รัฐวิสาหกิจโทษประมูลอี-ออคชั่นส่งผลให้เบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้า


รัฐวิสาหกิจโทษประมูลอี-ออคชั่นส่งผลให้เบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้า
     กระทรวงการคลังเร่งแก้ระเบียบงานประมูลใหม่ หลังรัฐวิสาหกิจระบุการกำหนดวงเงินประมูลงาน 2 ล้านบาท ต้องใช้ระบบ อี-ออคชั่น และราคากลางของการประมูลต่ำไม่สอดคล้องต้นทุนแพง ส่งผลให้ไม่มีผู้สนใจประมูล เบิกจ่ายงบฯ ลงทุนรัฐวิสาหกิจปี 49 จึงล่าช้า ล่าสุดเบิกจ่ายได้เพียงร้อยละ 28.07 ของวงเงิน 281,000 ล้านบาท
     นายไชยยศ สะสมทรัพย์ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เร่งหารือกับกรมบัญชีกลาง เพื่อขอขยายวงเงินขั้นต่ำในการประมูล  การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-ออคชั่น หลังจากที่หารือกับรัฐวิสาหกิจทั้ง 17 แห่งแล้วพบว่าการกำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีวงเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ต้องใช้ระบบอีออคชั่น ทำให้ผู้รับเหมาหรือผู้ประมูลงานไม่ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูล จนส่งผลให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ในปี 2549 เป็นไปด้วยความล่าช้า โดยสามารถเบิกจ่ายได้เพียงร้อยละ 28.07 ของวงเงินงบลงทุนกว่า 281,000 ล้านบาท   “การประมูลงานที่มีมูลค่าต่ำหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต้องเพิ่มระยะเวลาที่คาดว่าจะได้ผลสรุปผู้ที่ชนะการประมูลอีก 30 วัน เพราะคนเข้าร่วมประมูลน้อย ประกอบกับกระบวนการหรือขั้นตอนการประมูลแบบอี-ออคชั่น มีขั้นตอนมาก ทั้งการกำหนดราคากลาง การหาคณะกรรมการ รวมไปถึงคนกลางหรือตลาดกลางในการทำหน้าที่ประมูล        ไม่เพียงพอกับจำนวนงานที่มีมาก จึงทำให้เกิดความไม่คล่องตัว” นายไชยยศ กล่าว
     นายไชยยศ กล่าวว่า ในการหารือร่วมกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 17 แห่ง เพื่อขอความร่วมมือให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ตามเป้าหมายให้ได้มากที่สุด ซึ่งทุกหน่วยงานได้ยืนยันตรงกันว่าปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ  เรื่องระบบอี-ออคชั่น ซึ่งตนเองเห็นว่าหากขยายวงเงินเพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวและสร้างแรงดึงดูดให้มีผู้เข้าร่วมประมูลงานมากขึ้น   นอกจากนี้ ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ทำให้มีคนเข้ามาประมูลงานภาครัฐน้อยกว่าที่ควรคือ เรื่องการกำหนดราคากลางที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กรณีราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา แต่ราคากลางของงานประมูลภาครัฐยังไม่ปรับตาม หรือปรับตามไม่ทัน รวมถึงกระบวนการทำบาร์เตอร์เทรด ได้ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้าไป เช่น การซื้อหัวรถจักรของการรถไฟ        แห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และยังมีปัญหาว่ารัฐวิสาหกิจที่ลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ยังไม่สามารถลงทุนได้ เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ จำเป็นต้องชะลอการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ไปก่อน จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่
     นายอารีพงษ์ ภู่ชะอุ่ม รองผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า การประมูลงานในวงเงินต่ำ หลายครั้งต้องล้มเพื่อประมูลใหม่ ซึ่งรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่มีงานประมูลเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และมีสำนักงานกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประมูลงานด้วยระบบอี-ออคชั่น ทำให้กลายเป็นปัญหา ทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของหน่วยงานเหล่านี้ล่าช้า   ทั้งนี้ งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้ง 17 แห่ง ในปี 2549 มีกว่า 281,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 49 เบิกจ่ายได้เพียง ร้อยละ 28.07 ขณะที่กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายไว้ที่ร้อยละ 90 ซึ่งตัวเลขการเบิกจ่ายนี้ ได้รวมการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีงบประมาณ และ  ปีปฏิทินโดยที่รัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีงบประมาณที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือน ต.ค. 48 สามารถเบิกจ่ายได้ ร้อยละ 46 ส่วนที่ใช้ปีปฏิทินที่เริ่มต้นบัญชีเมื่อเดือน ม.ค.49 สามารถเบิกจ่ายได้ ร้อยละ 10.6

ผู้จัดการออนไลน์   เดลินิวส์  12 พ.ค. 49
สยามรัฐ 13 พ.ค. 49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 28735เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2006 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท