ชีวิตที่พอเพียง : ๘๑๘a. ไปเปลี่ยนใจตัวเอง จากบริการสุขภาพปฐมภูมิ สู่ระบบสุขภาพชุมชน (๔) โรงพยาบาลอุบลรัตน์


ตอนที่ ๑ 

ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๓

          โรงพยาบาลอุบลรัตน์ ถือเป็นโรงพยาบาลที่เล็กที่สุดใน ๓ รพ. ที่เราไปเยี่ยมคราวนี้    แต่กลับมีพื้นที่ปฏิบัติการกว้างขวางที่สุด คือทั่วภาคอีสาน   หรืออาจกล่าวได้ว่า ทั่วประเทศไทย   เพราะที่นี่คือฐานการทำงานเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสานและภาคี   ที่ขับเคลื่อนขบวนการเศรษฐกิจพอเพียง / เกษตรพอเพียง / เกษตรยั่งยืน/ เกษตรผสมผสาน มานาน ๒๐ ปี   ทำให้ชื่อเสียงของผู้อำนวยการ คือ นพ. อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร  และภรรยา คือ พญ. ทานทิพย์ ขจรขจายไปทั่วประเทศไทย   ดังตัวอย่าง , , , ,   จะเห็นว่า คุณหมอทั้งสอง เน้นสร้าง “สุขภาวะที่ดีด้วยวิถีชีวิตพอพียง”    โดยเรียนแนวทางนี้มาจากปราชญ์ชาวบ้าน เช่นพ่อคำเดื่อง ภาษี   พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย   


          ผมถามหมออภิสิทธิ์ว่า ปราชญ์ชาวบ้านรุ่นแรกทั้ง ๑๒ คนนั้น เหลืออยู่กี่คน    ได้รับคำตอบว่าเสียชีวิตไป ๒ และครูบาสุทธินันท์ไม่ค่อยได้มาร่วมเพราะมีธุระยุ่งอยู่ในอีกวงหนึ่ง    แต่ก็ยังร่วมมือกันดี   และมีปราชญ์แถว ๒ ที่สามารถเป็นวิทยากรได้เก่ง อย่างแม่นิดที่เราไปเยี่ยมเช้าวันที่ ๑๕ ส.ค.   และยังมีอีกประมาณ ๔๐๐ คนที่เป็นที่ดูงานได้ แต่พูดอธิบายไม่เก่ง


          จะเห็นว่า รพ. อุบลรัตน์ ใช้การทำมาหากิน (สัมมาชีพ) เป็นตัวเดินเรื่องไปสู่สุขภาวะของชุมชน   ใช้เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน และการฝึกอบรม วปอ. ภาคประชาชน ในการเปลี่ยนใจคน ให้หันกลับมายึดถือความพอเพียงหรือเศรษฐกิจพอเพียง   ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของ “เศรษฐกิจตาโต” ที่คุณหมอภรรยาสามีคู่นี้เอ่ยถึง   เอกสาร วปอ. ภาคประชาชนข้างต้นนั้น ถอดประสบการณ์มาจากมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร ซึ่งมาเรียนรู้จาก รพ. อุบลรัตน์และเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสานอีกทีหนึ้ง   แต่เรื่องราวของ รพ. อุบลรัตน์ค้นจากอินเทอร์เน็ตยาก    เพราะที่นี่นิยมทำเป็นจุลสารเป็นเล่ม    ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์การสื่อสารสำคัญของ รพ. อุบลรัตน์    ใน ๓ รพ. ที่เราไปเยี่ยมคราวนี้   แห่งที่แจกเอกสารเป็นชิ้นเป็นอันให้ติดกลับมาอ่านต่อที่บ้านคือ รพ. อุบลรัตน์    โดยเราได้รับแจกเอกสาร ๔ ชุด ได้แก่

๑.   จดหมายข่าว...ก้าวทัน : เพื่อความสุขทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางจิตวิญญาณของคนในอำเภออุบลรัตน์  รวม ๖ เล่ม
๒.   วารสาร ค้ำคูณ : วารสารเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตผู้บริโภค
๓.   เพื่อแผ่นดินไทยของเรา : รายงานประจำปี ๒๕๕๑ โครงการพัฒนาชุมชนภาคอีสาน เพื่อการเสริมสร้างสุขภาพอย่างยั่งยืน
๔.   VCD ชุด ๑ ไร่ ไม่ยาก ไม่จน ของ สสส.   และ DVD ละครพิเศษเฉลิมพระชนม์พรรษา ๕ ธันวาคม เรื่อง ต้นไม้ของพ่อ กับหมอชนบท

          งานด้านสุขภาพโดยตรงนั้น    รพ. อุบลรัตน์ ก็ทำเชิงรุกออกไปในชุมชนเหมือนกับ อีก ๒ โรงพยาบาล   และเน้นสร้างคนไปทำงานในชุมชน คือพยาบาลชุมชน ตามแนวทางของ รพ. น้ำพอง 


          ผมสรุปกับตัวเองว่า โรงพยาบาลทั้ง ๓ นี้ ทำงานเพื่อสร้างสุขภาวะของชุมชนจากหลายมุม หลายมิติ   โดยทำงานร่วมกับภาคีที่หลากหลายมาก   มีการสร้างสรรค์วิธีการอยู่ตลอดเวลา    และพบ “เพื่อนร่วมคิด ร่วมทำ” อยู่เสมอ   ทั้งเพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่    ผลบุญของการที่ ผอ. รพ. อยู่ติดพื้นที่ และทำต่อเนื่อง สร้างสรรค์ต่อเนื่อง    จะดึงดูดคนใจเดียวกันเข้ามาร่วมงานไม่ขาดสาย  


          ผอ. รพ. ทั้งสาม ทำงานสร้างสรรค์นอกระบบราชการ   ไม่ถูกระบบราชการครอบงำ  แต่ก็ผ่อนปรนเข้ากับระบบราชการได้เป็นอย่างดี   ระบบการประเมิน และ KPI ต่างๆ แม้จะทำให้อึดอัดบ้าง   ก็ไม่ยากเย็นที่จะเขียนรายงานให้เห็นว่าที่นี่ทำเกิน KPI ไปมาก

 

วิจารณ์ พานิช
๑๙ ส.ค. ๕๒

สวนผสม ปลูกพืชกินได้หลากหลายชนิด

ให้เป็นชุมชนพืชที่เอื้อเฟื้อกันเอง ของแม่นิด-พ่อเกษม

 

ต้นไม้แดงต้นนี้ อีก ๒๐ ปีจะมีมูลค่า ๑๕,๐๐๐ บาท 

แม่นิดมีต้นไม้แบบนี้ ๑๐,๐๐๐ ต้น ในพื้นที่เกือบ ๓๐ ไร่

 

ขุดบ่อ (บึง) เพื่อออมน้ำ

 

รอบบ่อนี้ ไม้ยืนต้นเริ่มโตแล้ว

 

แม่นิดกำลังเล่าชีวิตยากเข็ญก่อนจะสุขสบายเพราะทำเกษตรพอเพียง

โปรดสังเกตเครือกล้วยที่แขวนไว้ทางขวามือ สำหรับเลี้ยงปลาดุก

 

ปลาดุกกินอาหารเจ

 

 

แม่นิดพ่อเกษมมอบอาหารเที่ยงแก่

ศ. ธาดา และ นพ. สมศักดิ์

 

นพ. อภิสิทธฺ์ บรรยายสรุปให้คณะฟังที่ รพ. อุบลรัตน์

 

 

คุณวิภา หัวหน้าพยาบาลห้องผ่าตัด เล่าเรื่องการใช้เวลานอกเวลาราชการ

ไปทำหน้าที่พยาบาลชุมชนในตำบล ชาวบ้านเรียก นางฟ้า


         
         
       


 

หมายเลขบันทึก: 289393เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2009 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หากเราเริ่มต้นที่เราเอง หรือจุดเล็กๆ (Macro) นั้นจะเป็นจุดกำเนิด เริ่มที่ละนิด คิดรวมกันมากๆก็จะเกด ความเข้มแข็ง และ ยั่งยืนต่อไป จริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท