สตง. ตรวจสอบกองทุนหมู่บ้านใกล้ล่มสลาย บางพื้นที่เงินเหลือแค่ 100 บาท


ในฐานะคนที่คุ้นเคยและติดตามระบบการเงินฐานราก ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์นี้ไม่น่าจะสร้างความตกใจอะไร

สตง. ตรวจสอบกองทุนหมู่บ้านใกล้ล่มสลาย บางพื้นที่เงินเหลือแค่ 100 บาท

.....

     (ปกหน้าของหนังสือพิมพ์มติชน ฉ.10286 ปีที่ 29 วันที่ 9 พ.ค. 2549)

ในฐานะคนที่คุ้นเคยและติดตามระบบการเงินฐานราก ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์นี้ไม่น่าจะสร้างความตกใจอะไร เพราะพอจะคาดเดาออกมาตั้งแต่ต้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ การเมือง นำเอารูปแบบการตั้งกลุ่มการเงินไปใช้ในการหาเสียง และผลักดันให้เกิดขึ้นจริง

ผมเองเคยได้ยินผู้ที่เกี่ยวข้องในการออกแบบและบริหารกองทุนหมู่บ้านในห้องแอร์กรุงเทพฯว่า นี่คือการทำวิจัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพราะทำทีเดียวทั้งประเทศ เราจะได้องค์ความรู้มากมาย .... ตอนนี้บอกตามตรงผมเองก็นึกไม่ค่อยสบอารมณ์กับการแสดงออกด้วยท่าทีอย่างนั้น เพราะ มันมีการพิสูจน์มามากพอแล้ว ปัญหาคือคุณไม่สนใจที่จะ review literature ในส่วนปัญหา คุณสนใจแต่จะหาข้อมูลมา support นโยบายมากกว่า

ข้อมูลบอกให้เรารู้ว่าการรวมกลุ่มเพื่อจัดการการเงินในประเทศไทย ให้ชาวบ้าน(ชาวบ้านเกษตรกร,แรงงาน ที่มีการศึกษาระดับป.4 ชีวิตส่วนใหญ่ต้องทำมาหากินมากกว่าบริหารจัดการ) บริหารการเงินกันเอง ล้มเหลวเพราะปัจจัยสำคัญ คือ

  1. เมื่อมีผู้ที่เก่งกว่านำเอาองค์ความรู้เรื่องการตั้งกลุ่มการเงินไปขายแล้ว แต่ไม่มีการบริการหลังการขาย ไม่สอน ไม่แนะนำ ตั้งแล้วก็รายงานส่วนกลาง 
  2. เมื่อสมาชิกในชุมชนไม่มีศักยภาพเพียงพอ ไม่สามารถรองรับการเรียนรู้ที่ซับซ้อน และไม่สามารถข้ามพ้นหลักการความสามัคคีได้
รัฐบาลทักษิณ ไม่ได้ดูหรืออาจจะดูแบบผ่านเลย ว่า ในกรมการพัฒนาชุมชนมีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยการหนุนช่วยของข้าราชการ บทเรียนคือพื้นที่ใดมีข้าราชการดี ชุมชนดี กลุ่มก็เจริญ  พื้นที่ใดที่ข้าราชการขาดการเอาใจใส่ แต่ชุมชนดี กลุ่มไปได้ พื้นที่ใดที่ชุมชนไม่ดี ข้าราชการไม่ดี กลุ่มไปไม่ได้ ... ประสบการณ์ของคนในกรมฯ มีมากมาย ซึ่งเป็นการพยายามใช้ในหลักการพัฒนาที่ว่า ให้ชุมชนรวมตัวกันเป็นกลุ่มรวมเงินกันเอง โดยราชการเข้าไปหนุนเสริม  (แม้ว่าจะมีหลายอย่างที่ควรปรับเช่น เมื่อรวมกลุ่มกันแล้วก็เอาเงินไปฝากธนาคาร ไว้แล้วทำเรื่องกู้เงินจากธนาคารมาบริหาร แทนที่จะบริหารเงินของตนเอง ซึ่งออกจะผิดที่ผิดทางไปบ้าง ... อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ทุกพื้นที่ทั้งหมดที่ทำแบบนี้ ...)  นอกจากนี้ ยังมีประสบการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์  กลุ่มเครดิตยูเนี่ยน  กลุ่มธนาคารหมู่บ้าน กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต หรือกองทุนหลายๆ แบบที่รัฐใส่เข้าไปในชุมชน เช่น กองทุนปุ๋ย กองทุนยา  กองทุนนม   เป็นบทเรียนสำคัญ มิพักต้องไปเอ่ยถึงโครงการเงินผันใน 30 ปีก่อน

ประวัติศาสตร์จึงซ้ำรอยเดิม เพราะ เราคิดและทำแบบเดิม คือ การทำให้นักการเมือง และรัฐบาล มาทำตัวเป็น พ่อ ที่เห็นประชาชนเป็นลูกที่โง่ ... ทำตัวเป็นพ่อรู้ดี ไปเสียหมด  ...

หน้าที่หนึ่งขององค์กรการเงินชุมชน คือ การทำให้ชุมชนเกิดความมั่นใจด้วยตัวเขาเองว่า เขาสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจของเขาเองได้จริงๆ บริหารการเงินภายในของเขาเองได้จริงๆ ข้าราชการคือคนหนุนเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง  นี่คือหลักการที่ถูกต้อง เราต้องอดทนและอึดพอที่จะสร้างการเรียนรู้ ครับ  ...  ผมเองก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่า นักการเมืองจะเล่นบทนี้เป็นหรือเปล่า โดยเฉพาะในยุคทุนนิยมบริโภคแบบนี้ ... 

อย่างไรก็ตาม ผมเองก็เห็นถึงความสำเร็จของกองทุนหมู่บ้านในหลายๆ หมู่บ้านที่องค์ประกอบดีอยู่แล้ว และการได้รับโอกาสใหม่ๆ ที่ทั้งประเทศได้รับ มองแบบนักยุทธศาสตร์ที่เน้นเป้าหมายก็ถือว่าสำเร็จ แต่มองแบบนักยุทธศาสตร์กระบวนการแล้วก็คงต้องทำงานหนักอีกมาก ที่จะเร่งเข้าไปสร้างศักยภาพให้กับชุมชนในการบริหารจัดการ ... เอาใจช่วยกันนะครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29062เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2006 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ครั้นจะหลุดจากวงโคจรในระบบราชการก็เห็นจะต้องขาแข็งแรงแล้ว ครั้นจะอยู่ภายในห้วงโคจรก็มีแต่แผ่นดินให้คนภายนอกมาปลูกข้าวไปกิน เห็นทีจะพูดยากสักหน่อย เมื่อคนแต่ละวงการเห็นต่างกัน โดยเฉพาะนักการเมืองที่ไม่ได้คิดว่าเข้าไปเล่นการเมืองเพื่อทำให้บ้านเมืองเจริญ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท