ความยุติธรรม


ความยุติธรรม คือความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม ความชอบด้วยเหตุผล อันบุคคลผู้มีเหตุผลและมีความรู้สึกผิดชอบเห็นว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม

          เมื่อกล่าวถึงความยุติธรรมนั้น  มีนักคิดนักปรัชญาหลายคนที่กล่าวถึงความหมายของความยุติธรรมเอาไว้ตามกรอบแนวคิดและมุมมองของแต่ละคน  ซึ่งอาจหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้ดังต่อไปนี้

          ปีธากอรัส  นักปรัชญาชาวกรีกได้กล่าวถึงความยุติธรรมไว้ว่า  ความยุติธรรม คือ   จำนวนที่คูณตัวมันเอง   หรือกำลังสอง  เพราะกำลังสองเป็นเลขจำนวนที่สมดุลที่สุด   เนื่องจากประกอบขึ้นเป็นส่วนประกอบเท่าๆ กัน ทุกส่วน  ดังนั้น  เมื่อความยุติธรรมเป็นจำนวนยกกำลังสองเพราะเหตุว่าทุกส่วนเท่ากัน  รัฐที่ยุติธรรมจึงต้องเป็นรัฐที่ทุกส่วนเท่ากันหรือเสมอภาคกัน[1]

          โธมัส  ฮ็อบส์  กล่าวว่า  ในสภาวะธรรมชาติซึ่งปราศจากรัฐบาลนั้น  ไม่มีเกณฑ์ที่จะตัดสินว่าอะไรคือความยุติธรรมหรือยุติธรรม  อะไรผิดอะไรถูก  พฤติกรรมของมนุษย์ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคล  เพราะฉะนั้น  ความยุติธรรมหรืออยุติธรรมจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีข้อตกลงหรือสัญญากันแล้ว  ผลของการทำสัญญาประชาคมเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดอำนาจร่วมเมื่อมีอำนาจร่วมก็มีกฎหมาย  กฎหมายจึงเป็นคำสั่งขององค์อธิปัตย์  ซึ่งกำหนดขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์ทุกคนปฏิบัติตามสัญญา  ผู้ละเมิดกฎหมายจึงเป็นผู้ไม่ปฏิบัติตามสัญญาซึ่งความอยุติธรรมก็เกิดขึ้น  และความหมายของคำว่าอยุติธรรมก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการไม่ปฏิบัติตามสัญญา  สำหรับความยุติธรรมนั้นก็คือสิ่งที่ไม่อยุติธรรม (unjust) นั่นเอง[2]

          เพลโต  มีทรรศนะเกี่ยวกับความยุติธรรมซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ The Republic  ว่าความยุติธรรมไม่ได้มีความหมายแคบๆ ว่าความเที่ยงธรรม หรือการไม่ลำเอียงตามความเข้าใจทั่วไปเมื่อเอ่ยถึงคำว่ายุติธรรม แต่หมายถึงสิ่งที่เป็น “สัมมาร่วม (common  good)” ที่จะบันดาลความสุขให้กับคนและรัฐ[3]

          อริสโตเติ้ล  ปราชญ์ชาวกรีกผู้ได้รับสมัญญานามว่าเป็นบิดาแห่งรัฐสาสตร์ได้อธิบายถึงความยุติธรรมว่า  “สิ่งที่ประเสริฐในบรรยากาศการเมืองคือความยุติธรรมและความยุติธรรมประกอบขึ้นในสิ่งที่มีแนวโน้มที่จะส่งเสริมผลประโยชน์ร่วม” ความยุติธรรมเกี่ยวพันกับองค์ประกอบสองประการคือ  สิ่งที่กำหนดให้และบุคคลซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเจ้าของสิ่งที่กำหนดให้นั้น  ความยุติธรรมจะบังเกิดขึ้นเมื่อบุคคลที่มีความเท่าเทียมกันได้รับสิ่งที่กำหนดให้แบบเดียวกัน 

          ในทำนองเดียวกันอริสโตเติ้ลเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและอยุติธรรม  หากว่าสองคนมีคุณสมบัติเท่ากันอยู่เพียงประการเดียว  แต่ได้รับส่วนแบ่งหรือสิ่งที่กำหนดให้มากกว่าในทุก ๆ สิ่ง  ความยุติธรรมคือที่รวมของคุณธรรมหลายประการ (ทั้งคุณธรรมแห่งศีลธรรมและคุณธรรมแห่งความรู้) และกลมกลืนระหว่างคุณธรรมนานาประการนั้นทำให้ความดีในรัฐที่ปรากฏขึ้นได้  อริสโตเติ้ลเชื่อว่าความยุติธรรมคือคุณธรรมที่สมบูรณ์แม้จะไม่ใช่สูงสุด[4]  และอาจแบ่งความยุติธรรมออกเป็น  2  ลักษณะคือ

          1.  ความยุติธรรมในแง่แบ่งสันปันส่วน  (Justita distibuta)  และ

          2.  ความยุติธรรมในการแลกเปลี่ยนทดแทน  (Justita mommutativa)   

          ความยุติธรรมในการแลกเปลี่ยนทดแทนนั้น ขึ้นอยู่กับความยุติธรรมในแง่การแบ่งสันปันส่วน กล่าวคือ เราต้องรู้เสียก่อนว่าอันไหนเป็นส่วนของใคร เมื่อรู้เช่นนี้แล้วใครไปล่วงเกินเบียดเบียนส่วนของเขาไปทำลายหรือทำให้ส่วนของเขาเสียไป ก็ได้ชื่อว่าทำผิด และเพื่อให้เกิดความยุติธรรมก็จะทดแทนส่วนที่เสียไปของเขาให้กลับคืนดังเดิม ความยุติธรรมในการทดแทนจึงมีขึ้นเพื่อสนับสนุนรักษาความยุติธรรมการแบ่งสันปันส่วน[5]

          โสภณ รัตนากร กล่าวว่า ความยุติธรรมอาจหมายถึงความสุจริต ความเป็นธรรม  ความชอบธรรม  ความชอบด้วยกฎหมาย  ความถูกต้องตามกฎหมาย  สิทธิตามกฎหมาย  การปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนประเพณี  และการปฏิบัติตามหน้าที่ ความยุติธรรม คลุมถึงความประพฤติทั้งหมดของคนเราแต่หลักความยุติธรรมเป็นหลักที่กว้างกว่าหลักกฎหมาย  ความยุติธรรมตามกฎหมายแคบว่าความยุติธรรมโดยทั่วๆ ไป   กล่าวคือ  เป็นความยุติธรรมที่มีอยู่ในขอบเขตของกฎหมายหรือการใช้กฎหมาย  ความยุติธรรมหรืออยุติธรรมเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้กฎ  หรือระเบียบข้อบังคับ  ไม่ว่ากฎนั้นจะเป็นกฎหมายหรือข้อบังคับ  หรือระเบียบประเพณีที่ปฏิบัติกันมาในสังคมหรือหมู่คณะความอยุติธรรมใน “รูป”  เกิดจากการใช้กฎหรือข้อบังคับนั้นโดยลำเอียง  และความ อยุติธรรมอาจเกิดขึ้นจากกฎหรือระเบียบข้อบังคับนั้นเองไม่เป็นธรรม  ความอยุติธรรมเช่นนี้เป็นความ อยุติธรรมใน  “สาระ”  หรือเนื้อหาของกฎหรือระเบียบข้อบังคับนั้นเอง[6]

 

          กรมหมื่นพิชิต  ปรีชากร  อธิบายคำว่า  “ยุติธรรม  นี้ก็ว่าถูกต้องตามธรรม  แต่คำว่า ธรรมๆ นี้มีที่มาหลายทาง  ความหมายของคำว่าธรรมนั้นก็แตกต่างเป็นหลายอย่างไปตามทางความที่กล่าว  แต่ก็ยังรวมลงได้ว่า  ความจริงที่จะเป็น,  เป็นอยู่, เป็นแล้ว, เหมือนพระธรรม  คือความเป็นไปของธรรมดาสัตว์สังขารที่จำจะต้องเป็นตามความจริง ก็ธรรมอันเรากล่าวว่า  ยุติธรรมๆ นี้ประสงค์เอาสารธรรมแห่งมนุษยชาติอย่างหนึ่งคือความที่จำต้องเป็น  หรือเป็นอยู่เป็นแล้วของมนุษย์ทั้งหลาย  ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “ลอ” หรือคำที่เราใช้ว่า  ธรรมเนียมหรือธรรมนิยม  คือสารธรรมที่ประชุมชนนิยมถือตามกันเป็นหมู่ๆ พร้อมกัน  ว่าเป็นธรรมอันมีคุณนำมาซึ่งความสุขความเจริญในประชุมชนนั้นๆ[7]

          เดช  วุฒิสิงห์ชัย  กล่าวถึงสาเหตุที่กฎหมายไม่สอดคล้องกับความยุติธรรมไว้ดังนี้

          1. ความตายตัวของกฎหมาย (Rigidity) เหตุที่กฎหมายจำเป็นต้องบัญญัติหลักเกณฑ์อันเป็นหลักทั่วไปใช้บังคับแก่ทุกกรณี  เนื่องจากการติดต่อสัมพันธ์อันซับซ้อนของบุคคล  จึงเป็นการเหลือวิสัยที่จะวางหลักเกณฑ์เหล่านี้ให้เป็นการยุติธรรมได้ในทุกรณี  ความตายตัวของกฎหมายนี้อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อน  และไม่เป็นธรรมขึ้นได้

          2. กฎหมายมักจะเดินทางตามหลังความเปลี่ยนแปลงของสังคม  เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปกฎหมายที่เคยเห็นกันว่ายุติธรรมดีกลับกลายเป็นไม่ยุติธรรมไปได้[8]

          อมร  รักษาสัตย์  ได้อรรถาธิบายว่า  จะเกิดความไม่ยุติธรรม (unjust) ถ้า

          1.  ขัดกับหลักแห่งความเที่ยงธรรม,  ความเป็นธรรม  หรือความเสมอภาค  หรือมีพฤติกรรมลำเอียง

          2.  ฝ่าฝืนนโยบายและกระบวนการที่ใช้กันมานานเป็นที่รู้กันและยอมรับกันแล้ว

          3.  แสดงให้เห็นว่าละเลย  หรือขาดการดูแลและเอาใจใส่  เมื่อไม่มีการแจ้งให้ทราบว่าจะไม่มีการจ่ายค่าชดเชยหรือการรับทราบว่าได้มีการละเลย

          คำว่าไม่ยุติธรรมนี้  ถือเป็นคำที่รุนแรงกว่า “ความไม่มีเหตุผล” และอาจหมายถึงการผิดศีลธรรมและในบางสถานการณ์อาจมองได้ว่าเป็นการกระทำที่ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี (Unconscionable) ความไม่ยุติธรรมอาจเกี่ยวกับหลักพื้นฐานของความเป็นธรรมโดยไม่ต้องพิจารณาถึงความเท็จ (false)[9]

          ประสิทธ์  โฆวิไลกุล  กล่าวว่า  สิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรมสูงสุดที่ทุกคนแสวงหาย่อมขึ้นอยู่กับมาตรฐานทางด้านจิตใจของมนุษย์ผู้จะบันดาลให้มีกฎหมายและใช้กฎหมายนั้น  อันจะก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม[10]

          อริสโตเติ้ล  กล่าวว่า  ความอยุติธรรมเกิดขึ้นเมื่อคนที่เท่ากันได้รับการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกันและเมื่อคนที่ไม่เท่ากันได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน (Injustice arises when   equals are treated unequally, and also when unequals are treated equally)[11]

          ดังได้ยกแนวความคิดเห็นของนักคิด  นักทฤษฎีต่างๆ  ซึ่งมีความคิดเห็นเกี่ยวกับความยุติธรรมไว้มากมาย  ซึ่งมีทั้งส่วนแตกต่างกันไปกรอบแห่งทัศนะของแต่ละคน   และยังมีส่วนที่คล้ายคลึงกันในที่นี้อาจสรุปได้ว่าความยุติธรรม  คือความเที่ยงธรรม   ความชอบธรรม  ความชอบด้วยเหตุผล  อันบุคคลผู้มีเหตุผลและมีความรู้สึกผิดชอบเห็นว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม



          [1]ปรีชา  ช้างขวัญยืน, ความยุติธรรม,  ใน  เอกสารการสอนชุดวิชาปรัชญาการเมือง, พิมพ์ครั้งที่  23 (นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,  2549),  หน้า  66.

          [2]เสถียร  หอมขจร,  โธมัส  ฮอบส์,  ใน  ทฤษฎีการเมืองและจริยธรรม 2,  พิมพ์ครั้งที่  5 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง,  2540),  หน้า  26.

          [3]สุขุม นวลสกุล, และโกศล โรจนพันธุ์, ทฤษฎีการเมืองสมัยโบราณและสมัยกลาง,  พิมพ์ครั้งที่  9  (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง,  2539),  หน้า  35.

          [4]สุขุม  นวลสกุล, และโกศล โรจนพันธุ์,  เรื่องเดียวกัน,  หน้า  48.

          [5]สมยศ  เชื้อไทย,  ความรู้นิติปรัชญาเบื้องต้น,  พิมพ์ครั้งที่  7  (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน  จำกัด,  2545),  หน้า  205-206.

          [6]โสภณ รัตนากร,ความยุติธรรม,ใน  เอกสารประกอบการศึกษาวิชานิติปรัชญา  ชั้นปริญญาตรี  ภาคสอง : บทนำทางประวัติศาสตร์,  พิมพ์ครั้งที่  1  (กรุงเทพฯ : มิตรนราการพิมพ์,  2526),  หน้า  307.

          [7]กรมหมื่นพิชิต  ปรีชากร, ธรรมสารวินิจฉัยว่ายุติธรรมเป็นอย่างไรและกฎหมายคืออะไร,ใน เอกสารประกอบการศึกษาวิชานิติปรัชญา ชั้นปริญญาตรี ภาคสอง : บทนำทางประวัติศาสตร์,  พิมพ์ครั้งที่  1  (กรุงเทพฯ : มิตรนราการพิมพ์,  2526),  หน้า  255.

          [8]เดช วุฒิสิงห์ชัย,  หลักวิชาชีพนักกฎหมาย,  พิมพ์ครั้งที่  1  (กรุงเทพฯ : แสงจันทร์ การพิมพ์,  2526),  หน้า  63.

          [9]อมร   รักษาสัตย์,  ปรัชญารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์  ของ  ศ.ดร.อมร   รักษาสัตย์,  พิมพ์ครั้งที่  1  (กรุงเทพมหานคร  : วี.เจ.พริ้นติ้ง,  2546),  หน้า  381.

          [10]ประสิทธ์  โฆวิไลกุล,  เหลียวหลังแลดูกฎหมายและความยุติธรรม,  พิมพ์ครั้งที่ 1  (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม,  2540),  หน้า  7.

          [11]โสภณรัตนากร,  เรื่องเดียวกัน,  หน้า  301.

คำสำคัญ (Tags): #ความยุติธรรม
หมายเลขบันทึก: 290997เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2009 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ผู้เสียหายจากวงการยุติธรรม

ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทขององค์พ่อหลวงในเรื่องเกี่ยวกับการใช้กฎหมายและ การเข้าใจถึงสาระอันเป็นที่สุด ของการมีกฎหมายขึ้นมาใช้

๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙

๑. “...กฎหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง มิใช่ว่ากฎหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชนก็กลายเป็นเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับกับบุคคลหมู่มาก ในทางตรงกันข้าม กฎหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลส่วนมากมีเสรีและอยู่ได้ด้วยความสงบ...”

*พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงาน “วันรพี” ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๑

๒. “...กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง สำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หาก ต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยาตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริง ด้วย...”

*พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ ๓๓ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๔

๓. “...กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม ผู้ใดก็ตามแม้ไม่รู้กฎหมายแต่ถ้าประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริตแล้วควรจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายอย่างเต็มที่ ตรงกันข้าม คนที่รู้กฎหมายแต่ใช้กฎหมายไปในทางทุจริตควรต้องถือว่าทุจริต ...”

*พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๒

๔. “...กฎหมายทั้งปวง จะธำรงความยุติธรรมและความถูกต้องเที่ยงตรง มีความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมหรือไม่เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้ หากนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และ เจตนารมณ์ หรือด้วยเจตนาไม่สุจริตต่างๆ กฎหมายก็เสื่อม ความศักดิ์สิทธิ์และ กลายเป็นภัยต่อประชาชน ...”

*พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษา กฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๒๐

๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท