การพัฒนาโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน


ชื่อเรื่อง             การพัฒนาโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
                        DEVELOPMENT OF A CLASSROOM ACTION RESEARCH NETWORK MODEL

ผู้วิจัย                นางสาวลำพอง กลมกูล

ปีที่ทำวิจัย          พ.ศ. 2548 พ.ศ. 2549

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

                  ความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการแสวงหากลยุทธ์ในการพัฒนาความสามารถของประชากรในประเทศ การพัฒนาที่ดีที่สุดคือการพัฒนาด้านการศึกษาและแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนานั้นมีหลากหลาย แนวทางหนึ่งที่สามารถพัฒนาการศึกษาได้อย่างดี คือ การพัฒนาการศึกษาผ่านการวิจัย กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือในการศึกษาที่สามารถสร้างคุณลักษณะหลายอย่างที่พึงประสงค์ได้ การศึกษาจึงต้องใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนจากรากฐานความเชื่อไปเป็นรากฐานของสติปัญญาที่ตั้งอยู่บนข้อมูลและเหตุผล มีการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นเป็นนวัตกรรมได้ทุกขั้นตอนของกระบวนการวิจัย คือ กุญแจที่จะไขไปสู่การเข้าถึงองค์ความรู้ การประเมินคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ และการสร้างพลังความเป็นอิสระทางความคิด ความเป็นตัวของตัวเองให้มีการพัฒนาและ ฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ (จรัส สุวรรณเวลา, 2545; พระเทพโสภณ, 2547)

            บุคคลที่สำคัญในการพัฒนาการศึกษา คือ บุคลากรทางการศึกษาหรือผู้สอน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการพัฒนาในด้านการทำวิจัยเพื่อให้เกิดการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญข้อนี้ จึงได้กำหนดในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 เกี่ยวกับการส่งเสริมการทำวิจัยของ  ผู้สอนเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน สามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และการส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา ดังนั้น ครูจึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทที่เป็นทั้งผู้สอนและนักวิจัย  ในระยะแรกครูโดยส่วนใหญ่เริ่มทำวิจัยกับปัญหาในชั้นเรียนของตนโดยการทำวิจัยแบบทำคนเดียว แต่ก็พบปัญหาอันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานและการทำวิจัยไปพร้อมกัน จึงทำให้ต้องการมีที่ปรึกษาในการทำวิจัย และต้องการบุคลากรหรือผู้ช่วยวิจัยที่มีความรู้ในการวิจัยเข้ามาให้คำแนะนำและให้การสนับสนุนด้านการอบรมในการทำวิจัย (วันทนา ชูช่วย, 2533;สกาวรัตน์ ชุ่มเชย, 2543; บุณยาพร ฉิมพลอย, 2544; สุพรรณี สินโพธิ์, 2546)  จึงทำให้เกิดการริเริ่มในการรวมกลุ่มกันทำวิจัยโดยมีทั้งการทำวิจัยร่วมกันเป็นทีม (teamwork) การทำวิจัยแบบร่วมมือ (cooperation) และจากหลักการสำคัญของการวิจัยปฏิบัติการที่เน้นให้มีการสะท้อนผล (reflection) (Kemmis,1988; Creswell, 2002 cited in Mill, 2003) และได้พัฒนามาเป็นการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนแบบรวมพลัง (collaboration) และการทำวิจัยแบบเป็นหุ้นส่วน (partnership) กล่าวคือ ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำวิจัย ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันในการปฏิบัติงาน จึงทำให้เกิดการร่วมมือกันทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนในรูปแบบนี้เกิดขึ้นมากในปัจจุบัน (Saurino, 2002; Balach et al., 2003; Levin & Rock, 2003; Mizukami et al., 2003; Knight & Wiseman, 2003;  ทิศนา แขมมณี และ  นงลักษณ์ วิรัชชัย, 2546; จตุภูมิ เขตจัตุรัส, 2547) แต่ยังพบว่าขาดความต่อเนื่องในการดำเนินงานทำให้การพัฒนางานวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนขาดความต่อเนื่อง จึงทำให้กระบวนการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนของครูยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น แนวทางหนึ่งที่เป็นทางเลือกในการพัฒนาการทำวิจัยฏิบัติการในชั้นเรียนของครูให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือ การสร้างเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน (Classroom Action Research Network) เพื่อพัฒนาการทำวิจัยของครู แต่ยังไม่ปรากฏว่าโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนที่มีความชัดเจนในการปฏิบัติและเหมาะสำหรับประเทศไทย จึงเป็นประเด็นที่ผู้วิจัยสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการทั้งของประเทศไทยและของต่างประเทศว่ามีลักษณะของการสร้างเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการอย่างไร และจากแนวทางการดำเนินงานของเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนที่มีความหลากหลายนั้น  แนวทางการดำเนินงานในลักษณะใดและรูปแบบใดที่สามารถใช้ได้ดีและเหมาะสมสำหรับประเทศไทย จากปัญหาและความสำคัญดังกล่าวทั้งหมด ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาการพัฒนาโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนสำหรับประเทศไทย       

วัตถุประสงค์การวิจัย

                1.  เพื่อพัฒนาโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนสำหรับประเทศไทย

                2.  เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมของโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน

ประเภทของการวิจัย

                        การวิจัยในครั้งนี้ใช้วิธีวิทยาการวิจัยแบบผสมผสาน คือ การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research)

วิธีดำเนินการวิจัย   

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนสำหรับประเทศไทย และตรวจสอบความเหมาะสมของโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน ศึกษาโดยใช้วิธีวิทยาการวิจัยแบบผสมผสาน คือ การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ประกอบด้วย  การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและตัวอย่างเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการของต่างประเทศ (Documentary Research) การสัมภาษณ์แบบเป็นทางการ (Formal Interview) แบบไม่เป็นทางการ (Informal Interview) และแบบเจาะลึก (In-depth Interview)  การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การสำรวจความคิดเห็น (Survey) และการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) การวิเคราะห์ข้อมูล 1) การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ได้แก่ การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)  และการสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (Analytic Induction) และ 2) การวิเคราะห์เชิงปริมาณ ได้แก่  วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานด้วยสถิติบรรยาย (Descriptive Statistics) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (one – way ANOVA) โดยใช้โปรแกรม SPSS for Window

ผู้วิจัยได้แบ่งช่วงของการวิจัยเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1  การพัฒนาโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน  ได้แบ่งการศึกษาเป็น 4 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 การศึกษาเอกสาร  งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และตัวอย่างเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการของต่างประเทศผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต ขั้นที่ 2 การสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน ได้แก่ ครูนักวิจัย ผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิจัย และอาจารย์มหาวิทยาลัย  ขั้นที่ 3 การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ จากการจัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง เครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน  และ ขั้นที่ 4 การสำรวจความคิดเห็นของครูนักวิจัยเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน

ระยะที่ 2 การตรวจสอบความเหมาะสมของโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น  2 ขั้น  ได้แก่ ขั้นที่ 1 การสนทนากลุ่มของผู้อำนวยการสถานศึกษา ครูนักวิจัย และศึกษานิเทศก์ และ ขั้นที่ 2 การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ

ผลการวิจัยพบว่า

ตอนที่ 1 การพัฒนาโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน

โมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนที่พัฒนาขึ้น  ประกอบด้วยรูปแบบย่อย 3 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่ 1 รูปแบบเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในโรงเรียน

รูปแบบที่ 2 รูปแบบเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในกลุ่มโรงเรียน

รูปแบบที่ 3 รูปแบบเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในเขตพื้นที่การศึกษา

โมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน มีองค์ประกอบหลัก 7 องค์ประกอบ ได้แก่  วัตถุประสงค์ของเครือข่าย  โครงสร้างของเครือข่าย   องค์ประกอบของเครือข่าย   บทบาทและหน้าที่ของสมาชิกของเครือข่าย  แผนการดำเนินงานของเครือข่าย  กิจกรรมของเครือข่ายและผลลัพธ์ของเครือข่าย โดยแสดงโครงสร้างการประสานความร่วมมือและรายละเอียดของโมเดลวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนทั้ง 3 รูปแบบย่อย ดังต่อไปนี้

รูปแบบที่ 1 รูปแบบเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในโรงเรียน

รูปแบบเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในโรงเรียน คือ รูปแบบเครือข่ายวิจัยที่เกิดจากการประสานความร่วมมือกันในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน  โดยเน้นการดำเนินงานของเครือข่ายภายในสถานศึกษา  แกนนำของเครือข่าย คือ       ตัวบุคคลที่มีความสามารถในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน หรือเป็นผู้ที่มีความตั้งใจในการทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียน  และมีการประสานงานกับบุคลากรภายนอกสถานศึกษา ได้แก่ นักวิจัยและศึกษานิเทศก์  ทั้งนี้เพื่อให้พัฒนาให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนกับบุคลากรภายนอกสถานศึกษา โดยมีโครงสร้างการประสานความร่วมมือของรูปแบบเครือข่าย ดังแผนภาพที่ 1

 

แผนภาพที่  1 โครงสร้างการประสานความร่วมมือของรูปแบบเครือข่ายภายในโรงเรียน

รูปแบบที่ 2 รูปแบบเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในกลุ่มโรงเรียน

รูปแบบเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในกลุ่มโรงเรียน คือ รูปแบบเครือข่ายวิจัยที่เกิดจากการประสานความร่วมมือกันในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน  โดยเน้นการดำเนินงานของเครือข่ายภายในกลุ่มโรงเรียน  แกนนำของเครือข่าย คือ โรงเรียนเครือข่ายที่มีความสามารถในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน หรือเป็นโรงเรียนเรียนข่ายที่มีความตั้งใจในการทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนและมีการประสานงานกับบุคลากรภายนอกสถานศึกษา ได้แก่ นักวิจัย  ศึกษานิเทศก์และอาจารย์มหาวิทยาลัย  ทั้งนี้เพื่อให้พัฒนาให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนกับบุคลากรภายนอกกลุ่มโรงเรียน โดยมีโครงสร้างการประสานความร่วมมือของรูปแบบเครือข่าย  ดังแผนภาพที่ 2

 

                  แผนภาพที่  2 โครงสร้างการประสานความร่วมมือของรูปแบบเครือข่ายภายในกลุ่มโรงเรียน

 รูปแบบที่ 3 รูปแบบเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในเขตพื้นที่การศึกษา

รูปแบบเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในเขตพื้นที่การศึกษา คือ รูปแบบเครือข่ายวิจัยที่เกิดจากการประสานความร่วมมือกันในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน  โดยเน้นการดำเนินงานของเครือข่ายภายในเขตพื้นที่การศึกษา  แกนนำของเครือข่าย คือ กลุ่มโรงเรียนเครือข่ายที่มีสมาชิกภายในกลุ่มโรงเรียนมีความสามารถในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนที่มีประสิทธิภาพ และเป็นกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายที่มีการบริหารงานของเครือข่ายอย่างต่อเนื่องโดยเน้นการทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียน  และมีการประสานงานกับบุคลากรภายนอกเขตพื้นที่การศึกษา ได้แก่ นักวิจัยและอาจารย์มหาวิทยาลัย  ทั้งนี้เพื่อให้พัฒนาให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนกับบุคลากรภายนอกเขตพื้นที่การศึกษา โดยมีโครงสร้างการประสานความร่วมมือของรูปแบบเครือข่าย ดังแผนภาพที่ 3

   

แผนภาพที่  3 โครงสร้างการประสานความร่วมมือของรูปแบบเครือข่ายภายในเขตพื้นที่การศึกษา

รูปแบบที่ 3 รูปแบบเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในเขตพื้นที่การศึกษา

             โมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนมีความเหมาะสมในการพัฒนาให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกภายในเครือข่าย  การพัฒนาประสิทธิภาพการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน และการพัฒนาคุณภาพของงานวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน ดังนี้

            2.1 โมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนมีความเหมาะสมในการพัฒนาให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกภายในเครือข่าย โดยองค์ประกอบที่เป็นตัวกำหนดทิศทางในการดำเนินงานของเครือข่าย คือ วัตถุประสงค์ของเครือข่ายที่ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าเป็นเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำวิจัยระหว่างสมาชิกในเครือข่าย  และจากโครงสร้างการประสานความร่วมมือของเครือข่ายที่มีการประสานความร่วมมือกันทั้งแบบช่วงชั้นและแบบกลุ่มสาระการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ  และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคคลหรือหน่วยงานจากภายนอกเครือข่าย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาการดำเนินงานของเครือข่ายให้ดำเนินไปตามเป้าหมายที่กำหนด มีความต่อเนื่องและเป็นเครือข่ายที่ยั่งยืน

                 2.2 โมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนมีความเหมาะสมในการพัฒนาประสิทธิภาพการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน กล่าวคือ สมาชิกของเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกัน           มีความรู้แตกต่างกัน มีความชำนาญและเชี่ยวชาญแตกต่างกัน เมื่อทุกกลุ่มต่างมีเป้าหมายเดียวกัน ก็สามารถทำให้เกิดการรวมตัวกันและช่วยเหลือกันในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน โดยมีนักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัยและศึกษานิเทศก์ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในด้านทำวิจัยสามารถเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูนักวิจัยและผู้อำนวยการสถานศึกษาในโรงเรียน  ทำให้เกิดการร่วมมือกันในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน  ซึ่งส่งผลให้การทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำวิจัยคนเดียว

            2.3 โมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนมีความเหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพของงานวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน กล่าวคือ ดังจะเห็นได้จากองค์ประกอบของเครือข่ายที่มีการกำหนดวัตถุประสงค์ของเครือข่าย และผลลัพธ์ของเครือข่ายไว้อย่างชัดเจน นั่นหมายความว่า การก่อตัวของเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนนั้น  จำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์เป็นสิ่งนำทางและมีผลลัพธ์ของเครือข่ายเป็นเป้าหมายของการดำเนินงานของเครือข่าย  โดยเป้าหมายสูงสุด คือ คุณภาพของงานวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนได้จริง และสมาชิกทุกคนในเครือข่ายได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง เช่น การทำงานของครูในรูปแบบเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาวิชาชีพ 

ข้อเสนอแนะของการนำไปใช้

            1.  จากผลการวิจัยในครั้งนี้ ได้พัฒนาโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนที่ประกอบด้วย 3 รูปแบบย่อย  โดยในการสร้างเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนนั้นควรเริ่มสร้างจากเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในโรงเรียน แล้วพัฒนาเป็นเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในกลุ่มโรงเรียน  และเมื่อมีความเข้มแข็ง จึงค่อย ๆ ขยายไปเป็นเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในเขตพื้นที่การศึกษา  โดยเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนจะเกิดขึ้นได้นั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสถานศึกษาจำเป็นต้องมีความพร้อมในการประสานความร่วมมือและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในเครือข่าย โมเดลและองค์ประกอบของเครือข่ายที่พัฒนาขึ้น คือ แนวทางในการสร้างเครือข่าย บุคคลหรือสถานศึกษาสามารถนำโมเดลที่พัฒนาขึ้นไปปรับใช้ตามความเหมาะสมของสถานศึกษานั้น ๆ ได้

                2. ในการวิจัยครั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญของการสร้างเครือข่าย คือ แกนนำของเครือข่าย ดังนั้น โมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนที่พัฒนาขึ้น  ทั้ง 3 รูปแบบ จำเป็นต้องมีแกนนำของเครือข่าย โดยแกนนำเครือข่ายภายในโรงเรียน  คือ แกนนำระดับบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนและมีความสามารถในการประสานความร่วมมือภายในกลุ่มเครือข่าย  แกนนำของเครือข่ายภายในกลุ่มโรงเรียน  คือ แกนนำระดับโรงเรียน  ซึ่งก็คือโรงเรียนเครือข่ายที่มีความเข้มแข็งและสามารถเป็นผู้นำในการดำเนินงานของเครือข่ายได้ และแกนนำของเครือข่ายภายในเขตพื้นที่การศึกษา คือ แกนนำระดับกลุ่มโรงเรียน ซึ่งจะมีบทบาทในการเป็นกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายที่มีความเข้มแข็งและสามารถพัฒนาระบบการดำเนินงานของเครือข่ายให้ยั่งยืนได้ ดังนั้น ในการสร้างเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน ควรมีแกนนำของเครือข่ายซึ่งจะมีบทบาทในการประสานความร่วมมือภายในกลุ่มเครือข่าย

ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป

                1. การวิจัยครั้งนี้ได้พัฒนาโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน โดยโมเดลที่พัฒนาขึ้นมีความเหมาะสมในการพัฒนาให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน  พัฒนาประสิทธิภาพในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนและพัฒนาคุณภาพของงานวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน  ควรมีการนำโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนไปทดลองใช้ด้วยการสร้างเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนที่เริ่มจากเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในโรงเรียน ศึกษาผลการดำเนินงาน ติดตามและประเมินผล แล้วพัฒนาไปสู่เครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในกลุ่มโรงเรียนและเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในเขตพื้นที่การศึกษาตามลำดับ
                2. การวิจัยครั้งนี้ได้พัฒนาโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน  ได้เริ่มพัฒนาจากรูปแบบเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในโรงเรียน  ไปเป็นรูปแบบเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในกลุ่มโรงเรียน และสิ้นสุดที่รูปแบบเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนภายในเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนที่พัฒนาขึ้นยังไม่ครอบคลุมเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนทั้งหมดที่เป็นไปได้ในบริบทของประเทศไทย  ควรมีการศึกษาและพัฒนาโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเพิ่มเติม เพื่อให้มีความครอบคลุมและความหลากหลายของโมเดลที่สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมสำหรับสถานศึกษา องค์กรทางการศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่อไป

การนำผลการวิจัยไปใช้

                ผู้วิจัยได้นำโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนที่พัฒนาขึ้นไปทดลองใช้ในกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายที่มีความสนใจโดยมีการนำโมเดลที่พัฒนาขึ้นไปประยุกต์ตามบริบทและความต้องการของสถานศึกษานั้น ๆ ดังแสดงตัวอย่างของกลุ่มทดลองใช้ ดังนี้

                โรงเรียน ก  ได้นำโมเดลเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนไปใช้เพื่อศึกษาและพัฒนาร่วมกับแนวทางการพัฒนาครูโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะการทำวิจัยของครูและพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

           

หมายเลขบันทึก: 289555เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2009 01:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ยังงงอยู่เลย มีแบบฉบับชาวบ้านไหมครับ
ถ้ามีช่วยบอกที
[email protected]

...เป็นอีกคนที่กำลังจะทำวิจัยในชั้นเรียน....

โรงเรียนอุตรดิตถ์เข้ามาเยี่ยมชมวิจัยในชั้นเรียนด้วยครับคุณลำพอง

ถือว่าฝีมือครับสำหรับผลงานวิจัย

ถ้าสนใจเกี่ยวกับการประเมินโครงการก็เชิญที่บล็อกโรงเรียนอุตรดิตถ์นะครับ

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับผลงานวิชาการกับทุกๆท่าน

11-12 ธค. 52 งานร้อยปีโรงเรียนอุตรดิตถ์

บทความเกี่ยวกับเครือข่ายวิจัยที่นำเสนอไว้นี้เป็นเพียงโมเดลเท่านั้น

ในส่วนของกระบวนการต่าง ๆ นั้น ไม่ได้นำเสนอไว้ หากสนใจ ทางเครือข่ายมีข้อมูลเพิ่มเติมให้ค่ะ

ลำพอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท