การตลาดแดนโสม (เกาหลี)


มุ่งมั่นที่จะ “ผลักดันให้เกาหลีก้าวสู่สังคมใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้ (knowledge-driven society) ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากมันสมองของคน (Human knowledge) ความรู้สึก (Sensibility) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และจินตนาการ (Imagination)” Suh, Byoung-moon

หลังจากที่ซีรีส์เกาหลียอดฮิต “แดจังกึม” จบไปแล้ว ช่อง 3 ก็กำลังเข็นซีรีส์เกาหลีเรื่องใหม่ "หมอโฮจุน" ก็เข้าใจในมุมของทางสถานีที่จะต้องพยายามทำธุรกิจ อะไรที่เป็นกระแสสามารถเรียกเงินจากสปอนเซอร์ได้ก็ทำไป แต่กำลังรอดูอยู่ว่ากระแสหนังไทยที่จะมาปลุกสำนึกความรู้สึกถึงความเป็นไทยแบบต่อเนื่องยังหาไม่ได้ อิทธิพลของละครซีรีส์เกาหลี ทำเอาบริษัททัวร์ต่างประเทศยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เพราะมีคนไทยจำนวนไม่น้อยอยากเหลือเกินที่จะตามรอยแดจังกึม รวมถึงการลิ้มรสอาหารเกาหลีว่าดีจริง อร่อยจัง รวมถึงเสริมสุขภาพแบบที่ในหนังว่าไว้หรือไม่ รุ่นน้องที่ผมรู้จักคนหนึ่งคลั่งไคล้ขนาดยอมลงทุนเรียนภาษาเกาหลี และจองทัวร์เพื่อจะไปเกาหลี โดยหวังว่าจะได้สื่อสารกับคนเกาหลีดูบ้าง และผมก็เชื่อว่าคนไทยหลายคนก็มีลักษณะเช่นนี้

ความจริงแล้วกระแสของเกาหลีที่พรั่งพรูผ่านทางจอโทรทัศน์ไทยนั้นมีมานานพอสมควร แต่ที่จะฮิตติดลมชนิดที่เบียดละครซีรีส์ของญี่ปุ่นได้คงจะซัก 4-5 ปีที่ผ่านมานี้เอง ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบ และติดตามอยู่พอสมควร บางเรื่องก็ช่างเศร้ารันทด เพราะจบแบบต้องจากเหมือนเรื่องคู่กรรมของไทยเรา แต่บางเรื่องก็ตลกอย่างไร้สาระเหมือนกัน แต่กระแสของความนิยมชมชอบเกาหลีหาได้มีเพียงละครซีรีส์เท่านั้น ถ้าไปถามเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่นิยมการเล่นเกมส์ ก็จะพบว่า เกมส์คอมพิวเตอร์ทั้ง On-lineและ Off-line จำนวนไม่น้อยผลิตจากประเทศเกาหลี และประเทศเกาหลีนี่เองที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสูงมาก สูงชนิดที่เรียกว่า มีประชาชนที่ใช้อินเตอร์เน็ตติดอันดับสูงมากในเอเชีย ปัจจุบันถ้านึกถึงประเทศที่เป็นแหล่งผลิตซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ต้องนึกถึงอินเดีย แต่ถ้านึกถึงประเทศที่ผลิตเกมส์คอมพิวเตอร์ และงานด้านภาพเคลื่อนไหว (Animation) ต้องยกนิ้วให้ประเทศเกาหลี

เหตุที่เกาหลีสามารถผงาดกลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งได้ผ่านพ้นไป อีกทั้งยังสามารถระบุตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) ของประเทศตนเองได้อย่างชัดเจนแล้ว ยังทำให้วงการค้าทางด้านอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ต้องตะลึง เพราะในช่วงเวลาไม่นาน สินค้าของเกาหลีก็ทำให้เจ้าตลาดอย่างญี่ปุ่นต้องทำงานอย่างหนักชนิดหืดขึ้นคอ เพราะไม่นานด้วยความสามารถทางการตลาดและการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดี ตรงกับความต้องการของตลาด และสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า ทำให้มียอดการผลิตและจำหน่ายสูงมาก แบบนี้ที่เรียกว่า “การตลาดระดับชาติ”

หน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลเกาหลีที่มีบทบาทอย่างมาก ในการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้เอกชนมีความเข้มแข็ง และสามารถส่งออกสินค้าและบริการไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค อีกทั้งทำให้วัฒนธรรมเกาหลีกลายเป็นที่รู้จักจนเป็นกระแสขนาดนี้คือ KOCCA หรือ The Korea Culture & Content Agency โดยมุ่งมั่นที่จะ “ผลักดันให้เกาหลีก้าวสู่สังคมใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้ (knowledge-driven society) ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากมันสมองของคน (Human knowledge) ความรู้สึก (Sensibility) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และจินตนาการ (Imagination)” ตามคำกล่าวของประธาน และ CEO ที่ชื่อว่า Suh, Byoung-moon

KOCCA ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่าจะส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวกับเนื้อหาสาระ และวัฒนธรรม โดยแบ่งออกเป็น 9 กลุ่มหลักดังนี้
- ภาพเคลื่อนไหว (animation)
- เพลง (music)
- ลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูน (character license)
- การ์ตูน (comics)
- สาระความรู้ทางอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ (mobile and internet content) และ
- สาระความรู้เพื่อการศึกษาและความบันเทิง (edutainment content)
- ภาพยนตร์ (movie)
- รายการโทรทัศน์ (TV program) และ
- เกมส์ (Game)

เห็นเช่นนี้แล้วทำให้นึกถึงวัฒนธรรมไทย ที่ยังไปไม่ไกลเท่าไหร่ ถึงแม้ว่าฝรั่งต่างชาติที่ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัส และชื่นชอบชนิดติดใจไม่กลับประเทศของตนเองก็มีไม่น้อย แต่คนไทยเรายังหาจุดขายจากวัฒนธรรมของไทยเรายังไม่เจอ ยังเห่อของนอกลอกของต่างชาติกันอยู่เลย น่าเศร้าใจจริง ๆ

คำสำคัญ (Tags): #marketing
หมายเลขบันทึก: 28761เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2006 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท