ชีวิตที่พอเพียง : 812b. วางแผนขับเคลื่อน “ครูเพื่อศิษย์” เต็มทั้งแผ่นดิน (1)


ขบวนการครูเพื่อศิษย์ของแผ่นดินไทยน่าจะมีลักษณะอย่างไร

ชีวิตที่พอเพียง  : 812b. วางแผนขับเคลื่อน ครูเพื่อศิษย์ เต็มทั้งแผ่นดิน (1)

วันนี้เป็นวันมงคล วันแม่ วันเฉลิมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ   เทวดาแห่งมงคลดลใจให้ผมคิดเรื่องนี้   เป็นจุดเริ่มต้นของบันทึกที่น่าจะนำไปสู่ขบวนการ ครูเพื่อศิษย์ของแผ่นดินไทย   จากความฝันสู่ความจริง การปฏิบัติจริง ทั่วแผ่นดินไทย    ที่เป็นการปฏิบัติแบบใหม่ คือแบบเสรีชนที่ต้องการทำดีเพื่อแผ่นดิน

ขบวนการ ครูเพื่อศิษย์ ค่อยๆ ฟักตัวผ่านหลากหลายกลไก   หลากหลายวง ลปรร. ที่เดาว่าส่วนใหญ่ผมไม่ได้รับรู้    และเดาว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้คำ ครูเพื่อศิษย์ แต่พฤติกรรมเป็นเช่นนั้น  

ผมลอง ฝันว่าขบวนการครูเพื่อศิษย์ของแผ่นดินไทยน่าจะมีลักษณะอย่างไร    เป็นการ ยกร่างภาพฝันไม่ผูกขาดว่าจะต้องเป็นเช่นนี้   และอยากได้คนมา ร่วมฝัน   เพราะในภาษา LO นี่คือ Shared Vision ของคนทั้งแผ่นดิน

·          เป็นขบวนการที่ไม่เป็นทางการ    ไม่ผ่านสายบังคับบัญชาทางราชการหรือทางการเมือง    แต่ร่วมมือกับทุกฝ่าย แบบเป็นเครือข่ายความร่วมมือ    ถ้า ฝันตรงกันก็ร่วมมือกันได้

·          เป็นขบวนการจิตอาสา  ไม่ใช่ธุรกิจ  เน้นการร่วมกันทำงานเพื่อบ้านเมือง/สังคม/ท้องถิ่น โดยไม่คิดเรื่องค่าตอบแทนเป็นตัวตั้ง  

·          เน้นการดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่องยั่งยืน    ไม่ใช่ดำเนินการเพราะมีเงินมาให้จากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง    แต่หวังว่า หลังจากช่วง ๒ ปีแรกของโครงการ จะมีเงินจำนวนหนึ่งตั้งเป็น มูลนิธิ ครูเพื่อศิษย์ – นครสวรรค์(ชื่อสมมติ ซึ่งหมายความว่า ฝันเห็นมูลนิธิครูเพื่อศิษย์ในทุกจังหวัด เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกัน)   หนึ่งมูลนิธิคือหนึ่ง node ของเครือข่าย    มูลนิธิจะเป็นกลไกของความต่อเนื่องยั่งยืน

·          ขบวนการครูเพื่อศิษย์เป็น catalyst ของการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาภาพใหญ่   ทำงานร่วมกันเป็นภาคี    เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

·          ใช้เครื่องมือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากความสำเร็จเล็กๆ” (SSS – Success Story Sharing) เป็นจุดเริ่มต้น และเป็นพลังขับเคลื่อน   เสริมด้วยกลไกเชื่อมโยงเครือข่าย   โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือ   เพื่อยกระดับขีดความสามารถ (Competency)  ระดับการทำงาน (Performance)  และระดับจิตวิญญาณ (Spirituality)  ของครูทั้งแผ่นดิน   ไม่ใช่เครือข่ายเพื่อครูเพื่อศิษย์เท่านั้น   แต่เป็นเครือข่ายเปิด ที่ครูและไม่ใช่ครูก็เข้าร่วมได้

·          ย้ำว่า เครือข่ายครูเพื่อศิษย์นี้ เป็น inclusive network ไม่ใช่ exclusive network

·          เครื่องมืออีกอย่างหนึ่งของขบวนการนี้คือ R2R ของวงการศึกษา

·          เครือข่ายนี้ เป็น Learning Network  ไม่ใช่ Training Network   กระบวนการที่ใช้จะเป็น Learning : Training = 80 : 20  

·          ทีมแกนนำ ทำหน้าที่ คุณอำนวย  ไม่ใช่ คุณอำนาจของเครือข่าย    และทำหน้าที่แบบอาสา และเน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีม   การทำงานนี้เองเป็นการเรียนรู้ (Team Learning)

·          มีวิธีทำงาน ที่ทำให้ขบวนการนี้ค่อยๆ แผ่ออกไปเต็มแผ่นดินไทย   และร่วมกับกลไกที่เป็นทางการในการปฏิรูปการเรียนรู้ของวงการศึกษาไทย

·          มีวิธีทำงานที่เชื้อเชิญชักชวนกลไกในพื้นที่/ท้องถิ่น เข้ามาร่วม   โดยการใส่ เชื้อเพลิง(พลัง หรือพลังงาน) ในรูปแบบใดแบบหนึ่ง เข้ามาร่วมขับเคลื่อน   เชื้อเพลิงดังกล่าวอาจได้แก่  คนที่มี SS เข้ามาร่วม ลปรร., เงิน, สถานที่, ช่วยสื่อสาร SS และขบวนการแบบปากต่อปากหรือแบบอื่นๆ, ช่วยแนะนำ ครูเพื่อศิษย์หรือ โรงเรียนเพื่อศิษย์เข้าร่วมขบวนการ, ช่วยเผยแพร่อุดมการณ์ของขบวนการ, เป็นต้น  

·          คุณลักษณะอื่นๆ  เชิญร่วมกันออกความเห็น ทั้งเพิ่มเติม   และแสดงความเห็นทั้งที่ไม่เห็นด้วย และเห็นด้วยกับความฝันข้างตัน   

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ส.ค. ๕๒

วันแม่

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 286420เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2009 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

          กระผมได้อ่านบันทึกก็รู้สึกยินดีที่มีแนวคิดแบบนี้ในสังคม โดยแนวคิดของท่านอาจารย์หมอเป็นแนวคิดที่ดีมากๆ กระผมมองว่า โดยเนื้อหาของวิชาชีพ/แม้วิธีการ ก็คงต้องมีมิติที่หลากหลาย โดยสาขาอาชีพต่างๆที่สำคัญ เช่น ครู ผู้รู้ด้านฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม การเกษตร ด้านสาธารณสุข การพัฒนาจิตใจ แม้กระทั่งการเมืองปกครอง หรืออื่น ซึ่งจะมาทำงานร่วมกัน แบบจิตอาสา ไม่เป็นลักษณะทางเมือง หรือการสร้างอำนาจเพื่อผลประโยชน์เฉพาะตัว พื้นที่นี้จะช่วยให้มนุษย์เห็นคุณค่าตัวเองและจะเกิดการคิดเชื่อมโยงไปยังผู้อื่นและเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาทางจิตวิญญาณนั้นด้วย เกิดคุณลักษณะการมีจิตโน้มเอียงสู่ความสงบ ลดอัตตาลงได้มาก พร้อมที่จะฟังเสียงของเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก และให้ความเคารพกันและกัน อยู่อย่างไม่เบียดเบียน กระผมคิดว่าการได้เรียนรู้ จากสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่จริง จะช่วยเชื่อมต่อวิชาการในตำรามาเข้าสู่การปรับใช้ในวิถีชีวิตจริงได้มากขึ้น เพราะการเห็นในมิติที่แคบจะสร้างความหลงผิดได้ง่าย เมื่อเกิดการคิดเชื่อมโยงเห็นเป็นระบบมีมิติที่หลากหลายขึ้น เท่ากับว่าปัญญาได้ยกระดับขึ้นอีกขั้น นอกจากนี้ การทำงานในสนามจริง เราจะได้ประเด็นวิจัยที่มีชีวิตเมื่อทำการวิจัยแล้ว มีโอกาสใช้เพื่อตอบโจทย์สังคมได้มากขึ้นมากมาย มีประสิทธิภาพกว่า ที่มาจากการคิดเอาเองและเอากระแสเป็นตัวตั้งโดยไม่ผ่านการตรองด้วยสติปัญญา ซึ่งมาจากการมายาคติต่างๆ หากเด็กที่ได้รับการพัฒนาจากระบบครูเพื่อศิษย์  เชื่อว่าจะ ยกระดับขีดความสามารถทั้งทางโลก และระดับจิตวิญญาณ กระผมจินตนาการว่า การเปิดพื้นที่ให้ครูต่างๆนั้นทำงานกับเด็กเพื่อพัฒนาจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ควบคู่ไปกับการเรียนทางวิชาการและจากสิ่งเห็นและเป็นอยู่ไปด้วย จะช่วยพัฒนามนุษย์สร้างสังคมแห่งปัญญาและเกิดสันติสุขได้ครับผม

เรียนแสดงความเห็นด้วยความเคารพครับผม

      นิสิต

  • อยู่ในระยะเริ่มต้นครับ
  • แต่ดีใจที่มีการรวมกันแบบไม่เป็นทางการ
  • บันทึกนี้ครับ
  • http://gotoknow.org/blog/yahoo/282467

หนูคิดว่าเข้าใจค่ะ

ยอมเป็น "หนูทดลอง" แนวคิดนี้เลยล่ะ

ตอนนี้ อ.ด๋าวนอนฝันเป็น SS แล้วค่ะ ต้องมองให้เห็น SS ในเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ...จริงๆ นะคะ

ดีครับอาจารย์หมอ

ผมยินดีร่วมคิด ร่วสร้างสรรค์ด้วย

ในใจก็คิดถึงการสร้างให้เกิด"แรงบันดาลใจส่วนตัว"ที่จะเป็นพลังเชื้อเชิญ

ให้ครูทั้งหลายเข้าร่วม ซึ่งอาจจะต้องสร้าง "แรงจูงใจ(Incentive)" ขึ้นมา

ในเบื้องต้นก่อนครับ

มีความเห็นของคุณลักษณะของครูเพื่อศิษย์ ที่นี้ครับ

http://gotoknow.org/blog/kmd/288474

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท