สวรรค์อยู่ที่การทำงานนี่เอง


แท้จริงแล้ว การงานคือชีวิต ... งานมีค่าเพราะช่วยนำพาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ได้ ฯลฯ
    ไม่ใช่คุยครับ แต่บอกดังๆเลยว่าอาการ "สนุกกับงาน" นั้นผมมีติดตัวมานานแล้ว  เข้าใจได้ดีว่าเป็นอย่างไร  แต่อย่างว่านั่นแหละ ใช่ว่าจะ สุข หรือสนุกไปเสียทุกงาน มีบ่อยเหมือนกันที่ตกกระไดพลอยโจน ต้องทำงานที่ฝืนความรู้สึก ก็จะหาทางปลีกเร้นออกมาเสีย แต่ไม่ให้เขาเสียงานนะ  แท้จริงแล้ว การงานคือชีวิต ผมยังงงอยูว่าชีวิตที่ไม่รักการงานสักอย่าง มีอยู่ได้อย่างไร มันน่าอาย พืช มากเลยนะ  ขอสรุปเท่าที่นึกได้ว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร
  • เริ่มจาก รักศรัทธาและพอใจในงานที่เลือกเองหรือได้รับมอบหมาย คือเกิด ฉันทะ ในสิ่งที่ทำ ทั้งนี้อาจด้วยเหตุผลบางอย่าง หรือหลายอย่างประกอบกันเช่น
        -  งานมีค่าเพราะช่วยนำพาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ได้
        -  เป็นงานที่ท้าทายความสามารถ เพื่อพิสูจน์ตัวเรา
        -  เป็นงานที่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่เรามุ่งหวัง
        -  เป็นงานที่มีความเสี่ยง (อยากลองของ)
        -  ผลสำเร็จของงานจะนำความปลาบปลื้มและชื่อเสียงมาสู่ตนเอง ครอบครัว หรือ องค์กร ฯลฯ
  • เกิดความพยายามอย่างไม่รู้สึกตัว  เกิดอาการ ตามติด-คิดต่อ หรือ "กัดไม่ปล่อย" เกิด วิริยะ โดยอัตโนมัติ เพราะใจมันตื่นเต้นหรือ สุขล่วงหน้าไปแล้วต่อผลที่คาดหวัง (ต้องไม่ใช่อามิส) โดยมีศรัทธาเป็นตัวผลักดัน
  • เอาใจใส่สม่ำเสมอ ละเอียดรอบคอบกับทุกขั้นตอน บางทีถึงขนาดเข้าข่าย ย้ำคิดย้ำทำ เรียกว่าเกิด จิตตะ โดยอัตโนมัติเช่นกัน  ด้วยหวังที่จะได้อิ่มใจกับผลสำเร็จที่คาดหวัง
  • ได้ผลสำเร็จแล้วยังไม่วายคิดต่อว่า ดีกว่านี้ได้อย่างไร หรือ เหตุใดจึงไม่ได้เต็มที่ตามที่คาดหวัง เรียกว่าเกิดการตรวจสอบ ประเมิน ทบทวนสิ่งที่ทำไปแล้ว จนเกิดการปฏิบัติที่ดียิ่งขึ้นในรอบต่อๆไป มี วิมังสา ตามมาติดๆแบบอัตโนมัติเช่นกัน

               ทำไปทำมา สิ่งที่เรียกว่า ทำงานด้วยความสุข หรือ สนุกกับการทำงาน หรือ พักผ่อนด้วยการทำงาน ก็จะพบได้ง่ายๆในตัวเรานี่เอง บ่อยครั้งที่ถูกถามว่า ไม่เหนื่อยบ้างหรือ คำตอบจะออกมาภายนอกหรือที่อยู่ในใจจะเหมือนกันเสมอคือ "เหนื่อยแต่สนุก" หรือ "เหนื่อยแต่มีความสุข"  น่าเห็นใจคนอีกไม่น้อยนะครับที่ ทำงานแบบ "เหนื่อยไป ทุกข์ไป" เข้าข่าย "ทำงานไป ตกนรกไป" แท้จริงถ้ามองเป็นและจัดการดีๆ  สวรรค์อยู่ที่การทำงานนี่เอง
 

หมายเลขบันทึก: 28663เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2006 01:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
     ไม่เติม ไม่เต็ม เพราะสมบูรณ์พูลผล ผมเพิ่งไปเติมไว้ที่บันทึกพี่โอ๋-อโณ เมื่อวานนี้ครับ ที่บันทึก ทำไมถึงทำงานได้อย่างมีความสุข...อยู่เสมอ 

คุณ Handy วิเคราะห์ตัวเองได้ดีมากเลยค่ะ เราจะมีแนวทางช่วยเหลือแนะนำคนที่ทำงานแบบ"ทำไปงั้นแหละ" ได้อย่างไรบ้างคะ มีความรู้สึกว่า พวกเราๆที่มีความสุขกับการทำงาน เพราะต้องมีทัศนะคติที่ดีกับงานนั้นๆด้วยหรือเปล่านะคะ ทำอย่างไรเราจึงจะทำให้คนเกิดความคิดดีๆกับงานที่ตนทำอยู่คะ

จำได้ว่าอ่านจากบันทึกใน GotoKnow นี่แหละเกี่ยวกับคนเฝ้าลิฟท์ที่ทำได้อย่างมีความสุข กับการนั่งกดลิฟท์ให้คนขึ้น-ลง ทำให้เห็นว่าไม่เกี่ยวกับลักษณะงาน แต่น่าจะเกี่ยวกับวิธีการคิด เราจะทำคู่มือ Know-How การสร้างความสุขในการทำงานยังไงดีคะ น่าจะมีประโยชน์มาก รบกวนคุณ Handy ช่วยวิเคราะห์อีกหน่อยได้ไหมคะ ชอบวิธีการคิดและการแนะนำที่เคยๆอ่านเกี่ยวกับเรื่องต่างๆน่ะค่ะ ขออีกสักเรื่องเถอะ

  • ชีวิตคืองานบันดาลสุข งานที่เราทำถึงมันจะไม่ยิ่งใหญ่แต่ความภูมิใจมันใหญ่เกินพอครับ
สำหรับตัวเอง ได้เห็นคุณค่าของตัวเองก็จากการทำงานนี่แหละค่ะ มันเป็นคำตอบ ซึ่งไม่ต้องแสวงหาอีกแล้ว ถ้าเราค้นพบ(โดยไม่ได้ตั้งใจ) จะเป็นพลังให้เราอยู่ได้อย่างมีความสุข

    ขอบคุณครับ ...
คุณชายขอบ
    ไม่ต้องต่อ ต้องเติมก็รู้ๆกันอยู่นะ
คุณโอ๋-อโณ
    น่าสนใจครับ "คู่มือการทำงานอย่างมีความสุข" คงต้องเขียนเป็นทีมกระมังครับ  มีส่วนปลีกย่อยที่หลากหลายในประสบการณ์ของแต่ละคน  ส่วนที่เป็นหลักเป็นแก่นน่าจะสังเคราะห์ออกมาได้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน  ว่างๆจะลองขยับดู แต่ว่างเมื่อไหร่  ยังไม่มีคำตอบเหมือนเช่นเคย แต่จะพยายามครับ
คุณน้องขจิต ฝอยทอง
    ยิ่งใหญ่ หรือไม่ ขอให้ ใจเราเป็นผู้ตอบ  ถูกต้องแล้วครับ จะได้ยิ้ม-อิ่มใจได้  แม้ไม่มีใครรู้เห็น
คุณพัชรา
    เดินหน้าต่อไปนะครับ .. ทำสิ่งที่ "ถูกต้อง" แล้วเก็บเกี่ยวความ "พอใจ" จากผลที่เกิดขึ้นไปทีละน้อย นานๆเข้าความสุข ความอิ่มใจ พอใจ จนกระทั่งการเคารพนับถือตัวเองก็จะเกิดขึ้น อาจถึงขนาดอยากยกมือไหว้ตัวเองก็ได้นะครับ 

ขอบคุณค่ะสำหรับการตกผลึกทางความคิดของอาจารย์ ที่มีอนิสงค์มาถึงดิฉันด้วย  อ่านแล้วรู้สึกขอบคุณจริง ๆ (จนต้องแอบกดเข้าไปดูว่าคุณคือใคร) ผู้คนมักบอกกับดิฉันว่า ดิฉันเป็นคนมีความเพียรสูง ทำไม่เสร็จ ไม่เลิก  เพิ่งรู้วันนี้เองว่าในทางธรรมเรียกว่า "วิริยะ" ซึ่งยืนยันได้ว่าถ้าเราทำงานไม่เลิก และคิดได้ว่าการทำงานทำได้พร้อมกับการพักผ่อน เราจะเกิดวิริยะโดยไม่รู้ตัว  โดยการพยายามติดต่อ ต่อเนื่องนั่นเอง  ขอบคุณอีกครั้งค่ะ
   คุณเมตตา ชุมอินทร์ 
         ดีใจครับหากบันทึกนี้จะส่งผลที่เป็นประโยชน์ออกไป  ผมว่าคนอีกไม่น้อยกำลังทำหน้าที่การงานอย่างมีความสุข แม้ต้องเหนื่อยยาก  วิเคราะห์แล้วคงหนีไม่พ้นความจริงที่ว่าทุกท่านในกลุ่มดังกล่าวล้วนกำลังปฏิบัติธรรม  จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ธรรมะหมวดนั้นคือ อิทธิบาท๔ ครับ ใช้โดยไม่รู้ ดีกว่า รู้แล้วไม่ใช้ จริงมั้ยครับ
"ล้างชามด้วยความสุข" ก่อนหน้านั้น หน้าที่ล้างชามเป็นของแม่ของลูกและลูกๆ แต่มาระยะหลังนี่หน้าที่ดังกล่าวนี้ ตกเป็นของอาตมาแต่ผู้เดียว เป็นส่วนใหญ่ ก็มาหวนคิดถึงข้อเขียนของคุณหมอประเวศ วะสี ในหนังสือ "วิธีแก้เซ็งสร้างสุข" ว่า การล้างชาม และ การซักผ้า ก็มีความสุขได้ จึงพิจารณาแล้วรำลึกตามก็เห็นจริง คือว่า มีสติอยู่กับปัจจุบัน เมื่อน้ำกระทบชามก็ระลึกรู้ จิตจดจ่ออยู่กับชาม ชามสะอาดก็รู้ว่ามันสะอาดปิติน้อยๆก็เกิดขึ้น ทำไปเรื่อยๆ แม้ชามกองโตเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกเบื่อ ...ในชีวิตประจำวันทุกๆอย่าง หากเราทำไปอย่างมีสติด้วยจิตใจที่สงบ เบิกบาน ความทุกข์ ความเครียด ความเซ็งก็เกิดไม่ได้ ดังคำกล่าวที่ว่า "การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม" ฉะนี้แล.. เพิ่งมีโอกาสเปิดเข้ามาอ่าน ก็ขอร่วมแจมด้วยคน

ดิฉันก็เป็นอีกคนที่"สนุกกับงาน"คนที่ทำงานแล้วมีความสุข มีใจเต็มร้อยให้กับการทำงาน ที่เขาเรียกกันว่าฉันทะ  ก็จะตรงกับที่อาจารย์เขียนไว้เลยว่า

  • เกิดความพยายามอย่างไม่รู้สึกตัว เกิด วิริยะ โดยอัตโนมัติ
  • เอาใจใส่สม่ำเสมอ ละเอียดรอบคอบกับทุกขั้นตอน เกิด จิตตะ โดยอัตโนมัติ
  • ได้ผลสำเร็จแล้วยังไม่วายคิดต่อว่า ดีกว่านี้ได้อย่างไรมี วิมังสา แบบอัตโนมัติเช่นกัน

อยากให้ทุกคนคิดเช่นนี้"สนุกกับงาน" มีใจให้กับงานอย่างทุ่มเท ทำงานเต็มกำลังสติปัญญา เต็มความสามารถ เพราะผลงานแสดงถึงตัวตนของเราว่ามีคุณค่า และมีคุณภาพเพียงใด การทำงานที่จริงแล้วเป็นการสร้างความท้าทายในตนเอง แต่คนเราอีกไม่น้อยที่ไม่ชอบ "สนุกกับงาน" ผู้บริหารเป็นผู้หนึ่งที่จะช่วยได้บ้าง ดิฉันคิดว่าดิฉันจะพยายามอย่างเต็มที่

พระท่านว่า ทำงานให้สนุก และเป็นสุขกับการทำงาน

การปฏิบัติหน้าที่ คือ การปฏิบัติธรรม

ผู้บริหารต้องทำงานเป็นแบบอย่างครับ หนักกว่า เหนื่อยมากกว่า และรับผิดชอบมากกว่า

พวกเราที่เข้ามาช่วยกันต่อยอดนี่แหละค่ะ ที่คงต้องช่วยกันสะกัดแก่นคู่มือที่คุณ Handy พูดถึงนะคะ 
  • อธิบาย อิทธิบาท ๔ ได้กระชับ และเข้าใจได้ง่าย ต๋าหว้าง เลยครับ
  • สาธุ สาธุ สาธุ
    ขอบคุณทุกท่านครับที่แวะมาอ่าน และต่อยอดความรู้ ความคิด
    ขออภัยที่ไม่ได้เอ่ยนามเป็นรายบุคคล ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท