คลังความรู้ ที่ได้จากการไปเข้าร่วม Workshop ที่ จ. เชียงใหม่


การพูดคุยกันในวันนั้นนอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์แล้ว ยังทำให้ได้ทราบที่มาที่ไปว่ากว่าจะมาเป็นศูนย์ฯอย่างที่เห็นนี้ต้องผ่านร้อนผ่านหน้าวมาอย่างไรบ้าง สิ่งที่ผมคาดไม่ถึงก็คือ "แรงบันดาลใจ" ที่ได้จากการฟังเรื่องราวชีวิตของคุณพิมพ์ใจ ...

          เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปเชียงใหม่เพื่อเข้าร่วม Workshop on Knowledge Assets Development ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   ใน Workshop นี้   Mr. Geoff  Parcell หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ Learning to fly  ได้มาทำหน้าที่เป็น Facilitator ใน Workshop นี้  งานนี้จัดขึ้นโดย The Constellation for AIDS Competence และ AIDS Education Programme  โดยมี ดร. อุษา ดวงสา จากคณะศึกษาศาสตร์ มช. เป็นผู้ดำเนินการหลัก

          ช่วงเช้าเป็นการฝึกทักษะที่เรียกว่า "Appreciative Inquiry"   ซึ่งก็คือการถามเพื่อกระตุ้นให้คนบอกเล่าเรื่องดีๆ  ที่เกิดขึ้น  เป็นการเล่าความสำเร็จ ความภาคภูมิใจ  ซึ่งในนั้นจะมีเคล็ด(ลับ) ที่สำคัญซ่อนอยู่ อาจจะเรียกว่าเป็น "Tacit Knowledge"  ก็ได้   ผู้ฟังจะต้องประเด็นสำคัญของเรื่องที่ฟังให้ได้ โดย Geoff ได้แสดงวอย่างการใช้ Video สำหรับบันทึกเรื่องเล่าให้พวกเราดูด้วย ทำให้ได้สัจธรรมข้อหนึ่งว่า บางทีที่เราเล่ามาทั้งหมด 1 ชั่วโมง อาจจะมีช่วงเด็ดเพียงแค่ไม่กี่นาที ถ้าเราจับภาพช่วงนี้ได้ แล้วเอาไปเป็นส่วนหนึ่งของคลังความรู้ ก็จะมีพลังค่อนข้างมาก

          ตอนช่วงบ่ายพวกเราได้เดินทางไปที่ศูนย์สุขภาพชุมชน (Community  Health Center)  ได้พูดคุยกับคุณพิมพ์ใจ  อินทะมูล  และทีมงานของศูนย์ฯ  การพูดคุยกันในวันนั้นนอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์แล้ว ยังทำให้ได้ทราบที่มาที่ไปว่ากว่าจะมาเป็นศูนย์ฯอย่างที่เห็นนี้ต้องผ่านร้อนผ่านหน้าวมาอย่างไรบ้าง สิ่งที่ผมคาดไม่ถึงก็คือ "แรงบันดาลใจ" ที่ได้จากการฟังเรื่องราวชีวิตของคุณพิมพ์ใจ

          ผมได้ลอง "ถอดความรู้" ที่ได้ในวันนั้น ออกมาเป็นประเด็นที่สำคัญ 10 ประเด็น ดังต่อไปนี้:

    1. การเปิดพื้นที่ (เวที) ให้คนได้ร่วมคิด ร่วมทำ จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันดีขึ้น
    2. กลุ่มส่วนใหญ่ที่ไปไม่รอดเพราะคนในกลุ่มไม่รู้สึกเป็นเจ้าของ มองว่าตัวเองเป็นคนนอก
    3. ระบบที่ดีต้องโปร่งใส เมื่อโปร่งใสก็ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบ  เพราะทุกคนมีส่วนรู้เห็นเหมือนๆ กัน ไม่มีใครได้อภิสิทธิ์
    4. การเรียนรู้จากกันและกัน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก  ที่สำคัญต้องเป็นการเรียนจาก "ของจริง" ไม่ใช่จาก การคิดเอาเอง
    5. คนจนอาจจะมีความสุขมากกว่าคนรวย.... เงินนั้นสำคัญก็จริง แต่ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด!
    6. บางคนอาจจะหวงวิชา  แต่ถ้าให้เขาเข้ามาจนรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ในที่สุดเขาก็จะ "แบ่งปัน" เอง
    7. บางคนไม่ใฝ่เรียนรู้ แต่พอมาเข้ากลุ่ม ก็จะถูกกระตุ้น "ต่อมความอยาก" จนกลายเป็น "บุคคลเรียนรู้" ไปในที่สุด (โดยไม่รู้ตัว)
    8. ข้อดีของ "จุดวิกฤต" ก็คือ มักจะทำให้เราเห็น "คุณค่า" เห็น "ความหมาย" ของชีวิต
    9. การพูดคุยกลุ่มเล็กๆ (ไม่เกิน 10 คน) มักจะได้ผลดีกว่าในกลุ่มใหญ่
  10. เนื้อหาที่ได้จากเรื่องเล่า อาจจะสำคัญน้อยกว่า กิริยาท่าทางและน้ำเสียงที่แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้เล่า เพราะส่วนนี้เป็นส่วนที่สามารถกระตุ้นให้เกิด "แรงบันดาลใจ" ในตัวผู้ฟังได้

          ท่านอาจจะเรียกสิบประเด็นนี้ว่าเป็นการ "ถอดความรู้" หรือว่าเป็น "ข้อสรุป/คำแนะนำ"  หรือเป็น "คำพูดที่กินใจ" ก็ได้  ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนที่สำคัญของคลังความรู้  ที่ผมได้จากการไปเชียงใหม่ในครั้งนี้ครับ

      คุณพิมพ์ใจ อินทะมูล (เสื้อสีดำ) ดร. อุษา ดวงสา (เสื้อสีม่วง) Mr. Geoff Parcell (เสื้อสีฟ้า)

หมายเลขบันทึก: 28859เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2006 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียนท่านอาจารย์ประพนธ์

  • ยังไม่เห็นมีใครเข้ามาลปรร.เลยครับ
  • ความรู้ที่ถอดได้จากศูนย์สุขภาพชุมชนนี้ดีนะครับ เริ่มมาจากแรงบันดาลใจ
  • ผมก็ลังทำอาคารบรรจุน้ำผึ้งให้ "กลุ่มผึ้ง" อยู่ครับ
  • ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้มาก
  • ผมประทับใจคุณ Parcell จึงขอยืมเรื่องและภาพของท่านอาจารย์ประพนธ์ไปลิงค์หน่อยนะครับ
  • ตามมาแก้ครับ บรรทัดที่ 3 เขียนผิดครับ "ผมกำลัง"
อาจารย์สรุปได้ดีเหมาะสำหรับนำไปใช้ค่ะ    ติดตามอ่านอยู่เสมอค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท