เรื่องของส้วม


เรื่องของส้วม

ประวัติ 'ส้วม'




ส้วม ๑ น. สถานที่ที่สร้างไว้สำหรับถ่ายอุจจาระปัสสาวะโดยเฉพาะ มักทำเป็นห้อง.
(จาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒)

  

 


 

 

 

ส้วมหลุม
เป็นส้วมรูปแบบแรกที่คนไทยใช้ ประกอบด้วยหลุมดิน โดยขุดเป็นหลุมกลมหรือหลุมสี่เหลี่ยม แล้วปลูกตัวเรือนครอบหลุมไว้ อาจใช้ไม้กระดาน ๒ แผ่นพาดปากหลุมสำหรับนั่งเหยียบ และเว้นช่องตรงกลางไว้สำหรับถ่ายทุกข์ หรือทำฐานโดยใช้แผ่นไม้กระดานมาปิดปากหลุมแล้วเจาะช่องสำหรับถ่าย ส้วมหลุมแบบนี้ต้องสร้างไว้ไกลจากบ้านพอสมควร เพราะมีกลิ่นเหม็น เมื่อหลุมเต็มก็กลบหลุม ย้ายไปขุดที่ใหม่

คนไทยสร้างส้วมหลุมลักษณะดังกล่าวใช้กันมาแต่โบราณ กระทั่งในยุคที่รัฐเข้ามาจัดการเรื่องส้วมของประชาชนนับตั้งแต่ทศวรรษ ๒๔๔๐ ส้วมที่กรมสุขาภิบาลแนะนำคือส้วมหลุมและส้วมถังเท

ส้วมหลุมที่มีลักษณะถูกต้องตามแบบของกรมสุขาภิบาลต้องมีฝาปิดและมีท่อระบายอากาศ อาจทำจากไม้ไผ่ทะลุปล้องให้เป็นท่อกลวง เจาะทะลุพื้นส้วมเป็นการลดกลิ่นเหม็นจากภายในหลุมส้วม

 

 

 

ส้วมถังเท
ลักษณะคล้ายส้วมหลุม แต่ใช้ถังวางไว้ในหลุมใต้ฐานไม้สำหรับรองรับอุจจาระของผู้ขับถ่าย ปรกติการเก็บและบรรทุกถังอุจจาระไปเททิ้งจะทำวันละครั้ง

บริษัทแห่งแรกในพระนครที่ดำเนินการรับจ้างขนเทอุจจาระคือ บริษัทสอาดซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ สมัยเริ่มดำเนินการในช่วงแรกตั้งอยู่ที่บางขุนพรหม กิจการของบริษัทสอาดดำเนินการมาประมาณ ๒๐ ปี ก็ได้ขายกิจการให้บริษัทออนเหวงทำต่อ บริษัทออนเหวงมีที่ตั้งอยู่แถวราชวงศ์ นับเป็นบริษัทรับขนเทอุจจาระรายใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เพราะรับเหมาสัมปทานเวจสาธารณะของกรมสุขาภิบาลและของประชาชนทั่วไป

 

 

 

ส้วมบุญสะอาด
ประดิษฐ์โดยนายอินทร์ บุญสะอาด ผู้ตรวจการสุขาภิบาลประจำอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นส้วมหลุมที่มีลักษณะพิเศษ คือฝาปิดหลุมส้วมมีลักษณะเป็นลิ้น และลิ้นนี้จะเข้าไปขัดกับประตูส้วม คนที่เข้าส้วมต้องใช้เท้าถีบ ให้ลิ้นที่เป็นฝาปิดนี้ไปขัดกับประตู และจะมีส่วนยื่นออกมานอกประตู คนข้างนอกเห็นก็จะรู้ว่ามีคนใช้ส้วมอยู่ เมื่อเสร็จกิจแล้วผู้ใช้ต้องปิดฝาหลุมไว้ดังเดิม ไม่เช่นนั้นประตูจะเปิดไม่ออก เป็นกลไกเพื่อป้องกันการลืมปิดฝาหลุมนั่นเอง

 


 

ส้วมคอห่าน
พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) อดีตสมุหเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการมณฑลพิษณุโลก เป็นผู้ประดิษฐ์ ส้วมคอหงษ์ หรือ คอห่านเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสวรรคโลกและจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลร่วมมือกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ทำโครงการปราบโรคพยาธิปากขอ และรณรงค์ให้ราษฎรทั่วประเทศใช้ส้วม

ส้วมที่ใช้กันในช่วงเวลานั้นเป็นส้วมหลุมและส้วมถังเท ซึ่งมีกลิ่นเหม็นและป้องกันแมลงวันได้ไม่ดี พระยานครพระรามได้คิดค้นลองทำส้วมหลายแบบ ในที่สุดได้ทดลองทำหัวส้วมที่ช่องปล่อยทิ้งของเสียด้านใต้โถมีลักษณะเป็นท่อกลมที่โค้งกลับขึ้นด้านบน จึงสามารถขังน้ำไว้ในคอท่อนั้นได้ ส้วมชนิดนี้ใช้น้ำราดให้อุจจาระตกลงไปในบ่อฝังอยู่ใต้ดิน แมลงวันตามลงไปไม่ได้เพราะติดน้ำกั้นอยู่ อุจจาระและน้ำในบ่อจะไหลซึมลงไปในดิน จึงเรียกวิธีการนี้ว่า ส้วมซึม

ระบบส้วมซึมในระยะแรกมีข้อเสียตรงน้ำอุจจาระที่ซึมสู่พื้นดินเป็นตัวการแพร่เชื้อโรคได้ ต่อมามีการปรับปรุงเป็นระบบบ่อเกรอะบ่อซึม โดยบ่อที่ฝังใต้ดินมักทำจากคอนกรีต แบ่งออกเป็น ๒ ห้องหรือมากกว่า ใช้สำหรับรับอุจจาระจากโถส้วม มีน้ำและแบคทีเรียเป็นตัวย่อยสลาย มีบ่อกรองที่เรียกว่าบ่อเกรอะ แล้วระบายน้ำสู่บ่อซึม ระบบนี้ดีกว่าบ่อซึมแต่ก็ยังไม่ปลอดภัยเต็มที่

หัวส้วมแบบคอห่านและระบบบ่อเกรอะบ่อซึม ซึ่งคนทั่วไปเรียกกันว่า ส้วมซึมได้เข้ามาแทนที่การใช้ส้วมหลุม ส้วมถังเท ช่วยให้การขับถ่ายในส้วมมีความสะดวกสบายมากขึ้น ด้วยราคาค่าก่อสร้างที่ไม่แพงนัก และยังมีใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

 

 

 

 

ส้วมชักโครก
ขุนนางชาวอังกฤษชื่อ เซอร์จอห์น แฮริงตัน เป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์ส้วมชักโครกรุ่นแรกขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๕๙๖ (พ.ศ. ๒๑๓๙) โดยมีถังพักน้ำติดตั้งสูงเหนือโถส้วม เมื่อกดชักโครกแล้ว ของเสียจะถูกส่งผ่านท่อไปยังถังเก็บ

กระทั่งปี ค.ศ. ๑๗๗๕ อเล็กซานเดอร์ คัมมิงส์ ได้พัฒนาส้วมชักโครกให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น โดยการดัดท่อระบายของเสียลงบ่อเกรอะเป็นรูปตัวยู จึงสามารถกักน้ำไว้ในท่อ เป็นตัวกันกลิ่นของเสียไม่ให้ย้อนขึ้นมาได้ นับเป็นต้นแบบของชักโครกที่ใช้งานในปัจจุบัน

ส้วมชักโครกแบบนั่งราบเริ่มแพร่หลายในเมืองไทยมากขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่เรียกว่าชักโครกเพราะสมัยก่อนถังพักน้ำติดตั้งสูงเหนือโถ เวลาชักคันโยกปล่อยน้ำลงมาจะมีเสียงดังมาก น้ำจะไหลลงมาชำระให้อุจจาระลงไปสู่ถังเก็บกักอุจจาระที่เรียกว่าเซ็ปติกแทงก์ (Septic Tank)

ส้วมชักโครกยุคปัจจุบันได้รับการพัฒนาทั้งด้านการออกแบบให้มีรูปทรงสวยงาม ทันสมัย และเทคโนโลยีการใช้งาน เช่นเรื่องการประหยัดน้ำ ระบบชำระล้างที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เสียงเบาลง หรือมีระบบอัตโนมัติต่าง ๆ มากมาย
 

 


 จักรพันธุ์ กังวาฬ : เรื่อง / วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ภาพ

 


          ณ ห้องจัดแสดงสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ของโตโต้ นีโอเรสต์ไม่ได้มีลักษณะหวือหวาแปลกประหลาดเหมือนเป็นอุปกรณ์ประจำยานอวกาศ ทว่ารูปทรงเรียบหรูดบึกบึนแข็งแรง ประกอบด้วยเส้นสายโค้งกระชับที่ให้ความรู้สึกทันสมัย จุดเด่นของนีโอเรสต์คือเทคโนโลยีที่บรรจุอยู่ภายใน 

        นีโอเรสต์ตัวนี้เสียบปลั๊กไฟฟ้าและต่อท่อน้ำเรียบร้อย พร้อมสำหรับแสดงการทำงานทุกระบบ เมื่อพวกเราเดินเข้าไปใกล้ ฝาครอบบนสุดก็เปิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เผยให้เห็นฝารองนั่ง และยังมีฝาพลาสติกใสโป่งนูนตรงกลางปิดครอบช่องสำหรับการขับถ่ายเอาไว้ด้วย ฝาพลาสติกนี้ครอบไว้ชั่วคราวระหว่างการสาธิตแสดงการทำงานของเครื่องสุขภัณฑ์

ฝาแรกจะเปิดอัตโนมัติ เมื่อมีคนไปยืนใกล้ ๆ โถสุขภัณฑ์คุณจิตติพรอธิบายส่วนฝารองนั่งสามารถตั้งอุณหภูมิ หรือปรับความอุ่นได้ สำหรับใช้ในที่อากาศหนาว ฝารองนั่งจะเปิดโดยการสั่งงานจากรีโมตคอนโทรล

เมื่อฝาที่สอง (ฝารองนั่ง) เปิดขึ้น ย่อมหมายถึงคุณผู้ชายจะยืนทำธุระ เครื่องจะรู้โดยอัตโนมัติว่าเป็นการถ่ายเบา จึงตั้งปริมาณน้ำชำระที่ ๔.๕ ลิตร ขณะที่การถ่ายหนักจะใช้น้ำ ๖ ลิตร

คุณจิตติพรอธิบายต่อนี่คือการทำงานง่าย ๆ เบื้องต้น สมมุติเรานั่งทำธุระเสร็จเรียบร้อยแล้ว เรากดรีโมตคอนโทรลเพื่อการชำระล้างอัตโนมัติ ก้านฉีดชำระก็จะยื่นออกมา

(ถึงตอนนี้ก้านทรงกลมขนาดประมาณนิ้วก้อยโผล่ยื่นออกมาจากบริเวณใต้ฝารองนั่งด้านท้าย)

ก่อนและหลังการทำงาน ก้านชำระจะฉีดน้ำล้างตัวมันเองก่อนเพื่อความสะอาด นอกจากนั้น เราสามารถปรับตั้งความแรงของน้ำฉีดได้ ๕ ระดับ และสามารถปรับตั้งอุณหภูมิของน้ำฉีดได้ ๕ ระดับเช่นกัน

(ตอนนี้มีน้ำฉีดพุ่งออกมาเป็นสายจากปลายก้านชำระ ปะทะกับส่วนที่โป่งขึ้นของฝาครอบพลาสติกใส จึงไม่กระเซ็นออกมาจากโถชักโครก)

แล้วถ้าเราไม่ต้องการจะล้างแค่จุดใดจุดหนึ่ง เราต้องการล้างให้ทั่วถึง ก็สามารถกดรีโมตสั่งการชำระแบบส่าย คือมันจะส่ายทุกพื้นผิวของเราเลย

แล้วยังมีการฉีดน้ำสลับทั้งหนักและเบา เพราะถ้าฉีดหนักอย่างเดียว จะทำให้ก้นหรือผิวหนังเป็นผื่น หรือเจ็บได้

พอหลังจากทำความสะอาดแล้ว สุขภัณฑ์ยังมีระบบการเป่าแห้ง เลือกไปที่ปุ่มดรายเออร์ (dryer) จะมีลมพ่นออกมา สามารถปรับอุณหภูมิของลม ให้ร้อนหรืออุ่นได้ทุกระดับ

นอกเหนือจากนั้น ตลอดการใช้งาน สุขภัณฑ์มีระบบฟอกอากาศ จะมีฟิลเตอร์อยู่ตรงนี้

ระบบฟอกอากาศจะทำงานโดยอัตโนมัติตั้งแต่เรานั่งลงไป โดยดูดอากาศใต้โถ ผ่านฟิลเตอร์ แล้วถ่ายเทออกมาด้านข้าง กลายเป็นอากาศดีที่ไม่มีกลิ่น เพราะฉะนั้นสุขภัณฑ์ตัวนี้ เวลาเราทำธุระไป กลิ่นมันจะไม่ขึ้นมาแรง แล้วเวลาเราออกจากห้องน้ำไป คนที่เข้ามาใช้ต่อก็จะไม่ได้กลิ่นเหม็น

เมื่อเราทำธุระเสร็จ ลุกออกไป น้ำจะฟลัชชำระอัตโนมัติภายใน ๒-๓ วินาที

 

ขอบคุณที่มาของข้อมูลเกี่ยวกับประวัติ และภาพ 'ส้วม' จาก สารคดีดอทคอม http://www.sarakadee.com/

หมายเลขบันทึก: 287648เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2009 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อ่านเรื่องส้วมแล้ว แต่วันี้ส่วมไม่ค่อยดีเท่าไหร่เพราะไม่มีน้ำให้ใช้เวลาผู้เข้าอบรมต้องการใช้

  • สวัสดีคะ เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้คะ
  • การทำ Blog เป็นการสร้างงานของเราได้ เราทำเราก็ได้คะ
  • ร่วมเป็นกำลังใจ และจะกลับมาติดตามผลงานต่อไปอีกคะ
  • อ่านเรื่องของส้วมแล้วได้ความรู้มากขึ้นครับ

    แวะมาทักทาย ขอให้มีความสุขกับการเขียนบล๊อกน่ะครับ

  • ยินดี ชื่นชม
  • ขอต้อนรับบล็อกเกอร์หนาใหม่
  • เขียนต่อไปเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่าได้หยุดยั้ง
  • ปรับใช้เพื่อคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อลูกหลานเรา
  • ฝากติดตามอ่านสาระเทคนิคดี ๆ ที่ รวมพล "คนเขียนบล็อค" ครูสามัญจังหวัดเลย : พลพรรครักเลย
  • พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท