ผักพื้นบ้าน


ทำให้ดูอยู่ให้เห็นเป็นให้สัมผัส

ผักพื้นบ้าน
ของดีที่บ้านจำรุง  จังหวัดระยอง
ถามว่าวันนี้คุณรู้จักผักที่คุณกินหรือไม่ และมันมีกี่ชนิด  คงได้รับคำตอบที่ไม่ต่างกันมากนัก  ไล่เรียงกันไป ๆ มา ๆ คงได้ซักสิบชนิด  คะน้า  หอม  ผักชี  ถั่วงอก  กวางตุ้ง  กะหล่ำ  ผักบุ้ง  ถ้ามากกว่านี้ต้องนึกนานหน่อย
และถ้าถามต่อไปว่ารู้จักผักพื้นบ้านบ้างหรือไม่  คงได้รับคำตอบที่คล้าย กันว่ารู้จักเมื่อสมัยเด็ก ๆ  ซึ่งทุกวันนี้อาจจะมีให้เห็นบ้าง   แต่กว่าเรียกชื่อก็ต้องนึกกันนาน  เรื่องได้กินคงไม่ต้องพูดถึง    สำหรับคนในเมืองที่มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบและต้องรับประทานอาหารถุง  แม้แต่คนบ้านนอกอย่างผมเองก็เหมือนกัน  ก็ไม่ต่างจากที่ว่ามานัก
ย้อนกลับไปเมื่อสมัยที่ผมเป็นเด็ก ๆ  อาหารหลักของผม    คือผักพื้นบ้าน ผักขมผัดน้ำมัน    ผักหวานต้มจิ้มน้ำพริก  ผักบุ้งนา  ตำลึง  กะถิน  กินกันดิบ ๆ ได้รสชาติดีนัก  แกงส้มใบมะขาม  ยังจำได้ว่าแม่ผมชอบกินผักเสี้ยนดอง  ผักกุ่มจิ้มน้ำพริก  ใบแต้ว  ใบเสม็ดแดง  ฯลฯ  ใครจะนึกว่าผักพื้นบ้านปลอดสารเคมี    ที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์ในท้องถิ่นจะค่อย ๆ หมดคุณค่า     ไปโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว    เมื่อในสำรับกับข้าวของเราถูกแทนที่ด้วยผักในเมือง  ผักจากต่างถิ่นที่บางครั้งเราเองไม่รู้จัก  ไม่อยากโทษใครให้เจ็บกระดองใจ  รู้แต่ว่าวันนี้    คนส่วนใหญ่แทบไม่รู้จักผักพื้นบ้านพื้นเมืองกันแล้ว  หรือรู้จักก็แทบไม่ได้นำมากิน  ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ นานา 
บ้านจำรุง   ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เมื่อประมาณปี 2543    เมื่อเราได้ช่วยมีการเก็บข้อมูลครัวเรือน  แล้วพบว่าเราซึ่งเป็นชุมชนล็ก ๆ  150 ครัวเรือน    มีการใช้สารเคมีกันอย่างรุนแรง  มีสารเคมีตกค้างในเลือดของพวกเรา  โรคภัยไข้เจ็บเข้ามาหาเราโดยที่เราไม่สามารถดูแลตัวเองได้  โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เราได้ยินบ่อยขึ้น
เรานำเรื่องนี้มาหารือกัน    แล้วพบว่าทั้งหลายทั้งปวงนั้นมาจากที่วิถีชีวิตเราเปลี่ยนไป  วิถีการกินที่เป็นไปตามค่านิยมสมัยใหม่  เราละเลยอาหารในท้องถิ่นที่มีคุณค่า  เมื่อพบต้นตอของปัญหา  เราเริ่มจัดระบบการกิน  วิถีชีวิตใหม่ร่วมกัน 
โดยมีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรพื้นบ้าน   นำผักพื้นบ้านมาฟื้นฟูร่วมกัน  ใช้สมาชิกกลุ่มเกษตรพื้นบ้านเป็นหลักในการผลิต     ผักพื้นบ้านปลอดสารเคมีสู่ชุมชน ผ่านพนักงานขายของกลุ่ม   มีการรณรงค์สร้างค่านิยม     ผ่านสื่อวิทยุชุมชนบ้านจำรุง  ซึ่งเป็นสื่อของเราเอง  เรามีร้านส้มตำจำรุง  ที่รับผักพื้นบ้าน    ของกลุ่มไปกินกับส้มตำ
       ผู้คนที่มาร่วมเรียนรู้ในวิถีชุมชนบ้านจำรุง มาพักโฮมเสตย์ เราจัดอาหารพื้นบ้านรับรองเป็นอาหารหลัก ผู้คนในชุมชนหันมานิยมกินผักพื้นบ้านเพิ่มขึ้น
ซึ่งหลังจากที่เราช่วยกันทำแบบนี้มาตั้งแต่ปี  2543  เริ่มส่งผลเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ  ผู้ผลิตได้ผลิตผักพื้นบ้านปลอดสารเคมีอย่างมีความสุข     เพราะไม่ต้องกังวลกับเรื่องราคาสารเคมีแพง  สุขภาพดีขึ้นทั้งสุขภาพกาย  สุขภาพใจ  ผู้บริโภคได้กินผักพื้นบ้านตามฤดูกาลส่งผลดีต่อสุขภาพ  ภาวะอยู่เย็นเป็นสุขเริ่มเกิดขึ้น
เรานำดอกอัญชันมาแปรรูปเป็นน้ำดอกอัญชันสีสวย    ต้อนรับนักเดินทาง 
ในปีนี้เราเตรียมพื้นที่  ที่เอื้อต่อการเกิดผักพื้นบ้านชายน้ำ    ตลอดแนวลำรางสาธารณะ  1,200  เมตร   เพื่อที่จะให้ชุมชนได้มีผักพื้นบ้านกินอย่างหลากหลายเพิ่มขึ้นและลดรายจ่ายของครอบครัว   
1 ปีที่ผ่านมา  นักเดินทางที่มาบ้านจำรุงได้กินผักพื้นบ้านปลอดสารเคมีและนำแนวคิดไปบอกต่อกันเองมากกว่า  1,000 คน  ที่สำคัญชุมชนได้เห็นคุณค่าของผักพื้นบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ   สำรับกับข้าวของเรามีผักเมืองน้อยลง  สุขภาพชุมชนดีขึ้น  อากาศบริสุทธิ์ขึ้นเพราะใช้สารเคมีน้อยลง
ผมเองรู้จักผักพื้นบ้านเพิ่มขึ้น  รู้ว่าเมื่อนำผักหวานมายำ   ให้รสชาติที่ไม่แพ้ยำถั่วพู  รู้ว่าหมูต้มชะมวง  เมื่อเรากลัวอ้วนกินแต่ใบชะมวงรสชาติแปลกไปอีกอย่าง  ยังมีผักที่กินกับน้ำพริกที่กินสด ๆ นั้นให้ความรู้สึกของการเป็นไทย ๆ ได้ดีเหลือเกิน เช่นดอกอัญชัน  ผักแว่น  ยอดมันสัมปะหลัง  หัวปลี  ใบบัวบก  ผักบุ้งนา หัวไพล ถั่วพู ตำลึง ชะอม ผักหวาน  ผักขม  หน่อข่า   กระชาย  ฯลฯ
อยากชวนทุกท่านหันมาดูแลรักษาผักพื้นบ้านรอบ ๆ ตัว  รอบ ๆ บ้าน  แล้วช่วยกันรดน้ำ   ใส่ปุ๋ย (ปุ๋ยอินทรีย์นะครับ)  ท่านจะมีความสุข  เพลิดเพลินไปอีกแบบ
อยากชวนทุกท่านทำสวนครัวร่วมกัน  เหมือนบทเพลงที่กลุ่มเกษตรพื้นบ้านนำไปร้องนำในรายการวิทยุบ้านจำรุง  ซึ่งเมื่อฟังแล้วอยากทำสวนครัวขึ้นมาทันที  มีเนื้อร้องดังนี้
              พริก  มะเขือ  ขิง ข่า ตะไคร้ เราไม่ควรจะไปซื้อที่ตลาด
 ปลูกให้งามยามเมื่อขาด   วิ่งปราดไปในสวนครัว
 เลือกเก็บเอาตามชอบใจจะกินเมื่อไร ก็ไม่ต้องกลัว
จะกินแกงเผ็ด ผัดเห็ดแกงคั่ว  เรามีผักสวนครัวไม่ต้องกลัวอดกิน
เช้า เช้า ไปทำงานเย็นกลับมาบ้านพรวนดิน
ล้อมรั้วด้วยผักกะถิน ล้อมรั้วด้วยผักกะถิน 
 ถั่วพูน่ากินปลูกไว้ข้าง ๆ
ยกร่องหอมกระเทียม   ไม่ต้องตระเตรียมให้หมดสตางค์
เหลือจากกินใช้ขายไปเสียบ้าง  ยังได้สตางค์มาสร้างครอบครัว
ฟักแฟงแตงกวา  โหระพา ราคานิดหน่อย
ซื้อกินบ่อย ๆ นิดนิด หน่อยหน่อยไม่คอยรู้ตัว
พอถึงหนึ่งปี  คิดบัญชีเงินมันรั่ว
ถ้าทำสวนครัว  ก็เหลือเงินเป็นร้อย ร้อย มันน้อยเมื่อไร   มันน้อยเมื่อไร
วันนี้   เชิญชวนทุกท่านที่สนใจเรื่องราวของผักพื้นบ้าน    แวะมาสนทนาวิสาสะ มากินผักพื้นบ้านตามฤดูกาลกันได้   ที่บ้านจำรุง  ตำบลเนินฆ้อ  อำเภอแกลง  จังหวัดระยอง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่   โทรศัพท์  07-8178030
ชาติชาย  เหลืองเจริญ  /   บ้านจำรุง /  26 มีนาคม  2549
 
 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29327เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2006 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ยินดีที่จะไปเยี่ยมชมครับผู้ใหญ่  พูดถึงผักแล้ว  นึกถึงสุขภาพครับ ถ้ามีภาพประกอบด้วย  สุขภาพน่าจะดียิ่งขึ้นไปใหญ่  ผมอยากรู้เรื่องราวของ "ธนาคารขยะ" บ้างครับ  ไปคราวที่แล้วไม่ค่อยได้ถามอะไรมากนัก  ตัวแต่ตะลึกกับความเขียมขจีของบ้านจำรุงเลยไม่ได้ถาม  แล้วจะติดตามตอนต่อไปครับ

สวัสดีครับพี่ผู้ใหญ่

ผมเขียนบทความขึ้นบทหนึ่ง  ลองคลิ๊ก เข้าไปดูดูครับ  อาจจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการของ สสส. อยู่บ้าง  หากทฤษฎีที่ผมเสนอพอจะเป็นประโยชน์กับชุมชน  ผมจะดีใจมากครับ

ด้วยความเคารพ
สวัสดิ์ พุ้มพวง

ตอนนี้บ้านจำรุงมีเว็บไซต์แล้วนะครับ
มีเรื่องราวดีๆ มากมายทั้งเรื่องเล่าชุมชน ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยชีวิต คลิปวีดีโอชุมชนต่างๆ
http://sites.google.com/site/banjumrung

ไประยองเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 ประทับใจมากประธานบ้านจำรุงนำเสนอได้ดีมากพูดแบบธรรมชาติไม่แสแสร้งเป็นกันเองกับทุกๆคน ชาวบ้านจำรุงน่ารักมากๆ คุณยายที่ร้องเพลงก็ไพเราะมากๆ ชาวบ้านที่นี่นำหลักปรชญาพอเพียงของในหลวงของเรามาใช้อาหารที่นี่อร่อยมากๆแม่บ้านที่นี่เป็นกันเองมากๆ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี เหมาะสมเหลือเกินที่บ้านจำรุงได้รับรางวัลวิถีชีวิตตัวอย่างของความสำเร็จของชีวิต ถ้ามีโอกาสอยากไปดูงานอีกขอยกนิ้วให้ด้วยความจริงใจ

จากใจ...กรรมการกองทุนชุมชนราชเดชดำรง เครือข่ายเทศบาลนครเชียงราย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท