กรุยทางสู่การเป็นโรงเรียนมะพร้าวตำบลปากพูน


เมื่อวานนี้ 16 พ.ค. 49 คุณมยุรี ดุลยกุล นักวิสาหกิจชุมชนตำบลปากพูนพร้อมแกนนำชาวบ้าน ได้ชวนไปพูดคุยเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนมะพร้าว ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช  นึกว่าจะได้เดินหน้าออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ และว่ารายละเอียดการดำเนินงาน แต่ปรากฏว่า เป็นการประชุมเสวนาตรวจสอบทบทวนโครงการจัดการมะพร้าวแบบครบวงจร หรือเรียกง่ายๆว่าโรงเรียนมะพร้าว ที่กองทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลปากพูน เสนอ พอช.ไปพิจารณา พอช.จึงให้คณะกรรมการ พอช.ระดับโซนมาตรวจสอบแนะนำการทำงาน

ผู้ที่เข้าร่วมวงประชุมเสวนาประกอบด้วยตัวแทนหมู่บ้านทุกหมู่บ้านที่ปลูกมะพร้าวจำนวน 7 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่1,2,3,4,6,8และ10  นักวิสาหกิจชุมชนตำบล พัฒนาการ จนท.พอช. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน รองนายก อบต. อสม. สมาชิก อบต. ประธานสภา อบต. หมอดินอาสาฯ ครูอาสาฯ ครู กศน. ตัวแทนกลุ่มสตรี  คณะทำงาน พอช.ระดับโซน และ จนท วจส.

ข้อมูลเกี่ยวกับมะพร้าว ที่ชาวบ้านบอกทราบว่า พื้นที่ปลูก 1,734 ไร่ จำนวน 43,337 ต้น ผลผลิตสู่ตลาดปีละ 4,160,352 ผล จุดมุ่งหมายในการปลูกมะพร้าว คือปลูกเพื่อทำน้ำตาลมะพร้าวมาตั้งแต่ 2505 เมื่อครั้งวาตภัยแหลมตะลุมพุก

คณะกรรมการโซนบอกว่าอ่านรายละเอียดเอกสารโครงการแล้วไม่ชัดในประเด็นขององค์กรขับเคลื่อนงาน พร้อมบอกจุดประสงค์ในการทำงานของ พอช.ว่า จะสนับสนุนกิจกรรมสำหรับกลุ่มหรือองค์กรที่มีความเข้มแข็งเท่านั้น จากนั้นที่ประชุมจึงได้ระดมความคิดกันว่ากลุ่ม/องค์กรชาวบ้านหรือเครือข่ายในตำบลมีทั้งหมดเท่าไร และสถานภาพของแต่ละกลุ่ม/องค์กรเป็นเช่นไร ซึ่งสรุปได้ดังนี้ กองทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลปากพูน กลุ่มหมากแห้งหมู่ 3  กองทุนวิสาหกิจเลี้ยงโค หมู่ 3  กลุ่มน้ำตาลมะพร้าว หมู่ 3 และหมู่ 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากสมุนไพร หมู่ 7 กลุ่มเครื่องปั้นดินเผา หมู่ 10 กลุ่มปุ๋ยหมักบ้านในไร่ หมู่ 11 และกลุ่มแปรรูปเนื้อมะพร้าว กลุ่มต่างๆเหล่านี้คณะกรรมการมีความเห็นว่ารวมตัวกันอย่างหลวมๆ  และต่อไปนี้ให้กลุ่มต่างๆนี้อยู่ภายใต้การการดูแลส่งเสริมโดยกองทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลปากพูน ซึ่งถือเป็นองค์กรหลัก ทุกกลุ่มที่อยู่ภายใต้จะต้องส่งตัวแทนกลุ่มมาเป็นกรรมการบริหาร ทั้งนี้เพื่อที่จะผูกโยงกิจกรรมของกลุ่มต่างๆในชุมชนเข้าด้วยกันเป็นเครือข่าย เห็นภาพความเป็นทั้งหมดของชุมชน
จากนั้นที่ประชุมได้พูดคุยรูปแบบโรงเรียนมะพร้าวตำบลปากพูน โดยมีความเห็นในชั้นนี้ว่าน่าจะใช้รูปแบบโรงเรียนตาลโตนด โรงเรียนมังคุด โรงเรียนเกษตรกร โรงเรียนชาวนา เป็นต้น ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับครัวเรือน ระดับกลุ่ม และเครือข่าย มุ่งให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ ไม่ใช่แหล่งผลิต การผลิตและการประกอบการอยู่ที่ครัวเรือน หรือกลุ่ม
นัดหมายประชุมคราวหน้า ก็เพื่อทำการบ้านตามที่คณะกรรมการโซนเสนอแนะคือเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแนวคิดการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น การเตรียมองค์กรขับเคลื่อนงาน จัดทำแผนงาน โครงการ กิจกรรม และจัดทำข้อมูลด้านมะพร้าวทั้งหมด โดยเจ้าภาพร่วมกันประกอบด้วย อบต. กศน. พช. และแกนนำชาวบ้าน

หมายเลขบันทึก: 29282เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2006 19:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท