AAR โดยวิธี "เขียน" ที่ดีมากๆของนักศึกษาฝึกงาน..


เป็นการทำ AAR โดยวิธี "เขียน" ที่ดีมากๆ จนไม่อยากสรุปหรือตัดตอนใดๆ
ดังที่ได้เล่าไว้ในบันทึกชื่อ "นักศึกษามาฝึกงาน..."ต้องไม่ลืม BAR และ AAR" ตั้งแต่เมื่อครั้งน้องนักศึกษาเริ่มเข้ามาฝึกงานกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถึงขณะนี้การฝึกงานเสร็จสิ้นลงแล้ว น้องๆก็ส่งรายงานการฝึกงานตามโจทย์ที่พี่เม่ยให้ไว้ ซึ่งก็คือการ AAR หลังฝึกงานนั้นเอง....
พี่เม่ยรับรายงานจากน้องๆมา ลองอ่านดูก็ "ทึ่ง" ค่ะ เพราะการเขียน AAR ของน้องนักศึกษานั้น มีจุดเด่นมากคือ "เขียนจากใจ" มาจริงๆค่ะ  จัดว่าเป็นการทำ AAR โดยวิธี "เขียน" ที่ดีมากๆ  พี่เม่ยจึงขอนำมาถ่ายทอดให้อ่านกันที่นี่ค่ะ....
ความคาดหวังก่อนเข้าฝึกงาน
1. เพื่อเรียนรู้การทำงานในสถานที่จริง
2. เพื่อฝึกปรับตัวให้เข้ากับทุกคนในที่ทำงาน
3. เพื่อศึกษาระบบการทำงานในห้องโลหิตวิทยาว่ามีการจัดระบบการทำงานต่างๆอย่างไร
4. เพื่อศึกษาเรียนรู้ในกระบวนการต่างๆในการตรวจวิเคราะห์โรคต่างๆจากเลือด
5. เพื่อดูว่าการตรวจเลือดมีขั้นตอนการทำอย่างไรบ้าง
6. เพื่อทราบว่าโรคต่างๆมาจากความผิดปกติอย่างไรของเลือด
7. เพื่อต้องการทราบว่าความรู้จากที่เรียนมานำไปใช้ประโยชน์ได้จริงมากน้อยเพียงใด
8. เพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่ไม่เคยเจอในห้องเรียน
9. ต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
10. อยากฝึกให้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบมากๆ
สิ่งที่ได้เกินคาด
  • การทำงานในห้องปฏิบัติการ จะมีการทำงานกันอย่างเป็นระบบ โดยจะมีการแบ่งหน่วยย่อยต่างๆ ออกเป็นหมวดหมู่  เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานและป้องกันความสับสนหรือความผิดพลาดของผู้ปฏิบัติงานเอง 
  • การทดสอบในห้องปฏิบัติการโลหิตวิทยาโดยส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือแบบอัตโนมัติ (Automate) แทนการทดสอบแบบใช้คนทำ(Mannual) ทั้งนี้เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว
  • ได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบสารสนเทศในห้องปฏิบัติการ เนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์มีความทันสมัยขึ้นมาก ในการออกผลการตรวจเลือดของผู้ป่วยในแต่ละรายจึงเป็นแบบระบบonline ทางcomputer โดยส่งไปให้แพทย์ทำการวินิจฉัยได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว  ทั้งนี้จึงเป็นผลดีต่อผู้ป่วยและทางโรงพยาบาลเองด้วย
  • ในห้องปฏิบัติการโลหิตวิทยา จุด set up นับว่าเป็นหัวใจหลักของห้องปฏิบัติการเลยก็ว่าได้ เพราะจุดนี้จะมีการแยกประเภทของtestไปยังหน่วยทดสอบแต่ละจุด ทำให้เป็นการประหยัดเวลาได้มาก
  • วิธีการใช้เครื่องอัตโนมัติแบบต่างๆ เป็นความรู้ใหม่สำหรับนักศึกษาฝึกงานภาคชีววิทยา เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ได้เข้ามาสัมผัสระบบของการทำงานภายในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล
  • ได้ศึกษาการดูเซลล์เม็ดเลือกทั้งแบบปกติและผิดปกติ ซึ่งความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดสามารถบ่งบอกถึงโรคที่จะเกิดได้ โดยปกติการเรียนในภาควิชาชีววิทยาเกี่ยวกับเซลล์จะมีการดูองค์ประกอบและหน้าที่ของเซลล์ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางด้านเลือดเลยแม้แต่น้อย แต่ในห้องปฏิบัติการโลหิตวิทยานั้น จะได้รับความรู้เพิ่มเติมในการศึกษาชนิดของเซลล์เม็ดเลือดขาว การเปรียบเทียบลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดขาว การแยกชนิดของเซลล์เม็ดเลือดขาวตลอดจนการกระจายตัวของเซลล์เม็ดเลือดอันเนื่องมาจากการสเมียร์เลือดที่ถูกวิธี  รู้จักระยะเริ่มแรกของความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด จนถึงความผิดปกติระยะรุนแรงของเซลล์เม็ดเลือด
  • นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ไปศึกษาการให้บริการผู้ป่วยที่ OPD Lab อย่างเช่น วิธีการเจาะเลือดผู้ป่วย ระบบการเก็บสิ่งส่งตรวจ เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ เสมหะ เป็นต้น
  • สุดท้ายนี้สิ่งที่เหนือความคาดหมายนั่นก็คือ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความเป็นกันเอง ของพี่ๆทุกคนที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ ที่ทำให้คลายความตื่นเต้นและความประหม่า ไปได้เยอะ รวมถึงความมีน้ำใจในการตอบคำถามในสิ่งที่พวกเราสงสัย(มากไปรึเปล่า) การเอาใจใส่ในการสอนระบบงานในห้องปฏิบัติการให้พวกเราซึ่งมีพื้นฐานอยู่เพียงน้อยนิดด้วยความยินดีและเต็มใจ  สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความประทับใจที่ยากจะลืมเลือน
น้อยกว่าที่คาด
คือ อยากฝึกที่ห้องโลหิตวิทยาให้นานกว่านี้จังค่ะ
นำความรู้ที่ได้ไปทำอะไรต่อได้บ้าง
แม้ว่าการฝึกงานในครั้งนี้จะไม่ใช่งานที่ตรงกับสาขาวิชาที่ศึกษามากนัก  แต่ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกงานในหน่วยโลหิตวิทยาในครั้งนี้ก็สามารถนำไปใช้เป็นความรู้พื้นฐานและแนวทางในการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นต่อไป  โดยเฉพาะการศึกษาในระดับปริญญาโท ในสาขาวิชาต่างๆ ที่จะต้องอาศัยความรู้และเทคนิคพื้นฐานทางด้านการแพทย์  เช่น การศึกษาต่อในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์  เทคนิคการแพทย์ รวมทั้งสาขาอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องในด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นต้น  นอกจากนี้แล้วความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการณ์ดำรงชีวิตในอนาคต  ทั้งในเรื่องของลักษณะการทำงานในหน่วยงาน และการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสถานที่ทำงานอย่างมีความสุข
ข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงาน
เนื่องจากในช่วงเวลาของการฝึกงาน  พี่ๆที่ห้องปฏิบัติการจะไม่ค่อยมีเวลาว่างมาสอนเกี่ยวกับลักษณะงาน รวมถึงความรู้ทางด้านวิชาการต่างๆที่ควรรู้เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำงานในห้องปฏิบัติการ  จึงอยากเสนอให้มีการนัดนักศึกษาฝึกงานมาพบก่อนวันฝึกงานจริงเพื่อที่จะได้สอนความรู้รวมถึงเทคนิคในการทำงานในห้องปฏิบัติการ  เพื่อให้เมื่อถึงเวลาฝึกงานจริงจะได้สามารถช่วยทำงานในห้องปฏิบัติการและได้ประสบการณ์จากการทำงานอย่างเต็มที่  นอกจากนี้ทางหน่วยงานน่าจะมีการจัดเนื้อหาความรู้พื้นฐานและลักษณะงานให้มีความใกล้เคียงและเหมาะสมกับนักศึกษาในแต่ละสาขาวิชา  เพื่อให้การฝึกงานครั้งนี้เป็นการฝึกงานที่ได้รับประโยชน์สูงสุด....
ดูเหมือนว่าน้องๆทั้งหลาย จะ "ได้ใจ" พี่ๆไปเยอะทีเดียว ผลจากการให้นักศึกษาทำ BAR และ AAR ในครั้งนี้ ทำให้พี่เม่ยได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างไปพร้อมกับน้องๆด้วยค่ะ ...
คำสำคัญ (Tags): #โลหิตวิทยา#aar#note
หมายเลขบันทึก: 28678เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2006 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
เป็นวิธีที่ดีมากเลยค่ะ เป็นตัวอย่างที่ดีให้หน่วยอื่นทำได้ด้วย

อยากจะ comment ตรงที่ข้อแนะนำเพิ่มเติมหน่อยคับ

คิดว่าการที่นักศึกษาอยากจัดให้มีการอบรมพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับวิชาการ และเทคนิคในการทำงานในห้องปฏิบัติการ โดยจัดให้ตามความเหมาะสมของสาขาวิชานั้น สำหรับนักศึกษาวิทยาศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา อาจมีความรู้ทางด้านนี้น้อยมากๆ เนื่องจากไม่ได้เป็นวิชาหลักทีถูกบรรจุในหลักสูตร อีกทั้งเมื่อนักศึกษาจบไปก็มีโอกาสน้อยมากที่จะได้ทำงานในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ โดยเฉพาะห้องโลหิตวิทยา จึงอยากกล่าวว่า การที่น้องๆนักศึกษามาฝึกงานนั้นสิ่งที่น่าจะเก็บเกี่ยวก็คือลักษณะงาน ลักษณะห้องปฏิบัติการ ซึ่งห้องปฏิบัติการโลหิตวิทยา และความรู้ทางโลหิตวิทยานับเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่และค่อนข้างไกลตัวสำหรับนักศึกษาวิทยาศาสตร์

การที่น้องๆได้มาฝึกงานที่ห้องนี้ก็ เหมือนการออกจากห้องมาเที่ยว สิ่งที่จะเก็บไปจึงน่าจะเป็นความประทับใจ เปรียบเสมือนลักษณะการปฏิบัติงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปเล่าต่อให้ใครๆฟังได้ แต่ถ้าต้องการวิชาการก็เปรียบเสมืยนการเดินเข้าไปสำรวจตรวจตรารายละเอียดของสถานที่อย่างละเอียด ซึ่งคิดว่านักศึกษาที่ฝึกงานอาจจะนำกลับไปไม่ได้ทั้งหมด

 สำหรับประสบการณ์การฝึกงานของผม ที่ธรรมศาสตร์และบำรุงราษฏร์ นั้น ทำให้เห็นความแตกต่างคับ ที่ธรรมศาสตร์เน้นการอัดความรู้ (เพื่อเตรียมสอบใบประกอบไปในตัว) ทำให้รู้สึกเหนื่อย เบื่อหน่าย ไม่มีความสนใจเท่าที่ควร แต่ที่บำรุงราษฏร์นั้นสอนให้ผมเห็นระบบการจัดการของ lab วิธีการปฏิบัติงาน วิธีการบริหารจัดการเมือ่มีปัญหา ทำให้รู้สึกว่ามีความน่าสนใจและประทับใจด้วย

สำหรับนักศึกษาเทคนิคการแพทย์อย่างผมแล้ว สิ่งที่อยากได้จากการฝึกงานก็คือระบบการทำงานที่สามารถนำไปเป็น idea ในการทำงานที่อื่นๆได้

 

ปล. comment นี้อาจยาวไปหน่อยน่ะ แต่อ่านแล้วผมก็รู้สึกนึกถึงตอนฝึกงานคับ พี่เม่ย

  • พี่เม่ยชอบการอุปมาของน้อง tube มากเชียวค่ะ กับประโยคที่ว่า "...น้องๆได้มาฝึกงานที่ห้องนี้ก็ เหมือนการออกจากห้องมาเที่ยว สิ่งที่จะเก็บไปจึงน่าจะเป็นความประทับใจ..." เพราะเป็นประโยคเดียวกับที่พี่เม่ยบอกกับน้องๆฝึกงานกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน...
  • และด้วยความประทับใจนั่นเอง ทำให้รุ่นพี่ไปบอกต่อรุ่นน้อง มาฝึกงานที่หน่วยงานของเราอีกหลายคนในปีต่อมาค่ะ
  • นักศึกษาฝึกงานเนี่ย ไม่เหมือนกับน้องที่เข้าทำงานใหม่เริ่มฝึกงานนะ...น้อง tube ว่างๆจะเขียนเล่าประสบการณ์ของการฝึกงานในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาให้อ่านบ้างก็น่าจะสนุกนะคะ...
รับทราบคับพี่เม่ย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท