โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (7) บทข้าว


๗ ต้นข้าว และเรื่องเล่าจากข้าวขวัญ

     เมื่อกล่าวกันถึงเรื่องข้าวๆ ข้าวเป็นอย่างไร เมล็ดข้าว...เมล็ดไม่ใหญ่ไม่โต ยาวไม่ถึงกระเบียดนิ้ว แต่กลับมีเรื่องราวให้เล่าอย่างมากมายก่ายกองและหลายหลากมุม เราๆท่านๆ รู้จักข้าวเพราะเป็นอาหารหลักของคนไทยมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล ในคราวนี้ทั้งนักเรียนชาวนาและผู้คนที่สนใจจะรู้จักข้าวเป็นพิเศษ ความเป็นพิเศษซึ่งข้าวขวัญจะนำข้าวมาพิจารณา

     เริ่มต้นจากเรื่องราวของต้นข้าว เอ๊ะ...ต้นข้าวแต่ละต้นเป็นอย่างไร จากรากในโคลนตมจนถึงช่อรวงที่อุ้มเมล็ดข้าวสีทอง...นี่ได้กล่าวเกริ่นเข้าถึงเรื่องส่วนประกอบของต้นข้าวโดยไม่รู้ตัวไปเสียแล้ว เป็นโดยปริยายด้วย เนื้อหามีรายละเอียดพอสมควรทีเดียว หากเราๆ ท่านๆ เอาต้นข้าวมาแบ่งมาแยกออกเป็นส่วนๆ เพื่อพิจารณาดูกัน ก็สามารถแบ่งได้เป็นส่วนต้นข้าว ส่วนดอกข้าว และส่วนเมล็ดข้าว

     อย่างแรกของต้นข้าวที่จะมาดูรายละเอียด คงจะต้องพากันดำลงดินเสียก่อน เพื่อพากันไปเรียนรู้แลดู ราก ของต้นข้าว ซึ่งเป็นระบบรากฝอยและมีรากขนอ่อนด้วย เริ่มต้นด้วยรากชุดแรกที่จะเกิดหลังจากการงอก แล้วรากชุดต่อมาก็จะเกิดตาม โดยจะเกิดตรงที่เป็นข้อใต้ดินของต้นข้าวอ่อน และรากชุดสุดท้ายจะกลายเป็นรากฝังดินหรือรากค้ำจุน จะเกิดตรงที่เป็นข้อเหนือระดับผิวดิน สรุปอย่างง่ายๆสั้นๆได้ว่ารากของต้นข้าวมี ๓ ชุด รากแต่ละชุดนั้นเกิดขึ้นและเป็นไปตามลำดับการเจริญเติบโตของต้นข้าวนั่นเอง โดยที่รากจะคอยดูดน้ำ ลำเลียงธาตุอาหารไปยังส่วนต่างๆของต้น นอกจากนี้รากจะต้องทำหน้าที่ยึดลำต้นอีกด้วย

     หลังจากที่ได้ลงในดินดูรากของต้นข้าวกันแล้ว ก็เชิญขึ้นมาบนดินบ้าง เพื่อมาดู ลำต้น ของต้นข้าวเป็นลำดับต่อไป ลำต้นของต้นข้าวที่เห็นเป็นเส้นๆ ก็คือชุดของข้อและปล้องที่เรียงตัวต่อกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยนั่นเอง ต้องเข้าไปดูต้นข้าวอย่างประชิดด้วยความพินิจพิจารณาแล้วก็จะเห็นเองว่า เป็นข้อๆปล้องๆ เป็นชุดๆเรียงต่อๆกัน ซึ่งในแต่ละปล้องๆนี้จะมีผนังกั้นข้อ บริเวณข้อจะเป็นที่เกิดใบและตาของต้นข้าว ช่วงบริเวณโคนต้นจะมีข้อที่ถี่ๆพอดู และตรงบริเวณนี้เองที่หน่อข้าวจะแตกกอเป็นต้นใหม่ ลำต้นของข้าวก็จะรับและลำเลียงทั้งน้ำทั้งธาตุอาหารที่รากค่อยๆดูดส่งมาให้ไปยังส่วนต่างๆของลำต้น และลำต้นยังต้องทำหน้าที่พยุงใบให้คอยรับแสง พยุงดอกและรวงข้าว

     พอปีนป่ายขึ้นมาแถวๆ ลำต้นของต้นข้าวแล้ว อย่างต่อมาก็ต้องมาแวะดู ใบข้าว ด้วย ใบของต้นข้าวนี้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีลักษณะเป็นแผ่นแบนและบาง แถมยังยาวเรียวอีกด้วย แต่ละใบจะเกิดตรงที่ข้อของลำต้น ซึ่งจะขึ้นเรียงสลับกันเป็น ๒ แนว ใบข้าวใบหนึ่งๆประกอบด้วยตัวใบ กาบใบหรือก้านใบ ข้อต่อใบ หูใบ และเขี้ยวกันแมลง โดยที่ใบแรกเกิดจากต้นแม่จะมีลักษณะคล้ายกาบใบ ส่วนใบที่อยู่บนสุดของต้นข้าวและอยู่ใต้ช่อดอกข้าว หรือรวงข้าวนั้นมีชื่อเรียกพิเศษว่า “ใบธง" ใบธงและใบล่างถัดลงมาจะสร้างอาหาร อันเป็นหน้าที่หลักของใบเลยก็ว่าได้ และยิ่งในระหว่างที่ข้าวออกดอก ผสมเกสร สร้างรวง สร้างเมล็ดนั้น ขั้นตอนเหล่านี้แหละได้รับอาหารจากใบนั่นเอง

     เมื่อถึงระยะที่ข้าวออกดอก ก็คงจะต้องกล่าวถึงเรื่อง รวงข้าว ในลำดับนี้ รวงข้าวประกอบไปด้วยแขนงหลายๆ แขนง โดยที่แขนงแรกของช่อดอกซึ่งอยู่ตรงข้อด้านบนของคอรวง แขนงถัดไปอยู่ตรงแกนกลางของรวง และบนแขนงจะแตกกิ่งเล็กๆ กิ่งเล็กๆก็จะมีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า “ระแง้" กิ่งเล็กๆหรือระแง้จะเป็นที่เกิดของดอกข้าว แล้วมาดูความสัมพันธ์ระหว่างระแง้กับดอกข้าวอีกชั้นหนึ่ง หากพบว่าระแง้ถี่ ก็แสดงว่ามีจำนวนดอกในรวงมาก และหากพบว่าระแง้ห่าง นั่นก็แสดงได้ว่ามีจำนวนดอกในรวงน้อย มากหรือน้อย...จำนวนเท่าใด นักเรียนชาวนาต้องสังเกตกันพอดู หลายต่อหลายคนอดไม่ได้ที่จะต้องนั่งนับระแง้กันก็มี ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้

     ในข้างนี้ได้กล่าวเกี่ยวพันมาระหว่าง รวงข้าว กับ ดอกข้าว ไฉนเลยที่จะละเลยไม่ลงลึกเรื่องดอกข้าว ตรงมีรายละเอียดจึงจะได้ชื่อว่าครบเครื่องเรื่องข้าวๆ ว่าแล้วก็ชมดอกข้าวกันต่อ ชมดอกข้าว จึงพบว่าดอกข้าวเริ่มจากกลีบฝ่อ ซึ่งมี ๒ ปุ่มติดอยู่ที่คอรวงและส่วนปลายที่ต่อจากก้านดอกย่อย ต่อมาพบว่ามีขั้วดอก อันเกิดถัดต่อจากกลีบฝ่อหรือเหนือกลีบฝ่อขึ้นไป จะอยู่ระหว่างกลีบรองดอกและเปลือก จากนั้นก็เห็นจะมีดอกใหญ่ เป็นส่วนที่อยู่ติดกับเมล็ดข้าว ถัดมาเป็นกลีบรองดอก จะอยู่ระหว่างกลีบฝ่อและดอกข้าว จนขึ้นมาเป็นเปลือกดอก มีทั้งเปลือกดอกใหญ่และเปลือกดอกเล็ก เปลือกดอกจะห่อหุ้มดอกซึ่งอยู่ด้านใน เป็นเสมือนเกราะกำบัง ยอดของเปลือกดอกใหญ่ของข้าวบางพันธุ์จะมีปลายแหลมยื่นออก เรียกกันว่า “หาง"

     ดอกข้าวถือเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กล่าวคือมีทั้งเกสรตัวผู้กับเกสรตัวเมียอยู่ภายในดอกเดียวกัน และอยู่ภายในเปลือกดอกเดียวกันด้วย อับเกสรตัวผู้ของดอกข้าวจะมีจำนวน ๖ อัน อยู่บนก้านอับเกสรก้านเล็กๆอ่อนๆ และแต่ละก้านทั้ง ๖ นี้ก็จะเต็มไปด้วยละอองเกสรตัวผู้ ส่วนเกสรตัวเมียมีพู่รับละอองเกสร ๒ อัน และรังไข่ ๑ รัง เชื่อมกันด้วยพู่รับละอองเกสร ในเมื่อดอกข้าวเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกข้าวจึงสามารถผสมพันธุ์ได้ด้วยตนเอง ...นี่แหละจุดสำคัญที่จะมีเรื่องราวเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย ที่ควรต้องติดตามต่อไป

      ออกจากร่ายรายละเอียดกันยาวพอดู กล่าวกันสั้นๆนั้นออกจะดูไม่ค่อยครบเครื่อง แต่หากร่ายยาวกว่านี้อาจจะทำให้ปวดเศียรเวียนเกล้าก็เป็นได้ ...

 ภาพที่ ๔๑ ต้นข้าว

 

หมายเลขบันทึก: 29336เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2006 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท