การบรรยายสรุป


ในการจัดแถลงข่าว ผู้บริหารของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันอาจจะต้องพูดบรรยายสรุปในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแถลงข่าว ดังนั้น นักประชาสัมพันธ์จึงมีหน้าที่ที่จะเขียนร่างบทบรรยายสรุปสำหรับผู้บริหารด้วย

การบรรยายสรุป ภาษาอังกฤษใช้คำว่า brief หรือ briefing เป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสาร ในลักษณะที่เป็นการชี้แจงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีความยาวหรือละเอียดมากและมีความสลับซับซ้อนให้สั้นลงและกระชับขึ้น แต่ยังคงครอบคลุมและมีความสมบูรณ์ของเนื้อหาสาระ

วิรัช ลภิรัตนกุล (2543, หน้า 208) กล่าวว่า การบรรยายสรุปเป็นการอธิบายให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้รับสาร ก่อนที่จะมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น ก่อนที่จะมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นนั้นหมายความว่า ก่อนที่จะมีกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไป นั่นเอง เช่น ในการเยี่ยมชมโรงงานแห่งหนึ่งของคณะสื่อมวลชน ก็จะมีการบรรยายสรุปให้แก่คณะสื่อมวลชนผู้เข้าเยี่ยมชม ก่อนที่จะนำชมโรงงาน เป็นต้น

 ลักษณา สตะเวทิน (2536, หน้า 261) กล่าวว่า การบรรยายสรุป คือ กระบวนการในการตระเตรียมเรื่องราวที่ยืดยาวและมีความสลับซับซ้อน โดยการจัดเรียบเรียงข้อเท็จจริงให้ดีที่สุด สั้นและกระชับ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและให้ประสิทธิภาพในการสื่อสาร

 

ประเภทของการบรรยายสรุป

 

                การบรรยายสรุปเริ่มใช้กันในวงการทหาร (วิรัช ลภิรัตนกุล, 2543, หน้า 208) การบรรยายสรุปทางทหาร มีอยู่ 5 ประเภท คือ

 

1. การบรรยายสรุปเพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร (Information Brief)

 

     คือ การบรรยายสรุปที่มีความมุ่งหมายเพื่อเสนอข้อเท็จจริงให้แก่ผู้อ่านและผู้ฟังเนื้เพื่อให้ผู้รับสารทราบสถานการณ์ปัจจุบันหรือข้อมูลข่าวสารจากผู้บรรยายสรุป การบรรยายสรุปประเภทนี้จึงไม่ต้องการการตัดสินใจใด ๆ แต่จะเป็นการแถลงและรายงานให้ทราบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การบรรยายสรุปแบบนี้จะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการบรรยายสรุปแบบอื่น ๆ

 

2. การบรรยายสรุปเพื่อการตัดสินใจ (Decision Brief)

 

     เป็นการบรรยายสรุป เพื่อหามติหรือข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่งจากการตัดสินใจหลังจบการบรรยายสรุป การบรรยายสรุปประเภทนี้จึงต้องเริ่มจากการบรรยายสรุปเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารในแบบแรกขึ้นมาก่อน ผู้รับสารจึงจะมีข้อมูลเพียงพอที่จะนำไปสู่การตัดสินใจ การบรรยายสรุปแบบนี้จะต้องใช้การบรรยายสรุปที่ค่อนข้างจะละเอียดถี่ถ้วน เพราะการบรรยายสรุปแบบนี้จะมีลักษณะของการแสวงหาคำตอบจากปัญหาที่ยกขึ้นมา เพื่อหาข้อตกลงใจ หรือหาหนทางปฏิบัติที่น่าจะเป็นไปได้ ดังนั้นในการบรรยายสรุปประเภทนี้ ในเบื้องแรกจึงต้องชี้แจงให้ผู้รับสารทราบอย่างชัดเจนก่อนว่าต้องการค้นหาข้อตกลงใจหลังจากการบรรยายสรุปจบลง เพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังสารที่บรรยายสรุปได้ใช้ความรอบคอบระมัดระวังในการพิจารณาสารจากการบรรยายสรุป จะได้นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจและแสดงความคิดเห็นได้อย่างถูกต้อง      

 

3. การบรรยายสรุปเพื่อการดำเนินงานของคณะทำงาน (Staff Brief)

 

     เป็นการบรรยายสรุปที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในวงการทหาร คือ จะเป็นการบรรยายสรุปเพื่อความรวดเร็วในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การบรรยายสรุปแบบนี้มีลักษณะคล้ายกับ information brief และยังคล้ายคลึงกับ dicision brief เพื่อจะนำไปเสนอผู้บังคับบัญชาตัดสินใจ การบรรยายสรุปแบบนี้จะต้องใช้ในหน่วยงาน องค์กร และสถาบันเกือบทุกระดับ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับทราบข่าวสารและสถานการณ์ปัจจุบันร่วมกัน ผลที่ต้องการจากการบรรยายสรุปแบบนี้ คือ การประสานงานและเพื่อร่วมกันปฏิบัติงานให้มีเอกภาพในการบังคับบัญชาเป็นส่วนรวม

 

4. การบรรยายสรุปเพื่อให้นโยบาย (Mission Brief)

 

เป็นการบรรยายสรุปที่เกิดขึ้น เพื่อผสมผสานความมุ่งหมายต่าง ๆ ที่จะต้องปฏิบัติ

ร่วมกัน เช่น การบรรยายสรุปงานก่อนเริ่มดำเนินการ การบรรยายสรุปเพื่อปฏิบัติภารกิจในระดับต่าง ๆ การบรรยายสรุปแบบนี้มักจะเป็นการบรรยายสรุปสุดท้าย ก่อนการลงมือปฏิบัติงานใด ๆ ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าผู้มีส่วนร่วมในภารกิจครั้งนั้น มีความเข้าใจตรงกันแล้ว การ บรรยายสรุปแบบนี้ใกล้เคียงกับ Information Brief

 

 5. การบรรยายสรุปในการประชุม (Meeting Brief)

 

     การบรรยายสรุปในการประชุม หรือ Meeting Brief  ก็คือ การบรรยายสรุปเพื่อการ

ดำเนินงานของคณะทำงาน (staff brief) และการบรรยายสรุปเพื่อให้นโยบาย (mission brief) รวมกันนั่นเอง

 

ประโยชน์ของการบรรยายสรุป

 

การบรรยายสรุป เป็นการทำเรื่องที่ยากให้เป็นเรื่องง่ายในเวลาที่จำกัด ทำให้ผู้บริหารไม่ต้องเสียเวลามาอ่านเอกสารที่มีความหนามาก ๆ ซึ่งท่านจะต้องนำไปพิจารณาต่อ จึงเป็นการประหยัดเวลา และเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์หน่วยงาน องค์กร และสถาบัน อย่างไรก็ตามการที่จะได้ประโยชน์จากการบรรยายสรุปสูงสุด ผู้เขียนบทบรรยายสรุปจะต้องมีความรู้ในเรื่องที่เขียน และมีทักษะในการเขียนที่ดี

นอกจากนี้ การบรรยายสรุปยังมีประโยชน์ในการแจ้งข่าวสาร การหาข้อตกลงใจ
การพิจารณาตรวจสอบแผนและสถานการณ์ การให้ข้อมูลผู้มาเยี่ยมชมหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน การให้ข้อมูลผู้บังคับบัญชา การให้ข้อมูลประธานในที่ประชุม การบรรยายสรุปเพื่อของบประมาณเพิ่มเติม การบรรยายสรุปเพื่อโยงไปสู่การเจรจาต่อรองและโยงไปสู่การขอความเห็นชอบ

 การเขียนบรรยายสรุปที่ใช้ในงานประชาสัมพันธ์ อาจจะนำไปใช้ในการจัดทำเอกสารที่ให้ความรู้เกี่ยวกับหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงภารกิจของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันนั้น ๆ อันก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงาน องค์กร และสถาบันนั้น ๆ กับประชาชน หรือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในปัจจุบันการประชาสัมพันธ์โดยวิธีนี้เป็นที่นิยมกันมาก ในการให้ความรู้โดยสังเขปแก่กลุ่มต่าง ๆ เช่น ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญขา คณะที่มาตรวจงาน และคณะบุคคลที่มาเยี่ยมชมกิจการ เป็นต้น

 

ข้อแตกต่างของการบรรยายสรุปกับการบรรยายอื่น ๆ

 

การบรรยายสรุปแตกต่างจากการนำเสนอรายงาน และยังเป็นคนละวิธีการกับการบรรยายหรืออภิปราย  ทั้งยังมีลักษณะตรงกันข้ามกับการพูดในที่ชุมชน  และแตกต่างจากการโฆษณา  ในลักษณะที่สำคัญหลายประการ ดังนี้

 

1.      ระยะเวลา   

 

    ผู้บรรยายสรุปไม่มีเวลามากนัก  ทั้งในด้านเวลาตามกำหนด ซึ่งมักจะมีกำหนดการแน่นอน และในด้านช่วงเวลาที่ผู้ฟังจะให้ความสนใจ  ทั้งนี้เนื่องจากผู้รับฟังการบรรยายสรุปมักจะเป็นการจัดสรรเวลามาฟังการบรรยายสรุป โดยมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่กำลังทำ ทั้งก่อนที่จะเข้าฟังการบรรยายสรุปและหลังจากการฟังบรรยายสรุป  ขีดจำกัดนี้ทำให้ผู้บรรยายสรุปจำเป็นต้องเตรียมตัวชิงโอกาสทองของช่วงเวลาที่เกื้อกูลที่สุด  เพื่อให้การบรรยายสรุปประสบความสำเร็จที่สุด

 

2. ผู้ฟัง   

 

 ผู้ฟังแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มที่เข้ารับฟังการบรรยายสรุปจะมีความคาดหวังต่างกัน ทั้งโดยวัตถุประสงค์ของการฟังโดยส่วนรวมและวัตถุประสงค์ส่วนตัวของการฟัง  แม้ว่ากลุ่มผู้ฟังการบรรยายสรุปจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากกว่าผู้ฟังการพูดหรือการบรรยายทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าการบรรยายสรุปในครั้งนั้นเป็นการบรรยายสรุปให้แก่ผู้ฟังที่มาจากภายนอกและจากหลาย ๆ หน่วยงานพร้อม ๆ กัน ยิ่งผู้ฟังมาจากกลุ่มที่แตกต่างกันเท่าไร ผู้บรรยายสรุปก็ยิ่งจะต้องเตรียมการมากขึ้นเท่านั้น โดยคำนึงตามลักษณะของผู้ฟังในแต่ละกลุ่ม  รวมทั้งรูปแบบต่าง ๆ ที่ใช้ในการบรรยายสรุปจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกลุ่มของผู้ฟังด้วยเช่นกัน

 

3. เนื้อเรื่อง   

   

     ในการบรรยายสรุปไม่เปิดโอกาสให้ผู้พูดหรือผู้บรรยายสรุปใช้มุขตลกได้มากนัก  เนื่องจากเนื้อเรื่องมีมากแต่มีเวลาค่อนข้างจำกัด  ดังนั้นจึงต้องจัดเตรียมสารอย่างดี  โดยเรียงลำดับของประเด็นที่เด่นชัดอย่างถูกต้อง  เพื่อให้ผู้ฟังได้รับสารตามวัตถุประสงค์ที่ผู้บรรยายต้องการจะพูดให้ฟัง  กับอีกประการหนึ่งระยะเวลาที่มีอยู่เพียงสั้น ๆ  มิได้ทำให้ผู้ฟังมีอาการเบื่อบรรยากาศ  มุขตลกจึงไม่มีความจำเป็นในการบรรยายสรุปมากนัก  ประกอบกับเนื้อเรื่องที่จะต้องถ่ายทอดมีมาก  ผู้บรรยายสรุปจึงต้องเอาจริงเอาจังกับเนื้อเรื่องให้มาก

 

4. ภาษาที่ใช้   

 

  การบรรยายสรุปที่ดี  ต้องเป็นการนำเสนอที่เข้าใจง่าย  มีระบบ ระเบียบ  สั้น  และได้ความสมบูรณ์  ฉะนั้นภาษาที่ใช้ในการบรรยายสรุป  จึงไม่ต้องตีความ  หากเป็นภาษาวิชาการ  ในด้านชื่อเฉพาะ  ก็ควรจะได้ทำความกระจ่างเสียตั้งแต่ต้น  การบรรยายสรุปที่ผู้พูดพยายามแสดงความรอบรู้ในเรื่องที่บรรยายอย่างลึกซึ้ง  โดยการใช้ภาษาเทคนิคที่ผู้ฟังไม่เข้าใจ  จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ฟัง  ภาษาที่ใช้ยังจะต้องให้เหมาะสมกับผู้ฟังแต่ละกลุ่มอีกด้วย

 

5. อุปกรณ์ประกอบ  

 

 เนื่องจากระยะเวลาที่มีอยู่สำหรับการบรรยายสรุปสั้นมากจนเกินกว่าจะขยายความประเด็นต่าง ๆ  ให้ผู้ฟังเข้าใจได้  ความพยายามที่จะทำให้ประเด็นกระจ่างชัดในเวลาอันสั้นนั้นเป็นสิ่งยาก  ผู้บรรยายสรุปจึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ประกอบการบรรยายต่าง ๆ  เพื่อให้ประเด็นที่บรรยายสรุปเห็นได้ชัด  นอกจากนี้อุปกรณ์ดังกล่าวยังจะช่วยสร้างความประทับใจและบรรยากาศที่ดีในการฟังบรรยายสรุปด้วย

 

การบรรยายสรุปขั้นตอนของการจัดกิจกรรม (Press briefing) แก่สื่อมวลชน

 

การบรรยายสรุปในงานประชาสัมพันธ์ที่พบเห็นมาก คือ การบรรยายสรุปก่อนการจัดกิจกรรมเพื่อให้สื่อมวลชนมีความเข้าใจที่ดี รู้ขั้นตอนของการทำข่าวในการเข้าร่วมกิจกรรม สามารถที่จะเก็บข่าวที่เด่น ๆ ไปได้อย่างถูกต้อง เช่น การจัดงานขบวนรถบุปผชาติของหน่วยงาน จะต้องมีการซ้อมตำแหน่งการหยุดรถในขบวนแห่ การวางจุดที่จะมีการแสดง วางแผนการว่าจะเริ่มเวลาอย่างไร และเริ่มต้นที่ไหน ผ่านตรงไหนบ้าง นักประชาสัมพันธ์จะต้องแนะนำให้สื่อมวลชนทราบ เพื่อให้สื่อมวลชนรู้ว่าเขาควรจะไปตั้งกล้องรอที่ไหน เขาควรจะไปยืนจุดไหน ในเวลาใด ยิ่งมีการแนะนำดีมากเท่าใด สื่อมวลชนก็สามารถเก็บข้อมูลได้ดีเท่านั้น และจะทำงานด้วยความพอใจ ทำให้สามารถเขียนข่าวได้ตรงจุด ตรงประเด็น และจะเผยแพร่ภาพข่าวให้หน่วยงาน องค์กร และสถาบันตามที่ต้องการ

 ดังนั้นในการเชิญสื่อมวลชนมางาน ควรจะเชิญมาก่อนเวลาเล็กน้อย เพื่อจะได้มีเวลากล่าวสรุปแนะนำเรื่องราวต่าง ๆ แก่สื่อมวลชน สื่อมวลชนจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงาน องค์กร และสถาบันกับสื่อมวลชนก็ดีขึ้น เรื่องราวข่าวสารของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันจะถูกนำไปเผยแพร่มากขึ้น

                                               

วิธีการเขียนบรรยายสรุป

 

การบรรยายสรุปมีอยู่ 2 ชนิด คือ การบรรยายสรุปด้วยการเขียน (written brief) และการบรรยายสรุปด้วยวาจา (oral brief) (ลักษณา สตะเวทิน, 2536, หน้า 261-262)

การบรรยายสรุปด้วยการเขียนมักจะมาก่อนการบรรยายสรุปด้วยวาจา กล่าวคือ การบรรยายสรุปด้วยการเขียน คือ ร่างสำหรับการบรรยายสรุปด้วยวาจา หากการบรรยายสรุปด้วยการเขียนในครั้งนั้นไม่ได้นำไปใช้พูด แต่มุ่งให้ผู้รับสารอ่านเองจะต้องใช้การเรียบเรียงเป็นภาษาเขียนที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์  เนื้อหาต้องไม่ซ้ำและวกวน ซึ่งจะต่างจากการบรรยายสรุปด้วยวาจาที่ผู้พูดสามารถจะใช้ภาษาพูดที่มีลักษณะเป็นส่วนตัว และอาจพูดซ้ำไปซ้ำมาได้บ้าง

การบรรยายสรุปด้วยวาจาหรือการพูดจะใช้สำหรับบรรยายโดยผู้พูดคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ ทั้งนี้ โดยทั่วไปมักจะใช้บรรยายลักษณะงานของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันนั้น ๆ ให้กลุ่มบุคคลฟัง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบุคคลที่มาเยือน กลุ่มบุคคลที่มาดูงาน ผู้บังคับบัญชาระดับสูง คณะบุคคลสำคัญ คณะติดตามผลงาน การบรรยายสรุปด้วยการพูดอาจมีผู้พูดเพียงบุคคลเดียว หรือพูดเป็นคณะก็ได้

สิ่งสำคัญในการบรรยายสรุปด้วยการพูด คือ ต้องพูดให้กระจ่าง ชัดเจน สรุปประเด็นที่เป็นสาระสำคัญให้ชัดเจน และพูดให้เสร็จสิ้นในระยะเวลาสั้น ดังนั้น กลุ่มบุคคลที่จะต้องพูดบรรยายสรุป จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเขียนร่างข้อความดังกล่าวไว้ล่วงหน้า เพื่อนำข้อความนั้นมาศึกษาให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถ่องแท้ก่อน แล้วจึงสามารถนำไปบรรยายสรุปได้อย่างคล่องแคล่ว น่าฟัง ไม่เยิ่นเย้อ ไม่ออกนอกเรื่อง

วิธีเขียนร่างสรุปเพื่อใช้ในการบรรยาย หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า "การเขียนบรรยายสรุป" มีดังนี้ (ประดับ จันทร์สุขศรี, 2542, หน้า 284)

 

1. วิธีการเขียนบรรยายสรุปโดยทั่วไป ก่อนนำไปพูดบรรยายสรุป  

 

      ผู้พูดควรเตรียมร่างคำบรรยายสรุปไว้ ด้วยวิธีการดังนี้

       1.1 เขียนเกี่ยวกับความเป็นมาของเรื่องที่จะบรรยายอย่างสั้น ๆ ว่ามีความเป็นมาอย่างไรจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

       1.2 เขียนถึงการดำเนินการครั้งสำคัญ ๆ การเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง การพัฒนา หรือการตัดสินใจ การตกลงใจในเรื่องนั้น ๆ อย่างไรบ้าง

        1.3 เขียนข้อเสนอแนะความคิดเห็นจากข้อเท็จจริงหรือประสบการณ์ที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาไปสู่อนาคต

                                               

 2. วิธีการเขียนบรรยายสรุปสำหรับผู้บังคับบัญชา

 

กรณีนี้จะต่างจากการเขียนบรรยายสรุปโดยทั่วไปบ้าง เพราะเป็นการเขียนเพื่อพูดให้ผู้บังคับบัญชาฟังในขั้นต้น เพื่อจะได้ติชม ปรับปรุง แก้ไข เมื่อจะต้องพูดให้คณะบุคคลสำคัญที่สูงขึ้น หรือบุคคลสำคัญจากหน่วยงาน องค์กร และสถาบันอื่นหรือบุคคลจากประเทศอื่น เข้าฟังอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีนี้ผู้บรรยายจะต้องเขียน ดังนี้

                                2.1 เขียนให้รายละเอียดเกี่ยวกับ ประวัติ เรื่องราว และประสบการณ์ของผู้มาเยือน

                                2.2 เขียนคำถามไว้หลาย ๆ คำถาม เพื่อเตรียมไว้สำหรับแลกเปลี่ยน สนทนา ซักถาม และตอบข้อข้องใจจากผู้มาเยือน พร้อมทั้งตั้งคำถามเพื่อคาดเดาความรู้สึกของผู้มาเยือนจะถามไว้ด้วย และเตรียมคำตอบไว้ให้พร้อมเสร็จเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทราบและสามารถตอบข้อซักถามจากผู้มาเยือนได้

                                2.3 การบรรยายย่อ ๆ เกี่ยวกับกิจการ หรือการดำเนินงานของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันนั้น ต้องเขียนให้รายละเอียดไว้ด้วยว่า ผู้พูดซึ่งอาจเป็นผู้บังคับบัญชาอีกชั้นหนึ่งเป็นผู้พูด ผู้เขียนจะต้องเขียนไว้ด้วยว่าจะบรรยายอย่างไร มีอะไรบ้างที่จะเป็นจุดสำคัญควรบรรยายและเขียนในเรื่องข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะไว้ให้พร้อม

                                2.4 การเขียนคำบรรยายสรุปอย่างย่อ ๆ พอเหมาะแก่การนำติดตัวไปพูดในที่อื่นสำหรับตนเอง หรือผู้บังคับบัญชาจะต้องไปพูดเมื่อไปเยือนหน่วยงาน องค์กร และสถาบันอื่น วิธีเขียนข้อเขียนชนิดนี้ ควรจะต้องให้รายละเอียดเกี่ยวกับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันดังกล่าวที่จะต้องไปเยือนว่า ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันอื่นนั้นเป็นใคร หน่วยงาน องค์กร และสถาบันนั้นมีชื่อเสียงอย่างไร มีภารกิจสำคัญ ๆ อะไรบ้าง พร้อมทั้งเตรียมคำถามไว้สำหรับซักถามเขา และตอบคำถามเมื่อหน่วยงาน องค์กร และสถาบันอื่นซักถามมาเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่ขลุกขลักในการพุดคุย สนทนา แลกเปลี่ยนให้ความคิดกันและเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการเยือนอย่างแท้จริงอีกด้วย

การเขียนร่างการบรรยายสรุปก่อนการนำไปพูดนั้น จะต้องศึกษาทั้งเรื่องราวของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันของตนที่เตรียมต้อนรับสำหรับผู้มาเยือน ในเรื่องความเป็นมา การดำเนินงาน ความก้าวหน้าของหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน การแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไว้เป็นข้อเขียนล่วงหน้าเพื่อไปพูด แต่ถ้าจะต้องไปเยือนหน่วยงาน องค์กร และสถาบันอื่น ผู้เขียนบรรยายสรุปก็ควรจะต้องเขียนเรื่องราวสำคัญ ๆ ที่น่าสนใจของหน่วยงาน องค์กร และสถาบันที่จะไปเยือนนั้นไว้ด้วย พร้อมทั้งเตรียมเขียนคำถาม คำตอบ ให้มากพอ และคาดเดาคำถามจากหน่วยงาน องค์กร และสถาบันอื่นที่จะซักถามไว้ด้วย จึงจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในการบรรยายสรุป

คำสำคัญ (Tags): #บรรยายสรุป
หมายเลขบันทึก: 288239เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2009 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท