เพลงกับการออกกำลังกาย โดย อาจารย์คุณัตว์ พิธพรชัยกุล


ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
               

เพลงกับการออกกำลังกาย โดย อาจารย์คุณัตว์ พิพรชัยกุล :มศว โลกทัศน์ปีที่ 1 ฉบับที่ 3

          ปัจจุบันเราจะพบเห็นผู้คนให้ความสนใจกับการออกกำลังกายกันมากขึ้น แต่ละบุคคลก็พยายามหาวิธีการในการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวเอง อาจเป็นกิจกรรมที่ตนสามารถทำได้ เป็นกิจกรรมที่ตนเองชอบ พยายามสรรหาอุปกรณ์ประกอบการออกกำลังกาย หาสถานที่เพื่อดึงดูดให้ตนได้ออกกำลังกาย บางคนต้องมีเพื่อนร่วมออกกำลังกายด้วย ซึ่งเหตุผลทั้งหลายเหล่านี้เป็นแรงจูงใจให้เราสามารถออกกำลังกายได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ รวมถึงประโยชน์ที่ได้จากการออกกำลังกายในแต่ละรูปแบบ การออกกำลังกายที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งรูปแบบหนึ่งก็คือ การออกกำลังกายโดยใช้เสียงเพลงประกอบ

          เมื่อพูดถึงเพลงกับการออกกำลังกาย หลายๆ คน อาจนึกถึงการเต้นแอโรบิก แต่การออกกำลังกายด้วยเพลงเป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยมีเสียงเพลงประกอบ อาจเคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะของดนตรีหรือใช้เพลง/ทำนองเพลงประกอบเพื่อช่วยปรับอารมณ์ ความรู้สึก สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายในขณะออกกำลังกาย

          การออกกำลังกายด้วยเพลงอาจเป็นกิจกรรมในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงการเต้นตามจังหวะของดนตรีเหมือนการเต้นแอโรบิก เช่น การเดิน การวิ่ง การขี่จักรยาน ลีลาศ โยคะ รำมวยจีน หรือการเล่นกีฬา สำหรับนักกีฬาก็สามารถนำเพลงไปใช้ประกอบการฝึกซ้อมได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง การกระโดดหรือการว่ายน้ำ ซึ่งการออกกำลังกายด้วยเพลงจะช่วยให้การเคลื่อนไหวเป็นไปตามจังหวะของเพลง โดยส่วนใหญ่เราจะคิดว่าพัฒนาการของร่างกายที่ดีขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการออกกำลังกาย แต่ไม่ได้มองว่า เพลงก็มีผลต่อร่างกายของเราด้วยเหมือนกัน ซึ่งเพลงช่วยกระตุ้นร่างกายให้เกิดการตื่นตัวในการออกกำลังกายและเพลงยังช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ผ่อนคลายได้เช่นกัน

          เรามาทราบกันสักนิดว่า เพลงมีประโยชน์ต่อเราอย่างไรบ้าง การฟังเพลงแจ็ส (jazz) สามารถช่วยเพิ่มอัตราการหายใจให้มากขึ้นได้ และมีแนวโน้มกลับเข้าสู่สภาวะปกติเมื่อถึงช่วงสุดท้ายหรือใกล้จบเพลง สำหรับอัตราการเต้นของหัวใจ ร่างกายจะตอบสนองตามจังหวะของเสียงเพลง กล่าวคือ เพลงที่มีจังหวะเร็ว หัวใจก็จะเต้นเร็วหรือทำงานหนักขึ้น หากเพลงมีจังหวะที่ช้า หัวใจก็จะเต้นช้าตามไปด้วย นอกจากนี้ ชนิดของเพลงก็มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ เช่น เพลงกระตุ้น (Stimulative music) ได้แก่ เพลง Rock, Rab, Hip-Hop หรือ Dance จะส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หากเป็นเพลงผ่อนคลาย (Sedative music) ได้แก่ เพลง Jazz, Classic หรือเพลงบรรเลง จะช่วยลดการทำงานของหัวใจได้ ดังนั้น ผู้นำกิจกรรมการออกกำลัยหรือผู้นำแอโรบิกอาจใช้เพลงให้เป็นประโยชน์ในการกำหนดความหนักเบาของการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มหรือลดอัตราการหายใจและอัตราการเต้นของหัวใจของผู้ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาโดยใช้เพลงเป็นสื่อ

           นอกจากเพลงจะส่งผลต่ออัตราการหายใจและอัตราการเต้นของหัวใจแล้ว เพลงยังมีผลต่อความสามารถของแรงบีบมืออีกด้วย การฟังเพลงผ่อนคลายทำให้ความสามารถของแรงบีบมือลดลง ในขณะที่เพลงที่มีจังหวะเร็วช่วยให้แรงบีบมือเพิ่มขึ้นทั้งเพศชายและเพศหญิง

          สำหรับผลของเพลงต่อความอดทนของร่างกายนั้นยังไม่สามารถสรุปผลได้อย่างชัดเจน นักวิจัยหลายท่านได้ศึกษาผลของเพลง พบว่าเพลงช่วยเพิ่มความอดทนของกล้ามเนื้อในการลุก-นั่ง (Sit-up) และการดันพื้น (Push up) สำหรับการเดินฟังเพลงนั้น เพลงจะช่วยให้การเดินมีอัตราที่เร็วขึ้น อีกทั้งเพลงยังช่วยเพิ่มระยะเวลาในการออกกำลังกายโดยการเดินหรือการวิ่งบนลู่วิ่งกล (Treadmill) เมื่อฟังเพลงจังหวะช้า เสียงเบาๆ เมื่อเทียบกับการฟังเพลงจังหวะเร็ว เสียงดัง สำหรับการขี่จักรยานมีผลไม่ชัดเจน ซึ่งอาจเพิ่มหรือไม่เพิ่มระยะเวลาในการออกกำลังกาย
          ฉะนั้น เราจึงควรเลือกเพลงในการออกกำลังกายให้เหมาะสม โดยมีหลักเกณฑ์ในการเลือกเพลงสำหรับออกกำลังกายดังนี้

          จังหวะของเพลง ควรเลือกเพลงที่มีจังหวะชัดเจน หนักแน่น โดยเฉพาะเสียงเบสหรือเสียงกลอง เพราะกลองจะเป็นเครื่องดนตรีที่ให้จังหวะได้ชัดเจนกว่าเครื่องดนตรีชนิดอื่น หากต้องการกระตุ้นการทำงานของร่างกายควรเลือกเพลงที่มีจังหวะเร็ว ในทางตรงกันข้าม เราควรเลือกใช้เพลงที่มีจังหวะช้าหากต้องการผ่อนคลายหรือสร้างเสริมสมาธิของร่างกาย

          เนื้อร้อง เพลงบางเพลงมีเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษ บางเพลงเป็นภาษาไทย เราควรเลือกใช้เพลงในการออกกำลังกายที่เราสามารถร้องเพลงนั้นๆ ได้จะดีกว่าการฟังเพลงเพียงอย่างเดียว ซึ่งการร้องเพลงในขณะออกกำลังกายจะช่วยให้เรามีสมาธิ จดจ่อกับการร้องเพลง เพลิดเพลินกับเนื้อร้องจนบางครั้งเราอาจลืมความเหนื่อยไปชั่วขณะ อย่างไรก็ตาม ควรเลือกเพลงที่มีเนื้อร้องที่สร้างสรรค์ ไม่ควรใช้เพลงเศร้าหรืออกหัก หากใช้เพลงบรรเลงควรใช้จังหวะช้า หรือใช้เสียงจากธรรมชาติ เช่น เสียงคลื่นกระทบฝั่ง เสียงน้ำตก เสียงนกร้องก็ช่วยให้อารมณ์และจิตใจสงบ ร่างกายผ่อนคลายได้เช่นกัน

          ความดัง เสียงเพลงที่ดังจะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการตื่นตัว หัวใจทำงานหนักขึ้น ควรระวังการเปิดเพลงที่เสียงดังมากเป็นระยะเวลานานในขณะออกกำลังกาย หากใช้เสียงเพลงที่ดังในระดับต่ำถึงปานกลางจะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่สงบและผ่อนคลายร่างกาย เหมาะสำหรับช่วงการผ่อนคลายร่างกาย (Cool down) ของการออกกำลังกาย

          เราจะเห็นได้ว่า เพลงมีอิทธิพลต่อการออกกำลังกายของเรา อาจจะกระตุ้นร่างกายให้พร้อมในการออกกำลังกายหรือใช้เพลงในการผ่อนคลายร่างกาย ให้มีอารมณ์และจิตใจที่สงบได้ เราจึงควรเลือกใช้เพลงให้เหมาะสมกับกิจกรรมการออกกำลังกายของเรา เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงไปอีกนาน


 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29197เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2006 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 07:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท