กลุ่มพัฒนาอาชีพเปลี่ยนผ่านเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน


อาจารย์หทัยกาญจน์ วัฒนสิทธิ์ ครูอาสาฯรับผิดชอบตำนาเคียน แจ้งว่าวันนี้คุณพี่ยะหยา กิจจารักษ์ ประธานกลุ่มพัฒนาอาชีพปุ๋ยหมักบ้านนาเคียนใต้ ตำบลนาเคียน อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีฯ พร้อมคณะกรรมการกลุ่มประมาณ 10 คน กำหนดไปศึกษาดูงานกลุ่มปุ๋ยหมักของกิ่งอำเภอช้างกลาง จึงได้เชื้อเชิญให้ไปด้วย ทั้งนี้เพราะกลุ่มปุ๋ยหมักกลุ่มนี้ กำลังอยู่ในระหว่างจัดหาเครื่องจักรสำหรับบดละเอียดและคลุกเคล้าส่วนผสมของปุ๋ยหมัก ตามที่ของบประมาณไปขอรับการสนับสนุนจากผู้ว่าฯ CEO และผู้ว่าฯ CEO ได้อนุมัติให้แล้ว 150,000 บาท ตามที่ขอ จึงต้องหาข้อมูลเชิงประจักษ์ในเรื่องของประสิทธิภาพการใช้งานจากกลุ่มที่ดำเนินการอยู่แล้ว

สิ่งที่ได้ไปเห็น คือที่บ้านไทรงาม หมู่ที่ 5 ตำบลสวนขัน กลุ่มนี้มีเครื่องจักร 2 ตัว คือ เครื่องบดละเอียด ราคาเครื่องละประมาณ 20,000 บาท และเครื่องผสมวัสดุหรือคลุกเคล้า ราคาเครื่องละประมาณ 30,000 บาท ตัวแทนกลุ่มฯให้ข้อมูลว่าด้วยเครื่องจักร 2 ตัวนี้ ทำให้กลุ่มสามารถผลิตปุ๋ยได้มากกว่าการใช้แรงงานคนและการหมักตามธรรมชาติถึง 3 เท่าตัว ที่เป็นเช่นนี้ตัวแทนกลุ่มอธิบายว่าเพราะเครื่องบดที่บดมูลสัตว์ได้ละเอียดแล้วนี่เอง มูลสัตว์ที่ละเอียดเมื่อผสมกับวัสดุส่วนผสมอื่นที่คลุกเคล้าในเครื่องผสม จะช่วยให้ย่นระยะในการหมัก ใช้เวลาหมักเพียงแค่ 3 วันเท่านั้นเอง จึงบรรจุกระสอบได้ ( ไม่แน่ใจในคำอธิบาย กระซิบบอกกับคณะที่ไปด้วยว่าน่าจะหาความรู้จากผู้รู้เรื่องนี้เพิ่มเติม นึกถึง ผอ.บัญญัติ ลายพยัคฆ์ ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดนครศรีฯขึ้นมาทันที) ส่วนกลุ่มวัดควนส้านมีแต่เครื่องบดอย่างเดียว ไม่มีเครื่องผสม

ผมมีความเห็นว่ากิจกรรมการผลิตของ 2 กลุ่มนี้เหมาะสมแล้วกับการทำเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งขายดีมาก ผลิตจำหน่ายเฉพาะสูตรที่มีผู้ซื้อมากๆเท่านั้น เช่น สูตรสำหรับใช้ใส่ยางพารา ( อีก 2 สูตร จำไม่ได้) สมาชิกที่ถือหุ้นจะได้รับปันผลงาม (ข้อมูลจากครูศูนย์การเรียนชุมชน)


เมื่อเดินทางกลับถึงบ้านนาเคียนใต้ ก็ได้ตั้งวงพูดคุยถึงเรื่องราวที่ได้ไปดูมา ว่าจะเอาอย่างไรกับเครื่องจักร 2 ชนิดนั้น จึงจะเหมาะสมที่สุด และจะทำการปรับปรุงโรงปุ๋ยหมักอย่างไรดีให้พลิกโฉมเป็นศูนย์การเรียนรู้อาชีพชุมชน ที่มีกิจกรรมการเรียนรู้คึกคัก เป็นที่สนใจของผู้คนอย่างไร ความคิดเห็นที่สะท้อนออกมา เช่น การเติมเต็มความสมบูรณ์แปลงสาธิต การนำปุ๋ยไปใช้อย่างจริงจังโดยให้สมาชิกแต่ละคนกลับไปทดลองใช้ปุ๋ยกับพืชผักที่ไม่ซ้ำชนิดกันเพื่อศึกษาผล การประชุมปรึกษาหารือและเล่าเรื่องราวประสบการณ์การทำงานทุกเดือน การบันทึกร่องรอยการศึกษาหรือการทำงานไว้เป็นหลักฐานเพื่อประโยชน์สำหรับการเรียนรู้  การจัดแสดงข้อมูลปุ๋ยหมักอย่างต่อเนื่อง การรณรงค์เรื่องเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น


ผมได้เสนอความเห็นหน่อยหนึ่งในตอนท้ายว่าขอให้กลุ่มปุ๋ยหมักนาเคียนใต้ทำงานอย่างจริงจัง เรียนรู้ไปพร้อมกับครูอาสาฯ (คุณอำนวย) ปรึกษาหารือกัน เก็บร่องรอยการเรียนรู้และหลักฐานการทำงาน เพื่อการแลกเปลี่ยนในเวทีใหญ่ คือระดับเครือข่าย ซึ่งเครือข่ายเกษตรอินทรีย์อำเภอเมืองฯกำหนดแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทุกวันที่ 28 ของเดือน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท