บันทึกจากพุ่มมะลิ 3 : พัฒนาขึ้นหรือพัฒนาลงกันแน่ ?


ทุกเทคโนโลยีมีทั้งระบบปิดและระบบเปิด การเลือกใช้ระบบที่เหมาะสมผนวกกับการไม่ยอมหยุดนิ่งของคน ช่วยให้เราสามารถพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ของเราเองได้ ลดการพึ่งพาน้ำยาต่างประเทศ หรือพัฒนาการทดสอบขึ้นเองบน platform ของเทคโนโลยีใหม่ นั่นน่าจะเป็นทางออกที่ยั่งยืน
     ย้อนหลังกลับไปกว่าสิบปีที่ผ่านมา ผมมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เรียกกันว่าการพัฒนาของห้องปฏิบัติการในหลายๆที่ วิถีที่พอจะสรุปได้ส่วนหนึ่งก็คือ ความพยายามเอาเครื่องมือเครื่องไม้ที่ทันสมัยเข้ามาใช้ทดแทนการทดสอบเดิมที่เราบอกว่าล้าสมัยไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหลักการ วิธีการ หรืออะไรก็ตาม ความเจริญในลักษณะนี้ ผู้นำหลายท่านบอกว่าช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการรายงานผลการทดสอบ ช่วยเพิ่มความไว ความจำเพาะ ความน่าเชื่อถือ และอีกหลายๆความที่พอจะสรรหามาสนับสนุน เพื่อให้เทคโนโลยีเข้ามาทำงานแทนกำลังคน และตบท้ายด้วยคำพูดหรูว่า จะได้ให้คนได้มีเวลาไปพัฒนางานอื่นต่อไป
     กลับอีกแนวทางหนึ่ง คือการพัฒนางานจากการยอมรับข้อจำกัดทางเทคโนโลยี เรามีดีที่สุดของเราได้เท่านี้ แล้วใช้กำลังความคิดและความรู้พื้นฐานที่ร่ำเรียนมาพัฒนาวิธีการทดสอบที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ไม่พึ่งพาเทคโนโลยี ได้ผลเป็นการทดสอบใหม่ แม้ไม่เลิศหรูที่ต้องทำในเครื่องอัตโนมัติ แต่ก็ได้ผลการทดสอบที่ดีขึ้น มีความไวสูงขึ้น ความจำเพาะสูงขึ้น เพียงแต่ต้องใช้กำลังคนในการทำงาน ซึ่งเป็นการใช้กำลังคนให้คุ้มค่า เน้นให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่พยายามพึ่งพาเทคโนโลยี
     แล้วเราก็มาถึงทางสองแพร่ง ....
     .....ทางแรก เขาว่ากันว่า มันทันสมัย มีเครื่องมือเครื่องไม้ทำงานแทนคน แต่สิ่งที่ตามมาคือเราทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากคอยซื้อน้ำยาของต่างประเทศ ซึ่งนับวันราคาก็มีแนวโน้มจะแพงขึ้น ที่สำคัญ ในห้องปฎิบัติการหลายแห่งไม่ได้เตรียมคนไว้ให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ เราก็จะได้ คนที่เชื่อทุกอย่างที่เครื่องพิมพ์ออกมา โดยไม่มีระบบตรวจสอบกลับไปว่า ค่าต่างๆ ที่เครื่องมือทันสมัยเหล่านั้นรายงานออกมา เชื่อถือได้เพียงใด .....ท้ายที่สุด เรากำลังตกเป็นทาสของเทคโนโลยี ในอีกมิติหนึ่งที่เราเข้าใจว่า ได้พัฒนาห้องปฏิบัติการแล้ว
     .....กับทางที่สอง การพัฒนาโดยยอมรับข้อจำกัดของตัวเอง แล้วใช้ความรู้พื้นฐานที่มีอยู่พัฒนาต่อยอดความรู้เดิม คนทำงานสบายขึ้นจากการพัฒนาต่อยอด หรืออาจต้องทำงานหนักขึ้นจากการที่มีการพัฒนาการทดสอบใหม่ๆ แต่คนยังเป็นกำลังหลักในการพัฒนา ซึ่งทำให้คนต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถยืนอยู่ได้บนความเปลี่ยนแปลง ....ท้ายที่สุด เราเป็นเจ้าของการทดสอบ เกิดปัญหาใดขึ้น คนสามารถแก้ไขได้ การพัฒนาแนวนี้มักใช้ต้นทุนต่ำ และได้ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาของคนไทยจริงๆ แม้ไม่เลิศหรู แต่ใช้งานได้จริง ต้นทุนต่ำ ได้องค์ความรู้ที่เป็นลักษณะเฉพาะของห้องปฏิบัติการนั้นๆ ที่มีแนวโน้มของความยั่งยืนทางภูมิปัญญา
     .....ผมกำลังยืนอยู่บนจุดกึ่งกลางของทางสองแพร่ง ที่มองเห็นการล้มหายตายจากไปของแนวทางที่สอง พร้อมกับความเติบใหญ่ของแนวทางแรก .......
     .....ไกลออกไปจากห้องปฏิบัติการ....เอาเทคโนโลยีเข้ามาแทนกำลังคนไม่ใช่หรือ ที่ทำให้วิกฤตการต้มยำกุ้งเกิดขึ้น การล้มพังครืนทางเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ทำให้คนรวยกลายเป็นคนจนในชั่วข้ามคืน ผมไม่ได้ขัดขืนต่อกระแสของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพียงแต่เราควรรู้เท่าทันเทคโนโลยี่ และพัฒนาต่อยอดให้เป็นองค์ความรู้ใหม่ของเราเอง แทนที่ทุกอย่างจะต้องพึ่งพาจากบริษัทข้ามชาติ ประเทศไทยเราไม่ได้มีเงินมากมายพอที่จะจ่ายแบบไม่อั้นให้แก่บริษัทข้ามชาติหรือต่างชาติ ทุกเทคโนโลยีมีทั้งระบบปิดและระบบเปิด การเลือกใช้ระบบที่เหมาะสมผนวกกับการไม่ยอมหยุดนิ่งของคน ช่วยให้เราสามารถพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ของเราเองได้ ลดการพึ่งพาน้ำยาต่างประเทศ หรือพัฒนาการทดสอบขึ้นเองบน platform ของเทคโนโลยีใหม่ นั่นน่าจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนของแนวทางที่หนึ่ง
     มาถึงตอนนี้ ผมไม่รู้ว่าการพัฒนาที่ผมเห็นทั้งสองทาง ทางไหนเป็นการพัฒนาขึ้น หรือทางไหนเป็นการพัฒนาลงกันแน่ ?
หมายเหตุ
     ข้อเขียนในที่นี้ไม่ได้หมายรวมถึงการทดสอบที่จำเป็นต้องรายงานผลอย่างรีบด่วน และจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องของความรวดเร็วในการรายงานผลการทดสอบ
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 28802เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2006 00:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
เอาทั้งสองทางมารวมกันได้มั๊ยค๊ะ หมายถึงพัฒนาวิธีการทดสอบประยุกต์ให้เข้ากับเทคโนโลยีที่มีอยู่ อย่างห้องเคมี ก็มีหลาย ๆ การทดสอบ อย่าง SI & TIBC จากเดิมทำ Manual ใช้เวลาเกือบค่อนวัน ก็เปลี่ยนเป็นเตรียมน้ำยาเองลงเครื่องวิเคราะห์ H.717ที่มีอยู่ โดยเปรียบเทียบกับน้ำยาบริษัทใช้เวลาประมาณ 30 นาที - 1 ชม. (ไม่นับที่สั่งล้างเครื่องก่อนทำน๊ะค๊ะ ---ก็นับว่าสะดวก รวดเร็ว)  ลองยกตัวอย่างเป็น Idea ค่ะ ก็ไม่ทราบว่าอย่างการทำงานของคุณ Mitocondria จะทำได้หรือไม่?
ผมคิดว่าประเด็นอยู่ที่ว่าเราควรรู้เท่าทันเทคโนโลยี แล้วพัฒนาการทดสอบของเราเองบน platform ของเทคโนโลยีใหม่ ก็จะเป็นการต่อยอดความรู้ที่มีอยู่และลดต้นทุนการทดสอบ แทนที่จะซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า แล้วทำอะไรต่อไม่ได้ พอบริษัทขอขึ้นราคา เราก็ต้องขี้นค่าการทดสอบ ตัวอย่างที่คุณศิริยกมานั้นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนของการพัฒนาการทดสอบบน platform ของเทคโนโลยีครับ  เราไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด ทันสมัยที่สุด เอาเพียงของที่เรามีก่อน แล้วพัฒนาสิ่งที่เรามีอยู่ให้ดีขึ้น บนเทคโนโลยีที่เรามี เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายของชาติได้อักโขแล้วครับ

ครูอ้อยมีความเห็นคล้อยตามคุณไมโตค่ะ

  • เทคโนโลยีที่เรามีอยู่..บางชนิดนั้นมีประโยชน์  มีความหมาย  หากเรารู้จักใช้ให้ถูกวิธี  และถูกเวลา

ขอบคุณมากนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท