ท.ณเมืองกาฬ
นาย ทรงศักดิ์ พิราบขาว ภูเก้าแก้ว

การละเล่นภาคอีสาน


สนุกสนาน

                                                 การละเล่นภาคอีสาน

 

 

               เมื่อพูดถึงเด็กก็ย่อมต้องคู่กับของเล่น...คนโบราณจะนิยมนำสิ่งรอบตัวไม่ว่าจะเป็น ใบมะพร้าว ก้านมะพร้าว กะลามะพร้าวมาประดิษฐ์เป็นของเล่นต่างๆ มากมาย ซึ่งหลายคนอาจจะพอคุ้นหูกันอยู่บ้างกับของเล่นที่ชื่อ ม้าก้านกล้วย ปืนก้านกล้วย เป็นต้น สำหรับอีสานบ้านเราก็มีภูมิปัญญาทางด้านการละเล่นประจำภาคที่น่าสนใจมาบอกเล่าให้ฟังด้วยเหมือนกัน...

ตีนเลียน ( จ.ศรีสะเกษ)

 

               ตีนเลียน ทำจากไม้กระดานรูปวงกลมซึ่งมีรัศมีประมาณ 8-12 นิ้ว โดยจะเจาะรูตรงกลาง แล้วใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ 2 เมตรผ่าครึ่งยาว 12 นิ้ว เพื่อเชื่อมกับรูกระดานด้วยการตอกตะปู หรือไม้แข็งเป็นเพลา อาจจะสลักขัดไว้ให้แน่นเพื่อไม่ให้หลุดออกมาก็ได้ ปกติจะนิยมเล่นตีนเลียนในช่วงสงกรานต์หรือประเพณีอื่นๆ เพื่อเป็นการสร้างความสนุกสนาน ในการเล่นนั้น ผู้เล่นจะยืนเรียงกันโดยใช้ไม้ไผ่ด้านปลายวางที่บ่า เมื่อได้ยินสัญญาณบอกให้เริ่มวิ่ง ผู้เล่นจะต้องดันตีนเลียนให้วิ่งออกไป เพื่อให้ถึงเส้นชัยก่อนเป็นคนแรก โดยจะกำหนดระยะทางไว้ที่ 50-100 เมตร

วิ่งขาโถกเถก (ชัยภูมิ)

               จะใช้ไม้ไผ่กิ่ง 2 ลำ ถ้าไม่มีก็จะใช้วิธีเจาะรูแล้วเอาไม้อื่นมาสอดไว้เพื่อเป็นที่วางเท้า โดยผู้เล่นจะเลือกไม้ไผ่ลำตรง 2 ลำที่มีกิ่งสำหรับวางเท้าเสมอกัน 2 ข้าง ผู้เล่นจะขึ้นไปยืนบนแขนงไม้ เวลาเดินหากยกเท้าข้างไหนมือที่จับลำไม้ไผ่จะยกข้างนั้นตาม ส่วนมากเด็กๆ มักจะเดินแข่งกัน ใครที่เดินได้ไวและไม่ตกจากไม้ถือว่าเป็นผู้ชนะ

 

มโหรี (นครราชสีมา)

               เป็นการเล่นดนตรีพื้นบ้านของชาวโคราช โดยมีเครื่องดนตรีคือ ซอด้วง ซออู้ ปี่นอก กลองเทิ่ง ฉิ่ง ฉาบ ลักษณะการเล่นจะเป็นการบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีดังที่กล่าวมา จะมีทั้งเพลงไทยเดิม เพลงสมัยใหม่ ส่วน เพลงที่วงมโหรีนิยมบรรเลงคือ เพลงพม่าแห่กระจาด เพลงกันตรึม เป็นต้น ส่วนมากวงมโหรีจะเล่นในงานมงคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานโกนจุก แห่นาค ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีการนิยมบรรเลงในงานบวชจำนวนมาก

โค้งตีนเกวียน หรือระวงตีนเกวียน (ยโสธร)

               ในการเล่นจะมีคนยืนสลับกับคนนั่งเป็นวงกลมคล้ายล้อเกวียน พวกที่นั่งจะเอาเท้ายันกันไว้ตรงกลางคล้ายดุมเกวียนและเอามือจับคนที่ยืน โดยจะเดินไปรอบๆ เป็นวงกลม กลุ่มนั่งจะนั่งให้ก้นลอยพ้นพื้นประมาณหนึ่ง จากนั้นจะหมุนตามโดยใช้เท้าที่ยันกันไว้เป็นศูนย์กลาง หากกลุ่มที่นั่งทำมือหลุดก็จะถือว่าเป็นฝ่ายแพ้ ต้องเปลี่ยนให้คนที่ยืนมาเป็นฝ่ายนั่งแล้วค่อยเล่นต่อ การเล่นโค้งตีนเกวียนจะนิยมเล่นกันเกือบทุกโอกาสโดยเฉพาะในช่วงที่มีเทศกาลตรุษสงกรานต์ บุญข้าวสาก เป็นต้น

    หนังตะลุง

               มีตัวหนังเป็นรูปพระราม ตัวทหาร ตัวตลกที่มีชื่อและลักษณะท่าทางเหมือนคนอีสาน เช่น ปลัดตื้อ บักป่อง บักแหมบ เวทีที่ใช้แสดงจะอยู่ในระดับสายตา ส่วนจอจะสูงจากเวทีประมาณ 1 เมตร ขนาดเวทีกว้างประมาณ 1.8 เมตร ยาว 5.3 เมตรใช้ตะเกียงโป๊ะ (เจ้าพายุ) เป็นตัวให้แสงไฟส่องจอ ต่อมาภายหลังเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟขนาด 60-90 แรงเทียน ในการเล่นนั้นผู้เชิดและผู้พากย์เป็นคนเดียวกัน มีนักดนตรี 3 คน เล่นกลอง แคน ระนาดเอก ปัจจุบันมีการพัฒนาตามความนิยมของผู้ชม คือ ใช้ทำนองหมอลำซิ่ง เพื่อความสนุกสนาน จะนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามออกบวชจนกระทั่งพระรามกลับมาครองเมือง

การตีคลี (หนองคาย)         เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวอีสาน นิยมเล่นตามชนบทโดยมีหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ การตีคลีในสมัยโบราณมีด้วยกัน 3 ประเภทคือคลีช้าง ผู้เล่นจะต้องขี่ช้างตี นิยมเล่นกันเป็นจำนวนมากในสมัยอยุธยาคลีม้า ผู้เล่นจะต้องขี่ม้าตี นิยมเล่นกันมากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์คลีคน ผู้เล่นจะต้องเดินหรือวิ่งตี จะมีทั้งแบบตีคลีธรรมดา และตีคลีไฟ หรือการเอาลูกเผาไฟให้ลุกท่วมแล้วค่อยนำมาตี นิยมเล่นกันมากในชนบทอีสาน ไม่ว่าจะเป็นหนองคาย อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เป็นต้น

               อุปกรณ์ในการเล่นจะประกอบด้วยไม้คลี (ไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 เมตร งอนปลายไม้) ลูกคลี ทำจากไม้ทองหลางหรือขนุนกลึงให้กลมขนาดเท่ามะนาว โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเล่นในช่วงฤดูหนาวเพื่อเป็นการออกกำลังกายก่อนลงอาบน้ำ การตีคลีจะนิยมเล่นในเวลากลางคืน เพราะเมื่อเราเอาลูกคลีเผาไฟให้ลุกแดง เมื่อตีลูกคลีก็จะเป็นเปลวไฟปลิวไปในสนาม สวยงามไปอีกแบบ

เดินกุบกับ (อุดรธานี)

               เป็นการละเล่นที่ใช้ของประดิษฐ์จากวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นที่มีตามธรรมชาติ การเดินกุบกับเป็นการสวมรองเท้าต่อขาให้สูง โดยคาดว่าน่าจะมาจากการเดินเพื่อข้ามที่ชื้นแฉะ หรือพงหนามที่ไม่รก โดยจะนำกะลามะพร้าวมาผ่าครึ่งวางคว่ำลงกับพื้น จากนั้นเจาะรูที่ก้นกะลาทั้ง 2 ข้าง นำเชือกเหนียวมา 1 เส้นความยาวพอประมาณที่จะใช้มือดึงขณะที่ยืนได้ ปลายเชือกแต่ละข้างร้อยรูกะลาที่เจาะไว้ ซึ่งอาจจะใช้ตะปูหรือไม้ที่แข็งแรงผูกปลายเชือกที่ร้อยกะลาไม่ให้หลุดออกจากรูกะลา เวลาเล่นผู้เล่นจะใช้เท้าเหยียบลงบนกะลาทั้ง 2 ข้าง ดึงเชือกให้ตึงระหว่างง่ามหัวแม่เท้า เวลาเดินให้ดึงเชือกให้ตึงกะลาจะได้ติดเท้าไปด้วย เมื่อกะลากระทบพื้นจะมีเสียงดัง “กุบกับ” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อนั่นเอง การละเล่นกุบกับนี้จะไม่ค่อยผาดโผนอันตรายสักเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้เด็กผู้หญิงจึงนิยมเล่นกุบกับมากกว่าเด็กผู้ชาย

               การละเล่นพื้นบ้านของอีสานบ้านเรานี้ มีข้อดีหลายอย่าง ทั้งช่วยสร้างความสามัคคี ความสนุกสนาน ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการนำสิ่งใกล้ตัวมาประดิษฐ์เป็นของเล่น ซึ่งทำให้ประหยัดสตังค์ในกระเป๋า และแถมอุปกรณ์ที่นำมาเป็นเครื่องเล่นยังไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อึ้ม...ว่างๆ ต้องลองทำเล่นหน่อยแล้ว

 

การละเล่นภาคอีสาน

การแข่งเรือ
อุปกรณ์ และวิธีการเล่น
อุปกรณ์

-เรือยาวขุดด้วยไม้
-ฝีพาย ๔๐ คน
-กลอง-พังฮาด-ฉาบ-กิ่ง หรือ เครื่องดนตรีอื่น (สำหรับบรรเลงอยู่ในเรือ)

วิธีการเล่น /กติกา
การจัดการแข่งขัน
รอบแรก กรรมการรับสมัครเรือจำนวน ๑๖ ลำ จับสลากแบ่งสายออกเป็น ๔ สาย แข่งขันแบบพบกันหมดในสาย เปลี่ยนลู่น้ำ นำเรือที่ได้คะแนนที่ ๑-๒ ของแต่ละสายไปจับสลากแบ่งออกเป็น ๒ สาย (สาย ก - ข) เพื่อแข่งขันในรอบที่ ๒
รอบที่สอง ดำเนินการแข่งขันเหมือนรอบแรก เรือที่มีคะแนนที่ ๑ - ๒ มีสิทธิ์เข้าแข่งขันในรอบรองชนะเลิศ
รอบรองชนะเลิศ จัดแข่งขันดังนี้
คู่ที่ ๑ เรือชนะที่ ๑ สาย ก. พบกับเรือที่ ๒ สาย ข.
คู่ที่ ๒ เรือชนะที่ ๑ สาย ข. พบกับเรือที่ ๒ สาย ก.
การแข่งขันในแต่ละคู่เปลี่ยนทางน้ำมีผลแพ้ - ชนะ ๒ ใน ๓ เที่ยว เพื่อหาเรือไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ
รอบชิงชนะเลิศ จัดแข่งขันดังนี้
-นำเรือที่ชนะของแต่ละคู่ของรอบรองชนะเลิศมาแข่งขันชิงที่ ๑ และ ๒
-นำเรือที่แพ้ของแต่ละคู่ของรอบรองชนะเลิศมาแข่งขันชิงที่ ๓ และ ๔
-แพ้-ชนะ ๒ ใน ๓ เที่ยว

กติกาการแข่งขัน
๑.เรือทุกลำที่เข้าทำการแข่งขันต้องมาให้ถึงสนามแข่งขันก่อนเวลา ๐๘.๐๐ น. ของวันที่ทำการแข่งขัน พร้อมให้ตัวแทน หรือหัวหน้าเรือ ไปรายงานตัวต่อคณะกรรมการที่กองอำนวยการ ถ้าเรือใดมาช้ากว่ากำหนด กรรมการจะพิจารณาเป็นรายๆไป และเรือลำใดที่ไม่ลงเทียบท่าในเวลา ๐๙.๐๐ น. ซึ่งเป็นพิธีเปิดคณะกรรมการจะพิจารณาตัดเงินค่าเทียบท่าลำละ ๓๐๐ บาท
๒.เรือทุกลำที่ทำการแข่งขันต้องวิ่งในลู่ที่กำหนด ถ้ามีการตัดลู่น้ำจะโดยเจตนา หรือไม่ก็ตาม คณะกรรมการจะปรับแพ้ในเที่ยวนั้น
๓.เรือทุกลำต้องพร้อมที่จะเข้าทำการแข่งขันได้ทันทีเมื่อถึงเวลากำหนดใน สูจิบัตร และเมื่อกรรมการจุดปล่อยเรือเรียกเข้าประจำที่ ถ้าเข้าประจำที่ช้าเกินกว่า ๕ นาที หลังจากคณะกรรมการเรียกแล้วจะถูกปรับแพ้ในเที่ยวนั้น และให้คณะกรรมการปล่อยเรือคู่แข่งพายตามลู่น้ำของตนลงมาถึงเส้นชัยจึงจะถือ ว่าเป็นฝ่ายชนะ หากเรือลำใดไม้คาดแตกหรือหัก กรรมการจะอนุญาตให้เปลี่ยนไม้คาดใหม่ ภายในเวลาไม่เกิน ๒๐ นาที ถ้าเกินจะปรับเป็นแพ้ โดยให้ไปรายงานกับกรรมการจุดปล่อยเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และจับเวลา
๔.เรือทุกลำห้ามถอดหัวเรือในขณะทำการแข่งขัน
๕.เมื่อเรือแต่ละลำทำการแข่งขันของแต่ละเที่ยวผ่านไปแล้ว ให้รีบกลับไปลอยลำ รอการแข่งขันในเที่ยวต่อไป ณ จุดปล่อยเรือ โดยล่องเรือเลียบฝั่งทิศเหนือ
๖.ในขณะทำการแข่งขันหากฝีพายของเรือลำใดตกลงจากเรือจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม คณะกรรมการจะปรับให้แพ้ในเที่ยวนั้น แต่ถ้าฝีพายตกด้วยกันทั้งสองลำ กรรมการจะตัดสินให้เรือที่ถึงเส้นชัยก่อนเป็นลำชนะ
๗.ห้ามเรือทุกลำทำการฝึกซ้อมในสนามแข่งขันหลังจากพิธีเปิดทำการแข่งขันของแต่ละวัน
๘.คะแนนในการแข่งขันรอบที่ ๑ และรอบที่ ๒ เรือชนะได้ ๓ คะแนน เรือเสมอกันให้ลำละ ๑ คะแนน และเรือแพ้ได้ ๐ คะแนน
๙.หากเรือลำใดมีคะแนนเท่ากันในรอบคัดเลือก (รอบที่ ๑ หรือรอบที่ ๒) ให้จับสลากลู่น้ำแข่งขันกันใหม่ เพื่อหาลำชนะเข้ารอบต่อไป โดยแข่งเที่ยวเดียว
๑๐.การปล่อยเรือในส่วนถาวรของเรือเสมอกัน และการตัดสิน แพ้- ชนะ ของคณะกรรมการจะตัดสินส่วนถาวรของเรือถึงเส้นชัยเป็นเกณฑ์
๑๑.ให้เรือทุกลำที่ทำการแข่งขันของแต่ละวัน แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำกองอำนวยการไว้ลำละ ๑ คน เพื่อติดต่อประสานงานตลอดจนร่วมแก้ปัญหาอันอาจมีขึ้นกับฝ่ายจัดการแข่งขัน
๑๒.ถ้าฝีพายหรือตัวแทนเรือลำใดมีกริยา วาจาไม่สุภาพเรียบร้อยต่อคณะกรรมการดำเนินการทำให้เป็นที่เสื่อมเสียชื่อ เสียง คณะกรรมการอาจพิจารณาปรับให้เรือลำนั้นแพ้ฟาล์ว และปรับไม่ให้เข้าร่วมแข่งขันในสนามนี้อีก เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๒ ปี
๑๓.การตัดสินของคณะกรรมการถือว่าเด็ดขาด หากเรือลำใดจะประท้วงให้ยื่นคำร้องขอประท้วงเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อคณะกรรมการรับการประท้วง พร้อมทั้งหลักฐาน และเงินค่าประกันครั้งละ ๑๐๐ บาท และจะคืนเงินค่าประกัน ถ้าการประท้วงเป็นผล และให้ยื่นประท้วงภายในเวลา ๒๐ นาที หลังจากการแข่งขันเรือในเที่ยวนั้นๆ

 

 

  วิ่งขาโถกเถก
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
อุปกรณ์

-ไม้ไผ่กิ่ง ๒ ลำ ถ้าไม่มีก็เจาะรูแล้วเอาไม้อื่นๆ สอดไว้เพื่อให้เป็นที่วางเท้าได้

วิธีการเล่น
 ผู้เล่นจะเลือกไม้ไผ่ลำตรง ๆ ที่มีกิ่ง ๒ ลำที่กิ่งมีไว้สำหรับวางเท้าต้องเสมอกันทั้ง ๒ ข้าง ผู้เล่นขึ้นไปยืนบนแขนงไม้เวลาเดินยกเท้าข้างไหนมือที่จับลำไม้ไผ่ก็จะยก ข้างนั้น ส่วนมากเด็ก ๆ ที่เล่นมักจะมาแข่งขันกัน ใครเดินได้ไวและไม่ตกจากไม้ถือว่าเป็นผู้ชนะ

 

แข่งเรือบก
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
อุปกรณ์

-ไม้กระดาน ๒ แผ่น ยาวประมาณ ๑ วาเศษ
-เชือกที่จะใช้รัดหลังเท้าติดกับไม้

วิธีการเล่น
ผู้เล่นแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ละ ๒-๕ คน โดยจะรัดเท้าทั้ง ๒ ข้าง ไว้กับกระดาน ๒ แผ่น มือจับเอวหรือจับไหล่ของผู้ที่อยู่ข้างหน้า อาศัยความพร้อมเพรียงจะยกเท้าซ้ายพร้อม ๆ กัน ดันไม้กระดานไปข้างหน้า กลุ่มใดถึงเส้นชัยก่อนถือว่าชนะ

 


โค้งตีนเกวียน หรือระวงตีนเกวียน
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
วิธีการเล่น

แบ่งผู้เล่น ออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งยืนอีกพวกหนึ่งนั่งสลับกันเป็นวงกลมคล้ายล้อเกวียน พวกที่นั่งจะเอาเท้ายันกันไว้ตรงกลางคล้ายดุมเกวียนและเอามือจับกับคนที่ยืน จะเดินไปรอบๆ เป็นวงกลม ฝ่ายนั่งก็จะนั่งให้ก้นลอยพ้นพื้น หมุนตามไปโดยใช้เท้าที่ยันกันไว้นั้นเป็นศูนย์กลาง ถ้าฝ่ายนั่งทำมือหลุดหรือวงแยกออกจากกันก็จะเป็นฝ่ายแพ้ เปลี่ยนให้คนที่ยีนเป็นฝ่ายนั่งและคนที่นั่งเป็นฝ่ายยืน แล้วเล่นต่อ

 


 

ก๊อกล๊อต
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
อุปกรณ์

-แผ่นไม้กระดานแผ่นเรียบ ๑ แผ่น
-ไม้ขนาดหน้าสาม ๑ ท่อน
-เหรียญบาทหรือเหรียญห้าบาท หรือเหรียญสิบบาท

วิธีการเล่น
เริ่มโดยเตรียมสถานที่เป็นที่โล่งแล้วนำ ไม้กระดานแผ่นเรียบไปพิงไว้ที่ใดที่หนึ่งให้ทำมุมเฉียง ๔๕ องศา ต่อจากนั้นนำไม้หน้าสามไปวางเป็นแนวนอนให้อยู่ตรงข้ามกับไม้กระดานแผ่นเรียบ โดยให้ห่างจากกันประมาณ ๑ เมตร เมื่อเตรียมทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยผู้เล่นจะมีจำนวนกี่คนก็ได้เข้าแถวเพื่อ รอคิวกลิ้งเหรียญจากแผ่นไม้กระดานแผ่นเรียบไปกระทบแผ่นไม้หน้าสาม การตัดสิน หากเหรียญของผู้เล่นคนใดกระเด็นออกไปไกลที่สุดก็จะถือว่าเป็นผู้ชนะ รางวัล คือ เหรียญทั้งหมดที่มีผู้ลงเล่นในแต่ละครั้ง แต่การละเล่นก๊อกล๊อคมีเงื่อนไขข้อหนึ่งว่า การใช้เหรียญเพื่อแข่งขันผู้เล่นต้องใช้เหรียญประเภทเดียวกัน

 


 

เดินกุ๊บกั๊บ
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
อุปกรณ์

-กะลามะพร้าวผ่าครึ่ง
-เชือกที่เหนียวพอประมาณ ๑ เส้น มีความยาวพอประมาณที่จะใช้มือดึงในขณะที่ยืนอยู่ได้
-ตะปูหรือไม้ที่แข็งแรง

วิธีการประดิษฐ์
๑.เอากะลามะพร้าวมาผ่าครึ่งคู่หนึ่งวางคว่ำลงกับพื้น เจาะรูที่ก้นกะลาทั้ง ๒ ข้าง
๒.หาเชือกที่เหนียวพอประมาณมา ๑ เส้น มีความยาวพอประมาณที่จะใช้มือดึงในขณะที่ยืนอยู่ได้ ปลายเชือกแต่ละข้างร้อยรูกะลาที่เจาะไว้
๓.ใช้ตะปูหรือไม้ที่แข็งแรงผูกปลายเชือกที่ร้อยกะลาไม่ให้เชือกหลุดจากรูกะลา
เวลา เล่นใช้เท้าเหยียบลงบนกะลาทั้ง ๒ ข้างให้เชือกตึงอยู่ระหว่างง่ามหัวแม่เท้า เวลาเดินดึงเชือกให้ตึงกะลาติดเท้าไปด้วย กะลากระทบพื้นจะมีเสียงดัง กุ๊บกั๊บ หรือ ก๊อบแก๊บ

วิธีการเล่น
เวลาเล่นใช้เท้าเหยียบลงบนกะลาทั้ง ๒ ข้างให้เชือกตึงอยู่ระหว่างง่ามหัวแม่เท้า เวลาเดินดึงเชือกให้ตึงกะลาติดเท้าไปด้วย กะลากระทบพื้นจะมีเสียงดัง กุ๊บกั๊บ หรือ ก๊อบแก๊บ

 

 


จานช้อนใบ
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
อุปกรณ์
-ผ้าขาวม้าฝั้นเกลียวให้แน่นใช้สำหรับตี

วิธีการเล่น
หนุ่มสาวยืนล้อมวง เป็นวงกลมซ้อนกัน ๒ วง คนหน้าและคนหลังยืนตรงกัน เรียกคนหน้าว่าจานใบที่ ๑ และเรียกคนหลังว่าจานใบที่ ๒ จะมีคนเกินอยู่ ๑ คน และคนไล่ ๑ คน เมื่อเริ่มเล่นคนที่เป็นเศษจะต้องวิ่งไปซ้อนหน้าคนที่ยืนซ้อนกันอยู่แล้ว เมื่อซ้อนเข้าไปแล้วคนที่อยู่หลังสุดก็จะกลายเป็นเศษ คือเป็นจานใบที่ ๓ ก็จะถูกไล่ตี เพราะฉะนั้นคนที่เป็นคนที่ ๓ จะต้องวิ่งหนีเพื่อซ้อนคนอื่นต่อไป

กติกา
คนที่เป็นคนเศษแล้วถูกซ้อน ต้องซ้อนข้างหน้าเท่านั้น คนที่อยู่ที่ ๓ ถ้าตีถูกหรือถูกตีถือว่าตาย ต้องกลับมาเป็นผู้ไล่ต่อไป 

 

 

งูกินหาง
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
วิธีการเล่น

เริ่มเล่น เมื่อผู้เล่นพร้อมกันแล้วจะเริ่มด้วยการเสี่ยงถ้าใครแพ้คนนั้น ก็จะออกเป็นพ่องู ส่วนผู้ชนะก็จะได้เล่นเป็นแม่งูและลูกงู ู ส่วนมากในกลุ่มผู้เล่นจะเลือกเอาคนที่มีร่างกายแข็งแรงหรือรูปร่างใหญ่ในทีม เป็นแม่งู เพื่อเอาไว้ป้องกันลูกงู เมื่อได้ผู้เล่นแล้วพ่องูและแม่งูจะยืนหันหน้าเข้าหากัน ส่วนแม่งูจะมีลูกงูกอดเอวต่อแถวไปข้างหลังแล้วพ่องูจะเริ่มถามแม่งูว่า
พ่องู "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"
แม่งู "กินน้ำบ่อโสกโยกไปโยกมา" พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา
พ่องู "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"
แม่งู "กินน้ำบ่อหินบินไปบินมา" พร้อมแสดงอาการบินไปบินมา
พ่องู "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"
แม่งู "กินน้ำบ่อทรายย้ายไปย้ายมา" พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา
พ่องู "กินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว"
เมื่อพ่องูกล่าวเสร็จพ่องูจะเริ่มไล่จับลูกงูที่กอดเอวแม่งูอยู่ส่วนแม่งูก็ จะพยายามป้องกันไม่ให้พ่องูไปแย่งลูกงูได้ เมื่อพ่องูจับลูกงูคนใดได้ลูกงูก็จะออกมายืนอยู่ต่างหากเพื่อรอเล่นรอบต่อไป ส่วนพ่องูจะพยายามแย่งลูกงูให้ได้หมดทุกตัวจึงจะถือว่าจบการเล่นรอบหนึ่ง เมื่อพ่องูจับลูกงูได้ทุกตัวแล้วก็จะเริ่มเล่นใหม่ โดยพ่องูคนเดิมจะกลับไปเป็นแม่งูในรอบต่อไป

 

 


 

ลูกสะบ้า
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
อุปกรณ์

-ลูกสะบ้าประมาณ ๓๐ ลูก เป็นลูกที่ใช้ตั้งฝ่ายละ ๕ ลูก ใช้เป็นลูกโยนฝ่ายละ ๑๐ ลูก

จำนวนผู้เล่น  ฝ่ายละ ๕-๗ คน

วิธีการเล่น
๑.แบ่งคนเล่นออกเป็น ๒ ฝ่าย แล้วตั้งลูกสะบ้าไว้ฝ่ายละ ๕ ลูก
๒.แต่ละฝ่ายจะอยู่ห่างกันประมาณ ๑๐-๑๕ เมตร มีลูกสะบ้าสำหรับโยน ๑๐ ลูก
๓.ตกลงกันว่าจะให้ฝ่ายใดเริ่มโยนก่อน
๔.การสิ้นสุดการเล่นฝ่ายใดโยนล้มหมดทุกลูกจะเป็นฝ่ายชนะ
๕.ฝ่ายที่แพ้จะถูกเคาะหัวเข่า (เขกเข่า) ด้วยลูกสะบ้า

 

 

ตีนเลียน (ล้อเลื่อน)
อุปกรณ์การเล่น
-ไม้กระดานรูปวงกลมรัศมี ๘-๑๒ นิ้ว
-ไม้ไผ่ยาวประมาณ ๒ เมตร ผ่าครึ่งยาวประมาณ ๑๒ นิ้ว
-ตะปู หรือไม้ที่แข็ง

วิธีการประดิษฐ์
เอาไม้กระดานรูปวงกลมรัศมี ๘-๑๒ นิ้ว เจาะรู ตรงกลางใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ ๒ เมตร ผ่าครึ่งยาวประมาณ ๑๒ นิ้ว เพื่อเชื่อมกับรูของกระดานโดยใช้ตะปู หรือไม้ที่แข็งเป็นเพลาแล้วสกัดไว้ให้แน่นไม่หลุดออกมา

วิธีการเล่น
๑.การเริ่มต้นผู้เล่นจะยืนเรียงกันโดยใช้ไม้ไผ่ด้านปลายวางไว้ที่บ่าแล้วจับให้แน่น
๒.สัญญาณบอกเริ่มวิ่ง ผู้เล่นก็จะดันตีนเลียนให้วิ่งออกไป เพื่อให้ถึงเส้นชัยซึ่งอาจจะเป็นระยะทาง ๕๐ เมตร หรือ ๑๐๐ เมตร
๓.การสิ้นสุดการเล่นใครถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ

 

คำสำคัญ (Tags): #สนุก
หมายเลขบันทึก: 289593เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2009 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาสวัสดีช่วงเวลางานค่ะ

เคยเลนพ่องูแม่งู (งูกินหาง)อ่ะค่ะ

สมัยเด็กๆไปเยี่ยมคุณปู่ ท่านทำกะลาร้อยเชือกให้เล่น แต่เดินไม่ได้ค่ะ กลัวกะลาแตก

ฮ่าๆๆๆๆๆ

ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ

อิ อิ อิ

สวัสดีครับ ตอนเด็กผมเคยเล่น "ก๊อกล๊อต" แต่บ้านผมเรียก "ก่อยล้อต้อก" ครับ นอกจากนี้ยังมี จิกเส้น http://gotoknow.org/blog/attawutc/252258 บั้งโผะ http://gotoknow.org/blog/attawutc/255849 บั้งฉีดน้ำอีกด้วยครับ http://gotoknow.org/blog/attawutc/255848

สวัสดีครับคุณYour sister.

  • ขอบคุณมากๆที่แวะมาเยี่ยม มาทักทาย
  • มาเรียนรู้เรื่องราวการละเล่นของคนอีสานด้วยกัน
  • มีความสุขมากๆนะครับ
  • คิดถึงเสมอ
  • ขอบคุณมากๆครับคุณไทเลย-บ้านแฮ่
  • ที่แวะมาเยี่ยม มาทักทาย  มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน
  • โชคดีมีสุขนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท