคอยกระตุ้น คอยประสาน คอยที่จะเป็นกองเชียร์ ไปเยี่ยม และเรียนรู้ด้วยกัน

Phase ที่ 3 ในปีนี้ คือ ปี 2549 เราก็มีการเลือกหน่วยงานต้นแบบ โดยมี concept ง่ายๆ คือ ทีมกลางอยากจะช่วยทุกหน่วยในกรมอนามัยทำงาน KM แต่ว่าเราไม่มีปัญญาไปช่วยได้ทุกหน่วยงาน ก็เลยเลือกได้เพียงไม่กี่หน่วยงาน ก็หวังว่าพอสักพักหนึ่ง หน่วยงานนี้จะเข้าใจชัดเจน ก็จะไปช่วยจุดอื่น ในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยเหลือในกรณีมีหน่วยงานมาขอเรียนรู้ เราก็ให้ไปดูงานที่หน่วยงานต้นแบบได้ และที่พวกเราจะมาดูกันในวันนี้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานต้นแบบ ทั้งหมด 5 แห่ง

ใน part ที่ 3 นี่ สิ่งที่เราพยายามลงไปลึกๆ ก็คือ เรื่องของรายละเอียด ก็เรียนตรงๆ นะครับว่า สิ่งที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ และที่เราจะได้ไปดูทั้ง 5 ฐาน ที่จัดไว้นี้ เป็นความคิดริเริ่มของหน่วยงานหนึ่ง เราไม่เคยไปบอกว่า กองแผนฯ ต้องทำแฟ้มภูมิปัญญา เราไม่เคยบอกว่า กองคลังต้องไปทำ GFMIS เวลาเราไปพูดกับหน่วยงานต่างๆ ว่า ให้ไปทำของคุณเอง ก็มีแค่ concept ใหญ่ๆ เท่านั้นเองว่า

  1. แผน KM ของหน่วยงานนี้ เริ่มที่งานของหน่วยงาน เหมือนกองคลังก็บอกว่า GFMIS ก็เป็นงานของกองคลัง เขาอยากจะลองดูสิว่า งาน KM ใน GFMIS
  2. ที่เราบอกเสมอว่า แผน KM ก็ต้องมีความเป็นแผน KM เมื่อคุณพัฒนางานมีหลายวิธี แต่สิ่งที่เราเขียนในแผนก็คือ กิจกรรมซึ่งเข้าข่ายจัดการความรู้ และสร้างความสามารถในการเรียนรู้ของผู้คน เป็นหรือไม่ ขออย่างเดียวว่าอย่าให้เป็นการดูงาน อบรมความรู้ หรือบรรยาย ซึ่งก็เป็นการพัฒนาความรู้ของหน่วยงานที่จะเรียกว่า เป็นการจัดการความรู้ก็ได้ และกองฯ เขาก็มีวิธีการที่ง่ายๆ คือ จับมาคุยกัน มาเล่า Success story กัน

นี่ก็คือหลักการใหญ่ๆ ที่จะให้หน่วยงานในกรมอนามัยทำแผนกัน

และในการดูงานครั้งนี้ ก็คงใช้หลักเดียวกันครับ คือ ทุกท่านที่เข้าไปในฐานต่างๆ นี้ ก็จะไม่ได้ฟัง lecture ไม่มีใครมาเล่าว่า การทำ KM คืออะไร ที่นี่คิดยังไง ผมก็คงเล่าไปให้ฟังนิดหน่อย แต่เวลาเข้าไปในฐาน ทุกคนก็จะได้ฟังว่าเขาทำอะไรที่เรียกว่า KM ผมก็เพียงเล่าที่มาที่ไป และก็อยากให้พวกเราได้พยายามแลกเปลี่ยนด้วย ระหว่างที่ได้ไปดูว่าเขาทำกันอย่างไร ในการดูงานครั้งนี้ ก็พยายามจัดเป็นกลุ่มย่อยๆ ก็เพื่อให้ทุกคนได้พูด ได้ถาม อย่างน้อยๆ ก็พยายามถามคำถามหนึ่งก็จะได้ความรู้ด้วย

และเราเลือกให้เข้า 2 ฐาน ต่อ 1 กลุ่ม เพื่อให้พวกเราได้ดูกันเยอะๆ ได้คุย จะได้ความสมดุล และตกตะกอน (... แต่อย่านอนก้นนะคะ) เพื่อให้ได้ประโยชน์ได้ง่าย และกลับมาฟังเรื่องของ Kcenter และตบท้ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (AAR) ในเรื่องข้อคิดเห็นต่างๆ ด้วยกัน

... นี่ก็เป็นการเกริ่นนำนะคะ แล้วจะนำตอนต่อไปมาเล่าให้ฟังค่ะ ...

 

หมายเลขบันทึก: 29476เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2006 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นการกล่าวนำที่สุดยอดเลยครับ    ขอบคุณที่นำมาถ่ายทอดโดยละเอียดครับ

วิจารณ์

     คุณหมอนนทลี  เขียน Blog เล่าทุกตอนขึ้นได้อย่างรวดเร็วและละเอียดมากค่ะ   ทีมจับภาพ KM จาก สคส. ผู้น้อยขอน้อมคาราวะค่ะ     การดูงานครั้งนี้ถึงแม้ใช้เวลาเพียงครึ่งวัน ทำให้แต่ละคนได้เห็นเพียง 2 ฐาน ใน 5 ฐาน (เห็นพี่ศรีวิภา ว่าเป็นเทคนิคให้ชิมขนมอร่อย  เมื่อติดใจจะกระตุ้นให้อยากมาเรียนรู้อย่างละเอียด........กลยุทธ์ล้ำเลิศจริงๆ)    เมื่อทีมที่ไปดูงานกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกทีก็จะได้ความรู้ครบทั้ง 5 ฐาน   เป็นการกระตุ้นทำให้ทีม สป. กระทรวงสาธารณสุข  ได้กลับไปฝึกเทคนิคแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และ AAR อีกที  ดีจริงๆ ค่ะ       

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท