สรุปข้อเท็จจริง กรณีโคบอลท์-60


 ปี 2538 โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ขายเครื่องฉายรังสีโคบอลท์-60 ให้แก่บริษัท กมลสุโกศล อิเล็กทริค จำกัด โดยได้แจ้งการขายดังกล่าวให้แก่สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พป.) รับทราบแล้ว (หนังสือขออนุญาตลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2538)  ต่อมาบริษัท กมลสุโกศล อิเล็กทริคฯ ได้ทำการขนย้ายเครื่องฉายรังสีโคบอลท์-60 ที่รับซื้อมา รวมทั้งเครื่องฉายรังสีโคบอลท์เครื่องอื่นๆ ที่อยู่ในความครอบครองทั้งหมด ประมาณ 3-4เครื่อง มาเก็บไว้ที่ลานจอดรถของบริษัท กมลสุโกศล จำกัด ซึ่งมีสภาพเป็นโรงเก็บรถเก่า โล่ง รกร้าง ไม่มีการประกอบกิจการใดๆ ไม่มีรั้วรอบ ไม่มีผนังกบังมิดชิดที่สามารถป้องกันการรั่วไหลแพร่กระจายของรังสี ไม่มีการจัดระบบเฝ้าดูแลสถานที่และสิ่งของ รวมถึงมิได้มีป้ายแสดงเครื่องหมาย หรือข้อความแสดงถึงการเตือนภัยอันตรายจากกัมมันตรังสี


24 มกราคม 2543 บุคคลภายนอกซึ่งไม่อาจคาดหมายได้ถึงภัยอันตรายของวัตถุดังกล่าว ได้เข้าไปยังสถานที่เก็บดังกล่าว และนำชิ้นส่วนเครื่องฉายรังสีโคบอลท์-60 รวมถึงเศษโลหะอื่นๆออกมาขายให้แก่พ่อค้าเร่รับซื้อของเก่า ด้วยความเข้าใจว่าเครื่องฉายรังสีโคบอลท์-60 เป็นเพียงแท่งตะกั่วทรงกระบอก (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 ซม. ยาว 40 ซม.) ผู้เสียหายที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นพ่อค้าเร่รับซื้อของเก่า จึงรับซื้อเครื่องฉายรังสีโคบอลท์-60 รวมถึงเศษโลหะอื่นๆ ดังกล่าว และนำกลับมายังที่พัก คือซอยมหาดไทย 2 เขตประเวศ


1 กุมภาพันธ์ 2543 ผู้เสียหายที่ 1 และ 2 ได้ร่วมกับผู้เสียหายที่ 3 พยายามแยกแท่งตะกั่วออก สแตนเลสและตะกั่วออกจากกัน ขณะนั้นผู้ที่ได้สัมผัสกับแท่งตะกั่วทั้ง 3 คน เริ่มเกิดอาการเจ็บป่วย โดยไม่ทราบว่าเป็นเพราะการได้รับสารกัมมันตรังสี โดยผู้เสียหายที่ 2 และ 3 ได้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 7 และคลีนิกราม 2

บ่ายวันเดียวกัน ผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 4 ได้นำแท่งตะกั่วไปขายให้กับผู้เสียหายที่ 5 และผู้เสียหายที่ 6 เจ้าของร้านรับซื้อของเก่า โดยผู้เสียหายที่ 5 ร่วมกับผู้เสียหายที่ 6 และผู้เสียหายที่ 7 ซึ่งเป็นลูกจ้างในร้านรับซื้อของเก่า ได้ช่วยกันตัดแยกชิ้นส่วนของแท่งตะกั่วออกจากกันอีกครั้ง โดยเครื่องตัดเหล็กที่ใช้แก๊ส ขณะที่ผ่านั้นเกิดควันสีเหลือง มีกลิ่นเหม็นมาก ผู้เสียหายที่ 6 จึงสั่งให้หยุด และให้ผู้เสียหายที่ 1 นำแท่งตะกั่วดังกล่าวกลับไป รวมเวลาที่ใช้ในการผ่าแยกชิ้นส่วนที่ร้านรับซื้อของเก่าประมาณ 1 ชั่วโมง โดยมีผู้เสียหายที่ 8, ที่ 9, ที่ 10 และที่ 11
ผู้เสียหายที่ 1 และ 4 จึงนำแท่งตะกั่วกลับบ้านพัก ขณะที่เดินทางกลับ ผู้เสียหายที่ 4 มีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณขาพัก และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน

2 กุมภาพันธ์ 2543 ผู้เสียหายที่ 1 และ 4 ได้ใช้เครื่องมือต่างๆ งัดเพื่อแยกชิ้นส่วนแท่งโลหะได้เป็นสแตนเลสและตะกั่ว และได้นำกลับไปขายให้ผู้เสียหายที่ 5 และ 6 อีกครั้ง
เนื่องจากแท่งตะกั่วฯ ที่ถูกเก็บไว้ที่ร้านรับซื้อของเก่า เป็นต้นกำเนิดรังสี ทำให้กัมมันตภาพรังสีแพร่ออกมาในปริมาณสูง ส่งผลกระทบเบื้องต้นต่อสุขภาพของบุคคลที่ทำงานและพักอาศัยอยู่ในร้านรับซื้อของเก่า รวมถึงผู้ที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง คือ ผู้เสียหายที่ 12

การเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรปราการของผู้เสียหาย
5 กุมภาพันธ์  2543 ผู้เสียหายที่ 5 และที่ 6
7 กุมภาพันธ์  2543 ผู้เสียหายที่ 6 , ที่ 7 และ ที่ 9
14 กุมภาพันธ์ 2543 ผู้เสียหายที่ 1
20 กุมภาพันธ์  2543 ผู้เสียหายที่ 2 และ 4
21 กุมภาพันธ์ 2543 ผู้เสียหายที่ 8
27 มีนาคม 2543 ผู้เสียหายที่ 10 และ 11

18 กุมภาพันธ์ 2543 ผู้เสียหายพบแพทย์ที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ มีอาการบวมที่นิ้วมือ อาเจียน ผมร่วงและเม็ดโลหิตขาวลดต่ำลงมาก แพทย์แจ้งว่าเป็นอาการเจ็บป่วยนั้นเป็นผลจากการสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสี

18-19 กุมภาพันธ์ 2543 พป. ได้ดำเนินการเก็บกู้และขนย้ายวัตถุกัมมันตภาพรังสีไปจัดเก็บไว้ที่สถานที่จัดเก็บของ พป.

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29325เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2006 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 13:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท