วิจารณ์ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของเยเรมีส ฟาน ฟลีต : พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. ๒๑๘๒


ความเป็นมา

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นายเซอิชิ อิวาโอ (seiichi Iwao) ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่นได้ไปทำการตรวจค้นเอกสาร ณ กรุงเฮกประเทศเนเธอร์แลนด์พบเอกสารเก่าฉบับหนึ่งภาษาฮอลันดาที่เคยสูญหายไป ๓๐๐ ปี  ศาสตราจารย์อิวาโอตีได้เผยแพร่ในรูปแบบงานวิจัยเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๗๓ และในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้ตีพิมพ์อย่างแพร่หลายในชื่อที่ว่า “History of Verhael” แล้วในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทราวิโรฒ ประสานมิตร ได้ทำการตีพิมพ์เป็นฉบับภาษาไทยใช้ว่า พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. ๒๑๘๒เพื่อใช้ศึกษาในมหาวิทยาลัยและเผยแพร่สู่สาธารณะชน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ถือได้ว่าเป็นการเปิดศักราชแห่งการปลุกกระแสการศึกษาประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาให้มีความตื่นตัวอย่างจริงจัง

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. ๒๑๘๒ แปลและเรียบเรียงจาก The Story History of the King of Siam ของ ดร.เลียวนาร์ด แอนดายา (Dr.Leonard Andaya) ที่ได้แปลจากต้นฉบับเดิมภาษาฮอลันดาของ เยรามีส ฟาน ฟลีต งานชิ้นนี้ของ ฟาน ฟลีตได้เริ่มเขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๑๘๒ ในขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพ่อค้าของบริษัทอิสต์อินเดียของฮอลันดาประจำกรุงศรีอยุธยา เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของราชวงศ์อยุธยาตั่งแต่พระเจ้าอู่ทองจนถึงพระเจ้าปราสาททองอย่างกระชับ ความละเอียดมากน้อยแต่แล้วแต่ความสำคัญของเหตุการณ์ตามแต่ละราชกาล ขาดก็แต่เพียงพระศรีเสาวภาคย์ที่ต่อจากสมเด็จพระเอกาทศรถเท่านั้น ซึ่งต่างกับ พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ[1] ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์[2] ที่ค้นพบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะกล่าวเรื่องราวต่าง ๆ เพียงสั้น ๆ เอาแต่ใจความสำคัญและมี วัน เดือน ปีกำกับทุกเหตุการณ์ ซึ่งมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเมื่อเทียบกับพงศาวดารฉบับวัน วลิตและพงศาวดารฉบับอื่น ๆ ของไทย  แต่เมื่อเทียบศักราชกันแล้ว นับว่าพงศาวดารฉบับนี้มีความเก่าแก่กว่าพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐถึง ๔๐ ปี[3]   นับว่าเป็นพงศาวดารฉบับกรุงศรีอยุธยาที่เก่าแก่ที่สุดในปัจจุบัน 

เยรามีส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet)  เป็นชาวเมือง ซีดัม (Shiedam) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ฟาน ฟลีตเริ่มเข้าทำงานอยู่ในบริษัทอิสต์อินเดียของฮอลันดาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๕  อีก ๓๑ ปีต่อมาได้ย้ายมาประจำอยู่ในกรุงศรีอยุธยาซึ่งตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการของ โยน เซาตัน ในปี พ.ศ. ๒๑๗๙ จึงได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นผู้จัดการศูนย์การค้าแทนโยน เซาตันที่หมดวาระหน้าที่ไป

ฟาน ฟลีตยังได้เขียนหนังสือสำคัญเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาอีกสองเล่มคือ พรรณนาเรื่องอาณาจักรสยาม (พ.ศ. ๒๑๗๙) ว่าด้วยอาณาจักรสยาม ที่ตั้ง สภาพการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคมในสมัยนั้น อีกหนึ่งเล่มคือ จดหมายเหตุฟาน ฟรีต (พ.ศ. ๒๑๘๓) กล่าวถึงความเป็นไปตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม การจลาจลวุ่นวายและการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าปราสาททอง ทั้งสองฉบับนับว่ามีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาอย่างยิ่งไม่แพ้กัน

จุดประสงค์ของการเขียนพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. ๒๑๘๒ นอกเหนือจากเป็นการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับอาณาจักรสยามให้กับ อันโตนิโย แวน ไดเมน ผู้สำเร็จราชการรัฐของประเทศเนเธอร์แลนด์ประจำปัตตาเวียในอินเดียแล้ว ฟาน ฟลีตยังได้เขียนถึงจุดประสงค์ของการเขียนไว้อย่างชัดเจนในช่วงต้น ดังนี้ :

 

เนื่องจากตำนานเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดินสยาม การสืบราชสมบัติ และพระนามพร้อมทั้งคุณลักษณะของพระองศ์ (เท่าที่รู้) ยังไม่เคยมีพวกเราผู้ใดนำมาเปิดเผย[4]

 

รวมเรื่องหลากฤทธิ์

ลักษณะของการผสมผสานเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ, ความเชื่อ, ตำนาน, อภินิหาร, โดยเฉพาะคุณวิเศษอันพิเศษสุดของพระมหากษัตริย์นั้นมีอยู่มากมายเรียกได้ว่าสอดแทรกอยู่ในทุกบรรทัดจนแทบจะหาความจริงไม่ได้นั้น เป็นของที่อยู่คู่กับพงศาวดารฉบับไทยหลายฉบับ แม้แต่พงศาวดาร วัน วลิตที่เขียนโดยชาวต่างชาติก็ยังมิวายมีเรื่องราวดังกล่าวผสมปนเปอยู่มากจนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดของพงศาวดารฉบับนี้ไปเสียแล้ว เรื่องที่คาดว่าไม่น่าจะมีความเป็นจริงมีมากมายเช่น

ปฐมพระมหากษัตริย์อยุธยาในสมัยแรกเริ่มกับการก่อตั้งอาณาจักรอยุธยา ฟาน ฟลีตได้กล่าวย้อนไปถึงก่อนหน้า ๒,๐๐๐ ปี[5] ว่ามีโอรสของจักรพรรดิจีนถูกเนรเทศออกจากประเทศจีน พระโอรสได้นำข้าราชบริพารเดินทางมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณพื้นที่อันสมบูรณ์ก็คือดินแดนอยุธยาแล้วได้สร้างความเจริญไว้มากมาย ชาวสยามได้ถวายพระเกียรติผู้ก่อตั้งอาณาจักรนั้นว่าเป็นผู้ก่อตั้งศาสนา หลักศาสนาและกฎหมายของชาวสยาม เป็นผู้มีความสุขุม เสรีนิยม รอบคอบและแข็งแกร่ง มีพระชนม์มายุอยู่กว่า ๒๐๐ พรรษา[6] ฟาน ฟลีตกล่าวพระนามกษัตริย์พระองศ์นั้นว่า พระธรรมมิกราชเจ้า

เรื่องเกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒[7] ฟาน ฟลีตได้กล่าวไว้อย่างสุดแสนพิสดารราวกับนิทาน[8] กล่าวคือ การที่สมเด็จพระองศ์ทรงมีพระนามคล้องจองกับกษัตริย์พระองศ์หนึ่งของรามรัฐในอิเดีย ทำให้กษัตริย์แห่งอินเดียไม่พอพระทัยจึงได้ใช้เลห์กลเวทย์มนต์คาถามากมายส่งมาทำร้ายพระองศ์ แต่ทั้งหมดนั้นหาได้ระคายเบื้องยุคลบาทไม่ อันเนื่องมาจากกษัตริย์อยุธยามีบุญญาธิการนั่นเอง กษัตริย์อินเดียเห็นดังนั้นจึงมิคิดต่อสู้อีกและได้สร้างสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์อยุธยาโดยได้มอบการละเล่นโล้ชิงช้าแบบอินเดียมาถวาย จากนั้นทั้งสองประเทศก็ได้มีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันเสมอมา อย่างไรก็ตาม จากเรื่องราวในตอนนี้ทำให้เราสามารถศึกษาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอินเดียกับสยามและประเพณี โล้ชิงช้า หรือ ตรีมยัมปวาย ตามความเชื่อของลัทธิพราหมณ์-อินดูได้เช่นกัน

และเรื่องสุดท้ายที่นำมากล่าวในที่นี้คือเรื่องของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสั่งประหารชีวิตทหารฝีพายจำนวนมากถึง ๑,๖๐๐ คน[9] เพียงเพราะเทียบเรือผิด เป็นต้น

การที่หลายเรื่องราวมีลักษณะเกินจริงอาจสันนิฐานได้หลายกรณีย์เช่น ข้อมูลต่าง ๆ ที่ ฟาน ฟลีตได้รับการถ่ายทอดมานั้นส่วนใหญ่มาจากการบอกเล่าของผู้รู้ที่รับฟังมาจากปากต่อปากอีกทอดหนึ่งจึงมีความผิดเพี้ยนไป, ความเชื่อเรื่องในเหนือธรรมชาตินั้นเป็นของคู่กับคนไทยทำให้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ออกมาเป็นดังนิทาน, ภาษาที่ต่างกันทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสาร, เรื่องที่เป็นนามธรรมตามคติของศาสนาพุทธ คนต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างความเชื่ออย่าง ฟาน ฟลีตจึงไม่เข้าใจในความหมายเชิงลึก การเขียนจึงถูกสื่อออกมาตรง ๆ เป็นต้น

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพงศาวดารฉบับวัน วลิตจะไม่มีความจริงเอาเสียเลย หากพิจารณาดูให้ดีพระราชประวัติของกษัตริย์อยุธยาในสมัยหลังจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ นั้นมีความสอดคล้องกับพงศาวดารฉบับต่าง ๆ ของไทยหลายจุด โดยเฉพาะเหตุการณ์ความวุ่นวายการช่วงชิงราชบัลลังก์ที่เกิดขึ้นปลายราชกาลของสมเด็จพระอาทิตย์วงศ์โดยเจ้าพระยากลาโหม (ต่อมาคือพระเจ้าปราสาททอง) ที่ร่วมมือกับออกญาเสนาภิมุขชาวญี่ปุ่นนั้นมีความชัดเจนน่าเชื่อถือเหมาะแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ในด้านศักราชนั้นมีความใกล้เคียงกับพงศาวดารฉบับอื่น ๆ ไม่หนีมากน้อยไปกว่ากันนัก

 

วัน วลิต กับสิ่งต้องห้าม

เป็นที่ทราบกันดีว่าในทุกยุคทุกสมัยนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยสามัญชนคนธรรมดาจะไม่สามารถวิภาควิจารณ์ไปในทางลบได้เลย โดยเฉพาะในสมัยอยุธยาที่ยกย่องกษัตริย์เสมือนดั่งเทวราชาด้วยแล้ว นับว่าเป็นเรื่องร้ายแรงโทษหนักถึงชีวิต แม้จะเขียนเป็นงานวรรณกรรมก็ยังต้องเขียนในลักษณะยอพระเกียรติ

จากการที่ ฟาน ฟรีต เป็นชาวต่างชาติจึงทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับองศ์พระมหากษัตริย์อยุธยานั้นมีความแตกต่างกับพงศาวดารฉบับฉบับหลวงที่เขียนขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์อย่างสิ้นเชิง คือกล้าวิภาควิจารณ์อุปนิสัยขององศ์พระมหากษัตริย์อย่างตรง ๆ ตามแต่ที่ได้รับข้อมูลจากการบอกเล่าหรือจากประสบการณ์ตรง ดีก็เขียนว่าดี ไม่ดีก็เขียนว่าไม่ดีการที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่าการเขียนของฟาน ฟลีตเป็นการเล่าเรื่องที่เขียนเป็นภาษาออลันดาแล้วส่งให้กับผู้บังคับบัญชาในปัตตาเวียโดยมิได้ตั่งใจจะเผยแพร่สู่สาธารณะ จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องระวังระแวงเกรงพระราชอาญา ดังนั้นการที่พบเอกสารชิ้นนี้ใน ๓๐๐ ปีต่อมาจึงนับว่ามีประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างสูงทำให้ทราบว่ากษัตริย์อยุธยาพระองศ์ใดเป็นอย่างไร ชอบสิ่งใด ไม่ชอบสิ่งใดรวมถึงปกครองบ้านเมืองและประชาชนอย่างไร ซึ่งจะเป็นความจริงหรือไม่จริงก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น

พระเจ้าอู่ทอง :

พระเจ้าแผ่นดินที่ชาญฉลาด มีโวหารดี รอบคอบ กล้าหาญ คล่องแคล้วว่องไว เสรีนิยม เป็นห่วงใยทหารและประชาชน รวมทั้งอุทิตตนให้ศาสนาอย่างเต็มที่[10]

พระราเมศวร :

พระองศ์ทรงเป็นผู้ที่ไม่ค่อยฉลาดนัก มีอุปนิสัยไม่ดี โหดร้ายและกระหายเลือด โกรธง่าย ตระหนี่ ตะกละ โลภและตันหาจัด พระองศ์ทรงไม่ลังเลที่จะใช้พระราชอำนาจฉุดคร่าภรรยาผู้อื่นมาเป็นของตน....ไม่เคยสนพระทัยในสวัสดิภาพของบ้านเมือง และความสงบสุขของชุมนุมชน[11]

 

 

พระเจ้าทรงธรรม[12] :

ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีความปรีชาสามารถ....มีความเมตตากรุณา พระองศ์ไม่ทรงเป็นนักรบ แต่ทรงขยันขันแข็ง ทรงอุทิศพระองศ์เพื่อต่อต้านการเคารพเทวรูป....ทรงปรับปรุงกฎหมายและศาสนาในแผ่นดิน ทรงมีพระราชกรณียกิจร่วมกับคนจนและพระสงฆ์ ทรงสร้างปฏิสังขรณ์วัดหลายแห่ง....ทรงทำพระราชกรณียกิจมากกว่าพระเจ้าแผ่นดินองศ์ใด ๆ[13]

 

พงศาวดารฉบับวัน วลิตนั้นไม่ได้นำเสนอแง่มุมต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนมากนัก หากต้องการศึกษาถึงสภาพบ้านเมือง เศรษฐกิจ  และการปกครองโดยละเอียดแล้วคงต้องศึกษางานเขียนอีกสองฉบับของ ฟาน ฟลีตตามที่เขียนไว้ในตอนต้นเป็นการประกอบควบคู่กันไปด้วย เพราะงานเขียนทั้งสามฉบับของ ฟาน ฟลีตนั้นมีเอกลักษณ์และบรรยายเรื่องราวต่าง ๆ ในแง่มุมที่ต่างกัน และน้ำหนักของเนื้อหาที่ไม่เท่ากัน

แน่นอนที่สุดว่า ไม่มีพงศาวดาร, จดหมายเหตุ ทั้งของฉบับไทยและฉบับต่างชาติใดจะเขียนได้อย่างถูกต้องแม่นยำไปทั้งหมด และหรือ ผิดผลาดไปทั้งหมด พงศาวดารฉบับ วัน วลิต พ.ศ. ๒๑๘๒ เปรียบได้กับกระจกเล็ก ๆ เพียงหนึ่งบานที่ทำหน้าที่สะท้อน เงา แห่งอดีตได้เพียงแค่ความกว้างของมันเท่านั้น หากต้องการจะเห็นภาพที่กว้างขึ้นจำเป็นต้องนำกระจกหลาย ๆ บานมาเรียงต่อกันจึงจะได้เงาแห่งอดีตอันสมบูรณ์  ดังนั้นการจะนำความใดจากพงศาวดารฉบับวัน วลิตมาใช้นั้น ผู้ศึกษาควรจะเทียบเคียงกับพงศาวดาร, จดหมายเหตุต่าง ๆ ประกอบไปเพื่อให้เรื่องราวที่ศึกษาออกมาครบถ้วนมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

___________________________________________________

[1] น่าจะเขียนขึ้นประมาณแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระซึ่งมีกล่าวอยู่ตอนท้ายในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับ พันจันทนุมาศ (เจิม) ดูใน ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. ๒๑๘๒, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ:มติชน, ๒๕๔๖), หน้า(๘) - (๙).

[2] ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จกรมพระยา, นิทานโบราณคดี, พิมพ์ครั้งที่ ๑๑, (กรุงเทพฯ:ศิลปาบรรณาการ, ๒๕๑๑), หน้า ๑๓๖.

[3] ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, อ้างแล้ว. หน้า(๙).

[4] กรมศิลปากร, รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต (วัน วลิต), พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ:กรมศิลปากร,๒๕๔๘), หน้า ๑๖๙.

[5] กรมศิลปากร, อ้างแล้ว. หน้า ๑๗๐.

[6] กรมศิลปากร, อ้างแล้ว. หน้า ๑๗๑.

[7] ในวัน วลิตเขียนเป็นพระเจ้ารามาธิบดี กรมศิลปากร, อ้างแล้ว. หน้า ๑๙๐.

[8] ในตำนานของไทย (ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๗๓) สถานที่นี้ได้อธิบายไว้ในเชิงอรรถว่าเป็นเขตพระราชฐานเมืองพาราณาสี อันศักดิ์สิทธิ์ประเทศอินเดีย อย่างไรก็ดีตำนานไทยในเรื่องนี้ในสมัยพระรามาธิบดีที่ ๑ ไม่ใช่ที่ ๒ : อ้างตาม กรมศิลปากร, อ้างแล้ว. หน้า ๑๙๑.

[9] กรมศิลปากร, อ้างแล้ว. หน้า ๒๒๒.

[10]  กรมศิลปากร, อ้างแล้ว. หน้า ๑๘๑.

[11] กรมศิลปากร, อ้างแล้ว. หน้า ๑๘๒.

[12] ในวัน วลิตเขียนเป็นพระอินทราชา กรมศิลปากร, อ้างแล้ว. หน้า ๓๒๒.

[13] กรมศิลปากร, อ้างแล้ว. หน้า ๒๓๓.

บรรณานุกรม

๑.      กรมศิลปากร. รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต (วัน วลิต). พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ:กรมศิลปากร, ๒๕๔๘.

๒.      ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. ๒๑๘๒, พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ:มติชน, ๒๕๔๖.

๓.      ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จกรมพระยา. นิทานโบราณคดี. พิมพ์ครั้งที่ ๑๑. กรุงเทพฯ:ศิลปาบรรณาการ, ๒๕๑๑.

๔.      เยเรมีส ฟาน ฟลีต. ประชุมพงศาวดารเล่มที่ ๔๙ (ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๘ ต่อ ๗๙) จดหมายเหตุวัน วลิต

                 (ฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๑๓.

วาทิน ศานติ์ สันติ

คำสำคัญ (Tags): #วัน วลิต
หมายเลขบันทึก: 291576เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2009 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณน่ะคะ ต้องการทราบประวัติของ jeremias van vliet พอดีเลยคะ

ชอบเวปนี้มากเลย เวปสวย มาก

ความสำคัญล่ะค่ะในการตีความ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท