หาช่องใช้งบ 50 อัดฉีด 2.2 แสนล. จับตา 'ตกเขียว'


หาช่องใช้งบ 50 อัดฉีด 2.2 แสนล. จับตา 'ตกเขียว'
     สำนักงบฯ ระดมแนวทางใช้เงินปีงบฯ 50 แก้ปัญหาออกกฎหมายไม่ทัน  "วราเทพ" คาดเบิกจ่ายงบฯ  ฉีดเม็ดเงินเข้าระบบได้ถึง 2.2 แสนล้าน ยันช้าแค่ 3 เดือน ไม่เกิน ธ.ค.แน่    เผยสัปดาห์หน้า "สุรนันทน์"    เรียกทุกกระทรวงที่ทำเมกะโปรเจ็กต์หารือเร่งเบิกจ่ายส่วนที่ทำได้ คาดทำแผนเร่งรัดเบิกจ่ายแล้วเสร็จในเดือนนี้ ก่อนชง ครม. รับทราบต่อไป
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากที่ตนได้ประชุมหารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง  สำนักงบประมาณ และนายสุรนันทน์  เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงบประมาณ ทำให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นเป็นแนวทางในการเร่งการใช้จ่ายงบประมาณในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2549 ที่โดยปกติแล้วจะต้องเป็นไปตามกรอบของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550  แต่เนื่องจากมีปัญหาที่ยังไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ ทำให้การพิจารณากฎหมายดังกล่าวต้องล่าช้าออกไปประมาณ 3 เดือน คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้หลังจากเดือน ธ.ค. เป็นต้นไป  ทั้งนี้การจัดทำงบฯ ปี 50 ไม่น่าจะล่าช้าเกิน 3 เดือน  อย่างไรก็ดีในช่วงระหว่าง 3 เดือนแรก (ต.ค.-ธ.ค. 2549) ของปีงบฯ 50 ที่ยังไม่สามารถประกาศใช้ พ.ร.บ.งบฯ ปี 2550 ได้นั้น จะยังสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างปกติ และไม่มีผลกระทบใด ๆ เนื่องจากตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 179 และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณประจำปี มาตรา 16  ได้เปิดช่องไว้ว่าสามารถใช้กรอบงบประมาณของปีที่ผ่านมาได้  ซึ่งในที่นี้คือ กรอบของงบประมาณ 2549
     อย่างไรก็ตาม จากการประเมินเบื้องต้น พบว่าในช่วง 3 เดือนดังกล่าวจะมีการใช้งบประมาณจำนวนกว่า 2.2 แสนล้านบาทเป็นอย่างน้อย  แบ่งเป็นส่วนของการเบิกจ่ายงบประจำของส่วนราชการที่ตกประมาณเดือนละ   5-6 หมื่นล้านบาท 3 เดือนรวมกันประมาณ 1.8 แสนล้านบาท รวมกับการเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปีของปีงบประมาณ 2548-2549 ซึ่งมีอยู่ 3.6 หมื่นล้านบาท คาดว่าคงใช้ไม่ทันสิ้นปีงบประมาณ 2549 ในเดือน ก.ย. ก็จะสามารถนำมาใช้ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2550 คือ ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค.  นอกจากนี้        งบลงทุนที่ผูกพันจากปี 2548-2549 ประมาณ 8.5 พันล้านบาท ที่ปกติแล้วต้องกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบฯ ปี 2550 อาจจะเร่งนำมาเบิกจ่ายในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.ได้ ซึ่งเรื่องของวงเงินที่ใช้นั้น รัฐบาลยืนยันว่ามีรายได้เพียงพอในการใช้จ่ายอย่างแน่นอน   "ที่ประชุมคุยกันว่าแนวทางนี้จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น โดยจะได้ไปเร่งส่วนราชการต่าง ๆ  ตลอดจนรัฐวิสาหกิจให้มีการเบิกจ่ายภายในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2550 คาดว่าภายในเดือนนี้จะได้มีการทำแผนเร่งรัดการเบิกจ่ายทั้งหมดออกมาได้ เพื่อรองรับการใช้เม็ดเงินในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. จากนั้น   จะเสนอให้ ครม.พิจารณา" นายวราเทพกล่าว
     สำหรับกรณีที่มีการติดขัดในเรื่องการใช้จ่ายเงิน เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง กรอบเงินงบประมาณที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ รับไปดำเนินการเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป นอกจากนี้ ในส่วนงบประมาณที่อยู่ในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่มีปัญหาการเบิกจ่าย เนื่องจากมีการเลื่อนโครงการฯ ออกไป เพราะยังไม่สามารถทำในส่วนที่เป็นโมเดิร์นไนซ์ ไทยแลนด์ ที่เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ จนทำให้มีการชะลอการเบิกจ่ายไปด้วยนั้น ปัจจุบันมีการเบิกจ่ายไปเพียง 1.9 พันล้านบาท หรือประมาณ 2% ของวงเงินตามเอกสารงบประมาณปี 2549 ที่ได้จัดสรรไว้ที่ 9.2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
     ทั้งนี้  ที่ประชุมเห็นว่าควรจะพิจารณาโครงการที่สามารถแยกออกมาทำได้ก่อนออกมา อย่างเช่นโครงการด้านการจัดการน้ำทั้งระบบ เป็นต้น โดยภายในสัปดาห์หน้านายสุรนันทน์จะเรียกประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้อง หารือถึงแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว ส่วนกรณีที่มีการปรับเพิ่มขั้นเงินเดือนข้าราชการในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2550 ยืนยันว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ แม้จะมีการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการขึ้นก็ตามเพราะจากการประเมินงบประจำของส่วนราชการก็คงไม่เกิน 5-6  หมื่นล้านบาทต่อเดือนตามที่คาดการณ์ไว้
     นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเดือน เม.ย. 2549 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 115,119 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,878 ล้านบาท คิดเป็น 1.7% และสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว 13.5% โดยผลการเก็บรายได้รวมของ 3 กรมเก็บภาษี  ได้แก่ กรมสรรพากร  กรมสรรพสามิต  และกรมศุลกากร  ต่ำกว่าประมาณการ 5,730 ล้านบาท หรือ 5.4% คือเก็บได้เพียง 100,933 ล้านบาท จากที่ประมาณการไว้ที่ 106,663 ล้านบาท   ส่วนหน่วยงานอื่น ๆ นอกเหนือจากกรมจัดเก็บภาษีจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 39.9%
     ทั้งนี้ กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการเล็กน้อย โดยแม้จะเก็บภาษีทุกประเภทได้สูงกว่าประมาณการ  แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,046 ล้านบาท หรือ 2.9% โดยเป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของการนำเข้าต่ำกว่าประมาณการถึง 2,826 ล้านบาท หรือ 16.1% เนื่องจากการชะลอตัวของการนำเข้าและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น  อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวในอัตราที่สูง โดยสูงกว่าประมาณการ 9.5% และสูงกว่าปีที่แล้วถึง 19.4% สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
     สำหรับกรมสรรพสามิตยังคงจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยจัดเก็บได้ 24,002 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 4,028 ล้านบาท  ซึ่งภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ ได้แก่ ภาษีน้ำมัน ต่ำกว่าประมาณการ 15.1%        ภาษีเบียร์ 26.6%   ภาษีสุรา 4.5%  และภาษีรถยนต์ 11.4%   โดยภาษีน้ำมันได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น     ส่วนภาษีเบียร์และภาษีสุรา ได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่ชะลอตัวลง รวมทั้ง     เกิดจากผลของการมีวันหยุดมากในเดือน เม.ย.ด้วย ในขณะที่ภาษีรถยนต์เป็นผลจากการขยายตัวของปริมาณรถยนต์ที่เสียภาษีไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้    นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ 22,812 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,525 ล้านบาท หรือ  49.2%  โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ที่สำคัญ  ได้แก่  บริษัท  ปตท. จำกัด (มหาชน) 13,577 ล้านบาท  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 4,500 ล้านบาท  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 2,000 ล้านบาท   และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 1,300 ล้านบาท
     สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2549 (ต.ค. 2548 - เม.ย. 2549) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 682,914 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ  10,207 ล้านบาท หรือ 1.5%  เนื่องจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรสูงกว่าประมาณการถึง 7.3% และรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าเป้าหมายถึง 42.2%   "กระทรวงการคลังคาดการณ์แนวโน้มการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปีงบประมาณ 2549    
     จากผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2549 ที่ยังสูงกว่าประมาณการจำนวน 10,207 ล้านบาท ว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2549 ได้ตามประมาณการ 1,360,000 ล้านบาท" นายสมชัยกล่าว

ไทยโพสต์   ไทยรัฐ   มติชน   ข่าวสด ผู้จัดการออนไลน์   โพสต์ทูเดย์ แนวหน้า
กรุงเทพธุรกิจ  สยามรัฐ  11 พ.ค. 49
ฐานเศรษฐกิจ 11-13 พ.ค. 49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 28734เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2006 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท